พระพุทธศาสนาในยุค พ.ศ.500-1000

วันที่ 20 เมย. พ.ศ.2560

พระพุทธศาสนาในยุค พ.ศ.500-1000

 พระพุทธศาสนาในยุค พ.ศ.500 - 1000, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนมชีพอยู่ หรือแม้แต่หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วใหม่ๆ รูปแบบของนิกายมหายานยังไม่ได้เกิดขึ้น ถึงแม้ในต้นพุทธศตวรรษที่ 2 พระพุทธศาสนาจะเริ่มแยกเป็น 2 นิกาย คือ เถรวาท (หรือสถวีรวาทิน) และอาจาริยวาท (หรือมหาสังฆิกะ) หรือแม้แต่ในพุทธศตวรรษที่ 3 พระพุทธศาสนาจะได้แตกออกเป็น 18 นิกายแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถือว่าเป็นนิกายมหายานแต่อย่างใด เพียงแต่ถือว่าเป็นความคิดของคณาจารย์ที่ไม่ตรงกัน แต่ก็ยอมรับว่าคงมีการก่อตัวที่เป็นมหายานในช่วงนี้ จนเมื่อพุทธศตวรรษที่ 6 (ประมาณพ.ศ.500 เศษๆ) พระอัศวโฆษ (Ashvagosa) ภิกษุชาวเมืองสาเกต ในสมัยพระเจ้ากนิษกะแต่งคัมภีร์ศรัทโธตปาทศาสตร์ขึ้น นิกายมหายานซึ่งเป็นกระแสที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นเวลานานจึงปรากฏรูปร่างชัดเจนขึ้นในพุทธศตวรรษนี้และมีพัฒนาการต่อไปอย่างรวดเร็วดังหัวข้อที่จะได้ศึกษากันต่อไป

2.1 ร่องรอยและบ่อเกิดของนิกายมหายาน
     เมื่อพิจารณาถึงบ่อเกิดของพุทธศาสนามหายานแล้ว พบว่ามีสาเหตุหลักอยู่ 2 ประการได้แก่สาเหตุภายในพระพุทธศาสนา คือ การแตกเป็นนิกายต่างๆ และสาเหตุภายนอกพระพุทธศาสนา คือ การรุกรานของศาสนาพราหมณ์

1.สาเหตุภายในพระพุทธศาสนา
      การแตกเป็นนิกายต่างๆ มีจุดเริ่มต้นมาจากการแตกความสามัคคีกันในหมู่สงฆ์ด้วยเหตุ 2 ประการ คือ

1. แตกกันด้วยทิฏฐิสามัญญตา มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องธรรม
2. แตกกันด้วยสีลสามัญญตา มีความเคร่งครัดในการรักษาพระวินัยไม่เท่ากัน

     ซึ่งแม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หากแต่ระงับลงได้ในที่สุด ดังเช่นกรณีการทะเลาะวิวาทของภิกษุเมืองโกสัมพี ซึ่งแยกเป็นสองฝักสองฝ่าย คือ ฝ่ายพระวินัยธร 500 รูป และฝ่ายพระธรรมกถึก 500 รูป เกิดการขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นอาบัติและไม่เป็นอาบัติ เรื่องมีอยู่ว่า พระธรรมกถึกเหลือน้ำชำระไว้ในวัจจกุฎี พระวินัยธรเห็นเข้าจึงบอกว่า "เป็นอาบัติ" ครั้นพระธรรมกถึกจะปลงอาบัติ พระวินัยธรกลับบอกว่า "ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นอาบัติ" แต่พอลับหลัง พระวินัยธรกลับบอกพวกศิษย์ของตนว่า "พระธรรมกถึกต้องอาบัติก็ไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ" พระธรรมกถึกทราบเรื่องจึงเกิดการทะเลาะวิวาทกัน จะเห็นว่า แม้ประเด็นเล็กๆ แต่ต่างฝ่ายต่างถือทิฏฐิว่าตนเองถูก อีกฝ่ายผิด และโจมตีกัน ก็อาจนำไปสู่การแตกแยก เป็นผลเสียหายต่อพระพุทธศาสนาอย่างใหญ่หลวงได้

       หรืออย่างกรณีของพระเทวทัต ที่มีความคิดแปลกแยก คิดตั้งตนเป็นใหญ่ด้วยการปกครองคณะสงฆ์เสียเอง จึงได้ตั้งกฎที่ภิกษุจะต้องประพฤติ 5 ข้อ เรียกว่าปัญจวัตถุ ประกาศให้บริษัทของตนประพฤติแล้วนำเหล่าสานุศิษย์เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทูลขอให้ออกพระพุทธบัญชา เป็นกฎสำหรับพระภิกษุทุกๆ รูป คือ

1. ภิกษุพึงเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดไปสู่ละแวกบ้าน รูปนั้นมีโทษ
2. ภิกษุพึงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดรับนิมนต์ รูปนั้นมีโทษ
3. ภิกษุพึงถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดรับผ้าจากคฤหบดี รูปนั้นมีโทษ
4. ภิกษุพึงถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดเข้าสู่ที่มุงที่บัง รูปนั้นมีโทษ
5. ภิกษุไม่พึงฉันของสดคาว มีปลา เนื้อ เป็นต้นตลอดชีวิต รูปใดฉัน รูปนั้นมีโทษ

  แต่พระบรมศาสดาทรงเห็นว่าเป็นการประพฤติเคร่งเกินไป จึงไม่ทรงอนุญาตตามที่ขอทรงประสงค์ให้ภิกษุปฏิบัติไดัตามอัธยาศัย ภิกษุปฏิบัติได้ก็เป็นการดี ถ้าไม่ประสงค์ก็สามารถปฏิบัติตามที่เห็นสมควรแก่สมณะ นับแต่นั้นมา พระเทวทัตกับบริวารก็แยกทำสังฆกรรมอีกส่วนหนึ่ง ไม่ร่วมกับใครๆ ภายหลังเมื่อสำนึกผิด จึงได้กลับมาขอขมาต่อพระบรมศาสดา แต่มายังไม่ทันถึงก็มรณภาพเสียก่อน

    เมื่อพิจารณา ภาพความเป็นอยู่ของภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีการจัดแบ่งเป็นกลุ่มเป็นสำนักอาจารย์ต่างๆ ตามอัธยาศัยของตน ดังนั้นโอกาสที่จะแตกแยกกัน ก็ย่อมจะมีมากเป็นธรรมดาแต่ทว่าในยุคสมัยพุทธกาลนั้นนอกจากจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปกครองดูแลสงฆ์ทั้งหมดแล้ว ยังมีพระอัครสาวกทั้งสองคือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ รวมทั้งเหล่าสาวกองค์สำคัญ เช่น พระอานนท์ พระอนุรุทธะ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ เป็นต้น คอยกำกับดูแลเหล่าลูกศิษย์ของตน (สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิก) และประการสำคัญคือ เหล่าพระสาวกสาวิกาในยุคนั้นมีผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นแม้ว่าจะเกิดการแตกความสามัคคีขึ้นบ้าง เหตุการณ์เหล่านั้นก็สามารถสงบลงได้โดยเร็ว และจะไม่บานปลายใหญ่โตถึงขึ้นที่จะต้องแบ่งแยกเป็นนิกายแต่อย่างใด

   แต่ภายหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ความสมัครสมานสามัคคีในหมู่สงฆ์ก็มีอันเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เป็นเพราะภิกษุสงฆ์มีระดับ ภาวธรรมที่ต่างกันมีพื้นฐานครอบครัวสังคม ภาษา การศึกษาที่แตกต่างกัน รวมถึงอาศัยอยู่ใน สถานที่อันต่างภูมิประเทศและต่างวันธรรมกัน

