พระพุทธองค์ทรงแนะนำพุทธวิธีสร้างตัวสร้างฐานะในปัจจุบันอย่างถูกต้องและยั่งยืน

วันที่ 22 พย. พ.ศ.2559

สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ , กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระพุทธศาสนา , วัดพระธรรมกาย , เรียนพระพุทธศาสนา , หนังสือเรียน DOU , พระโพธิสัตว์ , ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา , มงคลชีวิต , พุทธวิธี , พระพุทธองค์ทรงแนะนำพุทธวิธีสร้างตัวสร้างฐานะในปัจจุบันอย่างถูกต้องและยั่งยืน , อานิสงส์ของการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี

1.4 พระพุทธองค์ทรงแนะนำพุทธวิธีสร้างตัวสร้างฐานะในปัจจุบันอย่างถูกต้องและยั่งยืน

1.4.1 ปัญหาการสร้างตัวสร้างฐานะ
    ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ชีวิตก็มีปัญหาติดตัวอยู่ก่อนแล้ว มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไปเพื่อจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป ผู้ที่จะสร้างตัวสร้างฐานะ จะต้องทำความเข้าใจกับปัญหานั้นให้แจ่มแจ้งเสียก่อน จึงจะรู้วิธีแก้ไขปัญหานั้นได้ ปัญหาการสร้างตัวสร้างฐานะที่ต้องศึกษาในขั้นต้น มี 3 ประการ คือ

1) ปัญหาความยากจน
ความยากจน มี 2 ประการ คือ
       1.1) ความยากจนเพราะไม่มี คือ ความขาดแคลนทรัพย์เพราะไม่มีปัจจัย 4 เลี้ยงชีวิตเวลาหิวไม่มีกิน เวลาง่วง ไม่มีที่นอน เวลาอากาศร้อนหนาว ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม ยามเจ็บไข้ได้ป่วยไม่มียารักษาโรค ต้องอยู่อย่างขัดสนลำเค็ญเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก

      1.2) ความยากจนเพราะไม่พอ คือ ความขาดแคลนทรัพย์ที่ไม่ใช่เพราะไม่มีทรัพย์ แต่เกิดจากความไม่รู้จักพอ ถึงมีแล้วแต่ก็ยังอยากได้ อยากมี อยากเป็นเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ อยู่ในลักษณะเหมือนคนหิวโหยตลอดชีวิต เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ แม้ต้องกินเลือดกินเนื้อผู้อื่นก็ทำได้ ทุกนาทีของชีวิตจึงหาความสุขไม่เจอ


2) ปัญหาความเจ็บ
ความเจ็บ มี 2 ประการ คือ

        2.1) ความเจ็บกาย คือ ความผิดปกติที่เป็นเหตุให้ร่างกายเกิดความเจ็บป่วย ง่อยเปลี้ยเสียขา พิกลพิการ ทุกข์ทรมานสารพัด แล้วส่งผลให้ ไม่สามารถใช้กำลังกาย กำลังความรู้กำลังความคิดในการสร้างตัวสร้างฐานะได้เต็มที่ ความเจ็บกาย มี 3 ลักษณะ ได้แก่ ความหิวความพิกลพิการ ความเสื่อมของร่างกาย

      2.2) ความเจ็บใจ คือ ความผิดปกติที่เป็นเหตุให้ใจเกิดความทุกข์ทรมานแสนสาหัสด้วยอำนาจของความโลภ ความโกรธ ความหลง แล้วส่งผลให้ใช้กำลังกาย กำลังความรู้ กำลังความคิด กำลังใจ ไปในทางที่ผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ก่อให้เกิดความเดือนร้อนในภายหลังเป็นเหตุให้สร้างตัวสร้างฐานะไม่ได้


