มงคลหมู่ที่ 3 ฝึกตนให้เป็นคนมีประโยชน์
1. มงคลหมู่ที่ 3 ฝึกตนให้เป็นคนมีประโยชน์
มงคลที่ 7 เป็นพหูสูต
มงคลที่ 8 มีศิลปะ
มงคลที่ 9 มีวินัย
มงคลที่ 10 มีวาจาสุภาษิต
เมื่อเราได้ผ่านขั้นตอนการพัฒนาตนเองในขั้นต้น ด้วยการฝึกตนให้เป็นคนดี โดยการไม่คบคนพาลคบบัณฑิต บูชาบุคคลที่ควรบูชา และในขั้นถัดมาด้วยการสร้างความพร้อมในการฝึกตน โดยอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม มีบุญวาสนามาก่อน และตั้งตนชอบ ก็มาถึงการพันาตนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ด้วยการฝึกตนให้เป็นคนมีประโยชน์ คือจะต้องฝึกตนเองให้เป็นคนมีความสามารถรอบตัว เป็นคนที่พึ่งตนเองได้ นำความรู้ความสามารถที่มีมาใช้ในทางที่ถูกต้องสามารถควบคุมตนเองสามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง และสังคมได้อย่างเต็มที่ ผู้ที่สามารถฝึกได้ในขั้นนี้ต้องมีคุณสมบัติสำคัญ ดังนี้
1. เป็นพหูสูต หมายถึง เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ คือเป็นผู้ฉลาดรู้ เรียนรู้หลักวิชา รู้จักเลือกเรียนในสิ่งที่ควรรู้ เป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ได้ยินได้ฟังได้อ่านมามาก ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นต้นทางแห่งปัญญา ทำให้เกิดความรู้สำหรับบริหารงานชีวิต และเป็นกุญแจไขไปสู่ ลาภ ยศสรรเสริญสุข และทุกสิ่งที่เราปรารถนา
2. มีศิลปะ แปลว่า ผู้มีการแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นได้อย่างงดงาม ประณีต ละเอียดอ่อน น่าพึงชม หมายถึง ผู้ฉลาดทำ คือทำเป็นนั่นเอง เป็นความสามารถในทางปฏิบัติ คือสามารถนำความรู้นั้นมาใช้ให้บังเกิดผลได้สามารถทำการงานได้สำเร็จ
3. มีวินัย หมายถึง เป็นผู้ประพฤติอยู่ในระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ วินัยใช้สำหรับควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผน อันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุขสบาย ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน วินัยช่วยให้คนในสังคมห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย วินัยจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมคน ให้คนเราใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ถูกที่ควร คือทำคนให้เป็นคนฉลาดใช้วินัยมี 2 ชนิด คือ วินัยทางโลก และวินัยทางธรรม ดังนั้น ผู้มีวินัยดี หมายถึง ผู้ที่รักษาวินัยทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างถูกต้องและเคร่งครัด
เราจึงต้องฝึกตัวเองให้เป็นคนมีวินัย ต้องไม่เป็นคนเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจตัวเอง เคารพต่อกฎระเบียบของหมู่คณะ และวินัยของตนเอง รู้จักควบคุมตนเองให้นำความรู้ความสามารถไปใช้ในทางที่ถูกคือ เป็นผู้ฉลาดใช้
4. มีวาจาสุภาษิต หมายถึง มีคำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้ว มีลักษณะที่พอเหมาะพอดีถูกกาลเทศะ เป็นคุณแก่ตัวผู้พูดและผู้ฟัง เป็นวาจาชั้นสูง ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีควรแก่การสรรเสริญของบัณฑิต เราจึงต้องฝึกตัวเองให้มีวาจาสุภาษิต รู้จักควบคุมวาจา พูดเป็น คือเป็น ผู้ฉลาดพูด
2. มงคลที่ 7 เป็นพหูสูต
แสงสว่าง เป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทางไกล ฉันใดความเป็นพหูสูต ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการบุกเบิกสร้างความเจริญให้แก่ชีวิต ฉันนั้น
2.1 พหูสูตคืออะไร
พหูสูต หมายถึง ผู้ที่มีความรอบรู้หรือพูดสั้นๆ ว่า ฉลาดรู้ ความเป็นผู้ฉลาดรู้ คือผู้ที่รู้จักเลือกเรียนในสิ่งที่ควรรู้ เป็นผู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมามาก ได้ยินได้ฟังได้อ่านมามาก ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ เป็นต้นทางแห่งปัญญา ทำให้เกิดความรู้สำหรับบริหารงานชีวิต และเป็นกุญแจไขไปสู่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และทุกสิ่งที่เราปรารถนา
2.2 ความแตกต่างระหว่างบัณฑิตกับพหูสูต
บัณฑิต คือผู้ที่มีคุณธรรมประจำใจ มีความประพฤติดีงามไม่ว่าจะมีความรู้มากหรือน้อยก็ตามบัณฑิตจะใช้ความรู้นั้นๆสร้างประโยชน์แก่ตนเอง และผู้อื่นอย่างเต็มที่ เป็นผู้ที่สามารถเอาตัวรอดได้แน่นอนไม่ตกไปสู่อบายภูมิเป็นอันขาด
พหูสูต คือผู้มีความรู้มาก แต่คุณธรรมความประพฤติยังไม่แน่ว่าจะดี ยังไม่แน่ว่าจะเอาตัวรอดได้ถ้าใช้ความรู้ที่มีอยู่ไปทำชั่ว เช่น เอาความรู้ทางเคมีไปผลิตเฮโรอีน ก็ตกนรกได้
2.3 ลักษณะความรู้ที่สมบูรณ์ของพหูสูต
1. รู้ลึก หมายถึง รู้เรื่องราวสาวไปหาเหตุในอดีตได้ลึกซึ้งถึงความเป็นมา เช่น แพทย์เมื่อเห็นอาการคนป่วยก็บอกได้ว่าเป็นโรคอะไร รู้ไปถึงว่าที่เป็นโรคนี้เพราะเหตุใด หรือ ช่างเมื่อเห็นอาการเครื่องยนต์ที่เสีย ก็สามารถบอกได้ทันทีว่า เครื่องนั้นเสียที่ชิ้นส่วนไหน เป็นเพราะอะไร เป็นต้น