     ด้วยพื้นฐานที่ต่างกันดังกล่าว จึงทำให้คณะสงฆ์มีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้านทั้งในทางความเห็น (ทิฏฐิสามัญญตา) และข้อวัตรปฏิบัติ ( สีลสามัญญตา) ความแตกต่างกันนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งที่เหล่าภิกษุสงฆ์ได้กระทำการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน และพระปุราณะไม่ยอมรับในสิกขาบท 8 ข้อที่เกี่ยวกับการขบฉันดังได้กล่าวมาแล้ว แม้ว่าพระมหากั ปะจะทักท้วงอย่างไร แต่พระปุราณะและเหล่าบริวารก็ไม่ยอมรับ ยังคงประพฤติตามที่ตนได้รู้ได้รับฟังมาจากพระพุทธองค์เท่านั้น

     เมื่อกาลล่วงไป 100 ปีหลังพุทธปรินิพพาน การขัดแย้งก็เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม จากกรณีภิกษุแตกกันออกเป็น 2 ฝ่าย อันเนื่องจากความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องวัตถุ 10 ประการ โดยพวกหนึ่งเห็นว่า วัตถุ 10 ประการนี้ชอบด้วยพระธรรมวินัยส่วนอีกพวกหนึ่งเห็นว่าไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย จึงเกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง อันเป็นมูลเหตุให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ 2 ขณะที่อีกฝ่ายที่ไม่ยอมรับการทำสังคายนา ได้แยกตัวเป็นอิสระไปทำสังคายนาในที่แห่งหนึ่งต่างหาก เหตุการณ์นี้ส่งผลต่อพระพุทธศาสนาโดยตรง เพราะทำให้พระพุทธศาสนาแตกแยกออกเป็น 2 นิกายอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก คือ เถรวาท (หรือสถวีรวาทิน) และอาจาริยวาท (หรือมหาสังฆิกะ)

   การแตกแยกในครั้งนี้ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงเค้าโครงของการแบ่งพระพุทธศาสนาเป็นเถรวาทและมหายานชัดเจนขึ้น โดยหลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงสังคายนาครั้งที่ 3 พระพุทธศาสนาก็แบ่งออกเป็น 18 นิกายอย่างชัดเจน และต่อมาได้พันามาเป็นนิกาย 3 สายหลัก คือสายหินยานสายมหายาน และสายวัชรยาน


2. สาเหตุภายนอกพระพุทธศาสนา
     ในสมัยพุทธกาลนั้นการประกาศศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้รับการต่อต้านจากพวกคณาจารย์เจ้าลัทธิต่างๆ เช่น ลัทธิครูทั้ง 6 เป็นต้น มีหลายครั้งที่เกิดการประวาทะของพระพุทธองค์กับเจ้าลัทธิหรือเหล่าสานุศิษย์ลัทธิต่างๆ โดยเฉพาะจากศาสนาพราหมณ์ เพราะใน มัยนั้นประชาชนนับถือศา นาพราหมณ์กันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้พระพุทธศาสนากลายเป็นที่สนใจของประชาชน และมีผู้หันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนากันมากมาย และขยายศรัทธาออกไปในวงกว้างสร้างความสั่นสะเทือนจนถึงขั้นรากฐานกับศาสนาพราหมณ์และเจ้าลัทธิทั้งหลาย พระพุทธศาสนาจึงถูกต่อต้านโจมตี และบ่อนทำลายอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุผลสำคัญที่เป็นแรงจูงใจ ดังนี้

1. พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับคัมภีร์พระเวท (อไวทิกวาทะ)

2. พระพุทธศาสนามีคำสอนและแนวทางปฎิบัติที่เน้นศีลสมาธิ ปัญญา ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถเข้าถึงสัจธรรมความจริงได้ด้วยตนเอง แตกต่างไปจากที่พวกพราหมณ์และคณาจารย์ทั้งหลายสอนกันอยู่ในสมัยนั้น

3. พระพุทธเจ้าปฏิเสธระบบวรรณะที่พวกพราหมณ์บัญญัติขึ้น ไม่ยอมรับฐานะของพวกพราหมณ์ที่ใครๆ ต่างยกย่องว่าสูงส่ง

4. การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของพระพุทธศาสนา

     ดังนั้น พวกพราหมณ์ได้พยายามทุกวิถีทางในการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาเพื่อหาทางดึงศาสนิกกลับคืน แต่ผลปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ไปอย่างกว้างขวางเป็นที่ยอมรับของประชาชน และได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์อย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะหรือโมริยะ

     แต่ครั้นเมื่อราชวงศ์เมารยะดับสูญ อำมาตย์ปุษยมิตรแห่งราชวงศ์ศุงคะก็ได้ปกครองอินเดียสืบต่อมา กษัตริย์พระองค์นี้ทรงเลื่อมใสในศาสนาฮินดูมากเพราะทรงเป็นพราหมณ์มาก่อน ดังนั้นคนในวรรณะพราหมณ์จึงมีโอกาสได้ขึ้นเป็นใหญ่ ศาสนาพราหมณ์ซึ่งรอจังหวะที่จะทำลายพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว จึงถือโอกาสอาศัยอำนาจทางการเมืองทำลายพระพุทธศาสนาและฟื้นฟูลัทธิศาสนาของตนเป็นการใหญ่ แม้แต่พระเจ้าปุษยมิตรเองก็แสดงพระองค์ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ ถึงกับมีการกวาดล้างพระพุทธศาสนา ทำร้ายคณะสงฆ์และทำลายวัดวาอารามของพระพุทธศาสนา โดยตั้งรางวัลให้แก่ผู้ตัดศีรษะพระภิกษุ ฟื้นฟูการบูชายัญโดยโปรดให้ทำพิธีอัศวเมธ (การฆ่าม้าบูชายัญ) เพื่อจูงใจให้ประชาชนมานับถือศาสนาพราหมณ์เพิ่มมากขึ้น

     การพยายามกวาดล้างพระพุทธศาสนาของพระเจ้าปุษยมิตร แม้ไม่อาจทำลายพระพุทธศาสนาให้หมดไป แต่ก็ทำให้พระพุทธศาสนามิอาจรุ่งโรจน์อยู่ ณ ศูนย์กลางเดิม แต่ไปรุ่งเรืองอยู่บริเวณทางตอนเหนือของอินเดีย ในแคว้นสวัส (Swat Valley) แคว้นมถุรา (Mathura) และแคว้นคันธาระ (Candara) เป็นต้น

     ศาสนาพราหมณ์จึงใช้วิธีการใหม่ คือ การกลืนพระพุทธศาสนาไว้ภายใต้ระบบศาสนาฮินดู (Assimilation) หรือกล่าวง่ายๆ ว่า พยายามเปลี่ยนพระพุทธศาสนาทั้งหมดให้เป็นศาสนาฮินดูนั่นเอง ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ การแต่งมหากาพย์ขึ้น 2 เรื่อง คือ มหาภารตะและรามายณะ จนเป็นที่แพร่หลายและได้รับความนิยมของประชาชนเป็นอันมาก โดยเฉพาะเรื่องราวจากคัมภีร์ภควัทคีตา มหากาพย์ทั้งสองนี้สามารถดึงดูดผู้คนให้มาศรัทธาเลื่อมใสในพระผู้เป็นเจ้า และทำให้ศาสนาพราหมณ์เผยแพร่เข้าสู่มวลชนได้อย่างรวดเร็ว

     นอกจากนี้ พวกพราหมณ์ยังได้พัฒนาความเชื่อด้านต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น การสร้างตรีมูรติให้เป็นที่พึ่งสูงสุดตามอย่างพระรัตนตรัย การสร้างวิหาร การสร้างเทวาลัยสำคัญ เป็นต้น เป็นเหตุให้ศาสนาพราหมณ์ยุคใหม่หรือศาสนาฮินดู ยิ่งขยายวงกว้างออกไปเป็นศาสนาที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวอินเดียอย่างยิ่ง

    จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คณาจารย์คนสำคัญในสมัยนั้นมิอาจนิ่งดูดายอยู่ได้ต่างเห็นความจำเป็นที่ต้องทำการปฏิรูปวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเสียใหม่ เพื่อให้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสิ่งทันสมัยทันเหตุการณ์สามารถที่จะแข่งกับศาสนาพราหมณ์ใหม่ที่กำลังเฟื่องฟูอยู่ในขณะนั้นได้

