สัปปุริสธรรม 7

วันที่ 28 กค. พ.ศ.2560

สัปปุริสธรรม 7
(วิธีสร้างคนดีที่โลกต้องการ 7 ประการ)

พุทธธรรม 2 , Dhamma , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , สัปปุริสธรรม 7  (วิธีสร้างคนดีที่โลกต้องการ 7 ประการ) , สัปปุริสธรรม 7

      สัปปุริสธรรม 7 หรือวิธีสร้างคนดีที่โลกต้องการ 7 ประการ มีความหมาย และรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.1 ความหมาย
    บทธรรมแต่ละหมวด ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้แล้วมีบันทึกในพระไตรปิฎกล้วนคือ "ขุมทรัพย์ใหญ่ของมวลมนุษยชาติ" ความรู้ทางโลกยังหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย แต่ความรู้ในพระไตรปิฎกเป็น อกาลิโก คือไม่ขึ้นกับกาล จะยุคไหนสมัยไหนก็ไม่มีเชย แม้แต่ไอน์สไตน์ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับเลือกให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เป็นชาวยิวที่ย้ายมาอยู่ในอเมริกา เกิดมาในศาสนาอื่น แต่ต่อมาได้มาพบกับพระพุทธศาสนา มาศึกษาธรรมะของพระสัมมาพุทธเจ้า ไอสไตน์ก็ตกตะลึงว่า มีคำสอนที่ยอดเยี่ยม และวิเศษอย่างนี้ด้วยหรือ จนเขาถึงกับบันทึกไว้ว่า ศาสนาแห่งอนาคตจะเป็นศาสนาแห่งสากลจักรวาล หรือ "Cosmic Region"สามารถปฏิบัติจนเข้าถึงได้ด้วยตัวเองสามารถตอบสนองความต้องการในเรื่องเหตุและผลได้ และศาสนานั่นคือ "พระพุทธศาสนา"

   ไอน์สไตน์สรุปไว้ว่า คำสอนที่เลิศอย่างนี้ไม่ควรจะเป็นคำสอนของคนทั้งโลกอย่างเดียวต่อให้มีสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญาในจักรวาลอื่น ก็ควรจะนับถือพระพุทธศาสนาด้วย เพราะไม่มีคำสอนใดจะเลิศไปกว่านี้อีกแล้ว

  จากนี้จะได้อธิบายขยายความในหัวข้อธรรมของพระพุทธองค์เรื่องสัปปุริสธรรม 7 ธรรมที่ทำให้คนเป็นสัตบุรุษ คือเป็นคนที่เก่ง ดี และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ แม้จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นหลักธรรมที่ทันสมัย

      ก่อนที่เราจะได้ศึกษาว่าสัปปุริสธรรม 7 มีอะไรบ้างนั้น ให้เรามาทำความรู้จักกับความหมายกันก่อน

    คำว่าสัปปุริสะ ในภาษาบาลี ตรงกับคำว่าสัตบุรุษ ในภาษาสันสกฤต แปลว่า คนดี คนสงบ คำว่าสัตบุรุษ เรียกอีกอย่างว่าสัปปบุรุษ ก็ได้ คำว่าสัปปุริสธรรม ก็คือธรรมที่ทำให้เป็นคนดี ดังนั้นสัปปุริสธรรม 7 ก็คือ วิธีสร้างคนดีที่โลกต้องการ 7 ประการนั่นเอง

   เนื่องจากมาตรฐานการตัดสินว่าใครเป็นคนดีของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ถามว่าเราจะเอาการตัดสินของใครเป็นมาตรฐาน หากไปถามโจร โจรก็บอกว่าคนดีในฐานะของเขาก็คือคนที่ออกปล้นกับเขาทุกวัน ถ้ามาถามพระก็จะบอกอีกอย่างหนึ่งสำหรับเราในฐานะที่เป็นลูกศิษย์หรือสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราต้องเอามาตรฐานของพระองค์ท่านมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าใครเป็นคนดีที่แท้จริง

    เรามาดูคนดีในสายตาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เลือกนำมาปรับปรุงตัวเองให้มีคุณสมบัติตามที่พระพุทธองค์ต้องการ วิธีสร้างคนดีที่โลกต้องการนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ 7 ประการด้วยกัน ซึ่งหากใครนำไปปฏิบัติให้มีขึ้นในตนได้แล้ว ย่อมจะทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นคนเก่ง เป็นคนดีและประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เมื่ออยู่ในสังคมไหนสังคมนั้นก็เจริญสามารถนำหมู่ชนและสังคมนั้นไปสู่สันติสุข จัดเป็นคุณธรรมของผู้ที่จะเป็นต้นแบบหรือกัลยาณมิตรให้กับชาวโลกได้อีกประการหนึ่ง เมื่อเราได้ศึกษาจนเข้าใจแล้ว จะทำให้เราสามารถแยกแยะออกได้ว่าคนดีที่แท้จริงที่เราควรคบหาสมาคมด้วย หรือใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตจะต้องมีลักษณะเช่นไร


1.2 องค์ประกอบ
     สัปปุริสธรรม 7 หรือ วิธีสร้างคนดีที่โลกต้องการ 7 ประการนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ในฐานะต่าง ๆ กัน ฐานะแรก พระองค์ตรัสไว้กับพระภิกษุดังนี้ พระภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรมะ 7 ประการ เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือควรที่เราจะเอาของไปถวายท่าน เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญยิ่งอื่นกว่า ธรรมะ 7 ประการได้แก่

1. ธัมมัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักธรรม หรือความเป็นผู้รู้จักเหตุ)
2. อัตถัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักอรรถ หรือความเป็นผู้รู้จักผล)
3. อัตตัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักตน)
4. มัตตัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักประมาณ)
5. กาลัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักกาล)
6. ปริสัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักบริษัทหรือชุมชน)
7. ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา (ความเป็นผู้รู้จักบุคคล)

    เราอาจใช้วิธีท่องจำแบบง่าย ๆ ว่า รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาลรู้จักชุมชน รู้จักบุคคล ก็ได้ และนี่คือคนดีที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการสรุปแล้วคือเป็นคนที่ทั้งเก่งและดีนั่นเอง หรือถ้าจะพูดอีกนัยหนึ่งคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสนับสนุนเรื่องการศึกษาวิธีสร้างคนดีที่โลกต้องการเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่ศึกษาให้ดีแล้วคุณสมบัติทั้ง 7 ประการ นี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้

    ที่บอกว่าสนับสนุนการศึกษาวิธีสร้างคนดีที่โลกต้องการเป็นอย่างไร ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า รู้จักเหตุเป็นอย่างไร จะรู้จักเหตุได้ หลักวิชาต้องแม่น แม่นแค่ไหน ก็ต้องแม่นหลักวิชาทั้งทางโลกและทางธรรม ในทางธรรม หมายถึง ความรู้ทางธรรม เช่น ความรู้จากพระไตรปิฎก หรือความรู้จากหนังสือธรรมะจะต้องแม่น ในทางโลก หมายถึง ความรู้วิชาการทางโลก หรือความรู้เฉพาะทางที่ตนเกี่ยวข้องจะต้องแม่น ใครทำงานอยู่สาขาไหนสายงานไหนหลักวิชาเหล่านั้นต้องแม่น ถ้าหลักวิชชาทางธรรม หรือหลักวิชาทางโลกไม่แม่น ก็ไม่จัดเป็นผู้ที่มีธัมมัญญุตา คือยังไม่เป็นผู้รู้จักเหตุ นั่นเอง

   แล้วรู้จักผลคืออะไร ก็คือมีประสบการณ์นั่นเอง คือวิชาที่ร่ำเรียนมาสามารถนำไปใช้งานได้ผลอย่างไรแค่ไหน และเมื่อมีประสบการณ์เป็นอย่างดีแล้ว เมื่อพบกับปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะสามารถสืบสาวไปรู้ได้ว่ามีเหตุมาจากอะไร จะไม่เชื่ออะไรอย่างไร้เหตุผล

    เมื่อรู้จักผลแล้วก็ต้องรู้จักตัวเองด้วย ว่าเรามีความสามารถแค่ไหน มีฝีมือประการใดขณะนี้ปฏิบัติธรรมไปได้แค่ไหน กำลังทำหน้าที่อะไรอยู่

