ไปสู่เป้าหมาย

วันที่ 02 สค. พ.ศ.2560

ไปสู่เป้าหมาย

 

พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) , พระผู้ปราบมาร , หลวงพ่อวัดปากน้ำ , วัดปากน้ำภาษีเจริญ , หลวงปู่สด , หลวงพ่อสด , ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกาย , ตามรอยพระมงคลเทพมุนี , วิสุทธิวาจา , ประวัติหลวงพ่อสด , ประวัติพระมงคลเทพมุนี , รวมพระธรรมเทศนา หลวงพ่อวัดปากน้ำ ,  สมาธิ , วิปัสสนา , สัมมาอะระหัง , ไปสู่เป้าหมาย

 

                           เป้าหมายที่หลวงพ่อวัดปากน้ำจะไปให้ถึง คือการหลุดพ้นจากการครอบงำของมาร พ้นจากความแก่ ความเจ็บ และความตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มารทำให้เกิดขึ้นกับทุกคน แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทุกองค์ ก็ไม่พ้นจากการบังคับบัญชาของมารในเรื่องนี้ได้

                           พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ทรงมีความพยายามจะแก้ไขในเรื่องนี้เช่นกันท่านทำอย่างไรบ้าง เรื่องมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกชัด โดยจะขอพิจารณาในเรื่องของความเจ็บก่อน

                          ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงการเจ็บป่วยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ไว้ว่าในทางหนึ่งท่านรักษาโรคโดยมีหมอชีวกโกมารภัจเป็นหมอที่ถวายการรักษาเป็นประจำ แต่ในอีกทางหนึ่งพระพุทธองค์ได้กระทำและสั่งสอนให้กระทำการรักษาด้วยการเจริญโพชฌงค์   เป็นวิธีการรักษาโรค อย่างหนึ่ง เรื่องมียืนยันอยู่ใน โพชฌงคสังยุตต์(สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค) ซึ่งได้กล่าวถึงการหายจากความเจ็บป่วยด้วยการเจริญ โพชฌงค์   เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับพระมหากัสสปะ ๑ เรื่อง พระมหาโมคคัลลานะ ๑ เรื่องและพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ เรื่อง จนถึงในปัจจุบันนี้ ก็มีบสวดโพชฌงคปริตรที่ นิยมเชื่อถือกันว่าได้ฟังสวดแล้วจะช่วยให้หายเจ็บป่วยได้

                          โพชฌงค์   คืออะไร หลวงพ่อวัดปากน้ำได้อธิบายไว้ใน พระธรรมเทศนา เรื่อง โพชฌงคปริตร เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๗   ดังนี้

                           " สติสัมโพชฌงค์ เราต้องเป็นคนไม่เผลอสติเลย เอาสตินิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่น ตั้งสติตรงนั้นทำใจให้หยุด ไม่หยุดก็ไม่ยอมทำให้หยุดไม่เผลอทีเดียวทำจนกระทั่งใจหยุดได้ นี่เป็นตัวสติสัมโพชฌงค์แท้ๆ ไม่เผลอเลยทีเดียวที่ตั้งที่หมายหรือกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุ ซ้ายกลางกั๊กนั่นใจหยุดตรงนั้น เมื่อทำใจหยุดตรงนั้น ไม่เผลอสติทีเดียวระวังใจหยุดนั้นไว้ นั่งก็ระวังใจหยุด นอนก็ระวัง ใจหยุด เดินก็ระวังใจหยุด ไม่เผลอเลย นี้แหละตัวสติสัมโพชฌงค์แท้ๆ จะตรัสรู้ต่าง ๆได้ เพราะมีสติสัมโพชฌงค์อยู่แล้ว

                           ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อสติใจหยุดนิ่งอยู่ ก็สอดส่องอยู่ความดีความชั่ว จะเล็ดลอดเข้ามาท่าไหน ความดีจะลอดเข้ามาหรือความชั่วจะลอดเข้ามา ความดีลอดเข้ามาก็ทำใจให้หยุด ความชั่วลอดเข้ามาก็ทำใจให้หยุด ดี ชั่ว ไม่ผ่องแผ้ว ไม่เอาใจใส่ ไม่กังวล ไม่ห่วงใยใจหยุด ระวังไว้ ไม่ให้เผลอก็แล้วกัน นั่นเป็นตัวสติวินัยที่สอดส่องอยู่นั่นเป็นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