2. รู้รอบ หมายถึง ช่างสังเกต รู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ภาพภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ผู้คนในชุมชนความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆ รอบตัวสิ่งที่ควรรู้ต้องรู้
3. รู้กว้าง หมายถึงสิ่งรอบตัวแต่ละอย่างที่รู้ก็รู้อย่างละเอียด รู้ถึงความเกี่ยวพันของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆ ด้วย คล้ายรู้รอบแต่เก็บรายละเอียดมากขึ้น
4. รู้ไกล หมายถึง มองการณ์ไกล รู้ถึงผลที่จะตามมาในอนาคต เช่น เห็น ภาพดินฟ้าอากาศ ก็รู้ทันทีว่าปีนี้พืชผลชนิดใดจะขาดแคลน เห็นพฤติการณ์ของผู้ร่วมงานไม่น่าไว้วางใจ ก็รู้ทันทีว่าเขากำลังจะคิดไม่ซื่อ เห็นตนเองเริ่มย่อหย่อนต่อการปฏิบัติธรรม ก็รู้ทันทีว่าถ้าทิ้งไว้เช่นนี้ต่อไป ตนก็จะเสื่อมจากกุศลธรรม
ฯลฯ
ผู้ที่ประกอบด้วยความรู้ 4 ประการนี้ ทั้งทางโลกและทางธรรม จึงจะเป็นพหูสูตที่แท้จริง
2.4 คุณสมบัติของพหูสูตหรือนักศึกษาที่ดี
1. พหุสุตา ความตั้งใจฟัง คือมีนิสัยชอบฟัง ชอบอ่าน ชอบค้นคว้า ยึดหลัก เรียนจากครู ดูจากตำรับ ดับปาฐะ
2. ธตา ความตั้งใจจำ คือมีความจำดี รู้จักจับสาระสำคัญ จับหลักให้ได้ แล้วจำได้แม่นยำคนที่ความจำไม่ดีเพราะภพในอดีตชอบพูดปด ดื่มสุรามาก ฯลฯ ดังนั้นถ้าในชาตินี้เลิกดื่มสุรา เลิกพูดปดและพยายามท่องบ่อยๆ หมั่นจดหมั่นเขียนบ่อยๆ ไม่ช้าก็จะเป็นผู้มีความจำดี
3. วจสา ปริจิตา ความตั้งใจท่อง คือต้องฝึกท่องให้คล่องปากท่องจนขึ้นใจ จำได้คล่องแคล่วจัดเจนไม่ต้องพลิกตำรา โดยเฉพาะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นความจริงแท้แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ควรท่องไว้ให้ขึ้นใจทุกข้อกระทงความ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ส่วนวิชาการทางโลก ยังมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะยังไม่มีใครรู้จริง จึงควรท่องเฉพาะที่สำคัญและหมั่นคิดหาเหตุผลด้วย
4. มนสานุเปกขา ความตั้งใจขบคิด คือใส่ใจนึกคิดตรึกตรองสาวเหตุสาวผลให้เข้าใจตลอดพิจารณาให้เจนจบ นึกถึงครั้งใดก็เข้าใจปรุโปร่งหมด
5. ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา ความแทงตลอดด้วยปัญญา คือเข้าใจแจ่มแจ้ง ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติความรู้กับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่ได้ฝึกสมาธิอย่างจริงจัง คุณสมบัติข้อนี้จะเกิดไม่เต็มที
2.5 ลักษณะผู้ที่เป็นพหูสูตไม่ได้ดี
1. คนราคจริต คือคนขี้โอ่ บ้ายอ เจ้าแง่แสนงอน รัก สวยรักงาม พิถีพิถันจนเกินเหตุ มัวแต่งอนมัวแต่แต่งตัวจนไม่มีเวลาท่องบ่นค้นคว้าหาความรู้ พวกนี้แก้โดยให้หมั่นนึกถึงความตาย พิจารณาซากศพอสุภะเนือง ๆ
2. คนโทสจริต คือคนขี้โมโห ฉุนเฉียว โกรธง่าย ผูกพยาบาทมาก มัวแต่คิดโกรธแค้นจนไม่มีเวลาไตร่ตรอง พวกนี้แก้โดยให้หมั่นรักษาศีล และแผ่เมตตาเป็นประจำ
3. คนโมหจริต คือคนสะเพร่า ขี้ลืม มักง่าย ทำอะไรไม่พยายาม เอาดีสักแต่ให้เสร็จสติไม่มั่นคงใจกระด้างในการกุศลสงสัยในพระรัตนตรัยว่ามีคุณจริงหรือไม่ พวกนี้แก้โดยให้หมั่นฝึกสมาธิอย่างสม่ำเสมอ
4. คนขี้ขลาด คือพวกขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กล้าลงมือทำอะไร กลัวถูกติ คอยแต่จะเป็นผู้ตาม ไม่มีความคิดริเริ่ม พวกนี้แก้โดยให้คบกับคนมาตรฐาน คือคบบัณฑิต จะอ่านจะทำอะไรก็ให้จับให้ทำแต่สิ่งที่เป็นมาตรฐาน ไม่สักแต่ว่าทำ
5. คนหนักในอามิส คือพวกบ้าสมบัติ ตีค่าทรัพย์ว่ามากกว่าความรู้ ทำให้ไม่ขวนขวายในการแสวงหาปัญญาเท่าที่ควร
6. คนจับจด คือพวกทำอะไรเหยาะแหยะ ไม่เอาจริง
7. นักเลงสุรา คือพวกขี้เมา ขาดสติ หมดโอกาสที่จะเรียนรู้
8. คนที่มีนิสัยเหมือนเด็ก คือพวกชอบเอิกเกริก สนุกเฮฮาจนเกินเหตุ ขาดความรับผิดชอบ
2.6 วิธีฝึกตนให้เป็นพหูสูต
1. ฉลาดเลือกเรียนแต่สิ่งที่ควร
2. ตั้งใจเรียนวิชาที่ตนเลือกแล้วอย่างเต็มความสามารถ
3. มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
4. ต้องหาความรู้ทางธรรมควบคู่ไปกับความรู้ทางโลกด้วย
5. เมื่อเรียนแล้วก็จำไว้เป็นอย่างดี พร้อมที่จะนำความรู้ไปใช้ได้ทันที
ข้อเตือนใจ
ถ้ามีความรู้ทางโลกอย่างเดียว ไม่ว่าตนเองจะเป็นคนฉลาดเพียงใดก็มีโอกาสพลาดพลั้งได้ เช่น มีความรู้เรื่องปรมาณู อาจนำไปใช้ในทางสันติเป็นแหล่งพลังงาน หรือนำไปสร้างเป็นระเบิดทำลายล้างชีวิตมนุษย์ก็ได้ เราจึงต้องศึกษาความรู้ทางธรรมไว้คอยกำกับความรู้ทางโลกด้วย ความรู้ทางธรรมจะเป็นเสมือนดวงประทีปส่องให้เห็นว่าสิ่งที่กระทำนั้นถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร
ผู้ที่คิดแต่จะตักตวงความรู้ทางโลก แม้จะฉลาดร่ำรวย มีอำนาจสักปานใดก็ไม่น่ารัก ไม่น่าเคารพ ไม่น่ายำเกรง ไม่น่านับถือ ยังเป็นบุคคลประเภท เอาตัวไม่รอด
โปรดจำไว้ว่า"ความรู้ที่เกิดแก่คนพาล ย่อมนำความฉิบหายมาให้เพราะเขาจะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด ๆ"