   พอรู้จักตัวเองได้ล่ะก็ จะหยิบจะทำอะไรมันถึงจะประมาณถูก ไม่เกินกำลัง และไม่หย่อนกว่ากำลัง คนเราทำงานอะไรใหญ่นักก็เกินกำลังเดี๋ยวจะพังเสีย เล็กนักไม่พอกำลังก็เสียเวลาต้องรู้จักประมาณอย่างนี้ เช่น ถ้าจะตักน้ำดื่มมาให้แขกดื่มก็ต้องรู้จักประมาณ ถ้าเต็มปรี่แก้วเวลาดื่มก็หก ถ้าใส่แค่ก้นแก้ว ก็แหมแก้วใบเบ้อเร่อ ใส่แค่ก้นแก้วมาให้ นี่ไม่เต็มใจให้เราดื่มใช่ไหม อย่าไปดื่มมันเลย เช่นกันของทุกอย่างต้องรู้จักประมาณ ไม่รู้จักประมาณใช้ไม่ได้

    รู้จักประมาณแล้วก็ต้องแบ่งเวลาให้เป็น เรื่องนี้สำคัญมาก เช่น บางคนงานในอาชีพทำได้ดีมาก แต่งานในครอบครัวบกพร่องอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เมื่อมีครอบครัวแล้วก็ต้องดูแลสมาชิกทุกคนให้ทั่วหน้า ต้องแบ่งเวลาให้ถูก งานอาชีพก็ต้องทำ งานในครอบครัวก็ต้องดูแล ยังไม่พองานพระศาสนา งานในฐานะกัลยาณมิตร เราก็ยังต้องแบ่งเวลาเพิ่มเข้าไปอีก ถ้าไม่รู้จักตัวเองก็ประมาณงานไม่ถูก แบ่งเวลาไม่ถูก เดี๋ยวจะมีปัญหาในครอบครัวได้

    รู้จักชุมชนคือ เวลาจะไปที่ไหน ต้องศึกษาก่อนว่าหมู่คณะเขาเป็นอย่างไร ต้องรู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีในย่านนั้นว่ามีอะไรบ้าง ต้องรู้จักหมู่คณะนั้นย่านนั้นเขาเคารพใคร ก็ต้องฟัง ตัวอย่างเช่น ในทางธรรม เวลาจัดงานธุดงค์ขึ้นที่ไหน ผู้ใหญ่ประจำท้องถิ่นอย่าได้มองข้ามเด็ดขาด เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล หรือเจ้าอาวาสวัดนั้น ย่านนั้น จะทำงานอย่างไรก็ต้องไปกราบเรียนท่านก่อน เพราะท่านเป็นที่เคารพของชุมชนในย่านนั้น ไม่อย่างนั้นงานพังได้ ในทางโลกก็เช่นกัน ผู้ว่า นายอำเภอ แม้ที่สุดกำนัน ก็ต้องบอกท่านก่อน ถ้าไม่บอกท่าน ไม่รู้จักท่าน เดี๋ยวจะยุ่ง ไม่รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ประจำถิ่นไม่ได้

    และการรู้จักบุคคลก็คือ ในแต่ละคนที่เราจะนำมาใช้งานหรือเชิญมาร่วมงานกันต้องอ่านกันให้ออกจริง ๆ ถ้าอ่านไม่ออกจริง ๆ อย่าเพิ่งเอามาร่วมงาน มิเช่นนั้น เมื่อได้สมาชิกมาแล้วได้เจ้าหน้าที่มาแล้ว แทนที่จะมาทำงาน ก็กลับมาทะเลาะกัน งานที่ทำก็จะไม่สำเร็จ

   นี้คือภาพรวมของสัปปุริสธรรม 7 หรือ วิธีสร้างคนดีที่โลกต้องการ 7 ประการ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ ต่อจากนี้ไปเรามาเจาะลึกกันไปทีละข้อว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านหมายถึงอะไร และจะนำไปใช้ได้อย่างไรกันบ้าง ทั้งที่เป็นพระภิกษุ และฆราวาส

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 008 พุทธธรรม 2
หนังสือเรียน DOU หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0018282175064087 Mins