“...สุดบูชาของลูก....
...หากลูกยังเวียนว่ายในวัฏสงสาร อยู่เคียงข้างพ่อและแม่จวบจนสิ้นชีวี
ดุจจมสู่ก้นมหานทีพร้อมกัน ชาวโลกย่อมสรรเสริญอยู่
แต่ลูกจากพ่อและแม่ไปในครานี้ ปรารถนาจะสั่งสมบารมี
ด้วยรู้ซึ้งแล้วว่า พระมหากรุณาธิคุณของพระบรมศาสดานั้น...
...ก่อประโยชน์แก่ลูกและหมู่สัตว์เพียงใด...
ก็ดูประหนึ่งลูกจะจากไปหาความสุขผู้เดียว ชาวโลกจะติฉินนินทา ประการใด
ลูกก็ปรารถนาจะให้พ่อและแม่ได้รับรู้ว่า ในการจากไปครั้งนี้...
มีจิตแน่แน่ว จะแสวงหานาวา เพื่อจะกลับมารับผู้ที่ลูกรักดังดวงใจ
ได้ไปอยู่ ณ ที่เดียวกัน ....ในวันที่ไม่มีมหานทีใดใด...ให้เราต้องเวียนว่ายอีก ”
.....สายตาเด็ดเดี่ยว แน่วแน่ของสามเณรร่างเล็ก ทว่าแฝงดวงใจยิ่งใหญ่อยู่ภายใน สะพายบาตรด้วยกิริยาสงบสำรวมน่าเลื่อมใส เดินออกมาจากประตูอุโบสถด้านทิศใต้ ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีบรรพชา
.....สีเหลืองเรืองรองของผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งเป็นประดุจธงชัยของพระอรหันต์ ช่วยขับผิวนวลใสของสมณะ น้อยให้ดูสว่างไสวยิ่งขึ้น หยาดน้ำตาของผู้เป็นบิดามารดาผู้ให้กำเนิด เอ่อล้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อได้ทัศนาบุคคลอันเป็นที่รักตรงหน้า ด้วยความปีติตื้นตันใจเหลือที่จะกล่าว
...เฉกเช่นความรู้สึกของสามเณรดุจเดียวกัน...
.....ท่านทั้งสองก้มลงกราบสามเณรลูกชายด้วยความเคารพรักอย่างยิ่ง ภูมิใจว่า บัดนี้ ท่านได้ยกฐานะจากผู้นับถือพระรัตนตรัย ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยแล้ว เป็นพุทธบุตรผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ควรแก่การเคารพกราบไหว้ ท่านคือเนื้อนาบุญอันประเสริฐแก่หมู่ญาติ โดยเฉพาะบิดามารดาผู้อนุโมทนาบุญการบวช ย่อมได้อานิสงส์ใหญ่ ในฐานะญาติแห่งพระศาสนา ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าตำแหน่ง พระเจ้าจักรพรรดิ เสียอีก
.....ด้วยว่าพระเจ้าจักรพรรดิ ผู้มีรัตนะ ๗ ประการ ยังเทียบค่าไม่ได้กับพระรัตนตรัย อันได้แก่ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ ซึ่งเป็นรัตนะล้ำค่าในโลก ไม่มีรัตนะใดยิ่งกว่า
.....ดังนั้นการเป็น ญาติแห่งพระศาสนา จึงเป็นทางมาแห่งมหากุศลอันไม่มีประมาณ
.....เช่นเรื่องราวในสมัยหลังพุทธปรินิพพาน เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช พระมหากษัตริย์ผู้มีศรัทธาอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์ทั่วชมพูทวีป ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ หลังจากสร้างเสร็จแล้ว ได้กระทำการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เป็นเวลานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน
.....ตลอดระยะเวลาการเฉลิมฉลอง ทั่วทั้งเมืองล้วนตกแต่งประดับประดาอย่างวิจิตรงดงาม ด้วยดอกไม้ของหอม และตามประทีปโคมไฟสว่างไสวทั้งกลางวันกลางคืน ไม่เคยว่างเว้นจากเสียงความรื่นเริงแห่งมหรสพ ผู้คนบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ตั้งใจน้อมถวายเป็นพุทธบูชามิได้ขาด
.....พระเจ้าอโศกทรงมีมหาปีติอย่างยิ่ง กล่าวถามพระอรหันตเถระรูปหนึ่งว่า ท่านบำเพ็ญบุญมากถึงเพียงนี้ ได้ชื่อว่าเป็น ญาติในพระศาสนา แล้วหรือยัง พระเถระกล่าวว่า “ ขอเจริญพร มหาบพิตร การสร้างมหากุศลในครั้งนี้ จัดว่าเป็น ทานบดี เท่านั้น ยังไม่ถือเป็น ญาติแห่งพระศาสนา ”
.....พระเจ้าอโศกได้ฟังดังนั้นทรงตกพระทัย และตรัสถามว่าต้องทำบุญเท่าไหร่ ด้วยอะไร จึงจะถือได้ว่าเป็นญาติแห่งพระศาสนา พระเถระตอบว่า ต้องเป็นผู้อนุญาตให้กุลบุตรกุลธิดาได้บวช จึงนับเป็น ญาติแห่งพระศาสนา อย่างแท้จริง เมื่อฟังดังนั้น พระเจ้าอโศกจึงมีพระราชานุญาตให้พระโอรสและพระธิดา อุปสมบทในพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งสองรูป ได้เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคหลังพุทธปรินิพพาน
.....ความรู้สึกของพระเจ้าจักรพรรดิผู้เกรียงไกรในบัดนั้น ไม่แตกต่างจากความรู้สึกของบิดามารดา ผู้อนุญาตให้สามเณรได้บวชในบัดนี้ เพราะเข้าถึงความเป็นผู้โชคดีที่ได้มาโดยยาก ดีใจที่เห็นสามเณรลูกชายเป็นผู้ “ ได้โอกาส ” แห่งความสุขที่แท้จริง คือ อริยทรัพย์อันประเสริฐ ซึ่งคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนยากจะกระทำได้
.....บนหนทางชีวิต ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกเดิน และการตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตบนเส้นทางธรรมตั้งแต่วัยเยาว์ นับเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง ต้องเป็นบุคคลผู้มีดวงปัญญาสว่างไสว อันเกิดจากการสั่งสมบุญบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จึงมองเห็นคุณประโยชน์จากการฝึกฝนอบรมตนตามพระธรรมวินัย ในขณะที่ร่างกายยังแข็งแรง สติปัญญายังแจ่มใส ย่อมไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปด้วยความไม่ประมาทในชีวิต
.....ชีวิตของสามเณรเช่นกัน ด้วยตระหนักว่า เวลาในชีวิตแสนสั้น เหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ไม่นานย่อมจางหาย จะมัวเพลินในความเป็นหนุ่มเป็นสาว ในความไม่มีโรค ในความมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร
... ในเมื่อ ชรา และมรณภัย คืบคลานเข้ามาเบียดเบียนอยู่ทุกขณะ ...
.....หากรอให้เข้าสู่ปัจฉิมวัย ร่างกายร่วงโรย สติปัญญาถดถอย ไฉนเลยจะพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ได้
.....บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายในกาลก่อน จึงเป็นผู้หมั่นพิจารณาจุดหมายของการเกิดมาอยู่เป็นนิจ ว่าทุกชีวิตล้วนเกิดมาเพื่อแสวงหาความบริสุทธิ์หลุดพ้น ไถ่ถอนตนให้พ้นจากอำนาจกิเลส ใช่เกิดมาเพื่อแสวงหา ลาภ ยศ และสรรเสริญสุข แต่ประการใดไม่...สามเณรจึงตัดสินใจเลือกหนทางสายนี้ หนทางสายกลางที่มีคุณค่ายิ่งต่อมวลมนุษยชาติ เดินตามรอยบาทพระศาสดาผู้ย่ำธรรมเภรีไปทั่วทุกแห่งหน