เราทุกคนจึงควรจะแสวงหาโอกาสศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม และรู้ให้ลึกซึ้งเกินกว่า การงานที่ตนรับผิดชอบ ความรู้ที่เกินมานี้จะเป็นเสมือนดวงประทีปส่องให้เป็นทางเบื้องหน้าที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้โดยง่าย
2.7 อานิสงส์การเป็นพหูสูต
1. ทำให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้
2. ทำให้ได้ความเป็นผู้นำ
3. ทำให้แกล้วกล้าองอาจในทุกที่ทุกสถาน
4. ทำให้บริบูรณ์ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
5. ทำให้ได้รับคำชมเชย ได้รับความยกย่องเกรงใจ
6. ไม่มีใครแย่งชิงได้ เป็นสหชาติปัญญาติดตัวข้ามภพข้ามชาติไป
7. เป็นพื้นฐานของศิลปะ และความสามารถอื่นๆ ต่อไป
8. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่าย
ฯลฯ
ถ้าบุคคลแม้มีสุตะมาก ตั้งมั่นอยู่ในศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อม
สรรเสริญเขาโดยส่วนสอง คือทั้งโดยศีล ทั้งโดยสุตะ ใครเล่าควรจะ
ติเตียนบุคคลผู้เป็นพหูสูต ผู้ทรงธรรม มีปัญญา เป็นพุทธสาวก ผู้เป็น
ประดุจแท่งทองชมพูนุทนั้นได้ แม้เหล่าเทพเจ้าก็ย่อมชมเชย ถึงพรหมก็สรรเสริญ
องฺ. จตุกฺก. 21/6/9
3 มงคลที่ 8 มีศิลปะ
ผู้มีศิลปะแม้เพียงอย่างเดียว ก็หาเลี้ยงชีพได้โดยง่าย
เราปลูกมะม่วง จะอิ่มจะรวยอยู่ที่ผลของมัน
ช่วงแรกที่ปลูก มีลำต้นกิ่งใบ เป็นเพียงระยะเตรียมตัวเพื่อที่จะได้ผล
เช่นเดียวกัน ความรู้ทุกอย่างหรือความเป็นพหูสูตที่เรามีอยู่ เป็นเพียงการเตรียมตัวเท่านั้น
จะช่วยเราได้จริงต่อเมื่อเรามีศิลปะสามารถนำออกมาใช้ได้อย่างดีเท่านั้น
3.1 ศิลปะคืออะไร
ศิลปะ แปลว่า การแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นได้อย่างงดงามน่าพึงชม หมายถึง ฉลาดทำ คือทำเป็นนั่นเอง
พหูสูตนั้นเป็นผู้ฉลาดรู้ เรียนรู้ในหลักวิชา รู้ว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าอะไรทำอย่างไร
ส่วนศิลปะ เป็นความสามารถในทางปฏิบัติ คือสามารถนำความรู้นั้นมาใช้ให้บังเกิดผลได้คนที่มีความรู้นั้น ไม่ใช่ว่าจะมีศิลปะทุกคน เช่น รู้วิธีหุงข้าว ว่าจะต้องเอาข้าวสารใส่หม้อซาวข้าวแล้วใส่น้ำยกขึ้นตั้งไฟ น้ำเดือดสักพักก็รินน้ำข้าวออกดงให้ระอุอีกครู่หนึ่ง ก็คดข้าวออกมากินได้ นี่คือหลักวิชา แต่คนที่รู้เพียงเท่านี้ไม่แน่นักว่าจะหุงข้าวกินได้ทุกคน อาจจะได้ข้าวดิบบ้าง แฉะบ้าง ไหม้บ้าง เพราะไม่มีศิลปะในการหุงข้าว ฉลาดรู้แต่ยังไม่ฉลาดทำ
เรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะขับรถยนต์ เตะตะกร้อ ว่ายน้ำ ทำกับข้าว ลองดูก็ได้ว่า ถ้ารู้แต่ทฤษฎีอย่างเดียวจะทำได้หรือไม่
3.2 ประเภทของศิลปะ
ทางกาย คือฉลาดทำการช่างต่าง ๆ เช่น ช่างทอ ช่างเครื่อง ช่างวาด ช่างออกแบบ ช่างปัน ช่างภาพ ช่างพิมพ์ รวมทั้งฉลาดในการทำอาชีพอื่นๆ เช่น การทำสวน ทำไร่ ปลูกพืชผัก การเขียนหนังสือ การตรวจคนไข้ตลอดจนถึงการยืนเดินนั่งนอนอย่างมีมารยาท การแต่งตัวให้เหมาะสม การต้อนรับแขก การแสดงความเคารพการสำรวมกาย ก็จัดเป็นศิลปะทั้งสิ้น
ทางวาจา คือฉลาดในการพูด มีวาทศิลป รู้จักเลือกพูดแต่สิ่งที่ดี เป็นประโยชน์สามารถยกใจของผู้พูดและผู้ฟังให้สูงขึ้นได้
ทางใจ คือฉลาดในการคิด มีสติสัมปชัญญะสามารถควบคุมความคิดให้คิดไปในทางที่ดี คิดในทางสร้างสรรค์ คิดในทางที่ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น โดยย่อศิลปะจึงหมายถึง คิดเป็น พูดเป็น และทำเป็น
3.3 องค์ประกอบของศิลปะ
สิ่งที่ทำแล้วจัดว่าเป็นศิลปะ ต้องประกอบด้วยองค์ 6 ดังนี้
1. ทำด้วยความประณีต
2. ทำให้สิ่งของต่างๆ มีคุณค่าสูงขึ้น
3. ทำแล้วส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
4. ทำแล้วไม่ทำให้กามกำเริบ
5. ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดพยาบาทกำเริบ
6. ทำแล้วไม่ทำให้ความคิดเบียดเบียนกำเริบ
3.4 คุณสมบัติของผู้สามารถมีศิลปะ
1. ต้องมีศรัทธา มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่จะทำ ว่าเป็นสิ่งดีจริง มีประโยชน์จริง มีใจรักที่จะทำ และตั้งใจมั่นว่าจะต้องทำให้เสร็จ
2. ต้องไม่เป็นคนขี้โรค รู้จักระวังรักษาสุขภาพของตัวเอง
3. ต้องไม่เป็นคนขี้โม้ขี้คุย คนโอ้อวดไม่มีใครอยากสอน ไม่มีใครอยากแนะนำ คนพวกนี้ มัวแต่อวด มัวแต่คุย จนไม่มีเวลาฝึกฝีมือ
4. ต้องไม่เป็นคนขี้เกียจ มีความมานะพากเพียร อดทน
5. ต้องเป็นคนมีปัญญา รู้จักพินิจพิจารณาช่างสังเกต
3.5 วิธีฝึกตนให้มีศิลปะ
1. ฝึกตนเองให้เป็นคนช่างสังเกต รู้จักหาจุดเด่นของสิ่งรอบตัว
2. ตั้งใจทำงานทุกอย่างที่มาถึงตนให้ดีที่สุด อย่าดูถูกหรือเกี่ยงงาน
3. ตั้งใจทำงานทุกอย่างด้วยความประณีต ละเอียดลออ
4. ตั้งใจปรับปรุงงานให้ดีขึ้นเสมอ ไม่ทำอะไรอย่างชุ่ยๆ ขอไปที
5. หมั่นใกล้ชิดกับผู้มีศิลปะอย่างแท้จริงในสายงานนั้นๆ
6. ฝึกสมาธิอยู่เสมอ เพื่อให้ใจสงบผ่องใสเกิดปัญญาที่จะฝึก และปรับปรุงตนเองให้มีคุณสมบัติของผู้มีศิลปะได้