3) ปัญหาความโง่เขลา
ปัญหาความโง่เขลา มี 2 ประการ คือ

     3.1) ความโง่เขลาในทางโลก คือ ความขาดปัญญาในการสร้างตัวสร้างฐานะด้วยอาชีพสุจริต ที่ทำให้ตนเองมีทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง ญาติพี่น้อง พวกพ้องบริวารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และทำนองคลองธรรม

       3.2) ความโง่เขลาในทางธรรม คือ ความขาดปัญญาในการพิจารณาตัดสินว่าอะไรถูกผิด ดีชั่ว บุญบาป ควรไม่ควร ที่ทำให้ตนเองเพิ่มพูนศีลธรรมความดีงามในระดับที่ปิดนรก เปิดสวรรค์ ถางทางไปพระนิพพานได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

       เมื่อเราเห็นภาพรวมของปัญหาการสร้างตัวสร้างฐานะทั้ง 3 ประการแล้ว ก็มีคำถามตามมาอีกว่า ในปัจจุบันนี้ เราเป็นคนจนประเภทไหน เราจะแก้ไขความเจ็บได้อย่างไร และเราจะสร้างปัญญาได้อย่างไร

 

1.4.2 สาเหตุของปัญหาการสร้างตัวสร้างฐานะ
     ทุกปัญหาในโลกไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม ต้องมีสาเหตุของปัญหาด้วยกันทั้งนั้นแม้แต่ความจน ความเจ็บ ความโง่ ก็มีสาเหตุของปัญหาเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาปัญหาความจนความเจ็บ ความโง่ ด้วยใจเป็นกลางแล้วจะพบว่า ปัญหาทั้ง 3 ข้อ มีสาเหตุอยู่ 4 ประการ คือ

1) ขาดความเพียรเพื่อสร้างปฏิรูปเทส 4 จึงต้องยากจน

       ปฏิรูปเทส เรียกอีกอย่างว่า ท้องถิ่นที่เหมาะสมต่อการสร้างตัวสร้างฐานะและทำความดีได้อย่างเต็มที่

        ความยากจนเพราะขาดปฏิรูปเทส มี 4 ลักษณะ คือ

ก. ยากจนเพราะไม่ได้เกิดในปฏิรูปเทส
ข. ยากจนเพราะไม่ได้อาศัยอยู่ในปฏิรูปเทส
ค. ยากจนเพราะไม่ได้สร้างปฏิรูปเทส
ง. ยากจนเพราะทำลายปฏิรูปเทส

     ท้องถิ่นที่เป็นปฏิรูปเทสจะต้องมีองค์ประกอบที่ดีอยู่ 4 ประการ แต่เมื่อท้องถิ่นใดขาดไปแม้ข้อใดข้อหนึ่ง ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดความลำบากยากจนขึ้นในท้องถิ่นนั้น

     1. ขาดสถานที่ที่เหมาะสม ทั้งภูมิประเทศ และภูมิอากาศ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพ เช่น อยู่ในถิ่นที่เป็นทะเลทราย จะทำการเพาะปลูกก็ทำไม่ได้ หรือเป็นที่ที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง เช่น เกิดแผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม

         2. ขาดปัจจัย 4 คือ ที่อยู่อาศัย อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค หรือมีไม่เพียงพอกับความต้องการ

        3. ขาดบุคคลที่เป็นคนดี มีศีลธรรม มีคุณธรรม มีแต่โจรผู้ร้าย คนโลภมาก อิจฉา ริษยา ตระหนี่ เห็นแก่ตัว จึงถูกเอารัดเอาเปรียบ หาได้เท่าไหร่ก็หมดสิ้นไป เพราะอยู่ถิ่นที่มีแต่คนพาล

       4. ขาดผู้ให้ความรู้ทางโลกและทางธรรม เมื่อไม่มีผู้ให้ความรู้ในทางโลก ก็ทำการค้าขายไม่เจริญ ไม่มีการพัฒนา เมื่อไม่มีผู้ให้ความรู้ศีลธรรม ก็ไม่มีหลักคิดที่ถูกต้องในการทำความดี ทำให้กิเลสกำเริบเกิดเป็นความอยากได้ ความอยากมี ความอยากเป็นไม่สิ้นสุดแสวงหาตลอดชีวิต ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ และขาดหลักการปกครองที่เหมาะสมต่อการสร้างตัวสร้างฐานะ

