ทรัพย์ 2 ประการในพระไตรปิฎก

วันที่ 12 พค. พ.ศ.2560

เศรษฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก
" ทรัพย์ 2 ประการในพระไตรปิฎก "

      "ทรัพยากร" หมายถึงสิ่งทั้งปวงอันเป็นทรัพย์ ซึ่ง "ทรัพย์" หมายถึงสิ่งที่ถือว่ามีค่า ได้แก่ วัตถุมีรูปร่าง เช่น เงินตราสิ่งอื่นๆ หรือ วัตถุที่ไม่มีรูปร่าง เช่น ปัญญา เรียกว่า อริยทรัพย์ ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่าอริยทรัพย์นี้เป็นศัพท์ที่มาจากพระไตรปิฎก

     ทรัพย์ มาจากศัพท์ในภาษาบาลีหลายคำด้วยกัน เช่น ทัพพะ, ธนะ และ นิธิ เป็นต้น ทรัพย์ แปลว่า เครื่องปลื้มใจ คำว่าทรัพย์ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้นมี 2 ประเภท คือ โภคทรัพย์และอริยทรัพย์

1. โภคทรัพย์
     โภคทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์ภายนอก คือของที่จะพึงบริโภค เป็นเครื่องทำนุบำรุงร่างกายแบ่งเป็นโภคทรัพย์โดยตรง และโภคทรัพย์โดยอ้อม

     โภคทรัพย์โดยตรง ได้แก่ ปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคส่วนโภคทรัพย์โดยอ้อม ได้แก่ เงินทอง หรือ เงินตรา ที่บัญญัติขึ้นสำหรับเป็นมาตรา สำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน เงินทองนั้นไม่ได้เป็นโภคทรัพย์โดยตรง เพราะไม่อาจจะเอามาเป็นเครื่องทำนุบำรุงร่างกาย คือ เอามานุ่งห่มไม่ได้ กินไม่ได้ เป็นต้น แต่จะต้องนำเอาไปซื้อโภคทรัพย์โดยตรงคือ ปัจจัย 4 มาอีกทีหนึ่ง

    โภคทรัพย์ หมายรวมถึง เรือกสวน ไร่นา ที่ดิน เพชร นิล จินดา ยานพาหนะสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งของที่มีค่าอื่นๆ ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัย 4 ได้เช่นกัน

     โภคทรัพย์นั้นจัดเป็น "โลกียทรัพย์" หมายถึง ทรัพย์ในทางโลก

2. อริยทรัพย์
    อริยทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์อันประเสริฐ เป็นทรัพย์ที่มีภายในใจ มีอยู่ 7 ประการด้วยกัน คือสัทธาธนัง ทรัพย์คือศรัทธา, สีลธนัง ทรัพย์คือศีล, หิริธนัง ทรัพย์คือหิริ, โอตตัปปธนังทรัพย์คือโอตตัปปะ,สุตธนัง ทรัพย์คือสุตะ, จาคธนัง ทรัพย์คือจาคะ และ ปัญญาธนัง ทรัพย์คือปัญญา

1) ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อที่ประกอบไปด้วยปัญญา เชื่ออย่างมีสติพิจารณาว่าสิ่งใดควรเชื่อสิ่งใดไม่ควรเชื่อ ศรัทธาขั้นพื้นฐานมีอยู่ 4 ประการ คือ

- เชื่อกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง ทำอะไรแล้วย่อมมีผลเสมอ
- เชื่อผลของกรรม คือเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
- เชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน คือเชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วย่อมติดตามผู้ทำนั้นตลอดไป
- เชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริง และเชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์

2) ศีล หมายถึง การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อยเป็นปกติ ไม่เบียดเบียนใคร ให้ความมั่นคงและความจริงใจซื่อสัตย์ต่อกัน อันเป็นหลักประกันความเป็นมนุษย์ในตัวบุคคล อย่างน้อยต้องรักษาศีลให้ได้ 5 ข้อ ซึ่งต้องหมั่นทำให้เป็นปกติจนกลายเป็นนิสัยให้ได้

3) หิริ หมายถึง ความละอายต่อการทำบาป ละอายต่อการคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่ว โดยต้องหมั่นเตือนตนเองไม่ให้พลาดพลั้งไปทำความชั่วอยู่ตลอดเวลา

4) โอตตัปปะ หมายถึง ความกลัวต่อผลของบาปว่า ถ้าเราคิดชั่ว พูดชั่ว หรือทำชั่วไปแล้วสิ่งที่ตามมาคือ วิบาก ที่ส่งผลเป็นความทุกข์ทรมานทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

