เป้าหมายชีวิตของมนุษย์

วันที่ 09 พค. พ.ศ.2560

เป้าหมายชีวิตของมนุษย์

GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , พระไตรปิฎก , เป้าหมายชีวิต

         เป้าหมายชีวิตของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นมีอยู่ 3 ระดับ คือ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์สัมปรายิกัตถประโยชน์ และปรมัตถประโยชน์ โดยทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ หมายถึง เป้าหมายชีวิตในชาตินี้ หรือ เป้าหมายชีวิตในระดับต้นสัมปรายิกัตถประโยชน์ หมายถึง เป้าหมายชีวิตในชาติหน้า หรือ เป้าหมายชีวิตในระดับกลาง ส่วนปรมัตถประโยชน์ หมายถึง เป้าหมายชีวิตในภพชาติสุดท้าย หรือ เป้าหมายชีวิตในระดับสูงสุด

1.) เป้าหมายชีวิตระดับต้น
      คือ การสร้างตัวสร้างฐานะให้มั่นคงได้ในชาตินี้ ความสำคัญของการสร้างตัวอยู่ตรงที่มีคุณสมบัติของผู้ครองเรือนที่ดี และการสร้างฐานะอยู่ที่การมีอาชีพการงานมั่นคงสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม จะเป็นอาชีพอะไรก็ตามความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจแพทย์ ครู พ่อค้า ชาวนา ชาวไร่ เมื่อตั้งเป้าหมายชีวิตแล้ว ก็มุ่งมั่นฝึกฝนตนเองสร้างตัวสร้างฐานะให้บรรลุเป้าหมายชีวิตระดับต้นให้ได้ โดยมีหลักการว่า "ต้องสร้างตัวสร้างฐานะไปพร้อมกับการสร้างศีลธรรมในตน" เพื่อให้เส้นทางชีวิตในชาตินี้ของตน ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร และยังทำประโยชน์ใหญ่ให้แก่ผู้อื่นที่ยังลืมตาอ้าปากไม่ได้ในสังคมอีกด้วย

2.) เป้าหมายชีวิตระดับกลาง
         คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์ในชาติหน้าว่า นอกจากจะพยายามตั้งฐานะของตนให้ได้แล้ว ก็จะตั้งใจสร้างบุญกุศลอย่างเต็มที่ในทุกๆ โอกาสที่อำนวยให้ เพื่อสะสมเป็นทุนเป็นเสบียงในภพชาติต่อไป เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วไม่สูญ ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ยังต้องเกิดใหม่เรื่อยๆ ต่อไปอีก และขุมทรัพย์อย่างเดียวที่คนเราจะนำติดตัวไปสร้างความเจริญในภพชาติใหม่ได้ ก็คือ "บุญ" เท่านั้น แต่เพราะบางคนขาดความเข้าใจความจริงในเรื่องนี้ จึงคิดแต่จะหาประโยชน์เฉพาะในชาตินี้ โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ในชาติหน้า ตั้งใจเพียงสร้างฐานะได้เท่านั้น ไม่สนใจสร้างบุญสร้างกุศล ชีวิตจะมีคุณค่าสักเพียงใด หากพิจารณาดูให้ดีก็ไม่ต่างไปจากนกกา ที่โตขึ้นมาก็ทำมาหากินเลี้ยงตัว แล้วก็แก่เฒ่าตายไปเหมือนกัน แต่ชีวิตของคนมีร่างกายที่เหมาะกับการสั่งสมคุณความดีมากที่สุด เมื่อสามารถสร้างตัวสร้างฐานะได้แล้ว ต้องคิดที่จะสร้างคุณค่าให้กับชีวิต ด้วยการตั้งใจสั่งสมความดีทุกรูปแบบ เพื่อเป็นเสบียงในการเดินทางข้ามภพข้ามชาติ และเป็นปัจจัยในการบรรลุเป้าหมายชีวิตขั้นสูงสุด จึงจะคุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย

3.) เป้าหมายชีวิตในระดับสูงสุด
       คือ การตั้งเป้าหมายชีวิตเพื่อประโยชน์อย่างยิ่ง ได้แก่ การตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อปราบกิเลสให้หมดสิ้น แล้วเข้าพระนิพพานตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ทุกชีวิตเมื่อยังไม่หมดกิเลสก็ยังต้องประสบทุกข์ ต้องเจอกับปัญหาความยากจน ความเจ็บ ความโง่ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ตามกรรมที่ได้กระทำไว้ หากดำเนินชีวิตผิดพลาดก็จะประสบทุกข์มาก แต่หากรู้วิธีดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง มีเป้าหมายชีวิต เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์แล้ว ก็จะหมดทุกข์ตามท่านไป