ข้อเตือนใจ
อย่าเอาแต่จับผิดผู้อื่น ไม่เช่นนั้นตัวเราจะกลายเป็น ศิลปินนักติ คือดีแต่ติผลงานของผู้อื่นเรื่อยไปสติคนอื่นไว้มากเลยไม่กล้าแสดงฝีมือ เพราะกลัวคนอื่นจะติเอาบ้างสุดท้ายเลยกลายเป็นคนไม่มีผลงานทำอะไรไม่เป็น
3.6 อานิสงส์การมีศิลปะ
1. ทำให้มีความสามารถเด่นกว่าผู้อื่น
2. ทำให้สามารถเลี้ยงตัวได้
3. ทำให้เป็นคนฉลาดช่างสังเกต มีไหวพริบปฏิภาณดี
4. ทำให้เป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์
5. ทำให้ได้รับความสุขทั้งโลกนี้โลกหน้า
6. ทำให้โลกเจริญทั้งด้านวัตถุและจิตใจ
ฯลฯ
ศิลปะแม้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
ขุ. ชา. เอก. 27/107/35
4. มงคลที่ 9 มีวินัย
ดาบคมที่ไร้ฝัก ลูกระเบิดที่ไม่มี ลักนิรภัย ย่อมเกิดโทษแก่เจ้าของได้ง่าย ฉันใด
ความรู้ และความสามารถ ถ้าไม่มีวินัยกำกับแล้ว ก็จะมีโทษแก่ผู้เป็นเจ้าของได้ ฉันนั้น
ช่างดาบทำฝักดาบไว้กันอันตราย ช่างทำระเบิดก็ทำ ลักนิรภัยไว้เช่นเดียวกัน
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพุทธศาสนิกชนให้เป็นคนฉลาดรู้ฉลาดทำแล้ว
จึงทรงสั่งสำทับด้วยว่า ต้องมีวินัย
4.1 วินัยคืออะไร
วินัย หมายถึง ระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับสำหรับควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ของคนในสังคมให้เรียบร้อยดีงาม เป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน จะได้อยู่ร่วมกันด้วยความสุขสบาย ไม่กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน วินัยช่วยให้คนในสังคมห่างไกลจากความชั่วทั้งหลาย
การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า ถ้าขาดระเบียบวินัย ต่างคนต่างทำตามอำเภอใจ ความขัดแย้งและลักลั่นก็จะเกิดขึ้น ยิ่งมากคนก็ยิ่งมากเรื่อง ไม่มีความสงบสุข การงานที่ทำก็จะเสียผล
ถ้าประชาชนแต่ละคนเป็นเสมือนดอกไม้แต่ละดอก ดอกไม้ทั้งหลายเหล่านี้จะด้อยค่าลง หากวางอยู่ระเกะระกะกระจัดกระจาย ทั้งยังทำให้รกรุงรังอีกด้วย แต่เมื่อเรานำดอกไม้เหล่านี้มาร้อยรวมเข้าด้วยกันด้วยเส้นด้าย ดอกไม้เหล่านี้ก็จะกลายเป็นพวงมาลัยอันงดงาม เหมาะที่จะนำไปประดับตกแต่งให้เจริญตาเจริญใจ เส้นด้ายที่ใช้ร้อยดอกไม้ให้รวมกันอยู่อย่างมีระเบียบ งดงามนั้นเปรียบเสมือนวินัย
วินัยจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมคน ให้คนเราใช้ความรู้ความสามารถไปในทางที่ถูกที่ควร คือทำคนให้เป็นคนฉลาดใช้นั่นเอง
4.2 ชนิดของวินัย
คนเรามีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 2 อย่าง คือชีวิตกับจิตใจ
ชีวิต ของเราขึ้นอยู่กับระบบโลก ต้องพึ่งโลก ชีวิตจึงจะเจริญ
จิตใจ ของเราขึ้นอยู่กับระบบธรรม ต้องพึ่งธรรม จิตใจจึงจะเจริญ
เพื่อให้ชีวิตและจิตใจเจริญทั้ง 2 ทาง เราจึงต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกันทั้ง 2 ด้านด้วย ผู้ที่ฉลาดรู้ ก็ต้องศึกษาให้รู้ทั้งทางโลกและทางธรรม ผู้ที่ฉลาดทำ ก็ต้องทำให้เป็นให้ถูกต้อง ทั้งทางโลกและทางธรรม เช่นกันผู้ที่ฉลาดใช้ ก็ต้องมีวินัยทางโลกและวินัยทางธรรมคอยช่วยกำกับความรู้ และความสามารถเอาไว้
4.3 วินัยทางโลก
วินัยทางโลก หมายถึง ระเบียบสำหรับควบคุมคนในสังคมแต่ละแห่ง เป็นข้อตกลงของคนในสังคมนั้นที่จะให้ทำ หรือไม่ให้ทำบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งบางครั้งเราเรียกชื่อแยกแยะออกไปหลายอย่าง เช่นกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎข้อบังคับ ระเบียบ ธรรมเนียมประเพณี คำสั่ง ประกาศ กติกา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้รวมเรียกว่า วินัยทางโลกทั้งสิ้น
4.4 วินัยทางธรรม
เนื่องจากเราชาวพุทธมีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ดังนั้นวินัยทางพระพุทธศาสนาจึงมี 2 ประเภท คือ
1. อนาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ออกบวช ได้แก่ วินัยของพระภิกษุสามเณร
2. อาคาริยวินัย วินัยสำหรับผู้ครองเรือน หรือประชาชนชายหญิงทั่ว ๆ ไป
4.5 อนาคาริยวินัย
จุดมุ่งหมายสูงสุดของนักบวช คือความหมดกิเลสผู้จะหมดกิเลสได้ ต้องมีปัญญาอย่างยิ่ง ผู้จะมีปัญญาอย่างยิ่งได้ จะต้องมีสมาธิอย่างยิ่ง ผู้จะมีสมาธิอย่างยิ่งได้ จะต้องตั้งอยู่บนฐานของศีลอย่างยิ่ง คือ อนาคาริยวินัย 4 ประการ อันเป็นพื้นฐานของความบริสุทธิ์ ได้แก่
1. ปาฏิโมกขสังวร คือ การสำรวมอยู่ในศีล 227 ข้อ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงให้ปฏิบัติ
2. อินทรียสังวร คือ การรู้จักสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เพลิดเพลินไปกับอารมณ์อันน่าใคร่ อันเกิดจากการเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสัมผัส และการรับรู้อารมณ์ทางใจ อะไรที่ไม่ควรดู ก็อย่าไปดู อะไรที่ไม่ควรฟัง ก็อย่าไปฟัง อะไรที่ไม่ควรดม ก็อย่าไปดม อะไรที่ไม่ควรลิ้มชิมร ก็อย่าไปชิม อะไรที่ไม่ควรถูกต้องสัมผัส ก็อย่าไปสัมผัส และอะไรที่ไม่ควรคิด ก็อย่าไปคิด