5) สุตะ หมายถึง หมั่นฟังธรรมและศึกษาธรรมเพื่อให้ได้ฟังและรู้สิ่งที่ตนไม่เคยรู้ และเพิ่มพูนความรู้ที่มีอยู่แล้วให้เพิ่มพูนมากยิ่งๆ ขึ้นไป แล้วศึกษาให้แตกฉาน ทั้งความรู้ทางโลกและทางธรรม

6) จาคะ หมายถึง การรู้จักเสียสละ แบ่งออกเป็น 2 ประการ

- การสละสิ่งของเป็นทาน เป็นการกำจัดความตระหนี่ออกจากใจ
- สละอารมณ์ที่ไม่ดีเป็นทาน คือ สละอารมณ์โกรธ พยาบาทออกไป และให้อภัยทานซึ่งจะส่งผลให้ใจของเราผ่องใสไม่ขุ่นมัว และไม่จองเวรกับใคร

7) ปัญญา หมายถึง ความรู้ในการกำจัดกิเลส เพื่อให้พ้นจากความทุกข์

      อริยทรัพย์นั้นจัดเป็น "โลกุตตรทรัพย์" หมายถึง ทรัพย์ที่พ้นจากโลก อยู่เหนือโลก

    อริยทรัพย์บางพระสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้เพียง 5 ประการบ้าง หรือ 4 ประการบ้าง เช่น ธนสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอริยทรัพย์ไว้ 5 ประการ คือ ศรัทธา ศีลสุตะ จาคะ และปัญญา และในทีฆชาณุสูตรพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอริยทรัพย์ไว้ 4 ประการ คือ ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา

   จากที่กล่าวแล้วในบทที่ 4 ว่าธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกหมวดนั้นสัมพันธ์กันหมดและสามารถย่อหรือขยายได้ หากย่อถึงที่สุดแล้วจะเหลือเพียงข้อเดียวคือ"ความไม่ประมาท" หากขยายก็จะได้มากถึง "84,000 ข้อหรือพระธรรมขันธ์"

     สำหรับอริยทรัพย์ 7 นั้น หากจะย่อให้เหลือ 5 ประการก็ได้ คือ จัด "หิริ" และ "โอตตัปปะ" ไว้ในหมวด "ศีล" เพราะธรรมทั้งสองประการนี้เกี่ยวข้องกับการรักษาศีล ถ้าจะย่ออริยทรัพย์ 5 ให้เหลือ 4 ประการก็ได้คือจัด "สุตะ" ไว้ในหมวด "ปัญญา" เพราะสุตะเป็นเรื่องของการแสวงหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนปัญญา เป็นอันว่าอริยทรัพย์ 7 ก็ดี อริยทรัพย์ 5 ก็ดี หรือ อริยทรัพย์ 4 ก็ดี ก็คืออันเดียวกันเพียงแต่จะกล่าวโดยย่อหรือขยายเท่านั้น


3. ความสัมพันธ์ของอริยทรัพย์กับบุญกิริยาวัตถุ
    นักศึกษาหลายท่านอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า "บุญกิริยาวัตถุ" โดยเฉพาะบุญกิริยาวัตถุ 3 คือ ทาน ศีล ภาวนา และมักจะได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า บุญอันเกิดจากการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนานั้น จะเป็น "อริยทรัพย์" ติดตัวไปภพชาติเบื้องหน้า

  ถามว่าอริยทรัพย์ที่กล่าวมาข้างต้นกับบุญกิริยาวัตถุมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ประเด็นนี้ก็ทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้วคือ ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกหมวดนั้นสัมพันธ์กันหมดและสามารถย่อหรือขยายได้ ในที่นี้จะนำอริยทรัพย์ 4 คือ ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญาและบุญกิริยาวัตถุ 3 คือ ทาน ศีล ภาวนา มาเชื่อมโยงเข้าหากันดังนี้

    การที่ใครสักคนหนึ่งจะบำเพ็ญบุญทั้งทาน ศีล ภาวนา นั้นเขาจะต้องมีศรัทธาก่อน หากไม่มีศรัทธาก็ไม่มีแรงจูงใจที่เขาจะสร้างบุญใดๆ ดังนั้นบุญกิริยาวัตถุ 3 จึงเริ่มต้นด้วย "ศรัทธา" เหมือนกันเพียงแต่ไม่ได้กล่าวถึงเท่านั้นเองส่วน "ศีล" ในอริยทรัพย์ก็มีตรงกับ "ศีล" ในบุญกิริยาวัตถุสำหรับ "จาคะ" ในอริยทรัพย์หรือที่เราคุ้นกับคำว่า "บริจาค" ซึ่งก็คือ "ทาน"ในบุญกิริยาวัตถุนั่นเองส่วน "ปัญญา" นั้นนักศึกษาบางท่านอาจจะ งสัยว่า เชื่อมโยงกับภาวนาได้อย่างไร ก่อนอื่นขอทบทวนความหมายของคำว่าปัญญาก่อนว่า ปัญญาในที่นี้มุ่งถึง ปัญญาในการชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการ "เจริญสมาธิภาวนา" เท่านั้น