       การจะหมดทุกข์ได้ต้องมีความเพียร หมั่นฝึกฝนอบรมตนเองอย่างยิ่งยวดนับภพนับชาติไม่ถ้วน เรียกว่า การสร้างบารมี 10 ทัศ คือ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมีสัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี อันเป็นหลักสูตรสากลของผู้ฝึกตนเพื่อมุ่งหลุดพ้นจากวัฏสงสารที่เรียกว่า "นักสร้างบารมี" ดังเช่นพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น

     ผู้ที่มีเป้าหมายสูงสุดเช่นนี้ ในระหว่างที่ฝึกตนเพื่อบำเพ็ญบารมีอยู่นี้ ย่อมต้องต่อสู้ฟันฝ่ากับอุปสรรคมากมายคือ "กิเลสตน" "กิเลสคนอื่น" และ "วิบากกรรมชั่ว" ที่ตนเคยทำผิดพลาดไว้ในอดีตไปตลอดเส้นทาง จนกว่ากิเลสจะหมดสิ้น วิบากกรรมจะมลายสูญ และบารมีเต็มเปียมบริบูรณ์ จึงบรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ การกำจัดทุกข์ได้หมดสิ้น เป็น "พระอรหันต์" ผู้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ไม่ต้องย้อนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

        ดังนั้นคนฉลาดที่คิดได้เร็ว เป็นผู้ที่เข้าใจถูกว่า เป้าหมายสูงสุดของชีวิตคืออะไร ในระหว่างที่กำลังสร้างตัวสร้างฐานะอยู่นี้ ก็ต้องรีบเร่งขวนขวายทำความดีสั่ง มบุญกุศล หมั่นให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาอย่างเต็มที่ และในการทำความดีทุกอย่างให้อธิษฐานว่าให้เป็นปัจจัยสู่การบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ การเข้าสู่พระนิพพานเอาไว้ด้วย เพื่อให้เป็นอุดมการณ์สูงสุดของชีวิตที่ติดเป็นนิสัยข้ามภพข้ามชาติไป อันเป็นการออกแบบชีวิตในภพชาติเบื้องหน้าให้มีเหตุปัจจัยเกื้อหนุนค้ำจุน ให้สามารถดำเนินไปในหนทางที่ถูกต้องของการสร้างบารมีแต่เพียงอย่างเดียวจนในที่สุด ชาติใดชาติหนึ่งเบื้องหน้าความเพียรทั้งหมดในการสร้างบารมีที่ผ่านมาเต็มเปียมบริบูรณ์เหมือนน้ำที่หยดลงตุ่มทีละหยดๆ จนกระทั่งน้ำเต็มตุ่มได้สำเร็จ ก็ย่อมสามารถหมดกิเลส ได้เข้าสู่พระนิพพานตามพระพุทธองค์ไป

4.) ความสำคัญของเป้าหมายชีวิต
        เป้าหมายชีวิตนั้นมีความสำคัญมาก เพราะเป็นจุดหมายปลายทางของการดำเนินชีวิตของเรา ความคิด คำพูด และการกระทำทุกอย่างในแต่ละวันจะมุ่งไปสู่เป้าหมายที่เราได้ตั้งไว้ หากเราไม่ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ เราก็จะไม่ต่างอะไรกับนกกาที่หากินเพื่อความอยู่รอดไปวันหนึ่งๆ เมื่อหมดอายุขัยก็ตายจากโลกนี้ไปคนมีเป้าหมายชีวิตเปรียบเสมือนเรือเดินสมุทรที่มีหางเสือ มีกัปตันคอยชี้ทางว่าจะนำเรือมุ่งหน้าไปทางไหน เรือเดินสมุทรลำนี้จึงต่างจากขอนไม้ที่ล่องลอยอย่างไร้จุดหมายอยู่กลางทะเล ซึ่งถูกคลื่นลูกนั้นลูกนี้ซัดไปมาให้เคว้งคว้างอยู่และ ผุพังคว่ำจมไปตามกาลเวลา