                           วิริยสัมโพชฌงค์ เพียรรักษาใจหยุดนั้นไว้ไม่ให้หาย ไม่ให้เคลื่อนทีเดียว ไม่เป็นไปกับความยินดียินร้ายทีเดียว ความยินดียินร้ายเป็นอภิชฌา โทมนัส เล็ดลอดเข้าไป ก็ทำใจหยุดนั่นให้เสียพรรณไป ให้เสียผิวไป ไม่ให้หยุดเสีย ให้เขยื้อนไปเสีย ให้ลอกแลกไปเสีย มัวไปดีๆชั่วๆ อยู่ เสียท่าเสียทาง เพราะฉะนั้นต้องมีความเพียร กลั่นกล้า รักษาไว้ให้หยุดท่าเดียว นี้ได้ชื่อว่า วิริยสัมโพชฌงค์

                           ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อใจหยุดละก็ ชอบอกชอบใจ ดีอกดีใจ ร่าเริงบันเทิงใจ อ้ายนั่นปีติ ปีติที่ใจหยุดนั่น ปีติไม่เคลื่อนจากหยุดเลย หยุดนิ่งอยู่นั่น นั่นปีติสัมโพชฌงค์

                           ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิแปลว่า ระงับซ้ำ หยุดในหยุดหยุดในหยุดๆ ไม่มีถอยกัน พอหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่น หยุดในหยุดๆ นั่นทีเดียว นั่นปัสสัทธิ ระงับซ้ำ เรื่อยลงไป ให้แน่นหนาลงไว้ไม่คลาดเคลื่อนปัสสัทธิ

                           มั่นคงอยู่ที่ใจหยุดนั่น ไม่ได้เป็นสองไป เป็นหนึ่งทีเดียว นั่นเรียกว่าสมาธิ (สัมโพชฌงค์) ทีเดียว นั่นแหละ พอสมาธิหนักเข้า ๆ หนึ่งเฉย ไม่มีสองต่อไป นี่เรียกว่า อุเบกขา (สัมโพชฌงค์) เข้าถึงหนึ่งเฉยแล้ว อุเบกขาแล้ว

                           นี่องค์คุณ ๗  ประการอยู่ทีเดียวนี่ อย่าให้เลอะเลือนไป ถ้าได้ขนาดนี้

                           ภาวิตา พหุลีกตา กระทำเป็นขึ้นแค่นี้ กระทำให้มากขึ้น

                           สํวตฺตนฺติ ย่อมเป็นไปพร้อม

                           อภิญฺญาย เพื่อรู้ยิ่ง

                           นิพฺพานาย เพื่อสงบ ระงับ

                           โพธิยา เพื่อความตรัสรู้

                           ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้แหละ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่าน ในกาลทุกเมื่อ

                          ความจริงอันนี้ ถ้ามีจริงอยู่อย่างนี้ละ รักษาเป็นแล้ว รักษาโพชฌงค์เป็นแล้ว อธิษฐานใช้ได้ทำอะไรใช้ได้ โรคภัย ไข้เจ็บ แก้ได้ ไม่ต้องสงสัยละ"

                          นั่นเป็นวิธีการรักษาโรค การต่อสู้กับความเจ็บที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่าต้องทำด้วยโพชฌงค์  ที่หลวงพ่อวัดปากน้ำได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนแล้ว คือการทำใจให้ "หยุด" นั่นเอง เป็นการเอาชนะมารในเรื่องความเจ็บได้ขั้นหนึ่ง ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้กล่าวยืนยันไว้ใน มารสูตร (สุตตันตปิฎกสังยุตตนิกาย คาถวรรค) ถึงการเอาชนะมารด้วยโพชฌงค์   ไว้ดังนี้

                           "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมรรคาเป็นเครื่องย่ำยีมารและเสนามารแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังมรรคานั้น ก็มรรคาเป็นเครื่องย่ำยีมาร และเสนามารเป็นไฉน คือ โพชฌงค์   โพชฌงค์   เป็นไฉน คือสติสัมโพชฌงค์ ผลฯ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นมรรคาเครื่องย่ำยีมาร และเสนามาร"