4. ความสำคัญของทรัพย์
    เนื่องจากทรัพย์มี 2 ประเภท คือ โภคทรัพย์ และ อริยทรัพย์ ซึ่งความสำคัญของทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกัน จึงอธิบายแยกออกเป็น 2 ประเด็นดังนี้

1.) ความสำคัญของโภคทรัพย์
     ชาวโลกโดยทั่วไปเข้าใจกันดีว่า โภคทรัพย์นั้นมีความสำคัญอย่างไร แต่คนที่มีทรัพย์มากอาจจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญของทรัพย์เท่าที่ควร จึงมักใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟอย กินทิ้งกินขว้างส่วนคนจน คนที่ไม่ค่อยมีทรัพย์ คนที่อดๆ อยากๆ จะซาบซึ้งถึงความสำคัญของทรัพย์มากเป็นพิเศษ จากข้อมูลของสหประชาชาติพบว่า มีประชากรโลกประมาณ 850 ล้านคนที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเสียชีวิตปีละประมาณ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 5 ล้านคนเสียชีวิตเพราะขาดสารอาหาร1 นี้คือผลพวงของการไม่มีทรัพย์ นอกจากนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในอิณสูตรว่า การเป็นคนจนนั้นเป็นทุกข์ เพราะเมื่อยากจนก็ต้องกู้ยืมเงินของคนอื่น การกู้ยืมนี้ก็เป็นทุกข์...

    และที่สำคัญความจนยังเป็นแรงกดดันให้ทำอกุศลธรรมต่างๆ อีกด้วย กล่าวคือ เมื่อไม่มีจะกินก็ต้องดิ้นรนหาทรัพย์ หาอาหารมาเพื่อยังชีพ จึงเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสทำผิดศีลผิดธรรม เพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอดไปก่อน

   คนที่มีฐานะยากจนโอกาสที่จะสร้างบุญสร้างบารมีก็อาจทำได้ไม่เต็มที่ เมื่อท้องยังหิวอยู่ จึงไม่ค่อยคิดถึงการให้ทาน รักษาศีล และนั่งสมาธิ เพราะแม้แต่ข้าวสารกรอกหม้อวันนี้ยังไม่มีเลยส่วนคนรวยนั้นมีทรัพย์มาก หากมีศรัทธาก็มีโอกาสมากกว่าที่จะให้ทานก็ทำได้เต็มที่รักษาศีลก็สะดวก นั่งสมาธิก็ บาย ไม่ต้องกังวลเรื่องปัจจัย 4 อันเป็นสิ่งพื้นฐานแห่งการยังชีพ

2.) ความสำคัญของอริยทรัพย์
    อริยทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์ที่ประเสริฐกว่าโภคทรัพย์ทั้งหลาย พระมหากัปปินเถระกล่าวไว้ว่า "ผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ก็เป็นอยู่ได้ส่วนคนมีทรัพย์แต่ไม่มีปัญญา ก็เป็นอยู่ไม่ได้ปัญญาเป็นเครื่องตัดสินเรื่องที่ได้ฟังมา เป็นเหตุเจริญชื่อเสียงและความสรรเสริญ นรชนผู้ประกอบด้วยปัญญาในโลกนี้ แม้ในเวลาที่ตนตกทุกข์ก็ยังประสบสุขได้"

    อริยทรัพย์นั้นจะช่วยให้บุคคลคลายจากทุกข์และพ้นจากความทุกข์ได้อย่างถาวร ซึ่ง ต่างจากโภคทรัพย์ที่ให้ความสุขได้เพียงชั่วคราวแต่ไม่อาจจะช่วยให้พ้นจากทุกข์ถาวรได้สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ ครั้งนั้น อุบาสกอุบาสิกาชาวแคว้นสักกะได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าในวันอุโบสถ พระพุทธองค์ได้ตรัสถามว่า "ท่านทั้งหลายพากันรักษาอุโบสถศีล บ้างหรือไม่หนอ"

    อุ.(อุบาสกอุบาสิกา) กราบทูลว่า "บางคราวพวกข้าพระองค์ก็พากันรักษาอุโบสถศีล แต่บางคราวก็ไม่ได้พากันรักษา พระพุทธเจ้าข้า"

   ภ.(พระผู้มีพระภาคเจ้า) ตรัสว่า "ท่านทั้งหลายได้ชั่วแล้ว เมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศกและความตาย บางคราวพวกท่านพากันรักษาอุโบสถศีล แต่บางคราวก็ไม่ได้พากันรักษา"

