พระพุทธศาสนาในยุคเสื่อมจากอินเดีย

วันที่ 20 เมย. พ.ศ.2560

พระพุทธศาสนาในยุคเสื่อมจากอินเดีย

พระพุทธศาสนาในยุคเสื่อมจากอินเดีย, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

1. การเผยแพร่ของลัทธิพุทธตันตรยาน
     นิกายพุทธตันตระ (Tantric Buddhism) เชื่อว่าแนวทางของตนถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลโดยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า กล่าวกันว่า พระศากยมุนีพุทธได้จัดให้มีการประชุมขึ้นที่เมืองศรีธานยกฏกะ และทรงสั่งสอนเกี่ยวกับทางลี้ลับหรือทางลัด (Esoteric path) ที่เป็นธรรมละเอียดลึกซึ้งซึ่งไม่ทรงเปิดเผยทั่วไปแก่สาธารณชน แต่จะทรงแสดงให้ฟังเฉพาะคนที่สติปัญญาเฉลียวฉลาดเท่านั้น ดังนั้นคำสอนนี้จึงเรียกว่ารหัสยาน หรือคุยหยาน ซึ่งแปลว่าลึกลับ เช่นเดียวกับที่พระองค์เคยทรงสั่งสอนวิถีทางให้แก่นิกายมหายานมาก่อนที่เขาคิชฌกูฏ คติความเชื่อดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวทิเบต และนักปราชญ์ชาวอินเดียบางท่านก็เห็นคล้อยตามว่า พระพุทธเจ้าได้สอนหลักปฏิบัติแบบตันตระ มนตร์ มุทราและธารณี ให้แก่พุทธศาสนิกชนด้วย โดยอ้างว่าผู้ที่ฉลาดอย่างพระพุทธองค์คงจะไม่ทรงละเว้นที่จะนำเอาหลักปฏิบัติเกี่ยวกับเวทมนตร์คาถา มารวมไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อดึงดูดพุทธศาสนิกชนให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น

     จากร่องรอยทางประวัติศาสตร์ นักปราชญ์ชาวอินเดียได้สืบอายุของนิกายพุทธตันตระไปจนถึงสมัยของท่านเมไตรยนาถและอสังคะแห่งสำนักโยคาจาร ซึ่งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 8 อันเป็นช่วงที่ศาสนาฮินดูกำลังเฟองฟูอย่างมาก พระพุทธศาสนาในขณะนั้นจึงอยู่ในภาวะที่ต้องแข่งขันต่อสู้กับศาสนาฮินดู ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนาคณาจารย์ฝ่ายมหายานจึงตัดสินใจที่จะใช้วิธีประนีประนอมระหว่างกลุ่มชน 2 ฝ่าย คือ กลุ่มชาวพุทธยุคใหม่ และกลุ่มชาวินดูที่นับถือพระศิวะ (ไศวนิกาย) เพื่อให้ประชาชนหันกลับมานับถือพระพุทธศาสนาดังเดิม

     คณาจารย์ฝ่ายมหายานทั้งหลายเห็นว่า ลำพังพระธรรมแท้ๆ ยากที่จะทำให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ จึงคิดแก้ไขให้เหมือนศาสนาฮินดู คือกลับไปยกย่องเรื่องเวทมนตร์ อาคมขลัง พิธีหาลาภ พิธีเสกเป่า ลงเลขยันต์ต่างๆ จนในที่สุดนิกายพุทธตันตระจึงระคนปนเประหว่างมหายานนิกายโยคาจารกับศาสนาฮินดูจนแทบแยกไม่ออก พระสงฆ์เองก็ต้องทำหน้าที่เหมือนพราหมณ์ทุกอย่าง ลัทธินี้จึงเรียกว่า มนตรยาน (Mantrayana) หรือตันตรยาน (Tantrayana) เพราะนับถือพิธีกรรมและการท่องบ่นสาธยายเวทมนตร์อาคมเป็นสำคัญ โดยที่เวทมนตร์
แต่ละบทเรียกว่า ธารณี (Dharani) มีอานิสงส์ความขลังความศักดิ์สิทธิ์พรรณนาไว้วิจิตรลึกล้ำนักหนา ธารณีมนต์เหล่านี้มีทั้งประเภทยาวขนาดหน้า มุด และประเภทสั้นเพียงคำสองคำซึ่งเรียกว่าหัวใจคาถาหรือหัวใจธารณีสามารถทำให้ผู้สาธยายพ้นจากทุกข์ภัยนานาชนิด และให้ได้รับความสุขสวัสดิมงคลและโชคลาภตามความปรารถนา ฉะนั้นเป็นธรรมดาอยู่ ที่ลัทธินี้จะได้รับการต้อนรับจากพุทธศาสนิกชนผู้ยังเป็นปุถุชนอยู่ ด้วยสามัญปุถุชนย่อมแสวงหาที่พึ่งไว้ป้องกันภัย ศาสนาพราหมณ์อ้างเอาอานุภาพของพระเป็นเจ้าปกป้อง ลัทธิพุทธมนตรยานจึงแต่งมนตร์อ้างอานุภาพของพระรัตนตรัยและอ้างอานุภาพของพระโพธิสัตว์ตลอดจนอานุภาพของเทพเจ้าทั้งหลายซึ่งนับถือกันว่าเป็นธรรมบาล รวมเอาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์เข้าไว้ด้วยก็มี แล้วสั่งสอนแพร่หลายในหมู่พุทธศาสนิกชน