    พระพุทธศาสนามหายานจึงได้ก่อตัวขึ้น โดยมีกลุ่มสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของมหายาน คือ นิกายมหาสังฆิกะและกิ่งของกลุ่มของนิกายมหาสังฆิกะ ซึ่งเรียกรวมว่าคณะอันธกะมีศูนย์กลางใหญ่อยู่ตอนใต้ของอินเดียในแว่นแคว้นอันธระ

    การก่อกำเนิดเป็นนิกายมหายานดังกล่าว เป็นการเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการเห็นพ้องกันจากคณะสงฆ์นิกายมหาสังฆิกะ ผสมกับชาวพุทธหนุ่มสาวในขณะนั้น ที่มีความเห็นว่าจะต้องปรับปรุงวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเสียใหม่ โดยการปรับปรุงแก้ไขคติธรรมในพระพุทธศาสนาขึ้นหลายประการเพื่อให้พระพุทธศาสนาเข้าถึงหมู่ชนสามัญโดยทั่วไป

     ดังนั้น นิกายมหายานจึงได้รับการทำนุบำรุงอยู่ภายใต้อาณาจักรของกษัตริย์ราชวงศ์ศาตวาหนะแห่งอันธระ กษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์นี้เป็นมิตรกับพระพุทธศาสนา และหลายพระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังเรื่อยมา จนในราวพุทธศตวรรษที่ 6 นิกายมหายานก็ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัด เป็นนิกายใหญ่ๆ 2 นิกาย คือ นิกายมาธยมิกะ และโยคาจาร


2.2 แนวคิดและความเชื่อพื้นฐานของนิกายมหายาน
       แนวคิดและความเชื่อพื้นฐานในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ประกอบด้วยเรื่องที่เป็นหลักสำคัญดังต่อไปนี้
1. แนวคิดเรื่อง "ตรียาน"
     ตามหลักคำสอนของมหายาน กล่าวถึงยาน 3 ประการ ซึ่งเป็นทางหรือวิธีสู่ความหลุดพ้น ได้แก่สาวกยาน ปัจเจกยาน และโพธิสัตวยาน

    1) สาวกยาน หมายถึง ทางของพระสาวกที่หวังเพียงบรรลุอรหัตภูมิ ด้วยการรู้แจ้งอริยสัจ 4 เพื่อข้ามพ้นวัฏสงสารเท่านั้น ไม่ได้หวังพุทธภูมิแต่อย่างใด มหายานจึงถือว่าสาวกยานเป็นการทำประโยชน์เฉพาะตนในวงแคบและช่วยเหลือ รรพสัตว์ไปได้น้อย และที่สำคัญพระสาวกที่จะหลุดพ้นได้จะต้องอาศัยคำชี้แนะสั่งสอนจากพระพุทธเจ้าก่อนเพราะไม่อาจหลุดพ้นได้ด้วยความสามารถของตนเพียงลำพัง

     2) ปัจเจกยาน หมายถึง ทางของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้สามารถรู้แจ้งด้วยตนเอง แต่เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็ไม่อาจแสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งเห็นจริงตามตนเองได้ เพราะมิได้สั่งสมจริตในการโปรดสรรพสัตว์อื่น

    3) โพธิสัตวยาน หมายถึง ทางของพระโพธิสัตว์ผู้มีจิตใจกว้างขวาง กอปรด้วยมหากรุณาในสรรพสัตว์ทั้งหลาย ตั้งจิตบำเพ็ญบารมีเพื่อมุ่งหมายพุทธภูมิซึ่งก้าวล่วงอรหัตภูมิโพธิสัตวยานจึงเป็นการสร้างเหตุอันมีพุทธภูมิเป็นผล หรือกล่าวได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝ่ายมหายานนั้นคือเหล่าพระโพธิสัตว์ที่ได้สร้างบารมีมาด้วยการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์นั่นเอง

     ในบรรดายานทั้งสามอย่างนี้ แม้ว่าจะมีเป้าหมายอันเดียวกันคือการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ แต่อย่างไรตามสำหรับพุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานยังคงถือว่า โพธิสัตวยานเป็นทางที่สำคัญที่สุด และควรยกย่องไว้ในฐานะ "มหายาน" หรือยานที่ยิ่งใหญ่กว้างขวาง และควรยกย่องว่าเป็น "อนุตตรยาน" หรือยานที่ประเสริฐสูงสุด โดยมีข้ออุปมาที่น่าฟังว่า เหมือนสัตว์ 3 ตัวคือกระต่าย ม้า และช้าง ที่กำลังว่ายข้ามแม่น้ำคงคา กระต่ายไม่อาจหยั่งถึงพื้นดินได้จึงลอยน้ำข้ามไปส่วนม้าบางขณะก็หยั่งถึงบางขณะก็หยั่งไม่ถึงส่วนช้างนั้นย่อมหยั่งถึงพื้นดิน แม่น้ำคงคาเปรียบได้กับปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นธรรมอันลึกซึ้ง วิธีข้ามไปของกระต่ายเปรียบได้กับสาวกยานม้าข้ามเปรียบได้กับปัจเจกยานส่วนช้างข้ามเปรียบได้กับโพธิสัตวยาน ซึ่งเป็นยานของ
พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย

 แนวคิดเรื่องตรียานสะท้อนให้เห็นรากฐานความเชื่อของมหายานที่มองว่า ทางหลุดพ้นสายเดิมหรือสายเถรวาทนั้นเป็นทางแคบที่มุ่งเน้นเฉพาะคนบางกลุ่ม กล่าวคือผู้ที่จะหลุดพ้นด้วยสาวกยานได้จะต้องเป็นพระอรหันต์ผู้มีปัญญาและประกอบความเพียรมาแล้วอย่างยิ่งยวดเท่านั้น อีกทั้งผลสำเร็จที่เกิดจากความหลุดพ้นดังกล่าว ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลผู้นั้นเพียงผู้เดียว ฉะนั้นจึงดูเหมือนว่าได้ละเลยคนส่วนใหญ่ที่ยังดิ้นรนอยู่ในโลกไปเสีย ในขณะที่โพธิสัตวยานของฝ่ายมหายานกลับเป็นเหมือนพาหนะใหญ่ที่สามารถรับคนทุกประเภท ทุกชนชั้นวรรณะ ทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ โดยไม่เคยปฏิเสธ หรือจำกัดว่าเป็นผู้ใด ดังนั้นจึงควรยกย่องว่าเป็นยานอันสูงสุดเพราะสามารถช่วยเหลือสรรพสัตว์ไปได้มากที่สุดนั่นเอง


2. แนวคิดเรื่อง "พระพุทธเจ้า 3 ประเภท"
     พระพุทธศาสนาในฝ่ายมหายานได้แบ่งพระพุทธเจ้าออกเป็น 3 ประเภท คือ

   1) พระอาทิพุทธเจ้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เรียกว่าพระอาทิพุทธะนี้ เป็นผู้เกิดขึ้นมาเองก่อนสิ่งใดทั้งหมด (พระสยัมภูพุทธเจ้า) อันจะหาเบื้องต้นและเบื้องปลายมิได้ เป็นผู้ให้กำเนิดพระพุทธเจ้าประเภทอื่นๆ ทั้งหมด เป็นผู้ให้กำเนิดพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย และให้กำเนิดสรรพสิ่งต่างๆ ทั้งมวลที่มีอยู่ใน กลจักรวาลนี้ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในอนันตจักรวาลนี้ ล้วนถือกำเนิดมาจากองค์พระอาทิพุทธะนี้ทั้งสิ้น