   ภ. ตรัสว่า " ท่านทั้งหลาย เมื่อบุคคลหาทรัพย์ได้วันละ 100 กหาปณะ 1,000 กหาปณะก็เก็บทรัพย์นั้นไว้ เป็นผู้มีชีวิตอยู่ 100 ปี จะได้โภคสมบัติกองใหญ่บ้างหรือไม่หนอ"

    อุ. กราบทูลว่า "ได้ พระพุทธเจ้าข้า"

   ภ. ตรัสว่า "ท่านทั้งหลาย บุคคลนั้นจะเสวยสุขอย่างเดียวอยู่ตลอดคืนหนึ่ง วันหนึ่ง ครึ่งคืน หรือ ครึ่งวัน เพราะโภคสมบัตินั้นเป็นเหตุได้บ้างหรือไม่หนอ"

    อุ. กราบทูลว่า "ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า"

    ภ. ตรัสว่า "ข้อนั้นเพราะเหตุไร"

   อุ. กราบทูลว่า "เพราะกามทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ว่างเปล่า มีความฉิบหายไปเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าข้า"

  ภ. ตรัสว่า "ท่านทั้งหลายส่วนสาวกของเรา เป็นผู้ไม่ประมาท อุทิศกายและใจปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนอยู่ตลอด 10 ปี แล้วได้เสวยความสุขอยู่ตลอด 100 ปีก็มี 10,000 ปีก็มี 100,000 ปีก็มี และสาวกของเรานั้น เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี เป็นโสดาบันก็มี

  อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นเมื่อได้ฟังธรรมนี้ได้กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จักพากันรักษาอุโบสถศีลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"

   จะเห็นว่าอริยทรัพย์ ได้แก่ ศีล เป็นต้น มีความสำคัญตรงที่ให้ความสุขที่แท้จริงอันเป็นความสุขที่มั่นคงแก่มนุษย์ได้ เป็นความสุขที่โภคทรัพย์ไม่อาจจะให้ได้

   ด้วยเหตุนี้เจ้าชายสิทธัตถะโพธิสัตว์ก็ดี บรรดาสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี ต่างพากันละทิ้งโภคทรัพย์จำนวนมหาศาล คนละ 40 โกฏิบ้าง 80 โกฏิบ้าง เพื่อออกบวช แม้แต่ชฎิลเศรษฐีและโชติกเศรษฐี ซึ่งมีสมบัติตักไม่พร่องก็ยังละโภคสมบัตินั้น เพื่อออกบวชแสวงหาอริยทรัพย์เช่นกัน บางท่านออกบวชแล้วบิดามารดาปรารถนาจะให้ลาสิกขา โดยเอาสมบัติกองโตมาล่อก็ไม่ยอม เช่น พระรัฏฐปาละ เป็นต้น

    บิดาของท่านกล่าวว่า "พ่อรัฏฐปาละ ทรัพย์กองนี้เป็นส่วนของแม่ กองโน้นเป็นส่วนของพ่อส่วนอีกกองหนึ่งเป็นของปู่ ทั้งหมดนี้เป็นของลูกผู้เดียว ลูกสามารถที่จะใช้สอยสมบัติไปและทำบุญไปก็ได้ พ่อรัฏฐปาละ ลูกจงลาสิกขาออกมาใช้สอยสมบัติเถิด"

    พระรัฏฐปาละตอบว่า "คหบดี ท่านพึงให้คนขนกองเงินกองทองนี้ไปทิ้งไว้ที่แม่น้ำคงคาเถิด เพราะความทุกข์กายและใจอันมีทรัพย์นั้นเป็นเหตุจักเกิดขึ้นแก่ท่าน"

    โภคทรัพย์นั้นมีไว้เพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนให้แสวงหาอริยทรัพย์ได้สะดวก ด้วยการนำมาสร้างบุญ เช่น ให้ทาน เป็นต้น และเพื่อนำมาหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีเรี่ยวแรงในการปฏิบัติธรรมสำหรับคฤหัสถ์ที่ไม่ได้ออกบวชเป็นบรรพชิตนั้น หากได้แสวงหาอริยทรัพย์ควบคู่ไปกับโภคทรัพย์แล้ว จะทำให้ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขยิ่ง กล่าวคือ มีโภคทรัพย์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกายและมีอริยทรัพย์เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ อีกทั้งอริยทรัพย์ยังช่วยกำกับให้คนใช้โภคทรัพย์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง จะไม่ทำผิดศีลผิดธรรมอันจะต้องชดใช้หนี้กรรมในอนาคต

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 406 สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012741327285767 Mins