     หากว่าใครไปอาศัยอยู่ในท้องถิ่นที่ไม่ใช่ปฏิรูปเท เช่นนี้แล้ว ต้องหาทางแก้ไขให้ได้โดยเร็ว หากต้องย้ายถิ่นที่อยู่ก็ต้องทำ แต่หากทำไม่ได้มีวิธีเดียวคือสร้างปฏิรูปเท ขึ้นมาให้ได้จึงจะไม่ยากจน


2) ขาดความเพียรเพื่อคบคนดี จึงต้องเจ็บตัว

      คนดี เรียกอีกอย่างว่า บัณฑิต คือผู้ประกอบด้วยศีลและปัญญา เมื่อไม่คบคนดี ย่อมขาดคำสอน คำแนะนำที่ดีจากคนดี ตัวอย่างของการประพฤติดีก็ไม่มีให้เห็น ปัญญาความรู้ดี ๆ ที่พาให้เจริญ พาให้พ้นทุกข์ก็ไม่ได้รับฟัง จึงได้พลาดพลั้งกระทำความผิดไปโดยไม่รู้ตัวเป็นเหตุให้ต้องเจ็บกายและเจ็บใจ เช่น

    ต้องเจ็บกาย เพราะขาดคนดีแนะนำการใช้ชีวิตที่เป็นหนทางแห่งความเจริญ จึงได้พลาดพลั้งไปเสพติดอบายมุข ใช้ชีวิตด้วยความประมาท ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคภัย ไข้เจ็บ และภัยอันตรายต่างๆ มาสู่ตน เป็นการทำร้ายตนเองโดยไม่รู้ตัว

      ต้องเจ็บใจ เพราะไม่มีบัณฑิตชี้หนทาง ว่างแห่งปัญญาให้ จึงไม่รู้จักควบคุมจิตใจปล่อยให้อกุศล คือ กิเล ทั้ง โลภ โกรธ หลง เข้าสิงจิตให้กระทำความผิดคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เกิดความเดือดร้อนทั้งกายและใจ


3) ขาดความเพียรเพื่อสร้างปัญญา จึงต้องโง่เขลา

       ไม่เพียรสร้างปัญญาให้กับตนจึงโง่เขลา คือ
     1. ไม่หมั่นร่ำเรียนเขียนอ่าน แสวงหาวิชาความรู้ จากผู้มีความรู้ จากตำรับตำรา จากสถาบันการศึกษา ให้มีในตนจึงได้เป็นคนโง่เขลา เป็นเหตุให้ผู้อื่น หลอกใช้ บังคับ ข่มขู่ หลอกลวง ได้ง่าย

     2. ไม่หมั่นคิดพิจารณาในความรู้ ที่ร่ำเรียนมาจึงขาดความเข้าใจในเรื่องนั้น เมื่อจะคิด จะพูด จะทำอะไร จึงไม่ละเอียดถี่ถ้วน มองไม่เห็นข้อผิดพลาด ข้อแท้จริง มองไม่เห็นอดีตไม่รู้ปัจจุบัน ไม่เห็นอนาคต การทำงานจึงผิดพลาด คาดการณ์อะไรไว้ก็ไม่ตรงกับที่คิด เป็นความเบาปัญญา

    3. ขาดการทำสมาธิภาวนา จึงขาดปัญญากำจัดทุกข์ เมื่อเกิดความทุกข์ขึ้นในใจ คือเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ไม่รู้วิธีแก้ไข ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จึงจะขจัดให้ออกไปจากจิตใจได้


