สาเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมจากอินเดีย

วันที่ 20 เมย. พ.ศ.2560

สาเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมจากอินเดีย

สาเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมจากอินเดีย, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

   ทั้งที่พระพุทธศาสนาถือกำเนิดในประเทศอินเดีย แต่ต่อมาในขณะที่พระพุทธศาสนาแผ่ขยายและเจริญรุ่งเรืองไปในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก พระพุทธศาสนาในอินเดียเองกลับเสื่อมลงจนในยุคหนึ่งกล่าวได้ว่าแทบไม่มีชาวพุทธหลงเหลืออยู่เลย ที่เป็นเช่นนี้น่าจะมาจาก 2 สาเหตุหลักดังต่อไปนี้

1.สาเหตุภายใน
     พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้นำ โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง ในแง่การปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่นิพพานนั้น พระภิกษุสงฆ์คือผู้ที่สละโลก ตั้งใจปฏิบัติธรรมขัดเกลากิเลสถือเป็นแบบอย่างของชาวพุทธโดยทั่วไป และในแง่การเผยแผ่ศาสนา พระภิกษุสงฆ์ก็อยู่ในฐานะของครูผู้สอน โดยสาธุชนทั่วไปเป็นผู้รับฟังคำสอนแล้วนำไปปฏิบัติ และทำบุญให้การสนับสนุนในการดำรงชีพและการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์

      ในระยะแรกพระภิกษุสงฆ์ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ปฏิบัติตนเป็นผู้นำ เป็นแบบอย่างแก่พระภิกษุสงฆ์อื่นในการเผยแผ่พระศาสนา พระภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ต่างมีความศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นแฟ้น เป้าหมายการบวชในสมัยนั้นคือบวชเพื่อมุ่งพระนิพพานกันจริงๆ ให้ความสำคัญทั้งการศึกษาพระปริยัติธรรมและการปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เผยแผ่สั่งสอนประชาชนให้ปฏิบัติตามต่อไปพระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว

       ต่อมาผู้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มีจำนวนน้อยลง ในหมู่พระภิกษุสงฆ์ก็มีทั้งผู้ที่มีใจรัก มีความเชี่ยวชาญทางด้านพระปริยัติธรรมและผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านธรรมปฏิบัติ แต่เนื่องจากการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นสิ่งที่สามารถวัดความรู้ได้สามารถจัดการศึกษาเป็นระบบและให้วุฒิการศึกษาได้ ในขณะที่ธรรมปฏิบัติเป็นสิ่งที่รู้เฉพาะตน เป็นของละเอียด วัดได้ยาก และเนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมปฏิบัติ มักมีใจโน้มเอียงไปในทางแสวงหาความสงบสงัด มักไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ เมื่อเป็นเช่นนี้ หลังจากเวลาผ่านไปพระภิกษุสงฆ์ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพระปริยัติธรรมจึงขึ้นมาเป็นผู้บริหารคณะสงฆ์ไปโดยปริยาย

       เมื่อผู้บริหารการคณะสงฆ์เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านปริยัติธรรม ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่การส่งเสริมการศึกษาของสงฆ์จะเน้นหนักในด้านพระปริยัติธรรมเป็นหลักเพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยและชำนาญ แม้จะเห็นความสำคัญของธรรมปฏิบัติ แต่เมื่อตนไม่คุ้นเคย ไม่มีความชำนาญการสนับสนุนก็ทำได้ในขอบเขตหนึ่งเท่านั้น พระภิกษุสงฆ์รุ่นใหม่ๆ จึงมักได้รับการฝึกอบรมในด้านพระปริยัติธรรมเป็นหลักส่วนธรรมปฏิบัติก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง

      การศึกษาพระปริยัติธรรมในยุคแรกๆ ก็ศึกษาเพื่อเน้นให้เข้าใจในพุทธพจน์คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำมาใช้ในการประพฤติปฏิบัติ แต่ต่อมาเมื่อศึกษามากเข้าๆ ก็มีพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นนักคิด นักทฤษฎีจำนวนหนึ่ง ทนการท้าทายจากนักคิดนักปรัชญาของศาสนาอื่นๆ ไม่ได้ เมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องอภิปรัชญา เช่น โลกนี้โลกหน้าว่ามีจริงหรือไม่จิตมีการรับรู้ได้อย่างไร โลกเป็นอยู่อย่างไร มีจริงหรือไม่ เป็นต้น จึงพยายามหาเหตุผลทางทฤษฎีตามแนวคิดในทางพระพุทธศาสนาและใช้การให้เหตุผลทางตรรกศาสตร์มาอธิบายปัญหาเหล่านี้ทั้งๆ ที่คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ เพราะถือว่าไม่เกิดประโยชน์มีแต่จะเป็นเหตุให้ถกเถียงทะเลาะเบาะแว้งกัน ทรงอบรมสั่งสอนแต่ในสิ่งที่นำไปสู่การขัดเกลากิเลส มุ่งสู่พระนิพพาน ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นแล้วผู้ปฏิบัติก็ย่อมจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้เอง

      หลักธรรมในพระพุทธศาสนา เมื่อปฏิบัติจนเข้าถึงแล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นตรงกัน เป็นภาวนามยปัญญา (ความรู้แจ้งที่เกิดจากความเห็นแจ้ง) แต่เมื่อพยายามพิสูจน์ด้วยความคิดทางตรรกศาสตร์ ด้วยจินตมยปัญญา (ความรู้คิด) ไม่ได้รู้แจ้งด้วยตนเองเพราะไม่เห็นแจ้งย่อมมีความคิดแตกต่างหลากหลาย ผลก็คือนักทฤษฎีของพระพุทธศาสนาเองก็มีความเห็นไม่ตรงกัน ทะเลาะถกเถียงกันเอง เกิดเป็นแนวคิดของสำนักต่างๆ และแตกตัวเป็นนิกายต่างๆ ในที่สุด มีนักทฤษฎีในพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น นาคารชุน อสังคะ วสุพันธุ ทิคนาคะ ภาววิเวก ธรรมกีรติ ศานตรักษิตะ เป็นต้น

      แนวคิดของพระนักทฤษฎีเหล่านี้มีความลึกซึ้งมาก จนแม้นักวิชาการทางตะวันตกปัจจุบันมาเห็นเข้ายังตื่นตะลึง แต่ผลที่เกิดก็คือ เกิดความขัดแย้งแตกแยกในหมู่ชาวพุทธ และพระพุทธศาสนาได้กลายเป็นศาสนาที่มีหลักคำสอน ลับซับซ้อน จนชาวบ้านฟังไม่เข้าใจ ประหนึ่งว่าพระพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาของพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น แต่ก็มีพระภิกษุสงฆ์เพียงจำนวนน้อยที่รู้เรื่อง และก็ยังคิดเห็นไม่ตรงกันอีกส่วนชาวพุทธทั่วไปกลายเป็นชาวพุทธแต่ในนามไปวัดทำบุญตามเทศกาลตามประเพณีเท่านั้น

      ขณะเดียวกัน ก็มีพระภิกษุสงฆ์อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากกว่า ได้หันไปปฏิบัติตามใจชาวบ้าน ซึ่งต้องการพึ่งพาอำนาจลึกลับและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการเล่นเครื่องรางของขลังเวทมนตร์คาถาต่างๆ วัตรปฏิบัติย่อหย่อนลง จนถึงจุดหนึ่งเกิดเป็นนิกายตันตระ ซึ่งเลยเถิดไปถึงขนาดถือว่า การเสพกามเป็นหนทางสู่การตรัสรู้ธรรม การดื่มสุราเป็นสิ่งดี เป็นต้น

      เมื่อเกิดความแตกแยกภายในพระพุทธศาสนา ทั้งในเรื่องของแนวคิดทฤษฎีที่ทะเลาะเบาะแว้งกันไม่จบสิ้น จนถึงการแตกเป็นกลุ่มเวทมนตร์คาถาซึ่งฉีกแนวทางไปอย่างสุดโต่งในขณะที่ธรรมปฏิบัติอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนากลับถูกละเลยไป พระพุทธศาสนาในอินเดียจึงอ่อนแอลง


