อานิสงส์จากการทำให้พระภิกษุหายจากอาพาธ
1)ส่งผลให้พระพากุลเถระได้เป็นหนึ่งในผู้สำเร็จอภิญญาใหญ่
การที่พุทธสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งจะได้อภิญญาใหญ่ ต้องมีบุญบารมีที่สั่งสมมาเต็มเปี่ยมมาก เพราะในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง จะมีผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่ได้เพียง 4 ท่านเท่านั้น และพระสาวกที่เหลือแม้จะได้อภิญญา แต่ก็ไม่เรียกว่าได้อภิญญาใหญ่ เพราะสามารถระลึกชาติย้อนไปได้เพียงแสนกัปเท่านั้น แต่ท่านผู้บรรลุอภิญญาใหญ่ จะสามารถระลึกชาติได้ถึงหนึ่งอสงไขยกับอีกแสนกัปมาในยุคพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ผู้ที่สำเร็จอภิญญาใหญ่มีเพียง 4 ท่านเช่นกัน คือ พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานเถระ พระนางภัททากัจจานาเถรี (พระนางยโสธราพิมพา) และหนึ่งในนั้นก็คือ พระพากุลเถระ
2) ส่งผลให้พระพากุลเถระไม่เคยอาพาธ
ชีวิตของพระพากุลเถระตลอด 160 ปี ท่านไม่เคยป่วยหรืออาพาธใด ๆ เลย แม้เพียงจะใช้ 2 นิ้วจับก้อนของหอมสูดดม เพราะมีอาการวิงเวียนก็ไม่เคยเกิดขึ้น หรือแม้เกิดอาพาธด้วยระยะเวลาสั้น ๆ เหมือนช่วงเวลารีดนมโคเสร็จก็ไม่เคย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงไม่ฉันยา แม้เพียงสมอชิ้นหนึ่งท่านก็ไม่เคย
3) ส่งผลให้พระพากุลเถระปรินิพพานด้วยวิธีพิเศษ
เนื่องจากตลอดชีวิตของท่านไม่เคยอาพาธเลย แต่ท่านรู้กาลปรินิพพานของท่านด้วยญาณทัศนะ และเมื่อท่านพบว่าได้มาถึงแล้ว จึงดำริว่า แม้เราจะมีชีวิตอยู่ก็อย่าได้เป็นภาระแก่ภิกษุเหล่าอื่นเลย สรีระของเราแม้ปรินิพพานแล้ว ก็อย่าให้ภิกษุสงฆ์ต้องเป็นกังวลเลย จากนั้นท่านจึงเข้าเตโชธาตุปรินิพพาน โดยปรากฏเปลวไฟลุกขึ้นท่วมสรีระ ผิวหนัง เนื้อและโลหิตถูกเผาไหม้สิ้นไปเหมือนเนยใส ยังคงเหลืออยู่แต่ธาตุ ที่มีลักษณะดังดอกมะลิตูม
4) ส่งผลให้พระพากุลเถระเป็นผู้มีอายุขัยยืนยาวกว่าค่าเฉลี่ยของอายุมนุษย์ในยุคนั้น
ในยุคที่พระพากุลเถระท่านมาเกิด มนุษย์ในยุคนั้นมีอายุเฉลี่ยที่ 100 ปี แต่ด้วยบุญที่พระพากุลเถระสั่งสมมาดีแล้ว ทำให้ท่านมีอายุยืนกว่ามนุษย์ในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านมีอายุขัยยืนยาวถึง 160 ปี ซึ่งมากกว่าปกติทั่วไป
5) ส่งผลให้พระพากุลเถระ แม้จะอายุมากถึง 80 ปีแล้ว ก็ยังแข็งแรง สามารถออกบวชได้อย่างสะดวกง่ายดายโดยไม่เป็นภาระใคร
ปกติคนทั่วไปออกบวชตอนอายุ 80 ปี ก็จะเป็นภาระแก่ผู้อื่นอย่างมาก เนื่องด้วยสภาพร่างกายไม่แข็งแรงพอ อีกทั้งเวลาจะบำเพ็ญสมณธรรมก็จะทุกข์ทรมานเพราะสังขารไม่เอื้ออำนวย แต่ด้วยบุญที่พระพากุลเถระสั่งสมมา ทำให้ท่านออกบวชได้แม้วัยจะถึง 80 ปี อีกทั้งยังสามารถปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิได้โดยไม่เจ็บไม่ปวดไม่เมื่อยตลอดทั้ง 80 พรรษา
6) ส่งผลให้พระพากุลเถระไม่ต้องให้สามเณรมาคอยอุปัฏฐากเลย
เป็นธรรมดาที่คนอายุมากย่อมต้องมีคนมาคอยดูแล หรือแม้แต่พระภิกษุเองเมื่อท่านอายุมาก ก็ต้องมีสามเณรมาคอยอุปัฏฐากดูแล แต่ด้วยบุญที่พระพากุลเถระสั่งสมมา แม้อายุมาก ท่านก็ยังแข็งแรง ช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง
7)ส่งผลให้พระพากุลเถระมีสุขภาพดีมาก โดยไม่ต้องใช้ตัวช่วยในการบรรเทาความปวดเมื่อยตามร่างกายเลย