  2) พระธยานิพุทธเจ้า เป็นผู้ที่เกิดมาจากอำนาจแห่งฌานของพระอาทิพุทธะเพื่อปกครองอาณาจักรและอาณาจักรย่อยๆ ที่เรียกว่าพุทธเกษตร ดังนั้นในแต่ละพุทธเกษตรจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคอยทำหน้าที่โปรดเวไนยสัตว์อยู่หนึ่งพระองค์ และ ภาพแต่ละพุทธเกษตรอาจจะมีความแตกต่างกันไปบ้างตามความเหมาะสมของการโปรดสัตว์ในพุทธเกษตรนั้นๆ

  3) พระมานุษิพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ถือกำเนิดมาจากพระธยานิพุทธเจ้า โดยแสดงตนออกมาในรูปของมนุษย์ธรรมดาและอุบัติขึ้นมาในโลกมนุษย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นอุบายแห่งการสั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อให้เร่งปฏิบัติธรรมด้วยความไม่ประมาท

     การแบ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกเป็น 3 ประเภทนั้น เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมมีตรีกาย หรือพระกาย 3 กาย กายที่หนึ่งเรียกว่า ธรรมกาย เป็นสภาวะแห่งการรู้แจ้งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นกายที่เกิดขึ้นเอง อันหาเบื้องต้นและเบื้องปลายมิได้ ธรรมกายนี้ก็คือ องค์พระอาทิพุทธะส่วนกายที่สองเรียกว่าสัมโภคกาย คือกายที่เป็นทิพย์ มีรัศมีรุ่งเรือง เกิดขึ้นมาในรูปของโอปปาติกะ ซึ่งกายนี้ก็คือ พระธยานิพุทธะ และกายที่สามเรียกว่า นิรมาณกาย เป็นกายที่เนรมิตบิดเบือนขึ้นให้อยู่ในรูปของร่างกายมนุษย์ซึ่งก็ได้แก่พระมานุษิพุทธะ หรืออาจจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสามประเภทนี้ความจริงแล้วถือว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพียงแต่แสดงตนออกมาในภาวะที่แตกต่างกันออกไป เพื่อความเหมาะสมต่อการสั่งสอนเวไนยสัตว์ในแต่ละสถานการณ์

     ดังนั้น พระมานุษิพุทธเจ้าในฝ่ายมหายาน อันได้แก่ พระทีปังกรพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้า พระเมตไตรยพุทธเจ้า และพระไภสัชชคุรุพุทธเจ้า ทุกพระองค์จึงล้วนมีพระกายเป็น 3 หรือมีภาวะแตกต่างกันเป็น 3 ในพระองค์เดียว ซึ่งจะเห็นได้จากพระประธานในโบสถ์ของมหายาน ที่จะต้องมี 3 พระองค์เสมอ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าพระพุทธเจ้ามี 3 องค์ แต่หมายถึงพระมานุษิพุทธะหรือพระศากยมุนีพุทธะพระองค์เดียว แต่มีพระกายเป็น 3 นี้เป็นลักษณะพระรัตนตรัยของมหายาน


3. แนวคิดเรื่อง "ตรีกาย"
     หลักตรีกายเป็นหลักสำคัญของมหายานที่อธิบายว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามี 3 กาย เป็นหลักร่วมกันของทุกนิกาย พระสูตรต่างๆ ก็จะพูดถึงตรีกายอยู่เสมอ

   ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจว่า แรกเริ่มพุทธศาสนามหายานดั้งเดิมมีหลักคำสอนเรื่องกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ต่างจากเถรวาท กล่าวคือ ถือกันว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเพียง 2 กาย คือ

     - นิรมาณกาย หรือที่ฝ่ายเถรวาท เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รูปกาย อันหมายถึงทั้งกายหยาบและละเอียดเหมือนสัตวโลกทั่วไป

    - ธรรมกาย คำว่า ธรรมกายในวรรณกรรมมหายานดั้งเดิม มีความหมาย 2 ประการคือ ประการแรก ธรรมกายเป็นกายแห่งธรรม ประมวลข้อปฏิบัติ คำสั่งสอน ซึ่งช่วยเสริมพระบารมีอยู่ในฐานะพุทธคุณอย่างหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ธรรมกายเป็นตถาคตกาย ความเป็นอย่างนั้น หลักความจริงอันเป็นรากฐานแห่งจักรวาล

    ต่อมาในยุคของท่านอสังคะและวสุพันธุ คณาจารย์ของนิกายโยคาจาร จึงมีการเพิ่มกายเข้ามาอีกหนึ่งกาย คือสัมโภคกาย ทำให้เกิดเป็นแนวคิดตรีกายขึ้นมา และธรรมกายก็มีความหมายค่อนข้างไปทางเทวนิยม ดังนั้นพระกายทั้ง 3 จึงมีความหมายดังนี้

     1) ธรรมกาย หมายถึง ภาวะอันเป็นอมตะ เป็นสิ่งที่ไร้รูป ไม่อาจรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ทั้งไม่มีจุดกำเนิดและผู้สร้าง ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง แม้จักรวาลจะว่างเปล่าปราศจากทุกสิ่ง แต่ธรรมกายจะยังคงดำรงอยู่โดยไม่มีที่สิ้นสุด และมหายานยังมีความเชื่อว่า พระธรรมกายนี้เอง ที่แสดงตนออกมาในรูปของสัมโภคกายบนภาคพื้นสวรรค์และจากสัมโภคกายนี้ก็จะเเสดงตนออกมาในรูปนิรมาณกาย ทำหน้าที่สั่งสอนสรรพสัตว์ในโลกมนุษย์

    2)สัมโภคกาย หมายถึง พระกายที่แท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กายนี้จะไม่มีการแตกดับ อยู่ในสภาวะอันเป็นทิพย์อยู่ชั่วนิรันดร์ และนอกจากนี้ มหายานยังมีความเชื่อว่าสัมโภคกายสามารถที่จะแสดงตนให้ปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ได้สามารถที่จะรับทราบคำสวดสรรเสริญและอ้อนวอนจากผู้ที่เลื่อมใสได้ และสัมโภคกายนี้เองที่เนรมิตตนลงมาเป็นนิรมาณกายคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลกมนุษย์ เพื่อเป็นการสั่งสอนสัตวโลก เพราะฉะนั้นแม้ในบัดนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายที่เคยอุบัติขึ้นในมนุษย์โลกก็ยัง ถิตอยู่ในสภาวะแห่งสัมโภคกายนี้มิได้แตกดับสูญสิ้นไปเลย และพระโพธิสัตว์ทั้งหลายก็ยังสามารถเห็นและรับคำสอนจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านี้ได้

     3) นิรมาณกาย หมายถึง กายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ ยังมีการเกิด แก่ เจ็บ และตาย เหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไป มหายานมีความเชื่อว่า นิรมาณกายนี้แท้จริงแล้วเป็นการเนรมิตมาจากสัมโภคกาย เพื่อเป็นอุบายในการสั่ง สอนสัตวโลก เพื่อสรรพสัตว์ทั้งหลายจะได้ไม่ตกอยู่ในความประมาท และเร่งปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งสู่ความพ้นทุกข์โดยเร็ว

    กายแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง 3 นี้ ถือว่าเป็นแนวความคิดและทัศนะในพระพุทธศาสนามหายานโดยเฉพาะ และแท้ที่จริงแล้วกายเหล่านี้ย่อมมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น แตกต่างกันเพียงสภาวะแห่งการแสดงออกเท่านั้น โดยที่นิรมาณกายเป็นการเนรมิตตนมาจากสัมโภคกาย และสัมโภคกายก็เป็นการเนรมิตตนมาจากธรรมกายซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้รูป อันเป็นปรมัตถภาวะ ถือว่าเป็น ภาวะที่เป็นอมตะ และอยู่เหนือการอธิบายใดๆ ในทางโลกิยวิสัย

    จะเห็นได้ว่า การอธิบายภาวะของพุทธเจ้าในรูปตรีกายเช่นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะบอกว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นกายมนุษย์นั้นเป็นเพียงภาคหนึ่งของธรรมกายอันเป็นอมตะฉะนั้นการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไป จึงเป็นเพียงการนิรมาณกายย้อนกลับคืนสู่สภาวะดั้งเดิมที่เรียกว่าสัมโภคกายเท่านั้น ซึ่งสัมโภคกายก็หาใช่อะไร หากแต่หมายถึงภาคที่เป็นเทพของธรรมกายนั่นเอง ดังนั้นในทัศนะของมหายาน เวลานี้พระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ทรงอยู่ในรูปสัมโภคกาย ณ ที่ใดที่หนึ่งในจักรวาลนี้


4. แนวคิดเรื่องพุทธเกษตร
    พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทเชื่อว่า ในจักรวาลหนึ่งๆ จะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมากกว่าหนึ่งพระองค์ในเวลาเดียวกันไม่ได้ แต่ฝ่ายมหายานเชื่อต่างไปจากนี้ว่า ในจักรวาลอันเวิ้งว้างนี้สามารถแบ่งเนื้อที่ออกเป็นส่วนย่อยลงไปอีกนับจำนวนไม่ถ้วน อาณาเขตย่อยๆ ของจักรวาลแต่ละอาณาเขตนี้เรียกว่าพุทธเกษตร (Pure Land) ในหนึ่งพุทธเกษตรจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่หนึ่งพระองค์ ดังนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในความเชื่อของมหายานจึงสามารถอุบัติขึ้นในจักรวาลพร้อมกันได้มากกว่าหนึ่งพระองค์ เมื่อเป็นดังนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อุบัติขึ้นเพื่อทำหน้าที่โปรดเวไนยสัตว์ในแต่ละจักรวาลทั้งในอดีต ปัจจุบัน อนาคตจึงมีจำนวนมากมายมหาศาลนับประมาณมิได้ดุจเมล็ดทรายในคงคานที

   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ในแต่ละพุทธเกษตร ไม่ว่าจะอยู่ในภาคสัมโภคกาย หรือนิรมาณกาย ทั้งหมดล้วนแตกขยายออกมาจากธรรมกายอันเดียวกัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในแต่ละพุทธเกษตรอาจมีลักษณะและคุณสมบัติที่ผิดแผกกันตามความเหมาะสมในการโปรดสัตว์ในพุทธเกษตรนั้นๆ แต่นั่นเป็นเพียงความแตกต่างภายนอกเท่านั้น โดยเนื้อแท้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าล้วนมาจากธรรมกายเดียวกัน ดุจน้ำแม้จะอยู่คนละสถานที่ก็ล้วนเป็นน้ำ ที่มีเนื้อแท้เป็นชนิดเดียวฉันนั้น

     พุทธเกษตรแต่ละแห่ง แตกต่างกันตามบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประจำพุทธเกษตรนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด มัยที่เป็นพระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญบารมีไว้มากอำนาจพระบารมีนั้นจะส่งผลให้พุทธเกษตรของพระองค์รุ่งเรืองมากกว่าพุทธเกษตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บำเพ็ญบารมีธรรมมาน้อยกว่า และพุทธเกษตรที่กล่าวกันว่าเป็นพุทธเกษตรที่รุ่งเรืองที่สุด และเป็นที่นิยมมากที่สุดในบรรดาพุทธเกษตรทั้งหมด ก็คือสุขาวดีพุทธเกษตรอันเป็นที่อยู่ของพระอมิตาภะ

    คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าสุขาวดีเป็นชื่อหนึ่งของพระนิพพาน แต่ในความหมายของมหายานสุขาวดีนั้นยังไม่ใช่นิพพาน เป็นเพียงพุทธเกษตรหนึ่งเท่านั้น แต่สุขาวดีพุทธเกษตรต่างจากพุทธเกษตรที่เราอาศัยอยู่นี้ เพราะเป็นสถานที่ที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ไม่มีแม้แต่อบายภูมิ จึงสมบูรณ์ด้วยสิ่งอำนวยความสุขนานาประการ อีกทั้งอายุของผู้ที่เกิดในดินแดนแห่งนี้ก็ยาวนานมาก ฉะนั้นจึงคล้ายกับว่าเป็นสถานที่อยู่อันถาวรไป

     แนวคิดเรื่องพุทธเกษตรนี้ เชื่อว่ามาจากทัศนะของฝ่ายมหายานที่มองว่า นิพพานไม่ใช่สิ่งที่คนเราจะบรรลุได้ง่ายๆ เป็นสิ่งที่อยู่ไกลเกินกว่าคนธรรมดาทั่วไปจะเอื้อมถึง นิพพานที่ต้องบรรลุถึงด้วยการปฏิบัติศีลสมาธิ ปัญญาอย่างยิ่งยวด และต้องใช้เวลานาน จึงถูกปรับมาให้กลายเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการทำบุญ ความศรัทธาเชื่อมั่นในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพุทธเกษตรนั้นๆ แล้วส่งผลให้ไปเกิดในดินแดนแห่งหนึ่ง เรียกว่าพุทธเกษตร ซึ่งมีเงื่อนไขเอื้ออำนวยแก่การเข้าถึงนิพพานต่อไปโดยไม่ยากนัก

     โดยเฉพาะผู้ที่ไปเกิดในสุขาวดีพุทธเกษตร ก็ย่อมจะมีโอกาสเข้าถึงนิพพานได้ง่ายกว่าผู้ที่เกิดในพุทธเกษตรอื่น ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะเข้าถึงนิพพานได้ภายในชาตินั้น แต่สำหรับผู้ที่เกิดในสุขาวดีพุทธเกษตรแล้ว ทุกคนย่อมเป็นผู้เที่ยงแท้ต่อนิพพาน คือจะต้องเข้าถึงนิพพานภายในชาตินั้นทุกคน


5. แนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์
       แนวคิดเรื่องพระโพธิสัตว์ (Bodhisattva) ถือเป็นแกนกลางของคำ สอนทั้งหมดในคัมภีร์มหายาน และเป็นอุดมคติอันสูงส่งที่มหายานมุ่งเน้น โดยแนวคิดนี้ได้แยกเป็นเอกเทศจากความเชื่อเรื่องพระพุทธเจ้าอย่างชัดเจน กลายเป็นการบรรลุสภาพอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้บรรลุเป็นผู้ประเสริฐ ที่มีหน้าที่สำคัญในการช่วยเหลือดูแลชาวโลก และกลายเป็นเหล่าเทพเจ้าที่สถิตในสรวงสวรรค์

   ในความเชื่อของมหายาน พระโพธิสัตว์จะมีความใกล้ชิดสรรพสัตว์มากกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสามารถช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้อย่างมากมาย จึงเป็นผู้ควรกราบไหว้บูชาและเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ พระโพธิสัตว์จึงมีลักษณะเป็นสื่อระหว่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในนิพพานกับบรรดามวลมนุษย์ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือมนุษย์ มีอำนาจพิเศษที่สามารถจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ได้มากๆ

      ถึงแม้ว่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลายล้วนตั้งความปรารถนาที่จะบรรลุพุทธภูมิให้จงได้แต่ท่านเหล่านั้นก็ยังไม่ขอเข้านิพพานในทันที จะต้องประพฤติตามหลักคำสอนที่เรียกว่าโพธิสัตวมรรค ไปจนกว่าจะบรรลุพุทธภูมิ คือ

      1) บารมี 6 หมายถึง คุณธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝัง คือความสำเร็จต่างๆ ที่บุคคลได้ตั้งมุ่งหมายเอาไว้ ซึ่งต้องบำเพ็ญให้ยิ่งยวดตราบเท่าที่ยังมิได้บรรลุพุทธภูมิ เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ ดังนั้นทางฝ่ายมหายานจึงย่อบารมี 10 หรือทศบารมีในฝ่ายเถรวาท ลงเหลือเพียงบารมี 6 คือ

- ทานปารมิตา หรือทานบารมี พระโพธิสัตว์จะต้องสละทรัพย์ อวัยวะและชีวิต เพื่อสัตว์โลกได้โดยไม่อาลัย

- ศีลปารมิตา หรือศีลบารมี พระโพธิสัตว์ต้องรักษาศีลอันประกอบด้วยอินทรีย์สังวรศีล กุศลสังคหศีล ข้อนี้ได้แก่การทำความดีสงเคราะห์สรรพสัตว์ทุกกรณีสัตวสังคหศีลคือการช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์

- กษานติปารมิตา หรือขันติบารมี พระโพธิสัตว์ต้องสามารถอดทนต่อสิ่งกดดันเพื่อโปรดสัตว์ได้

- วิริยปารมิตา หรือวิริยบารมี พระโพธิสัตว์ไม่ย่อท้อต่อพุทธภูมิ ไม่รู้สึกเหนื่อยหน่ายระอาในการช่วยสัตว์

- ธยานปารมิตา หรือฌานบารมี พระโพธิสัตว์จะต้องสำเร็จในฌานสมาบัติทุกชั้นมีจิตไม่คลอนแคลนเพราะเหตุแห่งอารมณ์

- ปรัชญาปารมิตา หรือปัญญาบารมี พระโพธิสัตว์จะต้องทำให้แจ้งในปุคคลศูนยตาและธรรมศูนยตา

     2) อัปปมัญญา 4 คือ การอบรมจิตให้มีคุณสมบัติอันประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา ทำให้คุณสมบัติเหล่านี้แผ่ไปในสรรพสัตว์ทั้งปวงไม่มีประมาณ

       3) มหาปณิธาน 4 คือ ความตั้งใจอันแน่วแน่มั่นคงซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องมี คือ

- จะละกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้น
- จะศึกษาธรรมทั้งหลายให้ถ่องถ้วน (คือศึกษาให้หมดและแตกฉาน)
- จักโปรดสัตว์ทั้งหลายให้หมด
- จะต้องบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (บรรลุพุทธภูมิ)

      4) อุดมคติ 3 คือ

- หลักมหาปัญญา เป็นผู้รู้แจ้งในสุญญตาทั้ง 2 คือ ปุคคลสุญญตา และธรรมสุญญตา พิจารณาเห็นความว่างในบุคคลและธรรม ไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลส

- หลักมหากรุณา คือ มีจิตใจกรุณาต่อสัตว์ไม่มีขอบเขต พร้อมที่จะเสียสละตนเองทนทุกข์แทนสรรพสัตว์ เพื่อช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์

- หลักมหาอุบาย คือ ต้องมีกุศโลบายอันชาญฉลาด ในการแนะนำอบรมสั่งสอนผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ให้เข้าถึงธรรม

   อุดมคติของพระโพธิสัตว์ทั้งสามข้อนี้ นับเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานข้อแรกหมายถึงการบำเพ็ญประโยชน์ของตนให้เพียบพร้อมสมบูรณ์ส่วนสองข้อหลัง เป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น เมตตาช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ และเป็นการสืบอายุพระศาสนาพร้อมทั้งเผยแผ่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้แพร่หลาย

    ในพระพุทธศาสนามหายาน ความเป็นพระอรหันต์ก็ยังนับว่าด้อยกว่าพระโพธิสัตว์เพราะเป็นการเอาตัวรอดแต่เพียงผู้เดียว มิได้ช่วยเหลือผู้อื่นในระหว่างการบำเพ็ญเพียรของตนแต่พระโพธิสัตว์ผู้มุ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิเป็นผู้ที่เสียสละอย่างยิ่ง ไม่ยอมบรรลุโพธิในทันทีเพราะอาศัยความกรุณาเป็นที่ตั้งจึงปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่นก่อน ความคิดที่เน้นการเสียสละช่วยเหลือเแก่ผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากลำบากของตัวเอง จึงทำให้อุดมคติพระโพธิสัตว์มีความโดดเด่นเหนือกว่าอุดมคติพระอรหันต์ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นแกนกลางคำสอนทั้งหมดของฝ่ายมหายานในที่สุด

     เมื่อพิจารณาจากหลักการและความเชื่อของมหายานที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เราจะเห็นภาพรวมของคำสอนที่มีลักษณะพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์ของฝ่ายมหายานโดยเฉพาะ หลักคำสอนเหล่านี้สำหรับพุทธศาสนิกชนฝ่ายเถรวาทอาจมองว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากเพราะห่างไกลจากคำสอนดั้งเดิมในฝ่ายเถรวาท ทั้งๆ ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับคำสอนของเถรวาททั้งหมด

      การปรับปรุงคำสอนให้เข้ากับสังคมและกาลสมัยตามแนวทางของคณาจารย์ฝ่ายมหายาน ถือว่าเป็นข้อเด่นที่เป็นประโยชน์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา แต่อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้มีข้อที่ควรพิจารณาคือ


1) การปรับพุทธพจน์
      มหายานได้ใช้หลักจิตวิทยาที่เหนือกว่าการจูงใจคนคือปรับพุทธพจน์ให้เข้ากับบุคคลให้คนทั่วไปมีความรู้สึกว่า พุทธภาวะนั้นอยู่แค่เอื้อม บุคคลทุกเพศทุกวัยก็อาจบรรลุพุทธภาวะนั้นได้ โดยไม่ต้องอาศัยพิธีรีตองหรือการปฏิบัติมาก เป็นการดึงพุทธธรรมเข้าหาบุคคลอย่างเหมาะเจาะ และเกิดความรู้สึกว่าเป็นกันเอง คือพุทธธรรมอยู่ในวิสัย อยู่ในความสามารถของสามัญชนที่หยั่งถึงได้ โดยไม่ต้องอาศัยพิธีการอะไรให้ยุ่งยากนัก

      เมื่อเปรียบเทียบกัน อาจดูเหมือนว่า ฝ่ายเถรวาทจะตั้งเป้าหมายและวิธีบรรลุเป้าหมายไว้สูงส่งและยากเกินไป และอาศัยผู้มีศรัทธาจริงๆ จึงจะกล้าดำเนินตามเป้าหมายและบรรลุตามเป้าหมาย ทำให้สามัญชนโดยทั่วไปมองพระพุทธศาสนาในแง่สูงสุดเอื้อม จะเห็นได้ง่ายๆว่าแม้แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่ ก็ยังมีความเห็นว่า เรื่องการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุเท่านั้น ยิ่งเมื่อพูดถึงการบรรลุมรรคผลด้วยแล้ว ดูจะเป็นสิ่งที่เกินวิสัย และเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับฆราวาสผู้ที่ยังครองเรือนจะบรรลุธรรมได้ ดังนั้นจึงมักคิดว่าทางโลกและทางธรรมเป็นสิ่งที่ต้องแยกออกจากกันและยากที่จะไปด้วยกันได้

      เมื่อมองในอีกแง่หนึ่ง พระพุทธศาสนาเถรวาทมุ่งที่ปัจเจกภาพเฉพาะบุคคล คือเริ่มที่ตนก่อนแล้วจึงไปหาผู้อื่น แต่มหายานมุ่งที่ผู้อื่น แล้วดึงเข้ามาหาตนเอง กล่าวง่ายๆ คือมหายานเอาปริมาณไว้ก่อน เพราะถือว่าเมื่อคนที่สนใจธรรมะมีมากขึ้น คนที่รู้แจ้งธรรมก็ย่อมจะมีมากตามไปด้วยเป็นเงาตามตัว ด้วยเหตุนี้พระพุทธศา นาแบบมหายาน จึงได้รับความนิยมและแพร่หลายอย่างรวดเร็วและสามารถดึงดูดความ นใจของผู้คนได้มากกว่า

2) ปัญหาที่เกิดจากการปรับพุทธพจน์
       อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับพุทธพจน์จะทำให้มหายานประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ แต่ถึงกระนั้น ก็ยังก่อให้เกิดผลเสียที่เห็นได้ชัดเจนในแง่ที่ว่า

   เมื่อมีการมองคำสอนหรือพระพุทธวจนะในแง่ปรัชญา คือมุ่งพิจารณาในแง่เหตุผลมิใช่ในแง่ศรัทธา จึงปรากฏมีคณาจารย์มหายานตีความพระธรรมวินัยไปตามหลักเหตุผลที่แตกต่างกัน

      และเนื่องจากเหตุผลก็ย่อมขึ้นอยู่กับขอบเขตแห่งแนวความคิดของบุคคลแต่ละคนไม่จำเป็นที่บุคคลอื่นๆ จะต้องยอมรับ ดังนั้นนิกายย่อยๆ ของมหายานจึงเกิดขึ้นเรื่อยมาเมื่ออยู่ที่ใดสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ความคิดที่จะปรับปรุงก็มีอยู่ อย่างไรก็ตาม ถ้าบุคคลมีจิตใจสูง พุทธพจน์ก็ไม่แปดเปอนมลทินมากนัก แต่ถ้าบุคคลมีจิตใจต่ำ พุทธพจน์ก็พลอยมัวหมองไปด้วย

      ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจึงมีท่าทีในการรักษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีประโยชน์ต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในระยะยาว ในขณะที่ฝ่ายมหายานสนองความต้องการที่เหมาะในขณะนั้นเท่านั้น และเมื่อกาลเวลาผ่านไป มหายานก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่เรื่อยไปอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ จึงปรากฏว่ามีนิกายของมหายานมากมายเหลือเกินในปัจจุบัน


2.3 มหายานสองสายที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย
       พระพุทธศาสนามหายานในอินเดียสามารถแบ่งเป็นนิกายใหญ่ๆ ได้ 2 นิกาย คือ นิกายมาธยมิกะ และนิกายโยคาจาร ทั้งสองนิกายเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงวิชาการว่า เป็นนิกายของฝ่ายมหายานที่มีต้นกำเนิดในอินเดีย และต่างก็มีปรัชญาคำ สอนอันลึกซึ้งที่ชวนให้นักวิชาการชาวตะวันตกทั้งหลายทุ่มเทศึกษากันอย่างจริงจัง

1. นิกายมาธยมิกะ (Madhyamika)
       คำว่า มาธยมิกะ แปลว่า ทางสายกลาง ที่ได้ชื่ออย่างนี้เพราะมุ่งเน้นคำสอนเรื่องทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) เป็นหลักสำคัญ แต่ทางสายกลางตามแนวคิดของนิกายมาธยมิกะอาจห่างไกลจากสิ่งที่เราเข้าใจ นิกายมาธยมิกะถือทางสายกลางระหว่างความมีกับความไม่มีความเที่ยงกับความไม่เที่ยง เป็นต้น กล่าวสั้นๆ นิกายนี้แสดงว่าโลกนี้มีจริงก็ไม่ใช่ ไม่มีจริงก็ไม่ใช่แต่เป็นสิ่งที่สืบเนื่องกันเป็นปฏิจจสมุปบาท (สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและดำเนินไปตามเหตุปัจจัย)

     น่าสังเกตว่าทางสายกลางตามคำสอนดั้งเดิม มีความหมายไปในเชิงจริยธรรมหรือเป็นแนวทางเพื่อการปฏิบัติ ในขณะที่ทางสายกลางของนิกายมาธยมิกะกลับมีความหมายในเชิงอภิปรัชญา ซึ่งเป็นแนวคิดอันลึกซึ้งที่ดูจะไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติเท่าใดนัก

      กล่าวกันว่า นิกายมาธยมิกะเป็นนิกายแรกสุดที่แยกตัวออกมาจากมหายานกลุ่มดั้งเดิมที่มีมาก่อนหน้านั้น โดยมีท่านนาคารชุน (Nagarajuna) เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 7 ท่านนาคารชุนได้อรรถาธิบายพุทธมติด้วยระบบวิภาษวิธี (Dialectic) หรือวิธีโต้แย้งกันทางความคิดเพื่อให้เข้าถึงความจริงในปรัชญานั้น จนสามารถกำจัดปรวาทีฝ่ายตรงข้ามให้พ่ายแพ้ไปทุกแห่งหน วิภาษวิธีของท่านนาคารชุน ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวในวงการนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ทำให้มีนักคิดที่ตามมาในภายหลังยึดถือวิธีการของท่านเป็นแบบอย่างอีกมากมาย

 ท่านนาคารชุนได้เขียนคัมภีร์ไว้หลายเล่ม ผลงานชิ้นสำคัญของท่านคือคัมภีร์มัธยมกการิกา (Madhyamakakrika) ซึ่งได้รวบรวมปรัชญามาธยมิกไว้อย่างเป็นระเบียบสอนเรื่องศูนยตา (Sunyata) ว่าเป็นความแท้จริงขั้นสุดท้าย (อันติมสัจจะ) และเพราะเหตุที่นิกายนี้ยึดถือศูนยตาว่าเป็นหลักสำคัญของตนด้วย ดังนั้นจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นิกายศูนยวาท

      คัมภีร์มัธยมกการิกายังได้กล่าวอีกว่าสัจจะหรือความจริงมี 2 ชนิด คือ มมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ ในสัจจะทั้ง 2 นี้สมมติสัจจะ หมายถึง อวิชชาหรือโมหะซึ่งปิดบังความเป็นจริงจนทำให้เราเข้าใจผิดไปว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีแก่นสารส่วนปรมัตถสัจจะ หมายถึง การหยั่งเห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายว่าเป็นสิ่งสมมติสังขารทั้งหลายไม่มีอยู่จริง เปรียบเหมือนภาพมายา แม้แต่ความหลุดพ้นก็เป็นสิ่งสมมติ เมื่อยังละ มมติสัจจะไม่ได้ก็ยังบรรลุปรมัตถสัจจะไม่ได้ จากคำอธิบายตรงนี้ เราจึงตีความได้ว่า ความจริงแท้ที่มาธยมิกะกล่าวถึงนั้น ไม่มีแก่นสารสาระใดๆ แต่เป็นอิสรภาพหรือความหลุดพ้นจากแก่นสารทั้งปวง

     หลักการของมาธยมิกะข้างต้น ดูจะเป็นเรื่องยากต่อการเข้าใจของคนทั่วไป เพราะเต็มไปด้วยการโต้แย้งเชิงเหตุผลที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง แต่อย่างไรก็ตามบรรดานักปราชญ์ชาวตะวันตกยุคหลังที่ได้อ่านคัมภีร์ของนาคารชุนแล้ว ต่างก็ต้องยอมรับว่า ท่านนาคารชุนเป็นนักตรรกวิทยาที่ยิ่งใหญ่ของโลกที่ไม่มีปราชญ์ชาวตะวันตกผู้ใดจะเทียบได้ แม้แต่พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานเองต่างก็ยอมรับในอัจฉริยภาพด้านพุทธปรัชญาของท่าน และยกย่องท่านไว้อย่างสูงสุดในฐานะ "พระพุทธเจ้าองค์ที่สอง" ในบั้นปลายชีวิต ท่านนาคารชุนดับขันธ์ลง ณ มหาวิหารแห่งหนึ่งที่เมืองอมราวดี ในแคว้นอันธระ ทักษิณาบถ ปัจจุบันนี้ในอินเดียทางใต้ยังมีโบราณ สถานแห่งหนึ่ง ซึ่งมีซากพระ ถูปเจดีย์ชื่อว่า "นาคารชุนโกณฑะ"

2. นิกายโยคาจาร (Yogacara)
      นิกายโยคาจารเป็นนิกายสำคัญที่เป็นคู่ปรับของนิกายมาธยมิกะ โดยมีท่านไมเตรยนาถ (Maitraya-natha) เป็นคณาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดนิกายในปลายพุทธศตวรรษที่ 8 และได้เขียนคัมภีร์ไว้หลายเล่ม เช่น อภิสมยาลังการะ มหายานสูตราลังการะ เป็นต้น แต่บางตำนานบอกว่า โยคาจารเริ่มพันาขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.700 เป็นต้นมา และพัฒนาถึงขีดสูงสุดประมาณปี พ.ศ.900 มีพื้นฐานทฤษฎีอยู่บนระบบการตีความเนื้อหาคัมภีร์ที่สำคัญ เช่น สันธินิรโมจนสูตร และลังกาวตารสูตร เป็นต้น