    นิกายพุทธตันตระมีวิธีสอนแตกต่างจากมหายานยุคต้นๆ อย่างชัดเจน มหายาน สอนหลักธรรมในพระสูตรและศาสตร์ต่างๆ ที่ใครๆ ก็สามารถหาอ่านได้ และเป็นหนังสือที่คนทั่วไปพอจะทำความเข้าใจได้ แต่ตรงกันข้าม คัมภีร์เล่มใหม่อันยืดยาวของนิกายตันตระสงวนไว้สำหรับบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกแล้วเพียงไม่กี่คน และบุคคลเหล่านั้นจะต้องได้รับการสอนจากครูโดยตรง นอกจากนั้นคัมภีร์ยังเขียนไว้ด้วยภาษาที่ลึกลับ เข้าใจยาก และคลุมเครือชวนให้สงสัยอีกด้วย ทั้งไม่ยอมอ้างว่าคัมภีร์เหล่านั้นเป็นคำสอนของพระศากยมุนีพุทธเจ้า แต่กลับบอกว่าเป็นของพระพุทธเจ้าองค์อื่น ซึ่งกล่าวกันว่าพระองค์ได้ทรงสอนคัมภีร์เหล่านั้นตั้งแต่อดีตกาล
อันไกลโพ้น แม้ว่าจุดมุ่งหมายของนิกายตันตระยังเป็นพุทธภาวะเช่นเดียวกับนิกายมหายานแต่มิใช่เป็นสิ่งที่จะได้บรรลุในอนาคตอันไกลแสนไกลนานแสนนานอย่างแต่ก่อน หากแต่พุทธภาวะนั้นมีอยู่ในร่างกายของเรานี่เอง และในชั่วขณะจิตตุปบาทที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้เอง ซึ่งเราบรรลุได้ด้วยวิธีการที่ใหม่เอี่ยม รวดเร็วทันใจและง่ายๆ อย่างน่าอัศจรรย์ทีเดียว

    การเกิดขึ้นของนิกายตันตระดำรงอยู่นานถึง 3 สมัยด้วยกัน คือ มัยแรกมีชื่อเรียกว่า มนตรยาน (Mantrayana) ซึ่งได้เริ่มต้นในพุทธศตวรรษที่ 8 แต่เพิ่งจะมีการเผยแพร่คำสอน อย่างจริงจังหลังจากพุทธศตวรรษที่ 10 นิกายนี้ได้ก่อให้เกิดเวทมนตร์คาถาต่างๆ ขึ้นมากมาย โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้เวทมนตร์คาถาเหล่านั้นเข้าช่วยให้การแสวงหาพระโพธิญาณทำได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นในพุทธศาสนาจึงมีมนตร์ มีมุทระ มีมัณฑละ และเทพเจ้าองค์ใหม่เกิดขึ้นทั้งที่มีในตำราและนอกตำรามากมาย

     และพอหลังจาก พ.ศ.1293 นิกายตันตระนี้ ก็ได้รับการจัดระบบใหม่ขึ้นมา มีชื่อเรียกว่า วัชรยาน ซึ่งก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับคำสอนดั้งเดิมอยู่ในเรื่องพระเจ้า 5 พระองค์ (Five Tathagatas) นิกายย่อยที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษในช่วงนั้นคือ นิกายสหชยาน ซึ่งเน้นหนักไปในทางการทำสมาธิและเจริญวิปัสสนา อีกทั้งสอนโดยใช้ปริศนาปัญหาธรรมและภาพปริศนาต่าง ๆ และหลีกเลี่ยงการใช้ระบบการเรียนการสอนที่กำหนดตายตัว เมื่อถึงพุทธวรรษที่ 15 นิกายกาลจักรก็เกิดขึ้น ซึ่งกาลจักรนี้เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า นิกายนี้ได้ขยายขอบเขตแห่งคำสอนกว้างขวางยิ่งขึ้น และเน้นหนักไปทางโหราศาสตร์ด้วย