4) ขาดความเพียรเพื่อสร้างบุญ จึงประสบทุกข์ทั้งยากจนเจ็บตัวโง่เขลา
       เพราะไม่ได้สร้างบุญไว้ในอดีตจึงต้องประสบทุกข์ในปัจจุบัน คือ

      1. ขาดบุญจากการทำทานในอดีต จึงต้องยากจนในปัจจุบัน เกิดมาจึงได้ยากจนเข็ญใจจะทำมาค้าขาย ก็ไม่เจริญรุ่งเรือง แม้จะขยันทำกินมากมายเพียงใด ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ

      2. ขาดบุญจากการรักษาศีล มีความประพฤติไม่ดี คบคนพาล จึงได้เกิดมาพิกลพิการมีโรคภัยเบียดเบียนสุขภาพก็ไม่แข็งแรง และมีอายุไม่ยืนยาว

       3. ขาดบุญจากการทำสมาธิภาวนา จึงไม่มีปัญญาความรู้ในเรื่องความเป็นจริงของชีวิต และความรู้ที่จะพาตนเองให้พ้นทุก

 

1.4.3 หลักการสร้างตัวสร้างฐานะอย่างยั่งยืน

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักการสร้างตัวสร้างฐานะที่ควบคู่ไปกับการสร้างความดีไว้ 4 ประการ คือ

1. ต้องสร้างตัวให้มีคุณสมบัติของผู้ชนะ จน  เจ็บ  โง่
2. ต้องสร้างฐานะเพื่อประโยชน์สุขในโลกนี้และโลกหน้า
3. ต้องพัฒนาตนเองและฐานะทางเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน
4. ต้องป้องกันต้นเหตุแห่งความวิบัติของตนเอง ฐานะ และหมู่คณะให้ถูกวิธี

 

1.4.4 การสร้างตัวให้มีคุณสมบัติของผู้ชนะ จน  เจ็บ  โง่
       บุคคลที่จะเอาชนะ ความจน  เจ็บ  โง่ ได้ ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการฝึกฝนตนเองให้มีฆราวาสธรรม คือ

1.สัจจะ คือ ฝึกตนเองให้มีความจริงจังและจริงใจในการทำงานและทำความดี
2. ทมะ คือ ฝึกตนเองให้มีการพันาด้านวิชาความรู้ การดูแลสุขภาพ และการพัฒนาจิตใจ
3. ขันติ คือ ฝึกตนเองให้มีทรหดอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคที่จะเกิดกับการสร้างตัวสร้างฐานะ
4. จาคะ คือ ฝึนตนเองให้รู้จักเสียสละ แบ่งปัน ให้กับมิตรสหาย ผู้มีคุณ และสมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรม

 

1.4.5 ต้องสร้างฐานะเพื่อประโยชน์สุขในโลกนี้

     เกิดมาเป็นมนุษย์ต้องเอาชนะความจน - เจ็บ - โง่ ให้ได้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า จึงจะได้ชื่อว่า เกิดมาไม่เสียชาติเกิดหรือเกิดมาตายเปล่าแต่ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับตนเองเลย การจะทำประโยชน์ตนในโลกนี้ให้สมบูรณ์ได้ ต้องอาศัยหลัก "ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ 4 ประการ" ต่อไปนี้

1. อุฏฐานสัมปทา - มีความสามารถในการหาทรัพย์ได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับตนเองในภายหลัง

2. อารักขสัมปทา - มีความสามารถในการเก็บทรัพย์ได้ รู้วิธีดูแลรักษาทรัพย์ให้ปลอดภัย จากอันตรายที่จะเกิดกับทรัพย์นั้น จากบุคคลหรือภัยธรรมชาติ

3. กัลยาณมิตตตา - มีความสามารถในการแสวงหา ชักชวน รวบรวมคนดีมาเป็นเครือข่าย การค้าขายกับตนได้

4. สมชีวิตา - มีความสามารถในการใช้ทรัพย์เลี้ยงชีวิตของตนตามความจำเป็น

 