   นิกายโยคาจารเจริญถึงขีดสุดในสมัยของท่านอสังคะ (Asanga) และท่านวสุพันธุ (Vasubandhu) สองพี่น้องผู้แต่งตำราออกเผยแผ่มากมาย โดยท่านอสังคะพี่ชายเป็นศิษย์คนสำคัญของท่านไมเตรยนาถเป็นผู้อธิบายปรัชญาโยคาจารอย่างเป็นระบบต่อจากท่านไมเตรยนาถส่วนน้องชายคือวสุพันธุแต่เดิมบวชเรียนอยู่ในนิกาสรวาสติวาท หรือไวภาษิกะ มาภายหลังจึงหันมานับถือมหายานนิกายโยคาจารตามพี่ชาย

  อสังคะเรียกชื่อนิกายฝ่ายตนว่า นิกายโยคาจาร (Yogacara)ส่วนวสุพันธุเรียกว่านิกายวิชญาณวาท (Vijananavada) ที่ได้ชื่อว่าโยคาจารนั้นก็เพราะใช้วิธีบำเพ็ญโยคะหรือการฝึกจิตเพื่อบรรลุโพธิ (การรู้แจ้งความจริง) แต่ที่ชื่อว่า วิชญาณวาท ก็เพราะยึดถือจิตตมาตระหรือวิชญาปติมาตร (Vijaaptimatra) หมายถึงความไม่มีอะไรนอกจากวิญญาณ (Thought-Only,or Mind-Only) ว่าเป็นความจริงแท้ขั้นสูงสุด พูดง่ายๆ ว่า ยอมรับเฉพาะจิตหรือวิญญาณเพียงประการเดียวว่าเป็นจริงสิ่งต่างๆ นอกนั้นเป็นเพียงความคิดหรืออาการกิริยาของจิต ดังนั้นโยคาจารจึงใช้ปรัชญาไปในทางปฏิบัติส่วนวิชญาณวาทใช้ปรัชญาไปในทางเก็งความจริง

       นอกจากนี้ โยคาจารยังมีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า ธรรมลักษณะ ซึ่งหมายถึงการให้ความสำคัญที่ลักษณะของธรรม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โยคาจารก็ยังมีหลักการสำคัญอยู่ที่การยอมรับจิตว่าเป็นความจริงเดียวที่มีอยู่ ไม่มีความจริงอื่นนอกจากจิต

      นิกายมาธยมิกะกับนิกายโยคาจารต่างเป็นคู่ปรับกันมาทุกยุคทุกสมัยเหมือนอย่างขมิ้นกับปูน ถึงขนาดห้ามสานุศิษย์ไม่ให้คบค้าสมาคมกัน มิให้ร่วมสังฆกรรม ข้อสำคัญที่ขัดแย้งกันก็คือเรื่องสวลักษณะหรือสวภาวะ คือลักษณะหรือภาวะของตนเอง นิกายมาธยมิกะถือว่าโดยสมมติสัจจะแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีสวลักษณะหรือสวภาวะในตัวของมันเอง เป็นมายาทั้งหมด และโดยปรมัตถสัจจะแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นศูนยตา

    ฝ่ายนิกายโยคาจารถือว่า โดยสมมติสัจจะแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นมายาไปทั้งหมดไม่ได้ แม้มองจากภายนอกจะไม่ใช่ของจริง แต่พีชะที่มาจากอาลยวิญญาณจนเป็นบ่อเกิดของภาพเหล่านั้นมี วลักษณะอยู่ด้วย และโดยปรมัตถสัจจะก็ไม่ได้สูญเสียไปทั้งหมด ยกตัวอย่างถ้าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีสวลักษณะอยู่ภายในตัวของมันเองแล้ว คนเราทำความชั่ววันนี้ พรุ่งนี้ก็ไม่ต้องรับความชั่วที่ตัวเองได้กระทำไว้ ถ้าไม่มีสวลักษณะหรือสวภาวะอยู่แล้วใครเล่าจะเป็นคนคอยรับบุญรับบาป นายปอทำความชั่ววันนี้ พรุ่งนี้ก็กลายเป็นคนละคนไปแล้วไม่ต้องรับความชั่วที่ตัวก่อไว้ เหมือนกับปลูกมะละกอ ถ้าไม่มีสวลักษณะอยู่จริงก็กลายเป็นมะม่วงมะพร้าวไป

     สรุปแล้วนิกายทั้ง 2 ตีความหมายให้คำนิยามสวลักษณะแตกต่างกัน และดูเหมือนจะแย้งกันแบบสุดโต่ง ทั้งที่จริงแล้วจุดประสงค์ของทั้ง 2 นิกายเหมือนกัน คือ เพื่อความหลุดพ้นแต่สิ่งที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันเป็นเพียงแนวทางการนำเสนอเท่านั้น โดยโยคาจารถือว่ามีจิตอยู่จริงและเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวสวลักษณะนั้นเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถึงจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ยังรักษาคุณสมบัติเดิมเอาไว้ได้ ดังนั้นจึงต้องพยายามทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากความยุ่งยากซับซ้อนในโลก โดยหันมาดูที่กระแสจิตของตนและบังคับควบคุม

   ส่วนมาธยมิกะถือว่าโดยที่สุดแล้วไม่มีอะไรอยู่เลย จึงยืนยันว่า ขึ้นชื่อว่า วลักษณะ แล้วจะต้องเที่ยงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทั้งยังเสนอว่า ต้องพยายามทำตัวเองให้หลุดพ้นโดยไม่ยึดถืออะไรเลย และจุดเน้นของมาธยมิกะไม่ได้เพียงว่าไม่ยึดถืออะไรเลยเท่านั้น แต่ก้าวไปไกลถึงขนาดกล่าวว่า "โดยที่สุดแล้ว ความว่างก็ไม่มี (Emptiness of Emptiness)" ฝ่ายมาธยมิกะจึงประณามพวกโยคาจารว่าเป็นพวกสั ตวาท (ความมีอยู่อย่างเที่ยงแท้ถาวร) ฝ่ายโยคาจารก็ประณามพวกมาธยมิกะว่าเป็นพวกนัตถิกวาท (ความไม่มีอะไรอยู่เลย ไม่มี ภาวะที่จะกำหนดเป็นสาระได้) ต่างฝ่ายต่างกล่าวหากันว่า เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิทำลายพระพุทธศาสนาทำให้เกิดความขัดแย้งจนหาจุดจบไม่ได้ ทั้งสองนิกายนี้ ก็เลยเข้าข่ายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปทั้งคู่ตามหลักคำสอนฝ่ายเถรวาท

      อันที่จริง โยคาจารเห็นด้วยกับมาธยมิกะเฉพาะเรื่องความไม่มีอยู่จริงของวัตถุหรืออารมณ์ภายนอก แต่เรื่องที่เห็นว่าจิตไม่มีจริงหรือไม่มีอยู่จริงนั้น โยคาจารไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะถือว่าทรรศนะของมาธยมิกะที่ปฏิเสธว่าสูญทั้งหมดเท่ากับเป็นความเห็นผิดอย่างไม่น่าให้อภัย เพราะโยคาจารเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดเราต้องยอมรับว่าจิตเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ทั้งนี้เพื่อให้ความคิดที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ จิตซึ่งประกอบด้วยกระแสแห่งความคิดชนิดต่างๆ (เจตสิก) เป็นสิ่งแท้จริงเพียงประการเดียว ดังนั้นหากจะกล่าวไปแล้ว ก็คงถือได้ว่านิกายโยคาจารจัดว่าเป็นปรัชญาคำสอนฝ่ายอภิธรรมของมหายานที่ดูจะใกล้เคียงกับหลักคำสอนในการปฏิบัติของฝ่ายเถรวาทมากที่สุด โดยเฉพาะข้อความในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาทที่ว่า "โลกอันจิตนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอย่างเดียว คือจิต"

 


*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017365177472432 Mins