ประวัติย่อ

วันที่ 07 มิย. พ.ศ.2560

ประวัติย่อ

 

 

คุณยายอาจารย์

มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย

 

ชาติภูมิ

                       คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เกิดเมื่อวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา (ตรงกับวันที่ ๒๐ มกราคม) พ.ศ. ๒๔๕๒ ในครอบครัวชาวนา ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นลูกคนที่ ๕ ในจำนวน พี่น้อง ๙ คน ของพ่อพลอย และแม่พัน ขนนกยูง

ชีวิตในวัยเด็ก

                       คุณยายเป็นคนอดทน และขยันมากทั้งช่วยพ่อแม่ดูแลงานบ้าน และ เป็นเรี่ยวแรงหลักในการทำนา

จากบ้าน

                       ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๘   เมื่อคุณยายอายุ ๒๖ ปีท่านตัดสินใจออกจากบ้านเดินทางเข้ากรุงเทพ เพื่อหาช่องทางไปฝึกสมาธิที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญเพราะต้องการตามไปขอขมาพ่อที่ล่วงลับไปแล้ว จะได้พ้นจากสิ่งที่พ่อเคยแช่งไว้ตั้งแต่คุณยายยังเป็นเด็กว่า ให้หูหนวก ๕๐๐ชาติ

พบครูคนแรก

                         คุณยายได้พบ และฝึกสมาธิกับคุณยายทองสุกสำแดงปั้น ซึ่งเป็นครูสอนสมาธิจากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จนได้เข้าถึงพระธรรมกาย แล้วใช้วิชชาธรรมกายตามหาพ่อ ได้ขอขมาพ่อดังที่ตั้งใจไว้ และช่วยพ่อให้ขึ้นจากนรกได้

พบหลวงพ่อวัดปากน้ำ

                         ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่อคุณยายอายุ ๒  ปี คุณยายทองสุกได้พาคุณยายไปกราบพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ) เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำพบคุณยายครั้งแรกท่านก็รับคุณยายเป็นศิษย์ และให้เข้าไปศึกษาวิชชาธรรมกายชั้นสูงในโรงงานทำวิชชาทันที

ศึกษาวิชชาธรรมกาย

                          ด้วยความวิริยะอุตสาหะ และความเป็นคนทำอะไรทำจริงของคุณยายทำให้ท่านศึกษาวิชชาธรรมกายได้อย่างรวดเร็วและเชี่ยวชาญยิ่ง จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าเวรในการทำวิชชา และได้รับคำชมจากหลวงพ่อวัดปากน้ำว่า "ลูกจันทร์นี่ หนึ่งไม่มีสอง"

สานต่อปณิธาน

                          ตั้งแต่เข้ามาอยู่ที่วัดปากน้ำ คุณยายทำวิชชาอยู่ในโรงงานทำวิชชากับหลวงพ่อวัดปากน้ำมาตลอด จนกระทั่งเมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำใกล้จะมรณภาพท่านได้มีคำสั่งสุดท้ายให้ศิษย์ทุกคนช่วยกันเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ของพระพุทธองค์ไปให้ทั่วโลก คุณยายจึงตั้งใจอบรมสั่งสอนธรรมปฏิบัติ วิชชาธรรมกายแก่ศิษยานุศิษย์อย่างเต็มที่ตลอดมา ด้วยความเคารพในคำสั่งของครูบาอาจารย์

พบศิษย์เอก

                          ปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๖ พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาส วัดพระธรรมกาย ซึ่งในขณะนั้นจบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มาฝึกธรรมปฏิบัติกับคุณยายอย่างต่อเนื่องท่านเป็นผู้ที่มีความตั้งใจจริง และรักในการปฏิบัติธรรมมากทั้งยังมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดีเยี่ยม คุณยายจึงถ่ายทอดวิชชาธรรมกายที่ศึกษามาจากหลวงพ่อวัดปากน้ำให้แก่ท่านอย่างเต็มที่

                         เมื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน และได้รับความสุขจากการปฏิบัติธรรม ท่านก็ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นได้รับความสุขอย่างนั้นบ้าง จึงไปชักชวนเพื่อน ๆ นิสิตทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเดียวกันมาปฏิบัติธรรมกับคุณยายเพิ่มจำนวนมากขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ คุณยายได้รวบรวมปัจจัยสร้าง "บ้านธรรมประสิทธิ์" เป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ในบริเวณวัดปากน้ำ ซึ่งมีพื้นที่มากขึ้นกว่าบ้านหลังเดิมเพื่อรองรับผู้มาปฏิบัติธรรมที่เพิ่มขึ้น

สร้างวัดพระธรรมกาย

                         ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เมื่อคุณยายอายุ ๖๑ ปี หลังจากที่หลวงพ่อธัมมชโยบวชแล้ว มีคนมาปฏิบัติธรรมเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้บ้านธรรมประสิทธิ์ไม่สามารถรองรับผู้มาปฏิบัติธรรมได้ทั้งหมด คุณยายจึงได้รวบรวมคณะศิษย์มาสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งใหม่ให้ชื่อว่า "ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม" ซึ่งในภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดพระธรรมกาย"

