โอ้โอ๋...สุขาจ๋า...

วันที่ 01 กพ. พ.ศ.2560

 
โอ้โอ๋...สุขาจ๋า...
 
โอ้โอ๋...สุขาจ๋า...,ที่นี่มีคำตอบ ฉบับมินิ เล่ม 4 รักนี้สีอะไร,บทความประจำวัน
 
 
             เมื่อข้าพเจ้าพูดว่า ทุกคนต้องเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นกันอยู่ทุกวัน ทุกคน คนฟังไม่ใช่น้อยส่งเสียงท้วงติง
 
           “ไม่เสมอไปหรอกป้า หนูหลายๆ ปี จึงจะเป็นไข้ซะทีนึง ไม่ได้ป่วยทุกวันอย่างที่ป้าพูดซักหน่อย”
 
         พูดท้วงกันอย่างนี้ เพราะเข้าใจว่าเจ็บไข้หมายถึงมีอาการ เจ็บป่วยมากๆ เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง เป็นแผล ฯลฯ ซึ่งต้องให้คนอื่นหรือแพทย์เป็นคนรักษาจึงหาย ส่วนอาการเจ็บไข้เล็กน้อยที่ตนเองรักษาได้ก็ลืมคิดไปว่า นั่นก็เรียกว่าอาการเจ็บป่วย ไม่สบายเหมือนกัน
 
         นั่ง นอน ยืน เดิน อยู่ในท่าเดียวนานๆ ก็ป่วย มีอาการเมื่อย เรารักษาเองด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถเป็นท่าอื่น ก็หายป่วย
 
       ทํางานเพลินจนลืมรับประทานอาหารก็ป่วย มีอาการหิวเราก็รักษาเองด้วยการรับประทานรับประทานอาหาร น้ำเข้าไปแล้วก็ป่วย มีอาการปวดปัสสาวะ อุจจาระ ก็รักษาด้วยการเข้าส้วมถ่ายทิ้ง ก็หาย
 
               ใช้สายตามาก หรืออดนอน ก็ป่วย มีอาการง่วง รักษาด้วยการนอนหลับก็หายป่วย
 
                เห็นหรือไม่ ท่านผู้อ่านเองก็ไม่สามารถเถียงข้าพเจ้าได้เหมือนกันว่า เราทุกคนนาน ๆ จึงจะป่วย เพราะตามความจริงแล้ว เราป่วยกันอยู่ตลอดเวลา ป่วยวันละหลายๆ ครั้ง ขณะนี้บางท่านกำลังอ่านหนังสือเล่มที่ข้าพเจ้าเขียนแล้วกำลังป่วยด้วยการเมื่อยตาง่วงนอกอยู่ก็ได้ และบางทีก็อาจจะแก้ปัญหาด้วยการเอนตัวลงนอนเหยียดยาวหลับไปอย่างสบายใจหายป่วย
 
             ความหิวกระหาย ปวดเมื่อย ง่วงเหงาหาวนอน ปวดอุจจาระปัสสาวะ ฯลฯ เหล่านี้เป็นความเจ็บป่วยประจำแท้จริง ส่วนการเจ็บไข้ อาการมากๆ อย่างอื่นเป็นความเจ็บป่วยจร
 
           ในชีวิตของข้าพเจ้าได้พบความทุกข์จากการเจ็บป่วยเหล่านี้ ทั้งที่เป็นเจ็บป่วยชนิดประจำและชนิดจร จะเล่าให้ท่านฟัง ฟังแล้วก็จะนึกออกทันทีว่าท่านก็เคยผ่านมาแล้วเหมือนกัน และคงจะเห็นพ้องกับข้าพเจ้าว่า ความเจ็บไข้ได้ป่วยเหล่านี้เป็นทุกข์ไม่น้อยเลย
 
           ปีนั้นเป็นเวลาราวปี ๒๕๑๗ ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าสถานศึกษาแห่งหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับเชิญให้ไปร่วมประชุมในระหว่างหัวหน้าสถานศึกษาด้วยกันราวๆ ๕๐ คน ที่บ้านพักในแหลมฉบังของกระทรวงมหาดไทย
 