1.4.6 ต้องสร้างฐานะเพื่อประโยชน์สุขในโลกหน้า
     ส่วนการทำประโยชน์ตนในโลกหน้าซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับชีวิตเพราะชีวิตเมื่อยังไม่หมดกิเลส ก็ต้องกลับมาเกิดอีก ตามหลักกฎแห่งกรรม ดังนั้น เพื่อชีวิตที่ดีในโลกหน้าที่ มบูรณ์พร้อมด้วยความไม่จน - เจ็บ - โง่ ต้องสั่งสมเสบียงบุญในปัจจุบัน ด้วยหลัก "สัมปรายิกัตถประโยชน์" คือสิ่งที่ทำแล้วจะได้รับประโยชน์ในภพชาติเบื้องหน้า 4 ประการ คือ

1. ศรัทธาสัมปทา คือ มีความไว้วางใจในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธองค์ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องจริง ดีจริง และเป็นประโยชน์จริง

2. ศีลสัมปทา คือ การควบคุมกาย วาจา ให้เว้นขาดจากการฆ่า การลัก การประพฤติผิดในกาม การพูดโกหก และการเสพสุรายาเสพติด

3. จาคะสัมปทา คือ การ ละสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วยความเต็มใจ

4. ปัญญาสัมปทา คือ การกลั่นจิตใจให้บริสุทธิ์จากการควบคุมของกิเลสด้วยการทำภาวนา

 

1.4.7 ต้องพัฒนาตนเองและฐานะทางเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน
     แม้ว่าบุคคลนั้นจะสร้างตัวสร้างฐานะจนสามารถเอาชนะความจน - เจ็บ - โง่ ได้แล้วก็ตาม หากต้องการทำความดีให้บรรลุเป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุดแล้ว ยังต้องรู้จักแบ่งทรัพย์ที่หามาได้นั้นมาพัฒนาท้องถิ่นให้เหมาะแก่การสร้างคนดีอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้สามารถสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธีได้เหมือนกับตนเอง เพราะธรรมชาติของคนนั้น มีความขาดแคลนเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ถ้าเราเจริญก้าวหน้าอยู่คนเดียว แต่ไม่ช่วยให้คนอื่นเจริญก้าวหน้าด้วย เขาก็คงไม่มาทำดีกับเราด้วย ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราดีแล้ว เราก็มีน้ำใจช่วยให้เขาดีตามมาด้วย นอกจากจะได้พวกพ้องมาร่วมสร้างความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปแล้ว ยังได้ความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของตนเองเพิ่มขึ้นอีกด้วย

       ดังนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราแบ่งทรัพย์ที่หามาได้นั้น ไปเป็นทุนในการสร้างหมู่คณะเพื่อร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความเจริญ 4 ประการ คือ

     1. ปฏิรูปเทส 4 การเพียรสร้างท้องถิ่นให้เหมาะแก่การทำความดีอย่างเต็มที่ คือ เพียรสร้างถิ่นที่อยู่ให้เหมาะสมสำหรับคนดีได้อยู่อาศัย ให้คนดีได้ความสะดวกในการสร้างตัวสร้างฐานะ และทำความดีให้มากยิ่งขึ้นไป

      2.สัปปุริสูปสังเสวะ การเพียรสร้างเครือข่ายคนดีให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น คือ เพียรฝึกฝนอบรมตนเองให้เป็นคนดียิ่งๆ ขึ้นไป เพียรเข้าไปรู้จักคบหากับคนดีมีศีลธรรมในท้องถิ่นให้มากที่สุด เพียรส่งเสริมให้คนดีสามารถแนะนำสั่งสอนอบรมผู้อื่นให้เป็นคนดีได้อย่างเต็มที่เพียรรักษาเครือข่ายคนดีให้มั่นคงด้วยการรวมกลุ่ม สมาชิกให้รู้จักกันอย่างทั่วถึงและมีกิจกรรมสร้างความสามัคคีกลมเกลียว