3. อาชีวปาริสุทธิสังวร คือ การหาเลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ได้แก่ การบิณฑบาตสำหรับการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด เช่น การหาลาภสักการะด้วยการ ใบ้หวย การเป็นหมอดู การเป็นพ่อ สื่อแม่ชัก การประจบ ชาวบ้าน จัดเป็นการกระทำที่ผิดพระวินัย
4. ปัจจยปัจจเวกขณะ คือ การพิจารณาก่อนที่จะบริโภคหรือใช้ปัจจัย 4 ว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้ เหมือนน้ำมันหยอดเพลารถให้รถแล่นไปได้เท่านั้น
พิจารณาดังนี้แล้วย่อมบรรเทาความหลง ความมัวเมาในอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยยารักษาโรคได้ ทำให้กินเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน
เมื่อแรกเริ่มพระพุทธศาสนายังไม่มีการบัญญัติวินัย เพราะพระภิกษุยังมีจำนวนน้อย และทุกรูป ต่างก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ทราบดีว่าอะไรเป็นสิ่งควรทำหรือไม่ควรทำ ต่อมาพระภิกษุ มีจำนวนมากขึ้น และมีผู้ประพฤติไม่ค่อยดีหลงเข้ามาบวชด้วย ไปทำสิ่งที่ไม่สมควรขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติวินัยขึ้นทีละข้อ วินัยทุกข้อในพระพุทธศาสนาจึงมีที่มาทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น วินัยข้อแรกในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นเพราะมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อสุทิน ได้ย้อนกลับไปร่วมหลับนอนกับภรรยาเก่าเพราะบิดามารดา ขอร้องเพื่อให้มีทายาทไว้สืบสกุล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติวินัยข้อที่ 1 ขึ้นว่าห้ามเสพเมถุน เป็นต้น
4.6 วัตถุประสงค์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัย
1. เพื่อรองรับความตั้งอยู่ดีของหมู่สงฆ์
2. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
3. เพื่อความสุขสำราญแห่งหมู่สงฆ์
4. เพื่อความสุขสำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
5. เพื่อป้องกันอาสวกิเลส อันจะบังเกิดในปัจจุบัน
6. เพื่อป้องกันอาสวกิเลส อันจะบังเกิดในอนาคต
7. เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส
8. เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว
9. เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรม
10.เพื่ออนุเคราะห์พระวินัย เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้เจริญวัฒนาสถาพร สืบต่อไป
4.7 อาคาริยวินัย
วินัยสำหรับคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนที่สำคัญคือ ศีล 5
4.8 ศีลคืออะไร
ศีล แปลว่า ปกติ เป็นวินัยทางธรรมเบื้องต้นของคน เป็นเครื่องจำแนกคนออกจากสัตว์ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีลักษณะปกติของมันเอง เช่น ปกติของม้าต้องยืนไม่มีการนอน ถ้าม้านอนก็เป็นการผิดปกติแสดงว่าม้าป่วย ฤดูฝนตามปกติจะต้องมีฝน ถ้าฤดูฝนกลับแล้ง ฝนไม่ตก แสดงว่าผิดปกติ
4.9 อะไรคือปกติของคน
ปกติของคนที่สำคัญมี 5 ประการ ดังนี้คือ
1. ปกติของคนจะต้องไม่ฆ่า ถ้าวันไหนมีการฆ่า วันนั้นก็ผิดปกติของคน แต่ไปเข้าข่ายปกติของสัตว์ เช่น เสือ หมี ปลา ฯลฯ ซึ่งฆ่ากันเป็นปกติ ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ 1 จึงเกิดขึ้นมาว่า คนจะต้องไม่ฆ่า
2. ปกติของสัตว์เวลากินอาหารมันจะแย่งกัน ขโมยกัน ถึงเวลาอาหารทีไรสุนัขเป็นต้องกัดกันทุกที แต่คนไม่เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ 2 จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ลัก ไม่คอร์รัปชั่น ไม่ยักยอกคดโกง
3. ปกติของสัตว์ ไม่รู้จักหักห้ามใจให้พอใจเฉพาะคู่ของตน ในฤดูผ มพันธุ์สัตว์จึงมีการต่อสู้แย่งชิงตัวเมีย บางครั้งถึงกับต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่งก็มี แต่ปกติของคนแล้วจะไม่แย่งคู่ครองของใคร พอใจเฉพาะคู่ครองของตนเท่านั้น ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ 3 จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่ประพฤติผิดในกาม
4. ปกติของสัตว์ไม่มีความจริงใจต่อใคร พร้อมจะทำอันตรายได้ทุกเมื่อ แต่ปกติของคนนั้น เราพูดกันตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อกัน ถ้าใครโกหกหลอกลวงก็ผิดปกติไป ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ศีลข้อที่ 4 จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่พูดเท็จ
5. ปกติแล้วสัตว์มีกำลังร่างกายแข็งแรงมากกว่าคน แต่สัตว์ไม่มีสติควบคุมการใช้กำลังของตนให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงไม่สามารถเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดีได้ มีแต่ความป่าเถื่อนตามอารมณ์ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย แม้มีกำลังกายมาก แต่ไม่เคยออกแรงไปหาอาหารมาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ของมันแต่อย่างใด