    นิกายดังกล่าวนี้เองได้เจริญขึ้นในอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา นักบวชในนิกายนี้ไม่เรียกว่าภิกษุ แต่เรียกว่าสิทธะ (Siddha) หรือผู้วิเศษ ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรนักจากพระโพธิสัตว์ แต่กล่าวกันว่าหลังจากที่สิทธะได้บรรลุถึงภูมิที่ 8 แล้ว ก็จะมีฤทธานุภาพต่างๆ ครบถ้วน2สิทธะเป็นบุคคลที่เป็นแบบฉบับซึ่งจัดว่าเป็นอริยะ

    ต่อมานิกายพุทธตันตระได้แตกแยกสาขาออกไปอีก แบ่งเป็น 2 พวกใหญ่3 คือ พวกวามจารี หรือพุทธตันตระฝ่ายซ้าย พวกนี้ประพฤติเลื่อนเปอนไม่รักษาพรหมจรรย์ มีลักษณะเป็นหมอผีมากขึ้น คือ อยู่ในป่าช้า ใช้กะโหลกหัวผีเป็นบาตร และมีภาษาลับพูดกันเฉพาะพวกเรียกว่า " นธยาภาษา" ถือการเสพกามคุณเป็นการบรรลุวิโมกข์ เกณฑ์ให้พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มี "ศักติ" (Shakti) คือ ชายาคู่บารมี พระพุทธปฏิมาก็มีรูปอุ้มกอดศักติ การบรรลุนิพพานต้องทำให้ธาตุชายธาตุหญิงมาสมานกัน ธาตุชายเป็นอุบาย ธาตุหญิงเป็นปรัชญาเมื่ออุบายรวมกับปรัชญาจึงได้ผลคือนิพพาน

      นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าพระพุทธองค์มีพระกายที่ 4 เรียกว่า วัชรสัตว์ ซึ่งทำเป็นรูปพระพุทธนิรันดรกำลังสวมกอดนางตารามเหสีของพระองค์ในท่าร่วมสังวา (ยับยุม) พระพุทธรูปแบบนี้และปฏิมากรรมที่คล้ายกันนี้ มีในพิพิธภัณฑ์ของประเทศเนปาลมาก และพระในลัทธินี้ต้องทำพิธีเสพเมถุนกับหญิงอยู่เรื่อยๆ เพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธองค์กับนางตาราและยังมีความเชื่อกันอีกด้วยว่า ความเป็นพุทธะตั้งอยู่ในอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงหรือโยนี

      ในขณะที่อีกพวกหนึ่งเรียกว่า พวกทักษิณจารี หรือพุทธตันตระฝ่ายขวา พวกนี้ยังประพฤติธรรมวินัย ถ้าเป็นพระยังรักษาพรหมจรรย์ เข้าใจตีความให้เป็นธรรมโดยกล่าวว่าสัญลักษณ์เหล่านั้น จะถือเอาตรงตัวไม่ได้ เช่น ในคัมภีร์สาธนมาลาของท่านอนังควัชระ ซึ่งเป็นสิทธาจารย์คนหนึ่งในนิกายนี้ ได้กล่าวว่า "สาธุ" (Sadhu) หมายถึง นักบวชควรได้รับการบำเรอจากสตรีเพศ เพื่อให้ได้เสวยมหามธุรา ข้อความเช่นนี้เป็น นธยาภาษา จะต้องไขความว่าตรีเพศในที่นี้ท่านให้หมายเอาปัญญาสาธุเป็นเพศชาย จะต้องสร้างอุบายเพื่อรวมเป็นหนึ่ง (เอกีภาพ) เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ได้พระนิพพาน แต่พวกวามจารีนั้นหาคิดเช่นนั้นไม่ พวกเขาได้ถือเอาตามตัวอักษรเลยทีเดียว ถึงกับสอนว่า ผู้ใดมอบสตรีให้สิทธะจะได้กุศล

     จะเห็นว่า พุทธตันตระสอนให้คนกลับไปสู่กิเลสสอนให้คนเชื่อของขลังและอาคม และสอนให้บำเพ็ญตบะแต่ไม่ต้องทำอย่างลำบากยากเย็นอะไร คือธรรมชาติประสงค์ให้มนุษย์ทำอย่างไรก็ให้อนุโลมทำไปตามนั้น พวกตันตระมีพิธีกรรมเรียก จักรบูชา และทำกันอย่างในลัทธิศักติ คือ ผู้ชายกับผู้หญิงจำนวนเท่าๆ กัน ไปพบกันในที่ลับตาเวลามืดค่ำแล้วนั่งล้อมเป็นวงเข้าเอาเทพีที่เคารพบูชาตั้งกลาง หรือไม่ก็ใช้เครื่องหมายโยนีของหญิงตั้งไว้บูชา บางทีก็ให้หญิงเปลือยกาย หญิงพวกนี้โดยมากเป็นภรรยาของพระ จุดหมายในการทำพิธีนี้ อยู่ที่การบูชาโยนีเป็นสำคัญ ในพิธีมีการเสพสุรา กินปลา กินเนื้อ ข้าวตากกัน แล้วเสพเมถุน การกระทำ 5 อย่าง นี้คือ ดื่มสุรา (มัทยะ) กินเนื้อ (มังสา) กินปลา (มัตสะ) กินข้าว (มุทระ) และเสพเมถุน (เมถุนะ)เรียกว่า ตัตตวะทั้ง 5 (Pancha Tattva) แต่พวกทักษิณจารีตีความ "ม" ทั้ง 5 ว่า ได้แก่ ปัญจขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

    ถ้าว่ากันโดยต้นกำเนิดแล้ว นิกายตันตรยานนี้ได้มีวิวันาการมาจากปฏิกิริยาเพื่อต่อต้านภยันตรายที่คุกคามพุทธศาสนาในอินเดียสมัยนั้น ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ในระยะแรกปรากฏว่าคณาจารย์ชาวพุทธประสบความสำเร็จในการพันสาตันตระล้ำหน้าพวกฮินดูมาก เพราะมนตรยานมีอิทธิพลในทางเข้าเร้าอารมณ์ให้เลื่อมใสง่าย และมีพิธีกรรมอันสวยสดงดงามส่วน หัชยานมีอิทธิพลในด้านการปฏิบัติสมาธิอย่างลึกซึ้ง

   แต่เมื่อเริ่มมีเรื่องเลอะเทอะผิดธรรมวินัยเข้ามาปะปนมากขึ้น และมีการแก้ไขละทิ้งธรรมวินัยดั้งเดิมมากขึ้น พระพุทธศาสนาที่แท้จริงจึงค่อยๆ เสื่อมไป โดยถูกอิทธิพลศาสนาพราหมณ์กลืนไปทีละเล็กละน้อยในรูปของลัทธิตันตรยานนี้เอง หลังจากนั้นมา คณะสงฆ์บางกลุ่มก็ถูกเบี่ยงเบนความคิดด้วยลัทธิตันตระที่พันาถึงขีดสุด จนเชื่อว่าชีวิตทางเพศไปกันได้กับภิกษุภาวะ ทั้งๆ ที่ก่อนนั้นทัศนะเรื่องประพฤติพรหมจรรย์ไม่ข้องเกี่ยวด้วยกามารมณ์ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคงในหมู่คณะสงฆ์ จนเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 จึงมีหลักฐานว่าในแคว้นกัษมิระ มีภิกษุแต่งงาน และตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา นิกายตันตระก็ยอมรับรองการแต่งงานของภิกษุตามหมู่บ้านที่นิกายนี้ขยายออกไป นี่คือ สภาพการพระพุทธศาสนาในอินเดียยุคปลายที่เข้าสู่ภาวะเสื่อม กระทั่งสูญสิ้นไปในเวลาต่อมา


2. พระพุทธศาสนาภายใต้การอุปถัมภ์ของฝ่ายอาณาจักร
    ในบรรดาลัทธิศาสนานิกายต่างๆ ของอินเดียโบราณซึ่งมีอยู่ดาษดื่น จะเห็นว่ามีแต่เพียงสาวกของเชนเท่านั้น ที่ยังหลงเหลือในปัจจุบัน ทั้งที่หลักคำสอนไม่ใคร่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมนัก ทั้งนี้เป็นเพราะว่า บรรดาสาวกของเชนเหล่านั้น มีพวกพ่อค้าที่มีฐานะมั่งคั่งรวมอยู่ด้วยเป็นอันมาก และคอยให้ความอุปถัมภ์แก่นักบวชนั้นอย่างเต็มที่ จึงทำให้อยู่รอดมาได้ เพราะชุมนุมชนของศาสนาเชนตั้งอยู่ท่ามกลางนักบวชกับคฤหัสถ์

      แต่สำหรับพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปอาศัยพระเจ้าแผ่นดินทรงอุปถัมภ์ และที่ใดที่ขาดการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ ที่นั่นพระพุทธศาสนาก็จะประสบความลำบากเสมอ เมื่อผู้ปกครองเฉยเมยต่อดินแดนที่มีพระสงฆ์อยู่ประจำ ไม่ได้ให้การสนับสนุนกันเท่าที่ควร พระสงฆ์ก็ไม่อาจอยู่ในถิ่นนั้นๆ ตามปกติได้ จำต้องละทิ้งที่นั้นไป เพราะไม่อาจปฏิบัติตามวินัยและศาสนกิจตามที่ควรได้ ในขณะที่ศาสนาเชนยืนหยัดอยู่กับถิ่นที่อยู่ของตน ในบั้นปลายทั้งฮินดูและเชนต่างก็ยังรอดมาได้ในดินแดนดั้งเดิมของตน

     ในสมัยพุทธกาล พระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์ผู้ปกครองรัฐต่างๆ เช่น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าจัณฑปัชโชต และพระเจ้าอุเทน ทรงยอมรับพระพุทธศาสนา หลังจากพุทธกาลพระพุทธศาสนาก็ได้ขยายตัวไปตามลำดับ และ200 ปีเศษหลังพุทธกาล พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงไปในอินเดียในยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์โมริยะ พระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ และพระเจ้าหรรษวรรธนะ เป็นต้น กษัตริย์เหล่านี้ทรงส่งเสริมความก้าวหน้าของพระพุทธศาสนาทั้งในอินเดียและในต่างประเทศ

      โดยเฉพาะพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์เป็นคนแรกที่ทำให้พระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาของโลก ทรงแผ่ขยายพระศาสนาไปจนทั่วทุกทิศของอินเดีย และนำไปยังลังกากัษมิระ และคันธาระ ทั้งยังส่งสมณทูตไปยังกษัตริยกรีกในสมัยของพระองค์อีกด้วย

      ภายหลังจากที่พระเจ้าอโศกมหาราชสวรรคตไปแล้ว 50 ปี ราชวงศ์โมรยะของพระองค์ก็ล่มสลาย พระพุทธศาสนาจึงตกอยู่ใน ภาพไร้กษัตริย์อุปถัมภ์ และกลับมาสู่ยุคทองอีกครั้งในปี พ.ศ.621 ซึ่งตรงกับสมัยของพระเจ้ากนิษกะ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.700 ราชวงศ์กุษาณะของพระเจ้ากนิษกะหมดอำนาจในการปกครองอินเดีย กงล้อแห่งพระพุทธศาสนาจึงหมุนกลับมาสู่สภาพไร้ราชูปถัมภ์อีกครั้ง เมื่อราชวงศ์คุปตะมีอำนาจปกครองแคว้นมคธ กษัตริย์ราชวงศ์นี้นับถือศาสนาพราหมณ์ กระทั่งมาถึงยุคของกษัตริย์ผู้จงรักภักดีและเปียมด้วยศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาองค์สุดท้ายคือ พระเจ้าหรรษวรรธนะ ทรงครองราชสมบัติเมื่อราวปี พ.ศ.1100 พระเจ้าหรรษวรรธนะแผ่อำนาจครองแผ่นดินภาคเหนือทั้งหมด พระองค์เสด็จสวรรคตในราวปี พ.ศ.1190 จากนั้นเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาจึงโดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางศัตรูคู่แค้น คือศาสนาฮินดู ตกอยู่ในภาวะไร้ราชูปถัมภ์ ไม่มีผู้ปกป้องผองภัย เมื่อพระพุทธศาสนาสูญสิ้นราชูปถัมภ์กษัตริย์ต่างศาสนาจึงใช้อำนาจมหาศาลที่ตนมีอยู่เข้าทำลายล้างผลาญโดยไม่ยั้งมือ

     ความรุ่งเรืองและอับเฉาของพระพุทธศาสนาในอินเดีย ขึ้นอยู่กับว่าในยุคใดสมัยใดกษัตริย์ให้ความอุปถัมภ์สนับสนุน ยุคนั้นสมัยนั้นพระพุทธศาสนาก็จะเจริญรุ่งเรือง แต่ยุคใดเป็นไปในทำนองตรงกันข้าม คือหากขาดความอุปการะจากผู้ทรงอำนาจในแผ่นดิน ยุคนั้นพระพุทธศาสนาก็จะประสบกับภาวะซบเซา

 


*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0079016804695129 Mins