      3. อัตตสัมมาปณิธิ การเพียรสร้างการศึกษาเชิงพุทธให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น คือ การสอนให้มีสัมมาทิฏฐิในระดับที่เข้าใจจุดมุ่งหมายคำสอนของพระพุทธศาสนา และปลูกฝังให้มีความเพียรอย่างมั่นคงไม่คลอนแคลนที่จะทำเป้าหมายชีวิตของตนให้สำเร็จทั้ง 3 ระดับ คือ เป้าหมายชีวิตขั้นต้น เป้าหมายชีวิตขั้นกลาง และเป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุด

     4. ปุพเพกตปุญญตา การเพียรสร้างวันธรรมชาวพุทธในท้องถิ่นให้เข้มแข็งและยั่งยืน คือ การประพฤติตนเป็นต้นแบบต้นบุญด้วยการชักชวนสนับสนุนส่งเสริมผู้คนในท้องถิ่นให้มีสัมมาทิฏฐิ เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม และหมั่นสั่งสมบุญอยู่เสมอ คือ หมั่นทำทาน รักษาศีลเจริญภาวนา อยู่เป็นประจำโดยไม่ขาดเลยแม้แต่วันเดียวจนกระทั่งกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวันของทุกคนในท้องถิ่น ทั้งนี้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินในปัจจุบันของคนในท้องถิ่นเอง

 

1.4.8 ต้องป้องกันต้นเหตุแห่งความวิบัติของการสร้างตนเองฐานะหมู่คณะ

     แม้จะเพียรพัฒนาตนเองและฐานะทางเศรษฐกิจจนรุ่งเรืองกลายเป็นเครือข่ายหรือหมู่คณะใหญ่ดีแล้ว ก็ต้องเข้าใจจุดอ่อนของความเจริญรุ่งเรืองด้วย เพราะปัญหาที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกของการสร้างความดีแบบเป็นทีมใหญ่ก็คือ "ทิฏฐิมานะ" หรืออาการ "อวดดื้อถือดี" "ดูถูกดูหมิ่นผู้อื่น" เป็นต้น เพราะจุดอ่อนของผู้ที่มีความสามารถก็คือต่างคนต่างก็มั่นใจในความรู้ความสามารถของตนเองสูง จึงมักไม่ยอมฟังใคร ทำให้เกิดปัญหาความแตกความสามัคคีตามมาในภายหลัง เข้าทำนอง "พระเอกตกม้าตายตอนจบ"

      สิ่งที่คนทั่วไปมักอวดดื้อถือดีหรือดูถูกดูหมิ่นใส่กัน มีอยู่ 6 ประการ คือ ชาติตระกูล รูปร่างหน้าตา ยศตำแหน่ง ความรู้ความสามารถ ทรัพย์สมบัติ และบริวารเมื่อการคบหากันที่ต้องใช้ความจริงใจแลกความจริงใจมานี้ กลับกลายเป็นการดูถูกดูหมิ่นกันเสียแล้ว ความแตกแยก การทะเลาะเบาะแว้ง ความผูกโกรธขัดเคืองแค้นใจกันก็ตามมาทันที ผลสุดท้ายจึงพากันเสื่อมทั้งตนเอง เสื่อมมิตร และเสื่อมหมู่คณะ

       ดังนั้น เราจึงต้องมองเห็นโทษของความมีทิฏฐิมานะกันให้ชัดเจนก่อน จะได้สร้างวัฒนธรรมของหมู่คณะให้มีการป้องกันความเสื่อมไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นการรักษารากฐานความดีของตนเอง ความมั่นคงในฐานะ และความสามัคคีของหมู่คณะไว้ได้เป็นปึกแผ่น

      บุคคลที่มีทิฏฐิมานะในระดับถึงขั้นอวดดื้อถือดีและดูถูกดูหมิ่นผู้อื่นนั้น ย่อมต้องพบความเสื่อม 3 ประการ ที่นำไปสู่ความเสื่อมอีกหลายประการในภายหลัง คือ