ส่วนคนแม้มีกำลังกายน้อยกว่าสัตว์ แต่อาศัยสติอันมั่นคงช่วยเปลี่ยนกำลังกายน้อย ๆ นั้น ให้เกิดเป็นกำลังความดี เช่น มีกตัญูกตเวที เมื่อโตขึ้น ก็เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้
สติเป็นของเหนียวแน่นคงทน แม้อดอาหารทั้งวันสติก็ยังดี ทำงานทั้งเดือนไม่ได้พัก สติก็ยังดีนอนป่วยบนเตียงทั้งปี สติก็ยังดี แต่ สติกลับเปื่อยยุ่ยทันที ถ้าไปเสพสุรายาเมาเข้าสุราเพียงครึ่งแก้วอาจทำให้ผู้ดื่มสติฟันเฟอนถึงกับ ลืมตัวลงมือทำร้ายผู้มีพระคุณได้ หมดความสามารถในการเปลี่ยนกำลังกายให้เป็นกำลังความดี ดังนั้นผู้ที่เสพสุราหรือของมึนเมา จึงมี สภาพผิดปกติ คือมี ภาพใกล้สัตว์เข้าไปทุกขณะ
ฉะนั้นเพื่อรักษาปกติของคนไว้ ศีลข้อที่ 5 จึงเกิดขึ้นว่า คนจะต้องไม่เสพของมึนเมาให้โทษ
ศีลทั้ง 5 ข้อ คือ
1. ไม่ฆ่า
2. ไม่ลัก
3. ไม่ประพฤติผิดในกาม
4. ไม่โกหกหลอกลวง
5. ไม่เสพของมึนเมาให้โทษ
จึงเกิดขึ้นมาโดยสามัญสำนึก และเกิดขึ้นพร้อมกับโลก เพื่อรักษาความปกติสุขของโลกไว้
ศีล 5 มีมาก่อนพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับเข้ามาไว้ในพระพุทธศาสนา และชี้แจงถึงความจำเป็น ของการมีศีลให้ทราบ ดังนั้นศีลจึงไม่ใช่ข้อห้ามตามที่คนจำนวนมากเข้าใจ นอกจากนี้ศีลยังใช้เป็นเครื่องวัดความเป็นคนได้อีกด้วย
วันใดเรามีศีลครบ 5 ข้อ แสดงว่าวันนั้นเรามีความเป็นคนครบบริบูรณ์ 100
ถ้ามีศีลเหลือ 4 ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ 80 % ใกล้สัตว์เข้าไป 20 %
ถ้ามีศีลเหลือ 3 ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ 60 % ใกล้สัตว์เข้าไป 40 %
ถ้ามีศีลเหลือ 2 ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ 40 % ใกล้สัตว์เข้าไป 60 %
ถ้ามีศีลเหลือ 1 ข้อ ความเป็นคนก็เหลือ 20 % ใกล้สัตว์เข้าไป 80 %
ถ้าศีลทุกข้อขาดหมด ก็หมดความเป็นคน หมดความสงบ หมดความสุข ถึงยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนคนตายแล้ว ความดีใดๆ ไม่อาจงอกเงยขึ้นมาได้อีก มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อจะทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น คนชนิดนี้คือคนประมาทแท้ ๆ
4.10 วิธีรักษาศีลตลอดชีพ
เพื่อรักษาความเป็นคนของตนไว้ให้ดี ชาวพุทธจึงจำเป็นต้องรักษาศีลยิ่งชีวิต การจะรักษาศีลให้ได้ เช่นนั้น ต้องอาศัยปัญญาเข้าช่วยจึงจะรักษาไว้ได้โดยง่าย ก่อนอื่นให้พิจารณาว่า
- ศีล แปลว่า ปกติ
- คนผิดศีล คือคนผิดปกติ
- แต่ปัจจุบันนี้คนผิดศีลจนเป็นปกตินิสัยมีจำนวนมากขึ้นทุกที จนกระทั่งหลายคนเห็น คนมีศีล กลายเป็นคนผิดปกติไป เมื่อความเห็นวิบัติไปเช่นนี้ ประเทศชาติบ้านเมืองที่เคยร่มเย็นตลอดมาจึงต้องพลอยวิบัติ มีการฆ่ากัน โกงกัน ผิดลูกผิดเมีย ฯลฯ จนประชาชนนอนตาไม่หลับสะดุ้งหวาดระแวงกันไปทั้งเมืองเราจะให้ผู้ใดมาดับความทุกข์ความวิบัติครั้งนี้
เราชาวพุทธแต่ละคนนี้แหละคือผู้ดับ เราจะดับทุกข์ด้วยการรักษาศีล ถึงคนอื่นไม่ช่วยถือเราก็จะถือเพียงลำพัง ถ้าเปรียบประเทศไทยเหมือนหม้อน้ำใหญ่ ก็เป็นหม้อน้ำที่กำลังเดือดพล่าน เดือดพล่าน เพราะฟืนกว่า 60 ล้านดุ้น คือประชากรประมาณ 60 ล้านคน ที่กระทบกระทั่งกันเพราะขาดศีล ถ้าตัวเรามีศีลเมื่อใด ก็เหมือนกับดึงตนเองออกจากกองฟนไป 1 ดุ้น แม้น้ำในหม้อจะยังเดือดพล่านอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เพราะเรา เมื่อแต่ละคนต่างดึงตนเองออกจากกองทุกข์โดยไม่เกี่ยงงอนกันดังนี้ ในไม่ช้าไฟทุกข์ย่อมดับมอดลงเองประเทศชาติก็จะคืนสู่ ภาพปกติสุขได้
เพื่อเป็นการย้ำความคิดที่จะถือศีลให้มั่นคงตลอดชีพ จำต้องหาวิธีการที่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่วิธีหนึ่ง คือ วิธีปลุกพระ ทุกๆ เช้าก่อนออกจากบ้านให้เอาพระเครื่องที่แขวนคออยู่ใส่ในมือพนม หรือพนมมืออยู่หน้าที่บูชาพระ แล้วตั้งใจกล่าวคำ มาทานรักษาศีล 5 ดัง ๆ อย่างนี้
ปาณาติปาตา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่ฆ่า
อทินนาทานา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่ลักขโมย
กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติผิดในกาม
มุสาวาทา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่โกหกหลอกลวง
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี ข้าพเจ้าจะไม่เสพของมึนเมา
ทางการแพทย์ โรคที่เกิดขึ้นมี 2 ประเภท
1) โรคประจำสังขาร เช่น โรคชรา โรคจากเชื้อโรคที่ระบาดเป็นครั้งคราว
2) โรคจากการแส่หามาด้วยความประมาท เช่น
ขาดศีลข้อ 1 ทำให้อายุสั้น เช่น บุคคลประเภทเจ้าพ่อทั้งหลาย ฆ่าคนมามาก ลงท้ายก็โดนเขาฆ่า เอาบ้าง
ขาดศีลข้อ 2 ทำให้เกิดโรคประสาท เช่น โรคหวาดผวา โรคจิต
ขาดศีลข้อ 3 ทำให้เกิดกามโรคหรือโรคเอดส์ได้ง่าย