       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลายเป็นต้นบุญต้นแบบในการดำเนินชีวิตให้แก่เราทั้งหลายได้เป็นอย่างดี จุดเริ่มต้นของพระพุทธองค์ก็เหมือนกับพวกเราคือ ขณะยังเป็นคนธรรมดาสามัญ ในชาติหนึ่งท่านลอยคออยู่กลางทะเลเพราะเรืออับปาง บนบ่าทั้งสองแบกมารดาไว้ ในขณะนั้นเองท่านเห็นความทุกข์ยากของการเวียนว่ายตายเกิด จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำตนและสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์นี้ จึงตั้งเป้าหมายชีวิตว่า "จะต้องสร้างบารมีเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตให้จงได้"

       เมื่อท่านตั้งใจมั่นอย่างนี้แล้วตั้งแต่ชาตินั้นเป็นต้นมา จึงเร่งสร้างบารมีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันเรื่อยมา ช่วงระหว่างการสร้างบารมีนั้นท่านก็ได้ชักชวนมหาชนให้ตั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิตคือการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะตามพระองค์ด้วย เมื่อครบ 20 อ งไขยกับแสนมหากัปก็ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธบริษัทจำนวนมากที่ได้สร้างบารมีตามคำชักชวนของพระองค์ก็ได้ตรัสรู้ธรรมตามพระองค์มากมาย จริงๆ แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ธรรมไม่ได้มีพระองค์เดียวเฉพาะพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา แต่มีมากมายนับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วนแล้ว ปัจจุบันปรากฎอยู่ด้วยพระธรรมกายในอายตนนิพพาน

      ถามว่าเมื่อมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ธรรมมากมายถึงเพียงนี้ แล้วทำไมในปัจจุบันยังมีมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายที่ยังเหลืออยู่จำนวนมากนี้ดำเนินชีวิตอย่างไม่มีเป้าหมาย เพราะไม่รู้ว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไรบ้าง บางคนอาจจะรู้แต่ไม่ใส่ใจในเป้าหมายนั้นบ้าง หรือ เพราะไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้บ้าง ปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปตามกระแสของกิเลสไปวันๆ ตายไปก็ไปรับกรรมอยู่ในมหานรกมีความทรมานอย่างแสนสาหัส กว่าจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อแสวงหาหนทางพระนิพพานอีกก็ยาวนาน

       แม้ระยะเวลาการสร้างบารมีเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี เพื่อเป็นพระอริยสาวกก็ดีจะต้องใช้เวลานานมาก แต่ไม่สามารถเทียบกันได้กับระยะเวลาที่สูญเสียไปจากการดำเนินชีวิตโดยไม่มีเป้าหมายของสัตว์ทั้งหลาย กล่าวคือ หากนำระยะเวลาการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ซึ่งมีนับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วนในอายตนนิพพานมารวมกันก็ยังไม่เท่ากับระยะเวลาที่สูญเปล่าของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจำนวนมากที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะดำเนินชีวิตโดยไม่มีเป้าหมาย เมื่อไม่มีเป้าหมายก็ไม่มีการเดินไปสู่เป้าหมายนั้น เมื่อไม่ได้เดินไปก็เท่ากับว่ายังย่ำอยู่ที่เดิมหรือตกต่ำกว่าเดิม เช่น ไปเกิดอยู่ในทุคติ เป็นต้น

       สุภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า "หนทางไกลหมื่นลี้เริ่มต้นที่ก้าวแรก" แม้หนทางจะยาวไกลแต่เมื่อได้ตั้งเป้าหมายไว้และเริ่มต้นเดินทางไปทีละก้าวมันก็ไปถึงจนได้ แต่การเดินทางแต่ละก้าวจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเป็นการเดินทางอย่างมีเป้าหมายและเดินไปสู่เป้าหมายเท่านั้นส่วนการเดินทางที่เหลือนอกนี้เป็นการเสียเวลาเปล่าและไร้ประโยชน์

      อย่างไรก็ดีการตั้งเป้าหมายชีวิตในระดับเบื้องต้น คือ การสร้างตัวสร้างฐานะก็มีความสำคัญ หากเราได้ตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ และทุ่มเทความสามารถไปสู่เป้าหมายนั้น เราจะไม่เสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์และจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างรวดเร็ว มีตัวอย่างบุคคลผู้หนึ่งซึ่งเป็นต้นแบบในการตั้งเป้าหมายชีวิตในทางโลกและสามารถดำเนินชีวิตไปสู่เป้าหมายนั้นได้เป็นอย่างดี บุคคลผู้นี้คือ อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐอเมริกา

      บิล คลินตันเล่าว่า "สมัยที่ผมเป็นหนุ่มน้อยเพิ่งจบจากโรงเรียนกฎหมายใหม่ๆ และกระตือรือร้นกับการที่จะได้ใช้ชีวิตต่อไป ความปรารถนาบางอย่างที่แล่นเข้ามาอย่างกระทันหันทำให้ผมวางหนังสือนิยายและประวัติศาสตร์ที่เคยชอบอ่านลงชั่วคราว แล้วเลือกซื้อหนังสือประเภทแนะวิธีสู่ความสำเร็จเล่มหนึ่งของ อลัน เลเคียน ชื่อ "Hoe to get control of your time and your life" มาอ่าน

    เนื้อหาสำคัญของหนังสือเล่มนั้นกล่าวถึงความจำเป็นในการกำหนดเป้าหมายชีวิตของตัวเอง ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ต่อมาก็ให้จัดหมวดหมู่ตามลำดับความสำคัญโดยกำหนดให้กลุ่ม A มีความสำคัญอันดับหนึ่ง กลุ่ม B สำคัญรองลงมา และกลุ่ม C ตามมาเป็นลำดับสุดท้าย จากนั้นให้ลงรายละเอียดเจาะจงสิ่งที่คิดว่า จะทำให้เกิดความสำเร็จกำกับไว้ใต้เป้าหมายแต่ละกลุ่มนั้น จนถึงเดี๋ยวนี้สามสิบปีแล้วผมยังเก็บหนังสือปกอ่อนเล่มนั้นไว้ และผมก็แน่ใจว่าเป้าหมายที่ผมกำหนดให้ตัวเองก็ยังอยู่ที่ใดที่หนึ่งในกองเอกสารของผม แม้ผมจะหามันไม่เจอก็ตาม อย่างไรก็ตาม ผมยังจำสิ่งที่ผมกำหนดไว้ในกลุ่ม A ได้ ผมเขียนว่า

"ผมอยากจะเป็นคนดี
อยากมีชีวิตการแต่งงานและมีลูกที่ดี
อยากมีเพื่อนที่ดี
อยากประสบความสำเร็จในชีวิตการเมือง
และอยากเขียนหนังสือดีเยี่ยมสักหนึ่งเล่ม"

      ผมจะเป็นคนดีหรือไม่นั้น แน่นอนว่าเป็นหน้าที่ของพระเจ้าที่จะตัดสิน ครอบครัวของเราก็เหมือนครอบครัวอื่นๆ ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่มันคือชีวิตที่วิเศษยิ่ง ในบรรดาคนที่ผมรู้จักไม่เคยมีใครมีเพื่อนมากกว่าหรือดียิ่งกว่าผม อันที่จริงแล้ว มีเหตุผลพอที่ผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า ที่ผมก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีได้ก็เพราะคนที่ผมคบหาด้วยเป็นการส่วนตัว ซึ่งก็คือกลุ่มเพื่อนบิลผู้กลายเป็นตำนานในปัจจุบัน

      ชีวิตบนเส้นทางการเมือง คือความสุขสำหรับผม ผมรักการรณรงค์หาเสียง และผมก็รักงานปกครองด้วย ผมพยายามทำให้ทุกสิ่งดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อมอบโอกาสให้ประชาชนได้ประสบความสำเร็จตามที่พวกเขาตั้งความหวังไว้ เพื่อให้พวกเขามีสภาพจิตใจที่ดีขึ้นและเพื่อให้พวกเขาอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ และนั่นคือสิ่งที่ผมเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะสำหรับหนังสือที่ดีเยี่ยมนั้น ใครเล่าจะรู้ ผมรู้แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่น่าอ่านอย่างแน่นอน" (บิล คลินตันหมายถึง หนังสือ "My Life" ซึ่งเป็นหนังสือประวัติชีวิตของตัวท่านเอง ซึ่งท่านตั้งเป้าหมายว่าจะเขียนและเขียนให้สำเร็จในที่สุด เรื่องราวที่กล่าวมาข้างต้นนี้ก็นำมาจากหนังสือ "My Life" เล่มนี้นี่เอง)

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020971330006917 Mins