         หลังจากประชุมกันด้วยเรื่องหน้าที่การงานเครียดๆ อยู่หลายวันหลายคืนแล้ว มีอยู่วันหนึ่ง ที่ประชุมได้ลงมติให้เปลี่ยนบรรยากาศไปประชุมที่เกาะสีชัง ได้นั่งเรือออกทะเล เผื่อใจคอสมาชิกจะเบิกบานกันขึ้นบ้าง วันนั้นหลังอาหารกลางวันแล้ว เราก็ลงเรือเล็กๆ ลำหนึ่งไปถึงที่เกาะนั้น ต่างก็ถือโอกาสพักผ่อนกันตามสมควร แล้วจึงเดินทางกลับ
 
       ข้าพเจ้าเห็นว่าระยะเวลาที่เรือแล่นไม่นานนัก จึงมิได้เข้าส้วมทําธุระถ่ายหนักเบาให้เรียบร้อย เพราะยังไม่ปวด คํานวณเวลาแล้วเห็นว่า ขึ้นฝั่งก็ยังอยู่ได้ ซึ่งนับว่าเป็นความประมาทอย่างยิ่ง เพราะเรือเกิดมาตายกลางทาง
 
      “นั่นเรือดับเครื่องทําไมครับ” เสียงคนทางหัวเรือถาม
 
     “มีใครจะชมวิวกลางทะเลหรือครับ”
 
    “ไม่ใช่ ไม่ได้ชมวิว เครื่องเรือเสีย” เสียงคนทางท้ายเรือตอบมาอย่างใจเสียเหมือนเรือ
 
    ทุกคนเงียบกริบราวกับนัดกันหยุดพูดคุย เหลือแต่เสียงคลื่นเสียงลมที่เริ่มพัดแรง สายตาทุกคู่หันไปมองคนขับเรือเป็นตาเดียวกัน คนขับลุกขึ้นก้มๆ เงยๆ แก้เครื่องยนต์ ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ผ่านไป ยังไม่มีทีท่าว่าจะแก้เครื่องได้สําเร็จ
 
     ผู้โดยสาร ๕๐ กว่าชีวิตต่างมองหน้ากันยิ้มไม่ออก มองรอบตัว มีแต่น้ำจรดฟ้า ขณะเรือแล่นตัดคลื่นอยู่ไม่รู้สึกตัวเลยว่าเรือโคลงเคลงมาก แม้จะมองเห็นว่าท้องทะเลมีคลื่นลูกโตขนาดเท่าคันรถยนต์ แต่พอเรือตายลงเท่านั้น อาการโต้คลื่นดูรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที เรือเชิดหัวขึ้นสูง แล้วก็พุ่งลงต่ำราวกับจะมุดลงไปในท้องทะเล เชิดขึ้นแล้วพุ่งลด เป็นอยู่อย่างนี้ไม่มีหยุด มีแต่จะแรงขึ้น เพราะยิ่งบ่ายใกล้เย็นลมก็ยิ่งจัด คลื่นก็ยิ่งลูกโต
 
     ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงต่อมา หลายคนต้องคลานไปที่กราบเรือ แล้วก็เริ่มอาเจียนเพราะเมาคลื่น ใครมียาดมยาหม่องก็ดมก็ทากันไป คนที่ว่ายน้ำไม่เป็นมีสีหน้าซีดเผือด แม้คนว่ายเป็นก็หวั่นไหวไปทั่ว เพราะเรือลอยลําอยู่กลางทะเล เห็นแต่น้ำจรดฟ้า ถ้าเรือมุดลงไปในคลื่นแล้วไม่ลอยลําขึ้นมา จะว่ายน้ำไปถึงฝั่งได้แน่หรือ หรือว่าจะเป็นเหยื่อฉลามไปเสียก่อน
 
    มีหลายคนหันหน้ามามองข้าพเจ้า แม้ไม่เปล่งเสียงออกมา แต่ข้าพเจ้าก็พออ่านสายตาพวกเขาออก เหมือนเขาพูดว่า
 
    “คุณถวิล คุณเป็นคนถือศีลแปดนุ่งขาวห่มขาว ปฏิบัติธรรมมาหลายปีแล้ว ช่วยให้พลังอํานาจจิตของคุณช่วยพวกเราหน่อยซี”
 
  ข้าพเจ้าอยากจะบอกเขาว่าการถือศีลปฏิบัติธรรมนั้นมีไว้กําจัดกิเลสในใจ ไม่ใช่มาทําฤทธิ์ทําเดชพิเศษพิสดารอะไรๆ ในใจข้าพเจ้าก็คิดตอบไปว่า
 
       “ฉันจะช่วยอะไรพวกเธอได้ แค่ศีลห้าก็ไม่มีใครถือกันสักคนเดียว จะเอาบุญที่ไหนมาอธิษฐานให้คุ้มครองรักษา กลางคืนเลิกประชุมกันแล้ว พวกเธอก็ร้องรําทําเพลง เล่นไพ่ พวกผู้ชายก็ขับรถเข้าไปในตัวเมือง ไปเที่ยวซ่องโสเภณี กลับกันจนสว่าง เช้าเข้าประชุมจะเอาสติเอาปัญญาที่ไหนมาออกความคิดเห็น ก็เซื่องซึมง่วงเหงาหาวนอนไปตามๆ กัน มาถึงตอนนี้จะมาคิดถึงให้บุญช่วย บุญของฉันคนเดียวจะพอช่วยคนบาปๆ หลายๆ คนได้ไหวยังไงกัน ดีไม่ดีทางราชการคงต้องแต่งตั้งหัวหน้าสถานศึกษาใหม่ ๔๐-๕๐ แห่งกันแล้วคราวนี้ เพราะคนเก่าถูกฉลามกินหมด"
 
        อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าไม่ได้พูดออกมาตามที่คิดไว้ และก็เห็นว่าถ้านั่งอยู่ที่เดิม เพื่อนที่หวาดกลัวมากๆ บางคนอาจเอ่ยคําขอร้องออกมา และข้าพเจ้าคงจะอดพูดความจริงไม่ได้ ก็จะทําให้พวกเขาใจเสียขึ้นไปเปล่าๆ ข้าพเจ้าจึงคิดจะแสดงกิริยาบางอย่าง เพื่อให้เป็นกําลังใจแก่คนขวัญเสียเหล่านั้น
 
         โดยกิริยาเงียบๆ ไม่พูดไม่จา ข้าพเจ้าค่อยๆ คลานไปอย่างช้าๆ ไปนั่งตามลําพังคนเดียวโดดเดี่ยวอยู่ตรงหัวเรือ อยู่ในท่านั่งพับเพียบ มือทั้งสองประสานกันไว้บนตัก หันหน้าตรงไปข้างหน้า หลับตานิ่ง กําหนดภาวนาสัมมาอะระหังเท่าไรๆ ก็นึกนิมิตดวงแก้วไม่ออก เพราะอาการโคลงเคลงของเรือยิ่งแรงขึ้นๆ ตามกระแสลม ข้าพเจ้าทนหลับตาต่อไปไม่ไหว ลืมตาขึ้น ท้องทะเลเวิ้งว้างมีแต่ลูกคลื่นโตๆ ขนาดคันรถเก๋ง รถหกล้อ วิ่งไล่กันมาเป็นทิวแถว ลูกแล้วลูกเล่า ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป หลับตาลงอีก ทีนี้เห็นแต่ลูกคลื่นอยู่เต็มในท้องตรงศูนย์กลางกาย เวลานั้นยังไม่ทราบว่าความจริงกําหนดนิมิตเป็นลูกคลื่นเสียเลยก็ได้ นึกให้คลื่นใสสว่างมากเข้าๆ ก็ใช้ได้เหมือนกัน ใจพยายามเปลี่ยนคลื่นให้เป็นดวงแก้ว เปลี่ยนเท่าไรก็ไม่สําเร็จ ตั้งใจมากเข้าเลยยิ่งทั้งเครียด ทั้งหงุดหงิด ไม่ได้เรื่องได้ราว
 
         เวลาดังกล่าวรู้สึกว่าข้าพเจ้าไม่ได้บุญอะไรเลยจากการภาวนา แต่สําหรับเพื่อนๆ ของข้าพเจ้าได้กําลังใจมากมาย เขาเล่าให้ฟังภายหลังว่า เขาเห็นข้าพเจ้านั่งนิ่งๆ ไม่กระดุกกระดิกตัวเลย เกิดความเชื่อมั่นว่า พวกเขารอดตายแน่ อํานาจพลังจิตของข้าพเจ้าช่วยเขาสําเร็จ ทําให้ทุกคนรู้สึกสบายใจ มีความหวัง นี่ถ้ารู้ถึงความวุ่นวายในจิตใจของข้าพเจ้า เขาคงจะผิดหวังอย่างแรง
 
       นั่งนิ่งๆ ไม่ขยับตัวเลยได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ในท้องของข้าพเจ้ารู้สึกปั่นป่วนมีอาการปวด แรกๆ ก็ปวดปัสสาวะ ต่อมาไม่นานก็ปวดอุจจาระตามมาอีกรายการหนึ่ง ตอนนี้ไม่เป็นอันภาวนาเสียแล้ว ยิ่งคลื่นโถมตัวมาให้เรือโคลงเคลงมากเท่าไรอาการปวดมวนในท้องทั้งปวดหนักปวดเบาก็กําเริบมากขึ้นทุกที ในเรือลํานั้นไม่มีห้องส้วม ถ้าเป็นผู้ชายก็ไม่ยากเย็นอะไรถ้าปวดเบาก็ไปนั่งทางท้ายเรือ หันหน้าออกทะเล ปล่อยได้ตามสบาย หากว่าปวดหนัก เขาก็ยังใช้ผ้าขาวม้านุ่ง และเอาผ้าใบทางท้ายเรือลงเสียหน่อย ใครก็มองไม่เห็น แต่เป็นผู้หญิง รู้สึกว่าเราหมดสิทธิ์จริงๆ
 
         ข้าพเจ้าคิดว่าคงไม่ต้องรําพันพูดถึงความทุกข์ทรมานที่สุดแสนจะทนทานให้ท่านผู้อ่านทราบ เพราะท่านเองก็คงจะเคยมีประสบการณ์ปวดท้องต้องการถ่ายหนักถ่ายเบากันมาแล้วทุกคน เพียงแต่ท่านอาจจะหาสถานที่กําจัดทุกข์ได้รวดเร็ว ไม่นั่งปวดเป็นชั่วโมงเหมือนที่ข้าพเจ้ากำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น
 
      เมื่อกลั้นความปวดจนเต็มที่ รู้สึกหูอื้อตาลาย ตัวชาจนแข็งทื่อ ใจที่ถามตนเองว่า
 
     “ทนต่อไปไหวมั้ย ไหวมั้ย โอ๊ย ไหวมั้ย” อีกเสียงตอบตนเองว่า
 
     “ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวแล้ว กําลังจะพังออกมาทั้งหนักทั้งเบา”
 
     “พังไม่ได้นะ! ไม่ได้! ขืนราดออกมา ชาตินี้มองหน้าเพื่อนๆ ไม่ได้ทั้งหมดนี่แหละ ถ้าไม่ตายพร้อมกันในวันนี้ เพราะคลื่นซัดเรือแตกแล้วละก็ ต่อไปภายหน้า ใครพบเราก็จะนึกถึงแต่เหตุการณ์ขายหน้า คราวนี้แหละ เราจะต้องอายไปตลอดชีวิตเชียวนะ!”
 
     “ก็ไม่ไหวแล้ว ขนลุกหมดทั้งตัว ขยับเขยื้อนไม่ได้ ขยับต้องพังแล้ว พังแน่ๆ ขอให้พังเถอะ”
 
     “ไม่ได้ๆ ถ้าจะพัง ก็โดดลงไปลอยคอในทะเลเสียตอนนี้เลย ไปถ่ายลงในน้ำโน่น ลูกคลื่นใหญ่ยังงี้ ลงไปคงไม่ได้ขึ้นมาบนเรืออีกแน่ ปลาฉลามคงกินทั้งคน ทั้งของที่จะถ่ายออกมาน่ะแหละ”
 
    เสียงเหมือนคนสองคนทะเลาะกันยุ่งอยู่ข้างในตัว อาการปวดก็ยิ่งทวีขึ้น เมื่อกลั้นเต็มที่เข้าก็พาลกลายเป็นปวดขึ้นบนศีรษะ เวียนหัว และเริ่มผะอืดผะอม หูก็อื้ออึงอลวน ท้องก็เจ็บจนรู้สึกแข็งหมดทั้งท้อง
 
     ก่อนที่ข้าพเจ้าจะมานั่งตรงหัวเรือ ได้แลเห็นเพื่อนๆ หลายคน อาเจียนเพราะเมาคลื่น บางคนมีอาการน่ากลัวมาก ปล่อยโอ้กอ้ากกันจนหมดตัว หน้าเขียวหน้าเหลือง มองแล้วก็ให้นึกสงสัยว่า พวกเขาเป็นอย่างนั้นได้ยังไงกัน แต่พอข้าพเจ้าเริ่มเวียนศีรษะ คลื่นไส้เสียเองบ้าง จึงนึกออกว่า นี่คืออาการเริ่มจะเมาคลื่น ให้นึกสมเพชตนเองเป็นกําลัง ใจก็ต่อว่าร่างกาย
 
        “เอาถึงขนาดนี้เลยรึเนี่ย ข้างล่างก็จะถ่าย ข้างบนก็จะระบาย จะไม่ให้มีหน้าเหลือไว้ดูเล่นเลยรึไง นี่ถ้าขยับตัวลุกไปข้างกราบเรือเพื่ออาเจียน ข้างล่างก็จะต้องถ่ายพรวดพราดออกมาแน่ๆ แล้วนั่งหัวเรืออยู่ต้นลมน่ะ ต้องส่งกลิ่นคลุ้งไปทางเพื่อนๆ ๔๐-๕๐ คนโน่น คิดแล้วก็ให้อับอายไปล่วงหน้า อึดเอาไว้ ต้องอึดเอาไว้ให้ได้ ไม่ไหวจริงๆ ก็โดดลงไปในทะเลตายเสียเลย”
 
          พอตัดใจว่า ถ้าถึงขนาดปล่อยหนักปล่อยเบาและอาเจียนออกมาเมื่อไร ก็จะตัดใจกระโดดลงทะเลให้รู้แล้วรู้รอดไป ความกลัวตายผสมกับความกลัวอายทําให้ต้องทนจนดูเหมือนสมองจะหมุนติ้ว ใจคอเหมือนกับจะระเบิดเปรี้ยงปร้างออกมา
 
          “ใครนะว่าเจ็บป่วยทางร่างกายไม่เกี่ยวข้องกับจิตใจ หรือว่าเจ็บป่วยทางจิตใจไม่เกี่ยวข้องกับทางร่างกาย ที่แท้แล้วเป็นคําพูดผิดทั้งนั้น ร่างกายที่เจ็บปวดมีทุกขเวทนาแรงกล้า ใจก็พลอยกระสับกระส่าย ทุรนทุรายแทบคลุ้มคลั่งไปด้วย จิตใจถ้ามีความทุกข์ก็พลอยให้ร่างกายกินไม่ได้นอนไม่หลับไปด้วยกันน่ะแหละ พอไม่กินไม่นอน ไม่ช้ากายก็ป่วยไปตามจิตใจ แล้วจะว่าไม่เกี่ยวข้องกันอย่างไร”
 
                 คงจะไม่ถึงคราวตายกระมัง เรือโต้คลื่นอยู่ในทะเล โคลงเคลงตามแรงเรื่อยไปจนกระทั่งมองเห็นฝั่งอยู่รําไร พอให้ใจชื้นกันขึ้นมา คิดว่าคงรอดตาย เรือไม่คว่ำกลางทะเล ข้าพเจ้าเองแม้จะรู้สึกดีใจเหมือนคนอื่นๆ แต่ก็ไม่สามารถดีใจได้เต็มที่ เพราะความปวดท้องปวดหัวคลื่นไส้ที่กําลังกำเริบอย่างหนักหน่วง ไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลง ทุกวินาทีพร้อมที่จะระเบิดตูมตามออกมา ไม่ว่าข้างล่างหรือข้างบน ข้าพเจ้าคงทนรอจนลมพัดเรือเข้าถึงฝั่งไม่ไหวเป็นแน่
 
                   แต่เมื่อไม่มีทางเลือก ก็จําต้องอดทนหน้าเขียวหน้าเหลืองกันต่อไป เรื่องภาวนาคําว่า สัมมาอะระหัง นั้นข้าพเจ้าหยุดคิดไปนานแล้ว เพราะหลับตาลงก็เห็นมีแต่คลื่นติดตาเต็มไปหมด พอปวดท้องหนักหน่วงเข้า คลื่นก็ไม่เห็น มีแต่ความปวดหัวเจ็บท้อง ผะอืดผะอม ใจก็มาเกี่ยวเกาะอยู่กับทุกขเวทนา ตอนนี้มองเห็นฝั่งแต่ก็ไม่มีหนทางทําให้เรือวิ่งเร็วๆ ไปถึงได้ทันใจ แม้ลมจะค่อนข้างแรง ก็ยังแรงไม่ทันความต้องการอยู่ดี ในที่สุดข้าพเจ้าก็ต้องท่องในใจว่า
 
                “เจ้าประคู้น ขอเทวดาฟ้าดินหรือเทวดาที่ดูแลทะเลอะไรก็ตามเถอะ ช่วยดลใจให้คนขับเรือลําอื่น ขับผ่านมาใกล้ๆ มาลากเอาเรือลำนี้ไปให้ถึงฝั่งเร็วๆ ด้วยเถิด เจ้าประคู้น ช่วยข้าพเจ้าด้วย”
 
          โชคดีเหลือล้น มีเรืออีกลําหนึ่งแล่นเข้ามาใกล้ ผู้คนบนเรือช่วยกันตะโกนกู่ขอความช่วยเหลือ ต่างโบกมือโบกผ้าทําสัญญาณให้เข้ามาช่วย เรือลํานั้นได้มาลากเรือที่ข้าพเจ้านั่งเข้าฝั่ง พวกผู้ชายกระโดดลงจากเรือกันใหญ่ น้ำลึกเพียงเอว เพราะเรือจอดเกยหาดได้ เพียงนั้น ข้าพเจ้าอยากจะกระโดดแบบพวกผู้ชายใจแทบขาด แล้วก็ปล่อยของเสียทั้งหนักทั้งเบาออกทิ้งในทะเลให้หมด แต่ก็ต้องชะงัก เมื่อมีเสียงใครคนหนึ่งร้องตะโกนว่า
 
                "สุภาพสตรีคอยก่อนครับ เดี๋ยวไปเอาเรือเล็กที่ชายหาดมารับ "
 
                ข้าพเจ้าทนทรมานต่อไป คิดแต่ว่า อีกประเดี๋ยวเดียวน่า อีกประเดี๋ยวเดียวน่า”
 
                 เมื่อขึ้นเรือเล็กมาถึงฝั่งได้ ข้าพเจ้าถอดรองเท้าวิ่งไปยังที่พักจนสุดกําลัง เข้าห้องส้วมได้ก็ปล่อยของเสียจนหมดตัว ยังจําได้จนทุกวันนี้ว่า ส้วมแห่งนั้นเปรียบดังสวรรค์วิมานก็ไม่ผิด รู้สึกซาบซึ้งจริงๆ ที่มีคนเขียน เรียกส้วมว่า ห้องสุขา
 
                   สุขา แปลว่า ความสุข ความสบาย แต่เดิมเคยคิดแต่ว่า ใครนะช่างเรียกส้วมว่าห้องสุขา มันจะสุขได้ยังไง แคบก็แคบ เหม็นก็เหม็น มาเห็นว่าช่างเป็นสถานที่ที่เป็นสุขสมชื่อก็ในคราวที่กําลังเล่าถึงอยู่นี่เอง จะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงจะเลอะเทอะเปรอะเปื้อนแค่ไหน ก็ทําความสะอาดกันได้หมดในส้วมนั่นแหละ ไม่ทําให้เราต้องขายหน้าผู้คน
 
                    ท่านผู้อ่านก็ลองคิดดู ถ้าเราไม่มีห้องสุขาใช้กันเลย ทั้งที่บ้าน และในที่สมควรอื่นๆ เราจะต้องเต็มไปด้วยความทุกข์กันแค่ไหน
 
                   นึกแล้วก็รู้สึกว่าผู้ชายเป็นเพศที่น่าอิจฉา สามารถปล่อยของเสียทิ้งได้ในสถานที่ต่างๆ โดยง่าย ไม่ต้องห่วงเรื่องความอายมากเท่าไรนัก ในคราวนั้นที่จริงแล้วมีเพื่อนของข้าพเจ้าผู้หนึ่งเป็นชาย ปวดท้องเหมือนข้าพเจ้าเหมือนกัน เมื่อเรือจอดเขาก็ถอดเสื้อถอดกางเกงออก นุ่งผ้าขาวม้า ฝากเครื่องแต่งกายให้เพื่อนที่นั่งเรือถือไป ตนเองก็กระโดดลงลุยน้ำทะเล คงจะใช้ทะเลแทนห้องสุขาได้อย่างดี
 
                     แต่แล้วใครๆ ต้องพากันแปลกใจ เมื่อเพื่อนคนดังกล่าวไม่ยอม ขึ้นจากน้ำ ตะโกนเอะอะโวยวาย โบกมือบ้างกวักมือบ้าง จนเพื่อนชายอีกผู้หนึ่งสงสัย จึงลุยน้ำลงไปหา พูดกันอยู่ ๒-๓ คํา คนที่ลงไปหาก็หัวเราะจนตัวงอ แล้วรีบวิ่งขึ้นไปที่พัก นําผ้าขาวม้าอีกผืนหนึ่งลงมาให้ จึงเป็นอันรู้กันว่า เพื่อนชายท่านแรกถูกน้ำทะเลพัดอย่างแรง จนทั้งกางเกงชั้นในที่ถอดถืออยู่ในมือ และผ้าขาวม้าที่นุ่งอยู่หลุดหายไปในคลื่น ควานหาไม่พบสักอย่าง นั่งโป๊อยู่ในน้ำทะเลนั่นเอง
 
                     ข้าพเจ้านําเหตุการณ์ความทุกข์ที่ทุกคนต้องพบทุกวันมาเล่าเป็นตัวอย่างให้ฟัง แต่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ เพราะทุกคนสามารถแก้ปัญหาทุกข์ประจําตัวเหล่านี้ได้ทุกครั้งทุกคราว ไม่ว่าจะหิว จะปวดถ่าย จะเมื่อยขบ จะร้อนหรือหนาว ก็แก้ปัญหาให้ตนเองได้ทุกอย่าง และมักไม่ยอมทิ้งไว้ให้มีอาการมาก เพียงเริ่มมีอาการทุกข์ก็จะรีบแก้ไขทันที บางทีแก้เสียก่อนทุกข์จะเกิดด้วยซ้ำ เช่น เตรียมห้องปรับอากาศไว้อยู่ก่อนจะรู้สึกร้อน เตรียมฟูกเมาะเบาะหมอนใช้เสียก่อนเจ็บเมื่อยตัว
 
                     ทุกข์จากความเจ็บป่วยประจําของร่างกายเหล่านี้ ซึ่งแม้จะเป็นทุกข์ที่เกิดบ่อยๆ วันละหลายครั้งก็จริง แต่เมื่อเจ้าตัวหมั่นแก้ไขอยู่ดังนี้แล้ว จึงทําให้มองดูเหมือนมิใช่ทุกข์ไปโดยปริยาย แต่ถึงอย่างไร ถ้านำมาพิจารณาดูให้ดี พิจารณาอย่างใช้สติปัญญาแล้ว ก็จะไม่สามารถเถียงได้เลยว่า ชีวิตของพวกเราแต่ละคน ตั้งอยู่บนกองทุกข์ทั้งสิ้น
 
                     คําสอนที่ว่า ในโลกนี้ มีแต่ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากทุกข์แล้วไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไปเลย จึงเป็นคําสอนที่เป็นสัจจะ ไม่สามารถหาสิ่งใดมาคัดค้านโต้แย้งได้จริงๆ
 
                  คําสอนนี้มิใช่สอนให้มองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นการมองชนิดถูกต้องตรงตามความเป็นจริง การมองในแง่อื่น โดยเฉพาะในแง่เห็นโลกเป็นสิ่งรื่นรมย์ เห็นเป็นของดีน่านิยมชมชื่น เป็นการมองที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงของโลก
 
                 ความจริงเป็นอย่างไร ความจริงก็จะปรากฏอยู่ดังนั้น ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามการมองในแง่ดีแง่ร้ายของคนมอง
 
                 ความเจ็บป่วยทางร่างกายไม่ว่าจะเป็นเจ็บป่วยประจําเนืองนิตย์ หรือเจ็บป่วยที่จรมา คือเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว คนธรรมดาอย่างเราๆ ย่อมรู้สึกในทุกขเวทนานั้นเต็มที่ ที่ข่มความรู้สึกได้บ้างก็ไม่โวยวายอะไรมาก หาหมอหายารักษากันไป ที่มีความอดทนน้อยก็มักจะพาลพาโลดุว่าคนที่ดูแลรักษาพยาบาลหรือบ่นว่าลูกหลาน กล่าวหาว่าทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ บางรายก็น้อยอกน้อยใจ
 
                 สําหรับพระอริยบุคคล หรือโลกียบุคคลก็ตาม ถ้าเจริญภาวนาจนได้ฌานจิต เข้าสมาบัติได้ เวลาใดที่จิตหยุดนิ่งอยู่ในสมาบัติ ใจก็จะไม่รับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดจากทุกขเวทนาทางกาย แต่ยามใดเมื่อถอนใจออกมาจากฌานสมาบัติ ใจก็ย่อมต้องรู้สึกถึงความทุกข์ทางกายเหล่านั้น ขนาดองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรายังทรงเคยกระหายน้ำอย่างแรง ตรัสใช้พระอานนท์ไปตักน้ำในลําธารที่เพิ่งเสด็จผ่านมา พระอานนท์ขอให้ไปเสวยแม่น้ำสายข้างหน้า เพราะน้ำที่เพิ่งผ่านมามีฝูงวัวเพิ่งลุยผ่าน น้ำขุ่นมาก
 
                  พระพุทธองค์ทรงรู้สึกกระหายน้ำมาก ทรงรอไม่ไหว จึงตรัสใช้ซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์จึงจําใจนําบาตรไปตักน้ำ ด้วยพุทธานุภาพ เมื่อไปถึงลําธารน้ำที่ต้องการตักก็พลันใสสะอาดทันที
 
               ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า ทุกขเวทนาทางร่างกายเป็นของทั่วไปแก่สัตว์ที่มีขันธ์ ๕ เป็นปกติ ไม่มีใครหนีพ้น นอกจากนั้นยังเป็นตัวอย่างเรื่องกฎแห่งกรรมด้วย ทํากรรมใดต้องรับผลของกรรมนั้น พระชาติในอดีต พระบรมศาสดาของเราเคยไล่ต้อนโคไม่ให้กินน้ำขุ่น ต้องการให้ไปกินน้ำใสในหนทางข้างหน้า ทําให้โคต้องกระหายน้ำ พระองค์ยังทรงต้องรับผลของกรรมนั้น ทั้งที่ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
 
                 แต่พระอริยบุคคลได้เปรียบโลกียบุคคลอยู่ตรงที่ พระอริยบุคคลไม่มีความทุกข์ที่เกิดขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากกิเลส ดังนั้นแม้ท่านจะเจ็บป่วยทางร่างกายมากมายหนักหนาเพียงใด ความเจ็บนั้นจะไม่ทําให้จิตใจของท่านเกิดโลภะ โทสะ โมหะ ใดๆ ขึ้นมาเป็นอันขาด นี่พูดเฉพาะในกรณีที่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ถ้ายังเป็นพระอริยบุคคล ในต้นๆ เช่น พระโสดาบัน กิเลสชนิดไม่มีผลให้ไปสู่อบายภูมิยังมีอยู่ พระไสดาบันยังเสียใจ ร้องไห้ เช่น นางวิสาขาร้องไห้เมื่อหลานตาย
 
                     คุยกับท่านผู้อ่านในเรื่องนี้ เพื่อให้เห็นว่า ถ้าเกิดมาเป็นคน (หรือสัตว์เดรัจฉาน) ก็ตาม เรื่องคิดจะหนีความทุกข์ประจําของร่างกายนั้นย่อมไม่มีทางหนีพ้น ต้องหิว ต้องกระหาย เมื่อยขบ ร้อน หนาว ปวดอุจจาระปัสสาวะด้วยกันทั้งสิ้น
 
                      ร่างกายของเรานี้ คิดกันให้ถูกต้องตรงตามจริงแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่น่าพึงพอใจ น่าชื่นชมหวงแหน เป็นดังคําตรัสของพระพุทธองค์ของเราที่ว่า "กายนี้คือรังของโรค” เป็นรังจริงๆ ไม่ใช่รังของโรคๆ เดียว แต่เป็นรังของทุกโรค โรคอะไรจะมาขอใช้ขออยู่ ร่างกายยอมให้อยู่ให้ใช้เสมอ ยิ่งถ้ามีอายุมากเข้า ยิ่งรับให้อยู่หลายโรค รุมกันทําลาย จนบางทีแพทย์แทบจะวินิจฉัยไม่ออกว่าตายด้วยโรคอะไร กายของเราจึงได้ชื่อที่เหมาะสมที่สุด ว่า อสุภะ สุภะ สุภา แปลว่า สวย ดี งาม ใส่ อะ ไว้ข้างหน้า แปลว่า ไม่ อสุภ จึงแปลว่า ไม่สวย ไม่ดี ไม่งาม แต่เพราะโมหะ (ความไม่รู้ตามจริง) ปิดบังจิตใจผู้คน จึงได้พากันมองเห็นเท็จเป็นจริง เห็นจริงเป็นเท็จ เห็นร่างกายเป็นสุภะกันเสียทั้งสิ้น หลงใหลทั้งร่างของตนเองและร่างของคนอื่นดังที่เราเป็นกันอยู่ เมื่อธรรมชาติของรูปร่างกายแสดงความจริงออกมาว่า เราต้องเสื่อมสลายเรื่อยๆ ไป คนจึงทนกันไม่ใคร่ได้ ต้องหาวิธีแก้ไขกันไปต่างๆ ตามที่เรารู้กัน แก้ไขไม่ได้ตามที่ต้องการ แก้แล้วก็เสื่อมอีก คนไม่รู้ตามจริง จึงต้องทุกข์กันอยู่ไม่รู้จบ

 
 
 
 
 
 
 
 
 
Cr. อุบาสิกาถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม4
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026739831765493 Mins