ขาดศีลข้อ 4 ทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม ผู้ที่โกหกมากๆ เข้าลงท้ายแม้กระทั่งตัวเองก็หลงลืมว่าเรื่องที่ตนพูดขึ้นนั้น เป็นเรื่องจริงหรือโกหก
ขาดศีลข้อ 5 ทำให้เกิดพิษสุราเรื้อรัง ตับแข็ง ก่อการทะเลาะวิวาท
ดังนั้นหากเรารักษาศีล 5 ได้ ก็เหมือนได้ฉีดวัคซีนป้องกันสารพัดโรคไว้แล้ว ในวันพระหรือทุก 7 วัน ควรถือศีล 8 ซึ่งมีข้อเพิ่มเติมจากศีล 5 ดังนี้
ศีลข้อ 3 เปลี่ยนจากประพฤติผิดในกาม เป็น เว้นจากการเสพกาม
ศีลข้อ 6 เว้นจากการกินอาหารยามวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงถึงเช้าวันรุ่งขึ้น
ศีลข้อ 7 เว้นจากการตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับ และของหอม และเว้นจากการดูการละเล่น
ศีลข้อ 8 เว้นจากการนอนบนที่นอนอันอ่อนนุ่ม และสูงใหญ่
ศีลข้อ 6-8 จะควบคุมความรู้สึกทางเพศไม่ให้เกิดขึ้นเกินส่วน และนั่นก็คือ
1) เป็นการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ
2) เป็นการลดช่องว่างระหว่างชนชั้น ไม่มีการแข่งขันประดับประดาร่างกาย ใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างไม่ฟุ้งเฟ้อ
3) เป็นการทำให้จิตใจสงบเบื้องต้น แล้วสามารถเข้าถึงธรรมะชั้นสูงต่อไป
4.11 อานิสงส์ของศีล
1. ทำให้เป็นทางมาแห่งโภคทรัพย์สมบัติ และสามารถใช้ทรัพย์ได้เต็มอิ่ม โดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะมีใครมาทวงคืน
2. ทำให้มีชีวิตอยู่ด้วยความเป็นสุข ไม่ต้องหวาดระแวงว่าใครจะมาปองร้าย
3. ทำให้เกียรติคุณฟุ้งขจรไปว่าเป็นคนเชื่อถือได้ มีอนาคตดี
4. ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในท่ามกลางประชุมชน
5. ทำให้เป็นคนไม่หลงลืมสติ มีความจำดี
6. ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ มีสุคติเป็นที่ไป และย่อมบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด
4.12 ประโยชน์ของวินัย
วินัยทั้งทางโลก และทางธรรมรวมกันแล้วทำให้เกิดประโยชน์ คือ
1.วินัยนำไปดี หมายความว่า ทำให้ผู้รักษาวินัยดีขึ้น ยกฐานะผู้มีวินัยให้สูงขึ้น เช่น
เด็กกลางถนน เข้าโรงเรียนมีวินัยกลายเป็นนักเรียน
เด็กชาวบ้าน บวชแล้วถือศีล 10 กลายเป็นสามเณร
สามเณรบวชแล้วถือศีล 227 กลายเป็นพระภิกษุ
วินัยเป็นข้อบังคับกายวาจาเราก็จริง แต่เป็นข้อบังคับเพื่อให้เราไปถึงที่หมายของชีวิตตามความประสงค์ของเราเอง
2. วินัยนำไปแจ้ง คำว่าแจ้ง แปลว่า สว่าง หรือเปิดเผยไม่คลุมๆ เครือๆ วินัยนำไปแจ้ง คือเปิดเผยธาตุแท้ของคนได้ ว่าไว้ใจได้แค่ไหน โดยดูว่าเป็นคนมีวินัยหรือไม่
3. วินัยนำไปต่าง เราดูความแตกต่างของคนด้วยวินัย ยกตัวอย่าง คนที่ซ่องสุม สมัครพรรคพวกและอาวุธไว้สู้รบกับคนอื่น ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า กองทหาร เป็นรั้วของชาติ ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า กองโจรเป็นเสี้ยนหนามของแผ่นดิน คนที่พกอาวุธเดินปนอยู่ในที่ชุมชนอย่างองอาจ ถ้ามีวินัยเราเรียกว่า ตำรวจ เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่า นักเลงอันธพาล เป็นผู้พิฆาตสันติสุข คนที่เที่ยวภิกขาจารพึ่งคนอื่นเลี้ยงชีวิต ถ้ามีวินัยรักษาศีล 227 เราเรียกว่า พระภิกษุ เป็นบุญของผู้ให้ทาน ถ้าไม่มีวินัยเราเรียกว่าขอทาน อาจสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ถูกขอ
เราต้องการก้าวไปสู่ความดีความก้าวหน้า เราต้องการความบริสุทธิ์กระจ่างแจ้ง เราต้องการยกฐานะให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องรักษาวินัย
ผู้มีวินัยดี หมายถึง ผู้ที่รักษาวินัยทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างถูกต้อง และเคร่งครัด
5. มงคลที่ 10 มีวาจาสุภาษิต
ปลามีชีวิตยืนยาวอยู่ได้ ก็เพราะอาศัยปากเป็นสิ่งสำคัญ
แต่ก็เพราะปากนั่นเอง ปลาจึงต้องติดเบ็ดเสียชีวิตโดยง่าย
เช่นกัน คนเราจะประสพความสำเร็จ ได้รับความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
ก็เพราะอาศัยวาจาสุภาษิตจากปาก
แต่ก็เพราะวาจาทุพภาษิตจากปากเพียงคำเดียว บางครั้งแม้แต่ชีวิตก็ยากจะรักษาไว้ได้
5.1 วาจาสุภาษิตคืออะไร
วาจาสุภาษิต หมายถึง คำพูดที่ผู้พูดได้กลั่นกรองไว้ดีแล้ว มิใช่สักแต่พูด อวัยวะในร่างกายของคนเรานี้ก็แปลก
ตา มีหน้าที่ ดู อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา 2 ตา
หู มีหน้าที่ ฟัง อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา 2 หู
จมูก มีหน้าที่ ดมกลิ่น อย่างเดียว ธรรมชาติให้มา 2 รู
แต่ปาก มีหน้าที่ถึง 2 อย่าง คือทั้งกินและพูด ธรรมชาติกลับให้มาเพียงปากเดียว แสดงว่าธรรมชาติต้องการให้คนดูให้มาก ฟังให้มาก แต่พูดให้น้อยๆ ให้มีสติคอยระมัดระวังปากจะกิน ก็กินให้พอเหมาะจะพูดก็พูดให้พอดี ลักษณะคำพูดที่พอเหมาะพอดี เป็นคุณทั้งแก่ตัวผู้พูดและผู้ฟังเรียกว่า วาจาสุภาษิต
5.1 วาจาสุภาษิตคืออะไร
1. ต้องเป็นคำจริง ไม่ใช่คำพูดที่ปันแต่งขึ้น เป็นคำพูดที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่บิดเบือนจากความจริง ไม่เสริมความ ไม่อำความ ต้องเป็นเรื่องจริง จริง จริง