      1. เสื่อมตน คือ เมื่อมีทิฏฐิมานะจนกระทั่งใครๆ ก็ไม่อาจเตือนได้ ย่อมตกอยู่ในความประมาท และเป็นเหตุให้พลาดพลั้งประกอบอกุศลกรรมบถ 10 ได้โดยง่าย เป็นเหตุให้ขาดความสุขในการดำเนินชีวิต

    2. เสื่อมมิตร คือ เมื่อใครๆ ก็เตือนไม่ได้ ตนเองย่อมไม่ได้รับความรู้ที่ทันสมัยทันเหตุการณ์ ทำให้ขาดปัญญา และเมื่อขาดปัญญาแล้ว ก็เป็นเหตุให้ขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเงินทองตามมา

      3. เสื่อมหมู่คณะ คือ เมื่อใครๆ ก็เตือนไม่ได้แล้ว เขาย่อมไม่ให้การยอมรับ เป็นเหตุให้ขาดเกียรติยศชื่อเสียง คือขาดการยกย่องนับถือให้ความเกรงใจจากผู้อื่น เมื่อเกียรติยศชื่อเสียงมีปัญหาแล้ว ก็ย่อมส่งผลกระทบถึงการขาดคนสนับสนุนธุรกิจการงานของตนไปด้วย เป็นเหตุเกิดความกลุ้มกลัดที่ต้องหันไปพึ่งอิทธิพลของคนพาล แล้วพาตัวไปจมอยู่กับอบายมุขต่างๆ ทำให้ใช้จ่ายทรัพย์สมบัติละลายไปกับอบายมุข ในที่สุดย่อมเป็นเหตุให้ขาดทรัพย์

     เมื่อทรัพย์ขาดมือแล้ว ย่อมไม่อาจดูแลกิจการให้ปกติ อีกทั้งไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้บริวารได้ตามสัญญา ลูกน้องแม้จะรักเจ้านายแค่ไหน แต่ก็คงอยู่กับเจ้านายที่ไม่จ่ายเงินเดือนไม่ไหว ย่อมต้องขอลาออกจากงานไป จึงเป็นเหตุให้ขาดลูกน้องบริวาร

      ดังนั้น เมื่อเสื่อมตน เสื่อมมิตร เสื่อมหมู่คณะแล้ว ก็เป็นอันว่าความพยายามในการสร้างตัวสร้างฐานะ และสร้างหมู่คณะที่พากเพียรทำมาก็ถึงกาลอวสาน เพราะเหตุที่มีทิฏฐิมานะมีอาการอวดดื้อถือดี และดูถูกดูหมิ่นคนอื่นแท้ๆ

      การป้องกันไม่ให้เป็นอวดดื้อถือดี หรือเป็นคนมีทิฏฐิมานะชนิดที่ใครๆ เตือนไม่ได้นั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักปฏิบัติไว้ 3 ประการ คือ

      1. หมั่นเทียบเคียงการสร้างความดีของตนเองกับมาตรฐานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ

      2. หมั่นคบกัลยาณมิตรและเข้าไปปวารณาตัวให้ท่านตักเตือนเราได้เสมอ

 3. หมั่นสร้างอริยทรัพย์ให้เกิดขึ้นในตนเพื่อสร้างหลักประกันป้องกันความเสื่อมในโลกนี้และโลกหน้าผู้ที่ป้องกันความเสื่อมเหล่านี้ไว้ได้ ย่อมรักษารากฐานความเจริญก้าวหน้าที่ตนเองและหมู่คณะสร้างมาด้วยความเหนื่อยยากลำบากไว้ได้สำเร็จ

 

1.5 อานิสงส์ของการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี
        ผลของการมีความเข้าใจถูกในการสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี ทั้ง 4 ประการ คือ