                         ปี พ.ศ. ๒๕๑๘  เมื่อการสร้างกุฏิที่พัก และศาลาปฏิบัติธรรมสำเร็จไปเป็นส่วนมากแล้ว คุณยายได้พาคณะศิษย์ย้ายจากบ้านธรรมประสิทธิ์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มาอยู่ที่วัดพระธรรมกายท่านทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจและกำลังสติปัญญาในการสร้างวัดเป็นอย่างมาก เป็นทั้งที่ปรึกษา และเป็นศูนย์รวมใจให้แก่หมู่คณะผู้บุกเบิก ให้ทำงานสร้างบารมีร่วมกันอย่างมีความสุขนอกจากนี้คุณยายยังวางกฎระเบียบ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ภายในวัดอย่างรัดกุมตั้งแต่ต้นทั้งยังคอยช่วยดูแลเรื่องความเป็นอยู่ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของงานทุกอย่าง

                         ในงานละเอียดคุณยายยังต้องนั่งสมาธิช่วยแก้ไขทุกข์ของเพื่อนมนุษย์กลั่นแก้สิ่งที่ไม่ดีให้หมดไปจากหมู่คณะ และนั่งสมาธิตามสมบัติมาเพื่อใช้สร้างวัด นับเป็นภาระหน้าที่ที่หนักมาก จนคุณยายล้มป่วยอย่างหนัก แต่ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ที่จะเผยแผ่วิชชาธรรมกายตามคำสั่งของหลวงพ่อวัดปากน้ำทุกคนก็ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดจนสำเร็จในราวปี พ.ศ. ๒๕๒๘

สร้างแม่พิมพ์ที่ดี

                          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ยังอยู่ที่วัดปากน้ำจนได้มาสร้างวัดพระธรรมกาย คุณยายได้ลูกฝังหมู่คณะผู้บุกเบิกสร้างวัด ให้รักบุญ รักการสร้างความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้รักการปฏิบัติธรรม และหมั่นฝึกฝนให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน อันเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงแก่ตนเอง และจะยังประโยชน์แก่ชาวโลกได้ในภายภาคหน้า

                          นอกจากนั้นคุณยายยังเมตตาอบรมสั่งสอนให้ทุกคนได้รู้จักการครองตน ให้อยู่ในเส้นทางการสร้างบารมีอย่างมั่นคง มีความสุขและบริสุทธิ์บริบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป อีกทั้งยังได้ให้คำแนะนำในงานหยาบต่าง ๆ ด้วย เช่น สอนการดูแลความสะอาดเสนาสนะ การใช้สมบัติพระศาสนาให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น

                           นับเป็นการสร้างแม่พิมพ์ที่ดีไว้เป็นแบบอย่างในพระพุทธศาสนา เพราะคณะผู้บุกเบิกสร้างวัดในยุคนั้น ต่างทยอยบวชอุทิศชีวิตเป็นพระภิกษุ และให้การอบรมสร้างทายาททางธรรมที่สมบูรณ์แบบ เพื่อเผยแผ่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อเนื่องมาอย่างไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน

ขยายพื้นที่สร้างวัด

                            ภารกิจสำคัญที่หลวงพ่อธัมมชโย คุณยาย และหมู่คณะรุ่นบุกเบิกได้ทำตลอดมา ควบคู่กับการสร้างวัดตั้งแต่แรกเริ่ม คือ การอบรมสั่งสอนปลูกฝังศีลธรรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่เยาวชน และประชาชนทั่วไป

                           เมื่ออบรมปลูกฝังศีลธรรมมากเข้า ผู้เข้าอบรมต่างเห็นคุณค่าของธรรมะด้วยตนเอง จึงชักชวนญาติมิตรมาปฏิบัติธรรมเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งพื้นที่ ๑๙๖ ไร่ไม่เพียงพอที่จะรองรับ จึงต้องขยายพื้นที่สร้างวัดออกมาอีก ๒,๐๐๐ ไร่ และยังได้สร้างปูชนียสถานที่สำคัญ คือ มหาธรรมกายเจดีย์สภาธรรมกายสากล และมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี เพื่อเป็นศูนย์รวมใจ และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่สามารถรองรับผู้มาปฏิบัติธรรมจำนวนมากที่หลั่งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย

                           ปัจจุบัน "วัดพระธรรมกาย" ปรากฏเด่นสง่างาม บนผืนแผ่นดินนี้ เป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ และยังเป็นศูนย์รวมการปฏิบัติธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธทั่วโลก เพราะความทุ่มเทสร้างสรรค์งานของพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) และด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคณะพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และสาธุชนผู้ใจบุญทุกท่าน โดยมีบุคคลสำคัญ ยิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งมวลของวัดพระธรรมกาย คือ

คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0014266490936279 Mins