2. สาเหตุภายนอก
      ในอินเดีย นอกจากพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังมีศาสนาอื่นๆ อีกมาก โดยศาสนาพราหมณ์มีอิทธิพลมากที่สุด เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้น คนหันมานับถือมากศาสนาพราหมณ์ก็ลดบทบาทลง ผู้นำของศาสนาพราหมณ์ก็พยายามหาทางดึงศาสนิกกลับคืนอยู่ตลอดเวลา โดยการโจมตีพระพุทธศาสนาบ้าง พยายามหยิบยกเอาคำสอนของพระพุทธศาสนาไปดัดแปลงเป็นคำสอนของตนบ้าง ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเทพเจ้าที่นับถืออยู่บ้าง จนที่สุดได้กลายเป็นศาสนาฮินดูดังตำราเรียนเรื่องศาสนา เมื่อกล่าวถึงศาสนาฮินดู ก็มักจะมีคำว่าพราหมณ์ควบคู่กันไปเสมอ

      เมื่อถึงเวลาที่พระพุทธศาสนาเสื่อมลงเนื่องจากความแตกแยกภายในแล้ว ก็ได้มีการเปลี่ยนวิธีการ จากการโจมตีพระพุทธศาสนา มาเป็นการผสมกลมกลืน โดยมีปราชญ์ใหญ่ชื่อศังกระ (ประมาณปี พ.ศ.1280) เป็นผู้นำในการปฏิรูปศาสนาฮินดู มีการเลียนแบบวัดในพระพุทธศาสนาสร้างที่พักนักบวชในศาสนาฮินดูเรียกว่า สมถะ เป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่ศาสนาฮินดูขึ้นเป็นครั้งแรก ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนเนืองๆ อีกมากมาย ถึงขนาดมีการปรับคำสอนบอกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือองค์อวตารปางที่ 9 ของพระวิษณุ3 แล้วนับเอาผู้ที่เคารพนับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าเป็นชาวินดูทั้งหมด

      ทางด้านของพระพุทธศาสนาเอง เมื่อมีปัญหาความแตกแยกภายในประกอบกับชาวพุทธโดยทั่วไปไม่มีความรู้ในพระธรรมอย่างถ่องแท้ เมื่อพบกับยุทธวิธีของศาสนาฮินดูเข้าเช่นนี้ ชาวพุทธก็ยิ่งสับสน แยกไม่ออกระหว่างพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น ทั้งที่เป็นชาวพุทธก็เคารพนับถือกราบไหว้พระพรหม เทพเจ้า เจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ด้วย พระภิกษุสงฆ์เองบางส่วนก็หันไปเอาใจชาวบ้าน เห็นเขานับถือเทพเจ้า เจ้าแม่ต่างๆ ก็เอารูปปันของเทพเหล่านั้นมาไว้ในวัด ให้ชาวบ้านกราบไหว้บูชา ที่สุดชาวบ้านจึงแยกไม่ออก คิดว่าพระพุทธศาสนากับศาสนาฮินดูคือสิ่งเดียวกัน ชาวพุทธแต่เดิมก็กลายเป็นชาวินดูไปค่อนตัว

      และต่อมาเมื่อเจอเหตุกระทบครั้งใหญ่คือ ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.1600 กองทัพมุสลิมบุกเข้ายึดอินเดียไล่มาจากทางตอนเหนือและประกาศทำลายพระพุทธศาสนา พวกมุสลิมภายใต้การนำของกุทบุดดิน นายพลของสุลต่านโมฮัมเหม็ดโมฆี เข้ามารุกรานอินเดียจากทิศเหนือลงมาทิศใต้ เมื่อพบปูชนียสถานโบราณวัตถุของศาสนาอื่นในที่ใด ก็ใช้อาวุธเป็นเครื่องทำลายล้างวัตถุนั้นๆ โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญสังฆารามของพระพุทธศาสนาและไม่เว้นแม้เทวาลัยของพราหมณ์ก็ถูกทำลายลงในคราวนั้นเป็นอันมาก