1) เมื่อสร้างตัวต้องประกอบด้วย "ฆราวาสธรรม"
2) เมื่อสร้างฐานะให้ได้ประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้าต้องประกอบด้วย "ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์" และ "สัมปรายิกัตถประโยชน์"
3) เมื่อรักษาตัวและฐานะให้ยั่งยืนด้วยการสร้างหมู่คณะต้องประกอบด้วย "จักรธรรม"
4) เมื่อป้องกันต้นเหตุแห่งความวิบัติในชีวิตด้วย "การเพียรกำจัดทิฏฐิมานะ"

ย่อมทำให้เขาได้รับอานิสงส์ใหญ่เป็นความร่ำรวยข้ามภพข้ามชาติอย่างน้อย 6 ประการ คือ

1. รวยปัญญา
      คือ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชาความรู้ปัญญาทางโลกที่จะใช้ประกอบอาชีพ การงาน เพื่อกำจัดความยากจน - เจ็บ - โง่ ให้หมดไป และสมบูรณ์ด้วยปัญญาทางธรรม เพื่อใช้ขจัดความทุกข์ทางใจ จนหมดกิเลสพบสุขถาวร เข้าสู่พระนิพพาน

2. รวยศีลธรรม
       คือ สมบูรณ์ด้วยศีลธรรม ความดี ที่ได้มาจากการคบบัณฑิต คบกัลยาณมิตร และมาจากการประพฤติธรรม มีการละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสเมื่อละโลกไปย่อมไปสู่สุคติ ด้วยผลแห่งความดี ศีลธรรมที่คอยติดตามตัวไปข้ามภพข้ามชาติ

3. รวยยศ
     คือ สมบูรณ์ด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่การงาน และความเป็นหัวหน้า ที่เจริญรุ่งเรือง อันเป็นผลมาจากคุณธรรมในตัวที่เป็นคนปราศจากอคติ ในการทำงาน ในการดำเนินชีวิต จึงเป็นคนหนักแน่น ไม่โลเล เมื่อจะตัดสินใจก็จะไม่ผิดพลาด มีแต่ความถูกต้องเที่ยงธรรมทุกครั้งไป

4. รวยมิตรดี
     คือ สมบูรณ์ด้วยญาติ มิตร เพื่อนสนิท พวกพ้องบริวาร ที่เป็นคนดี ที่เกิดจากการสนับสนุนส่งเสริมให้คนดีมาอยู่รวมกัน ทำงานร่วมกัน ทำความดีพร้อมกัน จึงเป็นพลังหมู่ที่เป็นพลังบริสุทธิ์สังคมก็เป็นสุข ครอบครัวก็เป็นสุข ที่ทำงานก็เป็นสุข ประเทศก็เป็นสุข เพราะมีแต่คนดี มิตรดีอยู่รอบตัว

5. รวยทรัพย์
      คือ รวยทรัพย์สมบัติ ได้แก่ แก้ว แหวน เงิน ทอง ข้าทา บริวาร ต่างๆ ที่ได้มาจากการประกอบการงานไม่มีโทษ จึงใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีอริยทรัพย์ที่เป็นหลักประกันชีวิตว่าจะสามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งในโลกนี้และโลกหน้าได้ รวมทั้งเป็นเสบียงบุญในการทำเป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุดให้สำเร็จ คือ การบรรลุพระนิพพาน ในวันข้างหน้าอีกด้วย

6. รวยบุญ
     คือ รวยทรัพย์ละเอียดที่มีคุณสมบัตินำติดตัวข้ามภพชาติไปได้ เมื่อไปเกิดในที่ใด บุญก็จะจัดสรรให้เราได้ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญสุข และโอกาสการบรรลุมรรคผลนิพพานมากยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งถ้านำสมบัติในภพใหม่ที่ได้เพราะบุญเก่าในอดีตส่งผลมาสร้างบุญใหม่ต่อไปด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งหลุดพ้นจากวัฏสงสารในที่สุด

 


GB 304 สูตรสำเร็จการพัฒนาองค์กรและเศรษฐกิจ
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017682830492655 Mins