                          เรื่องการต่อสู้กับความแก่และความตาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงต่อสู้เหมือนกัน พระองค์ไม่ต้องการปรินิพพานแต่เพราะพระองค์ไม่สามารถจะต่อสู้กับอิทธิพลของมารได้ จึงต้องตัดสินพระทัยปลงอายุสังขาร เมื่อพระชนมายุได้  ๘๐ ปีทั้งที่ขณะนั้น อายุขัยของคนในโลกโดยเฉลี่ยจะมีอายุได้ ๑๐๐ ปี แต่บารมีอย่างพระองค์ที่สร้างมามากขนาดนั้นกลับต้องปรินิพพานในขณะพระชนมายุได้เพียง  ๘๐ ปี เท่านั้น เรื่องราวก่อนที่พระองค์จะปรินิพพานยืนยันชัดเจนถึงการต่อสู้ของพระองค์ที่ไม่ต้องการจะปรินิพพานในตอนนั้น พระพุทธองค์ท่านได้ต่อสู้อย่างไรบ้าง ใน มหาปรินิพพานสูตร (สุตตันตปิฎกทีฆนิกาย มหาวรรค) กล่าวไว้ดังนี้

                          "ดูก่อนอานนท์ ผู้หนึ่งผู้ใดเจริญอิทธิบาท ๔ทำให้มากทำให้เป็นประหนึ่งยานทำให้เป็นประหนึ่งวัตถุที่ตั้ง ตั้งไว้เนืองๆ อบรมไว้ ปรารภด้วยดี โดยชอบ

                          ดูก่อนอานนท์ ผู้นั้นเมื่อปรารถนา ก็พึงดำรงอยู่ได้ตลอดกัป เกินกว่ากัป

                          ดูก่อนอานนท์ ตถาคตแลได้เจริญอิทธิบาท ๔ แล้ว ได้ทำให้มากแล้ว ได้ทำให้เป็นประหนึ่งยานแล้ว ได้ทำให้เป็นประหนึ่งวัตถุที่ตั้งแล้วตั้งไว้เนืองๆ แล้ว อบรมแล้ว ปรารภด้วยดี โดยชอบแล้ว

                          ดูก่อนอานนท์ ตถาคตนั้น เมื่อปรารถนาก็พึงดำรง(ชนม์ชีพ)อยู่ได้ตลอดกัป หรือเกินกว่ากัป ดังนี้"

                          พระพุทธองค์ได้กล่าวบอกกับพระอานนท์ว่า ถ้าผู้ใดเจริญอิทธิบาท ๔ ดีแล้ว จะมีอายุได้ถึงหนึ่งกัปหรือมากกว่า พระองค์ได้กล่าวกับพระอานน์ที่กรุงราชคฤห์ ๑๐ ครั้ง ที่กรุงเวสาลีอีก ๖ ครั้ง แต่พระอานนท์ก็ไม่ได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์มีอายุถึงหนึ่งกัปหรือมากกว่าเลยทำให้พระองค์ต้องปลงอายุสังขาร และปรินิพพานในที่สุด ในมหาปรินิพพานสูตรได้กล่าวไว้ว่า

                           "แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำนิมิตหยาบ ทรงทำโอภาสหยาบอย่างนี้แลท่านพระอานนท์ก็มิสามารถรู้ได้ มิได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงดำรงอยู่ตลอดกัปเถิด ขอพระสุคตเจ้าจงดำรงอยู่ตลอดกัปเถิด เพื่อเกื้อกูลแก่นจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่นจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้ คล้ายกับท่านมีจิตถูกมารสิงไว้"

                           พุทธอุปัฏฐาก ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นอุปัฏฐากที่เลิศที่สุด ก็ยังถูกมารควบคุมไม่ได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้ามีพระชนม์ชีพอยู่ไปนาน จนเมื่อพระองค์ปลงอายุสังขารแล้ว พระอานนท์จึงทูลอาราธนา แต่นั่นก็เป็นการสายไปเสียแล้ว พระองค์ต้องปรินิพพานอย่างแน่นอน

                           การต่อสู้กับความแก่ความตายของพระองค์ท่านให้นัยไว้เพียงการยืดระยะเวลาออกไป ด้วยการเจริญอิทธิบาท ๔ เท่านั้น ซึ่งไม่มีอธิบายรายละเอียดวิธีการปปฏิบัติไว้แต่อย่างใด

                           เมื่อศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง และยอมรับในเรื่องของมารที่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกแล้ว ก็คงต้องยอมรับว่ามีอะไรอีกอย่างหนึ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไปไม่ถึง จึงได้ถูกมารครอบงำและเอาชนะพระองค์ทำให้พระองค์ท่านต้องปรินิพพานไป เช่นนั้น ซึ่งยังไม่มีความรู้ในที่ใดให้ความกระจ่างได้ คงหวังแต่เพียงการศึกษาความรู้อย่างถูกต้องตามเส้นทางสายกลางในกลางกายเท่านั้นเองที่จะให้ความกระจ่าง ในเรื่องนี้

                           สำหรับบุคคลผู้มีความปรารถนาจะไปให้ถึงที่สุด หลุดพ้นจากอิทธิพลของมาร พ้นความแก่ ความเจ็บ ความตาย หลวงพ่อท่านมีวิธีการอย่างไรที่จะทำความปรารถนาของท่านให้เป็นจริงได้

ในพระธรรมเทศนาของท่านที่กล่าวถึงการต่อสู้กับมารว่าท่านทำมามิได้หยุดสักวันเดียว ตัวเลขบ่งบอกแน่ชัด ว่าเป็นเวลากี่ปี กี่เดือน กี่วัน ดังที่ตามรอย ได้นำเสนอท่านผู้อ่านไปแล้วในตอนที่ว่าด้วย "วันที่เริ่มทำวิชชา"

                         โดย สรุปว่าวันที่เริ่มทำวิชชาคือวันที่เริ่มต่อสู้กับมาร เป็นวันที่รวมทีมผู้ปปฏิบัติที่ได้เข้าถึง "ธรรมกาย" แล้วมารวมกันทำงานทางจิต ตลอด ๒๔ชั่วโมง โดยแบ่งกันเป็นผลัดๆ นั่งสมาธิกันอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่วันเข้าพรรษาของปี พ.ศ.๒๔๙๗  เป็นต้นมา

                         นั่นคือการเริ่มต่อสู้กับมาร เพื่อไปยังเป้าหมายปลายทางที่ท่านตั้งใจไว้

                         หลวงพ่อไม่ได้กล่าวว่า การเข้าถึงธรรมของท่านในวันเพ็ญ เดือนสิบ ของปี พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นวันที่เริ่มต่อสู้กับมาร แต่กล่าวชัดเอาไว้ให้คำนวณได้ว่า วันเข้าพรรษาของปี พ.ศ.๒๔๙๗  ซึ่งเป็นวันที่รวมผู้เข้าถึงธรรมกายมาปปฏิบัติงานทางจิตอย่างต่อเนื่อง ๒๔๙๗ชั่วโมง เป็นวันเริ่มต่อสู้กับมาร และไม่ปรากฏหลักฐานในที่ใดเลยว่ามีการรวมตัวของผู้ที่ได้เข้าถึงธรรมกาย มานั่งปปฏิบัติธรรมทำงานทางจิตตลอด ๒๔ชั่วโมงเช่นนี้ วิธีการแบบนี้เกิดขึ้นเป็นพิเศษสำหรับทำงานพิเศษ ของบุคคลที่ตั้งความปรารถนาแบบพิเศษที่ยังไม่เคยมีใครตั้งความปรารถนามาก่อนเท่านั้น

                         การรวมกันของบุคคลมที่ได้เข้าถึงธรรมกายแล้ว เพื่อปปฏิบัติงานทางจิตตลอด ๒๔ ชั่วโมง เป็นเรื่องหลักที่มีความสำคัญในการทำงาน เพื่อไปยังเป้าหมายปลายทางที่จะเอาชนะมารโดยสิ้นเชิงได้ หลวงพ่อได้ทำงานทางจิตร่วมกับบุคคลผู้เข้าถึงธรรมกาย ตั้งแต่วันเข้าพรรษาของปี พ.ศ.๒๔๙๗  จวบจนกระทั่งท่านมรณภาพ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นเวลาถึงเกือบ ๓๐ ปี ไม่ได้มีหยุดเลยสักวันเดียว ยากที่จะมีบุคคลกระทำได้เช่นท่าน

                          ชีวิตของท่านด้านหนึ่งต้องทำวิชชาร่วมกับพวกที่ได้ธรรมกายในโรงงานทำวิชชาอีกด้านหนึ่งต้องบริหาปรกครองวัด และเทศนาสั่งสอนประชาชนทั่วไป

                          การเทศน์สอนของหลวงพ่อนั้นท่านสอนได้แค่วิธีปปฏิบัติให้ได้เข้าถึงกาย ๑๘  กาย และหนทางไปนิพพานเท่านั้นส่วนเรื่องเป้าหมายที่ท่านจะไปให้ถึง ณ จุดที่เอาชนะมารพ้นการแก่การตายนั้น เทศน์ให้คนทั่วไปฟังไม่ได้ท่านใช้คำว่าจะถูกนัตถุ์ยา หรือในภาษาปัจจุบันอาจจะพูดว่าถูกฉีดยา หรือถูกจับเข้าโรงพยาบาลบ้าไปถูกฉีดยาที่นั่นนั้นเอง จะมีก็แต่เพียงพวกที่ทำวิชชาอยู่ในโรงงานทำวิชชาเท่านั้นที่คุยกันในเรื่องนี้ได้ หลวงพ่อได้กล่าวไว้ใน เรื่องปัพพโตปมคาถา เมื่อวันที่ ๒  มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗   ว่า