     กองทัพมุสลิมมีอคติเป็นพิเศษต่อพระภิกษุผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา กองทัพมุสลิมจึงพากันเผาวัดทุกวัดในพระพุทธศาสนาราบเป็นหน้ากลอง ฆ่าพระภิกษุทุกรูปที่อยู่ในวัดนั้นๆ จนเลือดแดงฉานนองแผ่นดิน ทั้งมีการให้รางวัลแก่ผู้ที่ตัดศีรษะพระภิกษุสงฆ์มาส่งให้ พระภิกษุสงฆ์จึงต้องสึก มิฉะนั้นก็ต้องอพยพหลบหนีไป

     สถูปเจดีย์จำนวนมหาศาลถูกทำลาย ถูกปล้นสดมภ์ และปล่อยให้รกร้างไป บ้างก็ถูกขโมยอิฐไปสร้างบ้าน ไปทำถนน กองเถ้าถ่าน ซากพระพุทธปฏิมาที่ถูกไฟเผา โครงกระดูกนับไม่ถ้วน เหล็ก ไม้ หินสุมเป็นกองใหญ่สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดหลงเหลือให้นักโบราณคดีเห็นเป็นประจักษ์พยาน มิใช่การเผาทำลายครั้งเดียว แต่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ใช่แต่เพียงมุสลิมเท่านั้นที่ทำลายล้างพระพุทธศาสนา ในเวลาเดียวกัน ศาสนิกและพวกโยคีของินดู ก็ฉวยโอกาสนี้ซ้ำเติมให้หนักขึ้นไปอีก ทั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะว่าพระพุทธศาสนาได้เคยเป็นคู่แข่งสำคัญที่ต่อสู้ขับเคี่ยวกับศาสนาฮินดูมาแต่ต้น การทำลายล้างยังไม่หยุดยั้ง บริเวณที่ถูกทำลายมากที่สุดคือแคว้นอุตตรประเทศ และแคว้นพิหารอันเป็นแหล่งใหญ่ของพุทธศาสนา พวกมุสลิมพากันเข้าใจผิดว่ามหาวิทยาลัยนาลันทาคือป้อมปราการของชาวพุทธจึงได้เข่นฆ่าพระภิกษุทุกรูปในวัด โดยการคิดว่าพระภิกษุเหล่านั้นคือทหาร มีพระภิกษุจำนวนน้อยมากที่รอดพ้นจากกองทัพมุสลิม พระพุทธศาสนาซึ่งขณะนั้นมีเพียงพระภิกษุสงฆ์จำนวนน้อยที่รู้จริงในคำสอนของพระพุทธศาสนาส่วนชาวพุทธทั่วไปนั้นขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ดังนั้นเมื่อพระภิกษุสงฆ์หมด พระพุทธศาสนาก็หมดจากประเทศอินเดียในที่สุด

      ไม่น่าเชื่อว่าพระพุทธศาสนาที่เคยรุ่งเรืองถึงขีดสูงสุด เมื่อกาลผ่านพ้นไป ก็ค่อยๆ ริบหรี่ลงด้วยแรงปะทะของศาสนาฮินดู ท้ายสุดเมื่อเข้าสู่ยุคมืด ก็ต้องมีอันปิดฉากลงด้วยกองทัพมุสลิมคลั่งศาสนา เหตุการณ์นี้นับเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้พุทธศาสนิกชนเจ็บปวดมากที่สุด

     บทเรียนที่เกิดขึ้นในอินเดียดังกล่าว เราอาจสรุปได้ว่า ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาจะต้องประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญคือ ชาวพุทธต้องเป็นชาวพุทธที่แท้จริง มีความรู้ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง โดยต้องศึกษาทั้งปริยัติและปฏิบัติเพื่อให้เกิดปฏิเวธ คือผลของการปฏิบัติ นำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตจริง และปัจจัยที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ ชาวพุทธจะต้องมีความสามัคคีกัน เว้นจากการให้ร้ายกันพระพุทธศาสนาจึงจะมั่นคงอยู่ได้อย่างแท้จริง

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0016344984372457 Mins