......พระพุทธองค์ทรงยินดีประทับนั่งภายใต้ ควงไม้ศรีมหาโพธิ์ มากกว่าภายใต้เศวตฉัตรอันวิจิตรงดงาม ในปราสาทราชวังอันกว้างใหญ่ ...ทรงยินดีพอใจผ้ากาสาวพัสตร์เพียง ๓ ผืน มากกว่าผ้ากัมพลเนื้อละเอียดจากแคว้นกาสี ซึ่งประชีดีแล้วถึง ๗ ครั้ง ประดับตกแต่งแล้วด้วยรัตนมณีมีค่ามาก มายาเหล่านี้ ลวงตาได้แต่คนเขลา แต่มิอาจลวงดวงปัญญาของผู้แสวงหาฝั่งคือ พระนิพพาน ได้ไม่ ด้วยรู้ซึ้งแล้วว่า โลกคือกรงขังสรรพสัตว์ ให้หลงใหลเพลิดเพลินอยู่ในกามสุข จนไม่สามารถพาตนให้รอดพ้นจากทุกข์
.....สามเณรจึงมีความปีติภาคภูมิใจ ที่ได้สวมใส่ชุดนักรบแห่งกองทัพธรรมชุดนี้ ซึ่งเป็นผ้าสีสุดท้ายในสังสารวัฏ เป็นที่สุดแห่งการแสวงหา ที่ไม่มีสิ่งใดยิ่งกว่า จากนี้ไป...สามเณรจะตั้งใจทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ประพฤติตนเป็นต้นแบบต้นบุญให้กับชาวโลก ด้วยการเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน อันเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด
.....สามเณรขอกล่าวตามตรงว่า ไม่ง่ายนัก ที่จะใช้ชีวิตในวัยนี้ ห่างไกลจากไออุ่นของผู้มอบสายเลือด ความรักที่ฝังอยู่ในเลือดข้นนั้น เรียกร้องให้สามเณรอยากอยู่ใกล้โยมแม่ อยากอยู่กับครอบครัว อยากนั่งเล่น นั่งคุยกันเหมือนวันวาน
...แต่สิ่งหนึ่งที่เข้มข้นกว่านั้น คือ เป้าหมาย...
.....เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะหาสิ่งไหนที่จับต้องได้ด้วยมือ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มาอุปไมย
.....แม้หนทางสายนี้จะต้องอาศัยความอดทน และความเสียสละอย่างมาก แต่สามเณรก็ยินดีพอใจ ด้วยชุดนักรบแห่งกองทัพธรรมที่สวมใส่ ทำให้ความหวาดกลัวใดๆ คล้ายจะปลาสนาการไปสิ้น เป็นความสุขสงบอันไม่มีประมาณมาแทนที่ ยิ่งเจอความทุกข์ยากลำบากเท่าไร ยิ่งสุกใสเหมือนทองที่เจอไฟ ยิ่งใสยิ่งสว่าง ผ้าผืนนี้มีตบะอยู่ในตัว ผู้ใดได้สวมกิเลสอาสวะจะทุบถอง ดิน แดด ลม ฝน ทนได้ทุกอย่าง เป็นไปเพื่อถากถางทางพระนิพพาน
.....ชาวโลกทั่วไป หากมองผิวเผินอาจเข้าใจผิดคิดว่า ชีวิตของสามเณร เป็นชีวิตที่ด้อยโอกาส เห็นจะเป็นจริงดังอ้าง คือ ด้อยโอกาสจากอกุศลกรรม ด้อยโอกาสจากอบายภูมิ อันจะนำพาชีวิตให้ตกต่ำ แต่ความจริงยิ่งไปกว่านั้น คือ ชีวิตของสามเณรเป็นชีวิตที่ “ได้โอกาส” อันทรงคุณค่ายิ่ง ได้โอกาสในการทำความดีที่พิเศษสุด ...ได้โอกาสใกล้ชิดพระรัตนตรัย ทำให้ได้เข้าถึงฐานะอันประเสริฐ ทุกอย่างล้วนรวมอยู่ในคำว่า สามเณร ผู้เป็นเหล่ากอของสมณะ
.....อนาคตของบวรพุทธศาสนา จึงฝากฝังไว้ในมือของสามเณร ผู้แบกรับภาระของศาสน์ไว้ด้วยใจมั่น มโนปณิธานกล้าแกร่งได้หยั่งรากลึกต้นกล้าแห่งธรรมบนผืนดิน รอวันเจริญรุ่งเรืองสว่างไสว ให้ร่มเงาเฉกเช่นไม้ใหญ่...สืบต่อไป