พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก ประเทศเกาหลี

วันที่ 21 เมย. พ.ศ.2560

พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก
ประเทศเกาหลี

พระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออก, DOU, ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา, พระพุทธศาสนา, ความรู้พระพุทธศาสนา, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, ประเทศเกาหลี

    หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ในปี พ.ศ.2491 คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือ เกาหลีเหนือปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และเกาหลีใต้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยเกาหลีเหนือ (North Korea) มีชื่อเป็นทางการว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (Democrstic Peoples Republic of Korea : DPRK) มีเมืองหลวงชื่อ เปียงยาง และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด เกาหลีเหนือมีประชากรประมาณ 23,113,019 คน (พ.ศ.2549)ส่วนใหญ่ไม่มีศาสนา เพราะระบอบคอมมิวนิสต์ไม่สนับสนุนศาสนา มีพุทธศาสนิกชนนิกายเซนอยู่เพียง 400,000 คน (1.67%) ลดลงจากเดิม 23.33% วัดมีอยู่ 300 วัด และมีคริสต์ศาสนิกชนประมาณ 12,000 คน (0.05%)

    เกาหลีใต้ (South Korea) มีชื่อเป็นทางการว่าสาธารณรัฐเกาหลี (Republic of Korea) มีเมืองหลวงชื่อ โซล และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุด เกาหลีใต้มีประชากรประมาณ 47,817,000 คน นับถือศาสนาพุทธมหายานประมาณ 25% นับถือศาสนาคริสต์ 25 นับถือศาสนาขงจื้ออีก 2% และมีกลุ่มที่ไม่เชื่อในพระเจ้าอีก 30-52% (Nonbeliever in God) หรือประมาณ 14,579,40025,270,960 คน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีภิกษุณีอยู่จำนวนมาก ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10,000 รูป พระพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศเกาหลีเมื่อปี พ.ศ.915 โดยพระธรรมทูตซุนเตา ท่านนำนิกายมหายานจากจีนมาสู่อาณาจักรโกกุเรียวคือเกาหลีในปัจจุบัน

      สมัยก่อนเกาหลีประกอบด้วย 3 อาณาจักรคือ โกกุเรียว ปึกเจ และซิลลา ซึ่งปกครองคาบสมุทรเกาหลีและบางส่วนของแมนจูเรีย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ผู้นำทั้ง 3 อาณาจักรยกพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ต่อมาอาณาจักรซิลลาสามารถรวมแคว้นทั้งสามให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ในปี พ.ศ.1200 ทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่นมั่นคงรัฐบาลให้การอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก 1,600 หน้า ด้วยตัวพิมพ์ไม้แกะ และจารึกพระคัมภีร์เป็นจำนวน 50,000 กว่าเล่ม ยุคนี้พระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองมาก

      อาณาจักรซิลลาปกครองเกาหลีอยู่ได้ 278 ปี ก็พ่ายแพ้แก่อาณาจักรโกกุเรียวในปี พ.ศ.1478 ราชวงศ์นี้ก็มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะนิมนต์พระภิกษุหนึ่งรูปเป็นที่ปรึกษา ยุคนี้มีการสร้างวัดวาอารามจำนวนมาก และมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้นคือ ครอบครัวเกาหลีที่มีลูกชาย 4 คน ต้องให้บวชเป็นพระ 1 คน

    เนื่องจากพระเกาหลีบวชในนิกายมหายานเมื่อบวชแล้วก็จะมีกิจกรรมสงฆ์ที่แตกต่างจากนิกายเถรวาท เช่น ต้องทำนา ทำกิมจิ เก็บผลไม้ เป็นต้น การทำนานั้นจะทำเป็นกลุ่มใหญ่ในปลายเดือนมิถุนายน โดยขณะดำนาพระภิกษุจะพับขากางเกงถอดเสื้อคลุมออกแล้วเข้าแถวดำนา มีพระสองรูปถือเชือกยาวเพื่อจัดแถวให้ตรงส่วนการทำกิมจินั้นคือการทำผักดองจากกะหล่ำและหัวไชเท้าเพื่อเตรียมไว้ฉันในฤดูหนาว และยังมีการเก็บผลไม้ เช่น เกาลัด ผลต้นสน และลูกพลับสุกสำหรับฉันในฤดูหนาว

     พระเกาหลีจะนิยมบำเพ็ญทุกรกิริยาคล้ายกับสมัยที่พระสิทธัตถโพธิสัตว์ออกบวชใหม่ๆ เช่น อดอาหาร ฉันอาหารดิบ ไม่เอนหลังนอน ไม่พูด เผานิ้วตัวเอง และมีการปลีกวิเวกไปอยู่ในหุบเขาโดยไม่ปลงผม หนวด และเครา