2. ต้องเป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดไพเราะ ที่กลั่นออกมาจากน้ำใจที่บริสุทธิ์ ไม่เป็นคำหยาบ คำด่าคำประชดประชัน คำเสียดสี คำหยาบนั้นฟังก็ระคายหู แค่คิดถึงก็ระคายใจ
3. พูดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ เกิดผลดีทั้งแก่คนพูดและคนฟัง ถึงแม้คำพูดนั้นจะจริงและเป็นคำสุภาพ แต่ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร กลับจะทำให้เกิดโทษ ก็ไม่ควรพูด
4. พูดด้วยจิตเมตตา พูดด้วยความปรารถนาดี อยากให้คนฟังมีความสุข มีความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ในข้อนี้หมายถึงว่า แม้จะพูดจริง เป็นคำสุภาพ พูดแล้วเกิดประโยชน์ แต่ถ้าจิตยังคิดโกรธมีความริษยาก็ยังไม่ มควรพูด เพราะผู้ฟังอาจรับไม่ได้
5. พูดถูกกาลเทศะ แม้ใช้คำพูดที่ดี เป็นคำจริง เป็นคำสุภาพ เป็นคำพูดที่มีประโยชน์ และพูดด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าผิดจังหวะ ไม่ถูกกาลเทศะ ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะรับแล้ว จะก่อให้เกิดผลเสียได้ เช่น จะกลายเป็นประจานกันหรือจับผิดไป
- พูดถูกเวลา (กาล) คือรู้ว่าเวลาไหนควรพูด เวลาไหนยังไม่ควรพูด ควรพูดนานเท่าไร ต้องคาดผลที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย
- พูดถูกสถานที่ (เทศะ) คือรู้ว่าใน ถานที่เช่นไร เหตุการณ์แวดล้อมเช่นไรจึง สมควรที่จะพูดหากพูดออกไปแล้วจะมีผลดีหรือผลเสียอย่างไร เช่น มีความหวังดีอยากเตือนเพื่อนไม่ให้ดื่มเหล้า แต่ไปเตือนขณะเพื่อนกำลังเมาอยู่ในหมู่เพื่อนฝูงทำให้เขาเสียหน้า อย่างนี้นอกจากเขาจะไม่ฟังแล้ว เราเองอาจเจ็บตัวได้
คนฉลาดไม่ใช่เป็นแต่พูดเท่านั้น ต้องนิ่งเป็นด้วย คนที่พูดเป็นนั้น ต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูด ให้ยิ่งกว่าสิ่งที่ควรพูด
5.3 ลักษณะของทูตที่ดี (ทูตสันติ)
1. ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ด่วนปฏิเสธ
2. เมื่อถึงคราวพูดก็สามารถทำให้ผู้อื่นฟัง
3. รู้จักกำหนดขอบเขตของการพูดให้กะทัดรัด
4. จำเนื้อความทั้งหมดที่จะพูด
5. เข้าใจเนื้อความทั้งหมดโดยละเอียดตามความเป็นจริง
6. ทำให้ผู้อื่นเข้าใจตามได้
7. ฉลาดในการพูดที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์
8. ไม่พูดชวนให้เกิดการทะเลาะวิวาท
ผู้ใดเข้าไปสู่บริษัทที่พูดคำหยาบคาย ก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ยัง คำ
พูดให้เสีย ไม่ปกปิดข่าวสาร พูดจนหมดความสงสัย และเมื่อถูก
คำถามก็ไม่โกรธ ผู้นั้นย่อมควรทำหน้าที่ทูต
วิ. จุล. 7/400/201
5.4 โทษของการด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์
ผู้ด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ คือพระสงฆ์และผู้ปฏิบัติธรรม ติเตียนพระอริยเจ้า จะประสบความฉิบหาย 11 ประการ ต่อไปนี้
1. ไม่บรรลุธรรมที่ตนยังไม่บรรลุ
2. เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว
3. สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว
4. เป็นผู้หลงเข้าใจว่าได้บรรลุสัทธรรม
5. เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์
6. ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง
7. บอกลาสิกขา คือสึกไปเป็นฆราวา
8. เป็นโรคอย่างหนัก
9. ย่อมถึงความเป็นบ้า คือ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
10. เป็นผู้หลงทำกาละ คือ ตายอย่างขาดสติ
11. เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต
5.5 ถ้อยคำที่ไม่ควรเชื่อถือ
1. คำกล่าวพรรณนาคุณ ศรัทธา ของบุคคลผู้ไม่มีศรัทธา
2. คำกล่าวพรรณนาคุณ ศีล ของบุคคลผู้ทุศีล
3. คำกล่าวพรรณนาคุณ พาหุสัจจะ ของบุคคลผู้ไม่ ดับ
4. คำกล่าวพรรณนาคุณ จาคะ ของบุคคลผู้ตระหนี่
5. คำกล่าวพรรณนาคุณ ปัญญา ของบุคคลผู้โง่
ทั้ง 5 ประการ จัดเป็นคำซึ่งไม่ควรฟัง ไม่ควรเชื่อถือ
5.6 ลักษณะเสียงที่สมบูรณ์ของมหาบุรุษ
คนที่มีวาจาสุภาษิตมาข้ามภพข้ามชาติ จะมีลักษณะเสียงที่สมบูรณ์ของมหาบุรุษ ซึ่งมีลักษณะดังนี้คือ
1. แจ่มใสไม่แหบเครือ
2. ชัดเจน ชัดถ้อยชัดคำ ไม่ติดขัด
3. ไพเราะ อ่อนหวาน
4. เสนาะโสต
5. กลมกล่อม หยดย้อย
6. ไม่แตก ไม่พร่า
7. ซึ้ง
8. มีกังวาน
5.7 อานิสงส์การมีวาจาสุภาษิต
1. เป็นคนมีเสน่ห์ เป็นที่รักของชนทุกชั้น
2. มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางโลกและทางธรรม
3. มีวาจาสิทธิ์ ได้รับความสำเร็จในสิ่งที่เจรจา
4. ย่อมได้ยินได้ฟังแต่สิ่งที่ดีงาม
5. ไม่ตกไปในอบายภูมิ
ฯลฯ
วาจาสุภาษิต ไม่ว่าจะพูดด้วยสำเนียงภาษาอย่างไรก็ตาม วาจานั้นย่อมเป็นวาจาชั้นสูง ควรแก่การสรรเสริญของบัณฑิต ตรงกันข้ามวาจาทุพภาษิต แม้จะพูดด้วยภาษาใดสำเนียงดีแค่ไหน บัณฑิตก็ไม่สรรเสริญ
หนังสือ GB 102 สูตรสำเร็จการพัฒนาตนเอง
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา