พระนางวาสุลทัตตา ล.๔๐, น.๒๒๐, มมร
(ปรากฏอยู่ในเรื่อง พระนางสามาวดี)
พระเจ้าอุเทนได้มีพระราชเทวีอีกพระองค์หนึ่ง ทรง พระนามว่า ‘พระนางวาสุลทัตตา’เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าจัณฑปัชโชต.
ในเมืองอุชเชนี มีพระราชาทรงพระนามว่า ‘พระเจ้า จัณฑปัชโชต.’ วันหนึ่ง พระองค์เสด็จมาจากพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรดูสมบัติของพระองค์แล้ว ตรัสว่า “สมบัติเช่นนี้ของใครๆอื่น มีไหมหนอ?”
เมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า “นี่จะเรียกว่าสมบัติอะไร? สมบัติของพระเจ้าอุเทนในเมือง
โกสัมพีมากยิ่งนัก” ดังนี้ แล้
ตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น เราจะจับพระเจ้าอุเทนนั้น.”
อำมาตย์. “ใครๆ ก็ไม่สามารถจับท้าวเธอได้ พระเจ้าข้า.”
พระราชา. “เราจะทำอุบายบางอย่าง จับให้ได้.”
อำมาตย์. “ไม่สามารถหรอก พระเจ้าข้า.”
พระราชา. “เพราะเหตุอะไร?”
อำมาตย์. “เพราะพระเจ้าอุเทนนั้นรู้ศิลปะ ชื่อ ‘หัสดีกันต์’, ทรงร่ายมนต์แล้วดีดพิณหัสดีกันต์อยู่จะให้ช้างหนีไปก็ได้,จะจับเอาก็ได้,ผู้ที่พรั่งพร้อมด้วยพาหนะช้างเช่นกับท้าวเธอ เป็นไม่มี
พระราชา. “เราไม่อาจที่จะจับเขาได้หรือ?”
อำมาตย์. “พระเจ้าข้า หากพระองค์มีความจำนงพระทัย ฉะนี้ โดยส่วนเดียวแล้ว,ถ้าเช่นนั้นขอพระองค์ จงรับสั่งให้นายช่างทำช้างไม้ขึ้น แล้วส่งไปยัง ที่อยู่ของพระเจ้าอุเทน นั้น, ท้าวเธอทรงสดับถึง พาหนะช้างหรือพาหนะม้าแล้ว ย่อมเสด็จไป แม้ที่ไกล, เราจะสามารถจับท้าวเธอผู้เสด็จมา ในที่นั้นได้.”
พระราชาตรัสว่า “อุบายนี้ใช้ได้” ดังนี้แล้ว จึงรับสั่ง ให้นายช่างทำช้างยนต์สำเร็จ ด้วยไม้เอาผ้าเก่าหุ้มข้างนอก แล้วทำเป็นลวดลาย ให้ปล่อยไปที่ริมสระแห่งหนึ่ง ในที่ใกล้แว่นแคว้นของพระเจ้าอุเทนนั้น. บุรุษ ๖๐ คนเดินไป มาภายในท้องช้าง, พวกเขานำมูลช้างมาทิ้งไว้ในที่นั้นๆ.
พรานป่าคนหนึ่งเห็นช้างแล้วก็คิดว่า ‘ช้างนี้คู่ควรแก่ พระเจ้าแผ่นดินของเรา’ดังนี้แล้วจึงไปกราบทูลพระเจ้า อุเทนว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์พบช้างตัวประเสริฐ ซึ่งเผือกล้วนมีส่วนเปรียบด้วยยอดเขาไกรลาศ คู่ควรแก่ พระองค์ทีเดียว.”
พระเจ้าอุเทนให้พรานป่านั้นเป็นผู้นำทาง ขึ้นทรง ช้างพร้อมด้วยบริวาร เสด็จออกไปแล้ว เหล่าจารบุรุษ ทราบการเสด็จมาของท้าวเธอ จึงไปกราบทูลแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชต.
พระเจ้าจัณฑปัชโชตนั้นเสด็จมาแล้ว ซุ่มกำลังพลไว้ ๒ ข้าง ปล่อยว่างไว้ตรงกลาง. พระเจ้าอุเทนไม่ทรงทราบถึง การเสด็จมาของท้าวเธอจึงติดตามช้างไป. มนุษย์ที่อยู่ข้างในรีบพาช้างไม้หนีไปโดยเร็ว.
เมื่อพระราชาทรงร่ายมนต์ดีดพิณอยู่, ช้างไม้ทำเหมือนไม่ได้ยินเสียงแห่งสายพิณหนีไปถ่ายเดียว. พระราชาไม่อาจทันพระยาช้างได้ จึงเสด็จขึ้นม้าติดตามไป. เมื่อท้าวเธอรีบตามไปโดยเร็ว กำลังพลก็ล้าหลัง. พระราชาได้เป็นผู้เสด็จพระองค์เดียวเท่านั้น.
เหล่าราชบุรุษของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ซึ่งดักซุ่มอยู่แล้ว ณ ๒ ข้างทาง จึงจับท้าวเธอถวายพระเจ้าแผ่นดิน ของตน.
ต่อมากำลังพลของท้าวเธอทราบว่า ‘พระราชาของ ตนตกไปสู่อำนาจแห่งข้าศึกแล้ว.’ จึงตั้งค่ายอยู่ภายนอก
ฝ่ายพระเจ้าจัณฑปัชโชต ทรงสั่งให้จับเป็นพระเจ้าอุเทน แล้วขังไว้ในเรือนขังโจรหลังหนึ่ง ให้ปิดประตูเสีย ทรงดื่มน้ำชัยบานตลอด ๓ วัน.
ในวันที่ ๘ พระเจ้าอุเทนทรงถามพวกผู้คุมว่า “พ่อคุณทั้งหลาย พระเจ้าแผ่นดินของพวกเจ้าไปไหนเสีย.”
พวกผู้คุม. “พระเจ้าแผ่นดินทรงดื่มน้ำชัยบาน ด้วย ทรงยินดีว่า เราจับปัจจามิตร(ศัตรู) ได้.”
พระเจ้าอุเทน. “พระเจ้าแผ่นดินของพวกเจ้ามีกิริยา ช่างกระไร ดังผู้หญิง,การจับพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นศัตรูกัน ได้แล้ว จะปล่อยหรือฆ่าเสีย จึงควรมิใช่หรือ? นี่สิ กลับให้เรานั่งทนทุกข์ แล้วไปนั่งดื่มน้ำชัยบานเสีย.”
เหล่าผู้คุมก็พากันไปทูลเนื้อความนั้นแด่พระราชา พระองค์เสด็จไปตรัสถามว่า “ได้ยินว่า ท่านพูดอย่างนี้จริงหรือ?อุเทน. “ถูกแล้ว ท่านมหาราชเจ้า.”
จัณฑปัชโชต. “ดีละ เราจะปล่อยท่าน, ทราบว่า ‘ท่านมีมนต์ เช่นนี้’, ท่านจะให้มนต์นั้นแก่เราไหม?”
อุเทน. “ตกลง ข้าพเจ้าจะให้ในเวลาเรียน จงไหว้ ข้าพเจ้าแล้วเรียนมนต์นั้น, ก็ท่านจะไหว้ ข้าพเจ้าหรือไม่เล่า?”
จัณฑปัชโชต. “เราจะไหว้ท่านทำไมเล่า?”
อุเทน. “ท่านจะไม่ไหว้หรือ?”
จัณฑปัชโชต. “เราจะไม่ไหว้.
อุเทน. “แม้ข้าพเจ้า ก็จะไม่ให้.”
จัณฑปัชโชต. “เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะลงราชอาชญาแก่ท่าน.”
อุเทน. “เชิญทำเถิด, ท่านเป็นอิสระแก่ร่างกายของ ข้าพเจ้า, แต่ไม่เป็นอิสระแก่จิต.”
พระราชาทรงสดับถ้อยคำอันองอาจของท้าวเธอแล้ว จึงทรงดำริว่า‘เราจะเรียนมนต์ของพระเจ้าอุเทนนี้ ได้อย่างไรหนอ?’ แล้วทรงคิดได้ว่า ‘เราไม่อาจให้คนอื่นรู้ มนต์นี้,เราจะให้ธิดาของเราเรียนกับพระเจ้าอุเทนนี้ แล้ว จึงเรียนต่อจากนาง.’
ท้าวเธอจึงตรัสกับพระเจ้าอุเทนนั้นว่า “ท่านจะให้แก่ คนอื่นผู้ไหว้แล้วเรียนเอาหรือ?
อุเทน. “อย่างนั้น ท่านมหาราช.”
จัณฑปัชโชต. “ถ้ากระนั้น ในเรือนของเรามีหญิงค่อมอยู่คนหนึ่ง,ท่านยืนอยู่ภายนอกม่านจงบอกมนต์แก่หญิงนั้น ผู้นั่งอยู่ภายในม่านเถิด.”
อุเทน. “ดีละท่านมหาราช นางจะเป็นคนค่อมหรือ คนง่อย ก็ช่างเถอะ, เมื่อนางไหว้, ข้าพเจ้า จะให้.”
ลำดับนั้น พระราชาเสด็จไปตรัสบอก พระนางวาสุลทัตตาราชธิดาว่า “ลูกหญิง ชาย
เป็นโรคเรื้อนน้ำเต้าคนหนึ่ง รู้มนต์หาค่ามิได้, พ่อไม่อาจที่จะให้คนอื่นรู้มนต์นั้นได้, เจ้าจง
นั่งภายในม่านไหว้ชายนั้น แล้วเรียนมนต์, ชายนั้น ยืนอยู่ภายนอกม่าน จะบอกแก่เจ้า,
พ่อจะเรียนจากเจ้า.”
พระเจ้าจัณฑปัชโชตนั้นตรัสทำให้พระราชธิดาเป็น หญิงค่อม ฝ่ายพระเจ้าอุเทนให้เป็น
ชายโรคเรื้อนน้ำเต้า อย่างนี้เพราะทรงเกรงคนทั้งสองนั้นจะทำสันถวะ (ชิดเชย) กันและกัน.
พระเจ้าอุเทนนั้นประทับยืนอยู่นอกม่านเทียว ได้ตรัส บอกมนต์แก่พระนางผู้ไหว้แล้วนั่ง
ภายในม่าน.
ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าอุเทนตรัสกับพระนาง ผู้อันท้าวเธอตรัสบอกบ่อยๆ ก็ไม่สามารถ
จะกล่าวบทแห่งมนต์ ได้ว่า
“เหวย อีหญิงค่อม! ปากของมึงมีริมขอบและกระพุ้ง แก้มอันหนานัก, มึงจงว่าไปอย่างนี้.”
พระนางทรงกริ้วจึงตรัสว่า “เหวย อ้ายขี้เรื้อน ชั่วชาติ มึงพูดอะไร? คนเช่นกูนะหรือ
ชื่อว่า ‘หญิงค่อม’ ?” ดังนี้ แล้ว ทรงยกมุมม่านขึ้น,
เมื่อพระเจ้าอุเทนตรัสถามว่า “ท่านเป็นใคร?
จึงตรัสบอกว่า “เราชื่อว่า ‘สุลทัตตา’ ธิดาของพระเจ้า แผ่นดิน.”
พระเจ้าอุเทน. “บิดาของท่าน เมื่อตรัสถึงท่านแก่เรา ก็ตรัสว‘หญิงค่อม.’ ”
วาสุลทัตตา. “แม้เมื่อตรัสแก่เรา พระบิดาก็ทรงกล่าว ท่านเป็นคนโรคเรื้อนน้ำเต้า
ทั้งสององค์นั้นทรงดำริว่า ‘คำนั้น ท้าวเธอคงจะ ตรัสด้วยเกรงเราจะทำสันถวะกัน’
แล้วก็ทรงทำสันถวะกันในภายในม่านนั่นเอง.
จำเดิมแต่นั้น การเรียนมนต์หรือการเรียนศิลปะ จึงไม่มี.
ฝ่ายพระราชาทรงถามพระธิดาเป็นนิตย์ว่า “เจ้ายัง เรียนศิลปะอยู่หรือ? ลูก.”
พระนางตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดา กระหม่อมฉันยัง เรียนอยู่ เพคะ.”
ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าอุเทนตรัสกับพระนางว่า “นางผู้เจริญ ชื่อว่าหน้าที่ซึ่งสามี
พึงกระทำ มารดาบิดา พี่น้องชาย และพี่น้องหญิงไม่สามารถจะทำได้เลย, หากเธอจะให้
ชีวิตแก่เรา เราจะให้หญิง ๕๐๐ นางเป็นบริวาร แล้ว ให้ตำแหน่งอัครมเหสีแก่เธอ.”
พระนางตรัสว่า“ถ้าพระองค์จะอาจเพื่อตั้งอยู่ใน พระดำรัสนี้, หม่อมฉันก็จะถวาย
ทานนี้แด่พระองค์.”
พระเจ้าอุเทนตรัสตอบว่า “พระน้องหญิง เราจะอาจ.”
พระนางทรงรับพระดำรัสว่า “ตกลง เพคะ” ดังนี้แล้ว ก็เสด็จไปสู่สำนักพระราชบิดา
ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ข้างหนึ่ง.
ลำดับนั้น ท้าวเธอตรัสถามพระนางว่า “ศิลปะสำเร็จ แล้วหรือ? ลูกหญิง.”
วาสุลทัตตา. “ข้าแต่พระบิดา ศิลปะยังไม่สำเร็จ เพคะ.”
ลำดับนั้น พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสถามพระนางว่า “ทำไมเล่า ลูกหญิง?”
วาสุลทัตตา. “ข้าแต่พระบิดา กระหม่อมฉันควรจะ ได้ประตู ๑ ประตู กับพาหนะ ๑ ตัว.”
จัณฑปัชโชต. “นี้ เป็นอย่างไรเล่า ลูกหญิง?”
วาสุลทัตตา. “ข้าแต่พระบิดา ทราบว่า ‘มีโอสถ ขนานหนึ่งจะต้องเก็บในเวลากลางคืน
ด้วยสัญญาดวงดาว เพื่อประโยชน์เป็นอุปการะแห่งมนต์’, เพราะฉะนั้น ในเวลาที่หม่อมฉัน
ออกไปในเวลาหรือนอกเวลา จึงควรที่จะได้ ประตูหนึ่งประตู กับพาหนะหนึ่งตัว.”
พระราชาตรัสรับว่า “ได้.”
พระเจ้าอุเทนและพระนางวาสุลทัตตานั้น ได้ทรงยึดประตูหนึ่ง ซึ่งตนพอใจ ไว้ในเงื้อมมือแล้ว.
ก็พระราชามีพาหนะทั้ง ๕ คือ :-
นางช้างตัว ๑ ชื่อ ‘ภัททวดี’ ไปได้วันละ ๕๐ โยชน์.
ทาสชื่อว่า ‘กากะ’ ไปได้ ๖๐ โยชน์.
ม้า ๒ ตัว คือ ม้าเวลกังสิ และ
ม้ามุญชเกสิไปได้ ๑๐๐ โยชน์
ช้างนาฬาคิรีไปได้ ๑๒๐ โยชน์.
เล่ากันว่า พระราชาพระองค์นั้น ในเมื่อพระพุทธเจ้า ยังมิได้ทรงอุบัติขึ้น ได้เป็นคน
รับใช้ของอิสรชน (ผู้เป็นใหญ่) ผู้หนึ่ง.
ต่อมาวันหนึ่ง เมื่ออิสรชนผู้นั้นไปนอกพระนคร อาบน้ำแล้วมาอยู่, พระปัจเจก
พุทธเจ้าองค์หนึ่งเข้าไปสู่ พระนครเพื่อบิณฑบาต ไม่ได้ภิกษาเลยสักอย่างหนึ่ง เพราะชาว
เมืองทั้งสิ้นถูกมารดลใจ มีบาตร (เปล่า) ตามที่ ล้างไว้แล้วออกไป.
ลำดับนั้น มารเข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยเพศที่ไม่มีใครรู้จัก แล้วถามท่าน
ในขณะที่ท่านถึง ประตูพระนครว่า “ท่านเจ้าข้า ท่านได้อะไรๆ บ้างไหม?
พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า “ก็เจ้าทำอาการคืออันไม่ได้ แก่เราแล้ว มิใช่หรือ?
มาร. “ถ้ากระนั้น ขอท่านจงกลับเข้าไปอีก, คราวนี้ ข้าพเจ้าจะไม่ทำ.”
พระปัจเจกพุทธเจ้า. “เราจะไม่กลับอีก.”
ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นพึงกลับไปไซร้ มารนั้น จะพึงสิงร่างของชาวเมืองทั้งสิ้นแล้ว
ปรบมือทำการหัวเราะ เย้ยอีก, เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่กลับ มารก็หายไปในที่นั้นเอง.
ขณะนั้น อิสรชนผู้นั้น พอเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้มาอยู่ด้วยทั้งบาตร(เปล่า)ตามที่ล้าง
ไว้แล้ว จึงไหว้ แล้ว ถามว่า “ท่านเจ้าข้า ท่านได้อะไรๆ บ้างไหม?”
ท่านตอบว่า “ผู้มีอายุ ฉันเที่ยวไปแล้ว ออกมาแล้ว.”
เขาคิดว่า ‘พระผู้เป็นเจ้าไม่ตอบคำที่เราถาม กลับ กล่าวคำอื่นเสีย, ท่านคงจะยังไม่ได้อะไรๆ.’
ในทันใดนั้น เขาแลดูบาตรของท่าน เห็นบาตรเปล่า ก็เป็นผู้แกล้วกล้า แต่ไม่อาจ
รับบาตร เพราะยังไม่รู้ว่าภัตในเรือนของตนเสร็จแล้วหรือยังไม่เสร็จ จึงกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า
ขอท่านจงรอหน่อย” ดังนี้แล้ว ก็ไปสู่เรือน โดยเร็ว ถามว่า “ภัตสำหรับเราเสร็จแล้วหรือ?”
เมื่อคนรับใช้ตอบว่า “เสร็จแล้ว”
จึงกล่าวกับคนรับใช้นั้นว่า “พ่อคุณ คนอื่นที่มี ความเร็วอันสมบูรณ์กว่าเจ้าไม่มี,
ด้วยฝีเท้าอันเร็ว เจ้าจง ไปถึงพระผู้เป็นเจ้านั้น กล่าวว่า ‘ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงให้ บาตร’,
แล้วรับบาตรมาโดยเร็ว.”
เขาวิ่งไปด้วยคำสั่งคำเดียวเท่านั้น รับบาตรนำมาแล้ว.
แม้อิสรชนทำบาตรให้เต็มด้วยโภชนะของตน แล้ว กล่าวว่า “เจ้าจงรีบไปถวายบาตร
นี้แก่พระผู้เป็นเจ้า เราจะ ให้ส่วนบุญ แต่ทานนี้แก่เจ้า.”
เขารับบาตรนั้นแล้วไปด้วยฝีเท้าอันเร็ว ถวายบาตรแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าไหว้ด้วยบญ
จางคประดิษฐ์ แล้ว กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า เวลาจวนแจแล้ว, ข้าพเจ้าไปและ มาด้วยฝีเท้า
อันเร็วยิ่ง, ด้วยผลแห่งฝีเท้าของข้าพเจ้านี้ ขอพาหนะทั้งหลาย ๕ ซึ่งสามารถจะไปได้ ๕๐
โยชน์, ๖๐ โยชน์, ๑๐๐ โยชน์, ๑๒๐ โยชน์ จงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า,
อนึ่ง ร่างกายของข้าพเจ้าผู้มาอยู่และไปอยู่ ถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผาแล้ว,
ด้วยผลแห่งความที่ร่างกาย ถูกแสงแห่งดวงอาทิตย์แผดเผา นั้นของข้าพเจ้าขออาชญา
ของข้าพเจ้า จงแผ่ไปเช่นกับแสงแห่งดวงอาทิตย์ ในที่ๆเกิดแล้วและเกิดแล้ว, ส่วนบุญ
ในเพราะบิณฑบาตนี้ อันนาย ให้แล้วแก่ข้าพเจ้า, ด้วยผลแห่งส่วนบุญนั้น ขอข้าพเจ้าจง
เป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมอันท่านเห็นแล้ว.”
พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า “ขอความปรารถนา ที่ท่านตั้งไว้นี้ จงสำเร็จ” แล้วได้
กระทำอนุโมทนาว่า :-
"สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน,
ขอความดำริทั้งปวง จงเต็ม ดังพระจันทร์ ซึ่งมีในดีถีที่ ๑๕.
สิ่งที่ต้องการแล้ว ปรารถนาแล้ว จงพลันสำเร็จแก่ท่าน,
ขอความดำริทั้งปวงจงเต็มดังแก้วมณี ชื่อว่า ’โชติรส."
ได้ทราบว่า คาถา ๒ คาถานี้แล ชื่อว่า ‘คาถา อนุโมทนา’ ของพระปัจเจกพุทธเจ้า
ทั้งหลาย. รัตนะคือ แก้ วมณี อั นให้สิ่ งที่ มุ่ งหมายทั้งปวง แก้วสารพัดนึกเรียกว่า‘แก้วมณี
โชติรส’ ในคาถานั้น.
นี้เป็นบุรพจริตแห่งบุรุษรับใช้นั้น. เขาได้เป็นพระเจ้า จัณฑปัชโชต ในบัดนี้. และด้วย
ผลแห่งกรรมนั้น พาหนะ ๕ เหล่านี้จึงเกิดขึ้น.
ต่อมาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จออกเพื่อทรงกีฬาใน พระราชอุทยาน.
พระเจ้าอุเทนทรงดำริว่า ‘เราควรจะหนีไป ในวันนี้’ จึงทรงบรรจุกระสอบหนังใหญ่ๆ
ให้เต็มด้วยเงินและทอง วางเหนือหลังนางช้าง แล้วพาพระนางวาสุลทัตตาหนีไป.
ทหารรักษาวังทั้งหลายเห็นพระเจ้าอุเทน กำลังหนีไป จึงกราบทูลแด่พระราชา. พระราชา
ทรงส่งพลไปด้วย พระดำรัสสั่งว่า “พวกเจ้าจงไปเร็ว.”
พระเจ้าอุเทนทรงทราบว่า ‘กำลังพลไล่ตามแล้ว.’ จึงทรงแก้กระสอบกหาปณะ ทำกหาปณะ
ให้ตก. พวกมนุษย์ เก็บกหาปณะขึ้นแล้วไล่ตามไปอีก.
ฝ่ายพระเจ้าอุเทนก็ทรงแก้กระสอบทองแล้วทำให้ตก เมื่อมนุษย์เหล่านั้นมัวเนิ่นช้าอยู่
เพราะความละโมบในทอง ก็เสด็จถึงค่ายของพระองค์ ซึ่งตั้งอยู่ภายนอก.
ขณะนั้น กำลังพลพอเห็นท้าวเธอเสด็จมา ก็แวดล้อม เชิญเสด็จให้เข้าไปสู่พระนครของตน
ท้าวเธอครั้นพอเสด็จไปแล้ว ก็อภิเษกพระนางวาสุลทัตตา ตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี.
นี้เป็นเรื่องของพระนางวาสุลทัตตา.