     การห้ามภัตรหรือการอดอาหาร เป็นที่นิยมกันมากในเกาหลี ใช้เวลาประมาณ 3 วัน ถึง 2 อาทิตย์ เพราะเชื่อว่าเป็นการรักษาโรคเรื้อรังได้ทุกชนิดส่วนการเผานิ้วมือตัวเอง ทำเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางรูปก็ทำเพื่อความมั่นคงในการบวช บ้างก็ทำเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร แต่บางรูปทำเพื่อความมีชื่อเสียงต้องการให้ฆราวา เคารพนับถือยิ่งขึ้น

    ในปี พ.ศ.19352453 พระพุทธศาสนาในเกาหลีเข้าถึงยุคเสื่อม เนื่องจากราชวงศ์โซซอนขึ้นมามีอำนาจ และเชิดชูลัทธิขงจื้อให้เป็นศาสนาประจำชาติ มีคำสั่งห้ามบวชพระพระสงฆ์จึงหนีออกไปอยู่อย่างสงบตามชนบทและป่าเขา

   เกาหลีตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2453 ญี่ปุ่นส่งเสริมให้พระสงฆ์มีครอบครัวได้ และสนับสนุนให้ดำรงชีวิตเหมือนฆราวา ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นต้องการทำลายวัฒนธรรมของเกาหลีซึ่งถูกหล่อหลอมขึ้นจากคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนา หากสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพระภิกษุได้ ก็จะทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ด้วย

    พระเกาหลีมีครอบครัว เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการมีครอบครัว พระสงฆ์เกาหลีจำนวนมากจึงเริ่มมีครอบครัวอย่างเงียบๆ เพราะช่วงแรกๆ ยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และก่อนหน้านี้เคยมีผู้นำเสนอขอให้พระมีครอบครัวมาก่อนแล้วแต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ในปี พ.ศ.2422 พระชาวเกาหลีชื่อสันยองกัน ได้ยื่นฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นและคณะผู้บริหารฝ่ายสงฆ์ เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกข้อห้ามภิกษุภิกษุณีมีครอบครัว โดยมีเหตุผลดังนี้

     1) ถ้าไม่อนุญาตให้พระภิกษุมีครอบครัว ก็จะมีพระลาสิกขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าอนุญาต พระก็จะอยู่ในสมณเพศต่อไปได้สามารถมีทายาทสืบพระพุทธศาสนาเพื่อแข่งขันกับศาสนาอื่นได้ และในปัจจุบันพระที่มีครอบครัวโดยไม่เปิดเผยก็มีอยู่แล้ว จึงก่อให้เกิดความละอายโดยไม่จำเป็น

     2) พระฮันยองกันอ้างว่า หลักคำสอนในศาสนาพุทธถือว่า การถือเพศพรหมจรรย์หรือไม่ถือพรหมจรรย์ไม่ได้แตกต่างกันเลย การไม่ถือพรหมจรรย์นั้นจะทำให้พระภิกษุมีประสบการณ์ชีวิตในทางโลกเพิ่มขึ้น

    ข้อเสนอนี้รัฐบาลไม่ได้อนุมัติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกระแสต่อต้านมีมากกว่า แต่ในที่สุดเดือนตุลาคม พ.ศ.2469 ภาสงฆ์แห่งเกาหลีภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบให้พระเกาหลีมีครอบครัวได้ ผลการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความแตกแยกระหว่างพระภิกษุที่ถือพรหมจรรย์กับพระภิกษุที่มีครอบครัว

     อย่างไรก็ตามพระที่มีครอบครัวต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างมากเนื่องจากต้องมีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว ต้องทำงานแบบฆราวาส จึงไม่มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัย ไม่มีเวลาฝึกสมาธิ และเผยแผ่คำสอนพระพุทธศาสนา ที่สำคัญที่สุดอันเป็นความประสงค์ของญี่ปุ่นคือ ไม่มีเวลาปลุกระดมมวลชนต่อต้านญี่ปุ่น จึงทำให้ปกครองง่าย

     ในปี พ.ศ.2488 ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกาเข้ายึดเกาหลีจากญี่ปุ่น และแบ่งประเทศออกเป็น 2 ส่วน คือ เกาหลีเหนือ (North Korea) และเกาหลีใต้ (South Korea)

      เมื่อเกาหลีพ้นจากการปกครองของญี่ปุ่นแล้ว ชาวพุทธโดยเฉพาะพระสงฆ์ในเกาหลีใต้ได้เคลื่อนไหว มีการประชุมใหญ่แล้วลงมติให้รัฐบาลยกเลิกข้อบังคับต่างๆ ที่ขัดแย้งกับหลักพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งให้คณะสงฆ์ปกครองตนเอง โดยมีสำนักงานอยู่ในนครหลวงและจังหวัดต่างๆ มีการประชุมเพื่อตราธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์ขึ้นในปี พ.ศ.2489 ส่วนเกาหลีเหนือนั้นปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่สนับสนุนศาสนาใดๆ จึงไม่มีความเคลื่อนไหวทางศาสนามากนัก