โดยทั่วไปสังขารมนุษย์มักจะมีทุกขเวทนาจากการปวดเมื่อยตามร่างกาย และยิ่งอายุมากขึ้น ก็จะหลีกเลี่ยงอาการเช่นนี้ได้ยาก แต่สำหรับพระพากุลเถระแล้ว ท่านไม่เมื่อย ฉะนั้นจึงไม่ต้องให้ใครมาบีบนวดเลย อีกทั้งยังไม่ต้องอบตัวในเรือนไฟ หรือใช้จุณอาบน้ำ (ผงขัดตัว) เพราะมีสุขภาพผิวที่ดี
8) ส่งผลให้พระพากุลเถระ มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยปัจจัย 4 โดยไม่ขัดสนขาดแคลนเลย
8.1) เป็นผู้มีจีวรใช้สอยเหลือเฟือ
ทั้ง ๆ ที่ในสมัยนั้น พระภิกษุต่างลำบากมากในเรื่องการหาจีวรมาใช้สอย เพราะต้องบังสุกุลผ้ามาช่วยกันตัด เย็บ ย้อม และกว่าจะได้แต่ละผืนต้องเสียเวลา เสียกำลังคนไปมาก แต่ด้วยบุญที่พระพากุลเถระสั่งสมมา ทำให้ท่านไม่ต้องเสียเวลาไปหา ไปตัด ไปเย็บ ไปย้อมจีวรใดๆ เลย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ท่านมีเวลานั่งสมาธิเจริญสมาบัติมากกว่าภิกษุทั่วไป การที่ท่านมีจีวรใช้อย่างเหลือเฟือ เพราะบุญที่ท่านสั่งสมมาบันดาลให้ท่านไปเกิดในตระกูลเศรษฐีมหาศาล และมีพ่อแม่ที่มียศใหญ่ถึง 2 ตระกูล ซึ่งต่างมีหน้าที่ทำจีวรส่งไปถวายให้ท่านใช้สอย โดยครึ่งเดือนแรก ตระกูลของท่านที่อยู่เมืองโกสัมพีจะส่งไปถวายผืนหนึ่ง และพอเวลาผ่านไปอีกครึ่งเดือน คนในตระกูลที่อยู่เมืองพาราณสีก็จะทำจีวรอีกผืนหนึ่งไปถวาย สลับกันไปถวายทุกครึ่งเดือนไม่ขาดเลย
อีกทั้งจีวรของท่านยังเป็นจีวรที่ประณีต ทำด้วยผ้าเนื้อละเอียด ซึ่งเอามาย้อมแล้วใส่ในผอบส่งไปถวาย โดยจะวางไว้ให้ที่ประตูห้องน้ำ ในเวลาที่พระเถระสรงน้ำเสร็จก็จะนุ่งห่มจีวรที่วางไว้ และท่านก็บริจาคจีวรเก่าให้บรรพชิตทั้งหลายไป
8.2) มีภัตตาหารอุดมสมบูรณ์เลิศรส แม้จะอยู่ในป่า และไม่ได้รับกิจนิมนต์
พระพากุลเถระ ท่านถือธุดงค์อยู่ป่าเป็นวัตร ท่านจึงไม่รับกิจนิมนต์ไปฉันในบ้านใครเลยตลอดชีวิต แม้เป็นอย่างนี้ ท่านก็ไม่ลำบากด้วยข้าวปลาอาหารใด ๆ เลย ตรงกันข้ามด้วยบุญในตัวท่าน กลับทำให้ท่านได้ภัตตาหารอันประณีตเลิศรส โดยไม่ต้องเสียเวลารับกิจนิมนต์แล้วดึงเวลาปฏิบัติธรรมของท่านไป เพราะชาวเมืองและคนในตระกูล 2 นครของท่าน ได้เตรียมอาหารเลิศรสแล้วพากันมาใส่บาตรท่านอย่างเนืองนิตย์มิได้ขาดเลย
9) ส่งผลให้พระพากุลเถระสามารถถือธุดงค์ข้อ “เนสัชชิกธุดงค์” คือ นั่งเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ได้ตลอดชีวิต
ปกติการที่คนทั่วไปจะถือธุดงค์ข้อนี้ได้ จะต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาก ๆ เพราะไม่สามารถนอนได้เลย และที่น่าทึ่ง คือ พระพากุลเถระไม่เคยเหยียดหลังบนเตียง หรือ แม้แต่การเอนหลังพิงพนักตลอด 80 ปีที่ท่านบวช จนกระทั่งปรินิพพาน เนื่องจากพระพากุลเถระท่านมีสุขภาพดีเป็นเลิศ แม้ท่านไม่ได้นอน สภาพร่างกายท่านก็ยังแข็งแรง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้เปรียบ คือ มีเวลานั่งสมาธิปฏิบัติธรรมสั่งสมความบริสุทธิ์หยุดนิ่งได้มากกว่าภิกษุรูปอื่น ๆ
10)ส่งผลให้พระพากุลเถระสามารถถือธุดงค์ข้อ “อรัญญิกธุดงค์” คือการอยู่ป่าเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ได้ตลอดชีวิต
การถือธุดงค์ข้อนี้ก็เช่นกัน การจะอยู่ป่าโดยไม่อาศัยอยู่ในบ้านเลย ก็จะต้องโดนลม โดนฝน โดนแดดโดนสภาพอากาศที่แปรปรวน ซึ่งถ้าใครสุขภาพไม่ดี ก็จะอยู่ไม่ได้ แต่สำหรับพระพากุลเถระแล้ว ท่านแข็งแรงมาก ไม่ว่าจะเผชิญกับสภาพแวดล้อมแบบไหน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ท่านสามารถถือธุดงค์ข้อนี้เป็นวัตรได้ตลอดชีวิต
เรียบเรียงโดย : ร.ลิ่วเฉลิมวงศ์