      ผลจากการเคลื่อนไหวให้มีการยกเลิกกฎต่างๆ เช่น การอนุญาตให้พระมีครอบครัว เป็นต้น ทำให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างพระที่ประพฤติพรหมจรรย์กับพระที่มีครอบครัว ในที่สุดในปี พ.ศ.2505 คณะสงฆ์เกาหลีจึงแตกออกเป็น 2 นิกาย คือ นิกายโชกายและนิกายแตโก ซึ่งนิกายโชกายคือพระที่ถือพรหมจรรย์ส่วนนิกายแตโกคือพระที่มีครอบครัวนิกายโชกายนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและศาลสูงตัดสินให้มีสิทธิปกครองทุกวัดในประเทศรวมทั้งนิกายแตโกด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถยังข้อขัดแย้งให้สงบลงได้

 ปัจจุบันพระพุทธศาสนาในเกาหลีเป็นนิกายเซนผสมกับความเชื่อในพระอมิตาภพุทธเจ้าและพระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระสงฆ์มีความคิดก้าวหน้าทันเหตุการณ์ ตื่นตัวที่จะปรับปรุงตนให้ทันโลกอยู่เสมอ การพัฒนาพระสงฆ์เน้นไปที่การศึกษาซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของรัฐบาล ชาวเกาหลีมีสถิติอ่านออกเขียนได้ถึง 95% ข้อมูลในปี พ.ศ.2526 ระบุว่ามีพุทธศาสนิกชนอยู่ 11,130,288 คน ฝ่ายหญิง 7,160,704 คน ฝ่ายชาย 3,969,584 คน มีวัดที่ลงทะเบียน 3,163 วัด และไม่ลงทะเบียนอีก 4,090 วัด มีพระภิกษุจำนวน 14,206 รูป และภิกษุณี 6,549 รูปส่วนมากเป็นนิกายโชกาย คือนักบวชที่ประพฤติพรหมจรรย์

     เกาหลีใต้มีมหาวิทยาลัยพระพุทธศา นาอันเก่าแก่คือ ดงกุกสร้างในปี พ.ศ.2449 ประกอบด้วยวิทยาลัย 9 แห่ง และบัณฑิตวิทยาลัย 4 แห่ง มีนักศึกษาชายหญิงประมาณ 15,000คน มีหลักสูตรอบรมพิเศษสำหรับภิกษุและภิกษุณี มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีโครงการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับเกาหลีในปี พ.ศ.2507 โดยการนำของคณะสงฆ์ มีคณะกรรมการแปล 65 คน ออกตีพิมพ์เดือนละ 1 เล่ม จนกว่าจะครบ 240 เล่ม ระยะเวลาดำเนินโครงการ 45 ปี นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับภิกษุ ภิกษุณีสามเณร และสามเณรีด้วย โดยเปิดโอกาสให้ฆราวาส เข้าเรียนร่วมกับนักบวชได้

     คณะสงฆ์เกาหลีใต้ยังมีสถานศึกษาฝ่ายสามัญระดับต่างๆ ด้วย เปิดรับนักเรียนชาย หญิงทั่วไป มีคฤหัสถ์เป็นผู้บริหาร แต่อยู่ในความควบคุมของคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยแบ่งประเภทของสถาบันได้ดังนี้

มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย 3 แห่ง
โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 11 แห่ง
โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 16 แห่ง
โรงเรียนประถมศึกษา 3 แห่ง
โรงเรียนอนุบาล 7 แห่ง

     สำหรับภิกษุณีในเกาหลีใต้นั้น เป็นผู้มีความรู้ความสามารถปฏิบัติศาสนกิจเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระภิกษุได้เป็นอย่างดี ผู้หญิงเกาหลีนิยมบวชเป็นภิกษุณีตั้งแต่อายุ 2040 ปี โดยบวชเป็นสามเณรีถือศีล 10 อยู่ 2 ปี แล้วเรียนในมหาวิทยาลัยหลักสูตร 35 ปี จากนั้นจึงบวชเป็นภิกษุณี ถือศีล 368 ข้อ การปกครองภิกษุณีนั้นขึ้นต่อองค์การการปกครองคณะสงฆ์ทั้งหมด จึงทำให้สงฆ์สองฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในแต่ละวัดจะมีภิกษุณีเป็นเจ้าอาวาส

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 405 ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0063767830530802 Mins