                           "ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา อยู่วัดปากน้ำก็จริง แต่ไม่รู้ว่าสมภารวัดปากน้ำทำอะไร นี่ อัศจรรย์นัก อยู่ด้วยกันตั้งหลายสิบปี (ผู้เทศน์)อยู่วัดปากน้ำทำวิชชานี้ ๒๒ ปี   เดือน  ๙ วัน วันนี้ไม่มีใครรู้ว่าทำอะไร รู้แต่นิดๆ หน่อยๆ รู้จริงจังลงไป ไม่มี มีก็ผู้ที่ทำวิชชาด้วยกัน รู้จริงเห็นจริงกันลงไปทีเดียวทำอยู่ทุกวันๆ นั่นละ ก็รู้จริงเห็นจริง นี่เป็นวิชชาลึกอย่างนี้"

                            การไปให้ถึง "ที่สุด" ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ผู้สร้างบารมีในสายนี้นอกจากจะมีวิธีการพิเศษ คือการรวมตัวของผู้ที่ได้เข้าถึงธรรมกายทำงานทางจิต ตลอด ๒๔  ชั่วโมง แล้วการสร้างบารมีของผู้ที่จะเข้ามารวมปฏิบัติงานทางจิต จึงน่าจะแตกต่างไปจากการสร้างบารมีของนักสร้างบารมีที่ผ่านมาด้วย

                            ในพระไตรปิฎก เรื่องเกี่ยวกับ "พุทธวงศ์" (สุตตันตปิฎก ขุทกนิกาย) เป็นการอธิบายถึงพระพุทธเจ้าในอดีตที่ผ่านๆ มาว่ามีชื่ออะไร มีประวัติการสร้างบารมีมาอย่างไรบ้างเป็นที่น่าแปลกว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ล้วนแล้วแต่ได้อภิเษกสมรส(แต่งงาน) จนกระทั่งมีพระราชโอรส ได้ ๑ คน แล้วจึงออกบวชด้วยกันทั้งสิ้นทุกพระองค์ ไม่มีสักพระองค์ที่ประสูติมาแล้วไม่ต้องแต่งงาน ได้ปประพฤติพรหมจรรย์มาตั้งแต่เกิด จนกระทั่งได้สำเร็จพระอรหัตตผล เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

                             ดังนั้นการสร้างบารมี เพื่อไปยังจุดที่ยังไม่เคยมีใครไปถึงนี้ จึงมีกรณีพิเศษที่น่าจะเป็นการสร้างบารมีที่อาศัยการประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่เกิดมา ไม่ต้องแต่งงาน มุ่งทำความบริสุทธิ์ของตนเองตลอดไปตลอดชาติที่ได้เกิดมา จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าคิดในการสร้างบารมีไปให้ถึง "ที่สุด" ได้ ซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำได้กล่าวตักเตือนไว้ในพระธรรมเทศนา เรื่อง สติปัฏฐานสูตร เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๗   แล้วว่า

                             "จะครองเรือนไปสักกี่ร้อยปี ก็ครองไปเถิด มันงานของคนอื่นเขาทั้งนั้น เรื่องของพระยามารทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องของตัว"

                            เรื่องของมารที่คุกคามพระพุทธเจ้า ก็มากระทำตอนที่พระองค์ท่านทิ้งพระราหุลตั้งใจจะออกบวชแล้วส่วนช่วงที่ใช้ชีวิตแต่งงานครองเรือนและมีลูก ไม่ปรากฏว่ามารมาคุกคามพระองค์เลย

                            หนทางของการชนะมารมีอยู่ ๕๐ ในขณะที่หนทางแพ้มีอยู่อีก ๕๐ เช่นกัน การต่อสู้เอาชนะกับมาร จึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากประมาทพลาดพลั้งไปสักชาติหนึ่งหนทางแห่งชัยชนะ ก็ห่างไกลออกไป จึงต้องสร้างบารมีกันยาวนาน นานสักเท่าไรยังไม่ปรากฏดังนั้นแล้ว หลวงพ่อจึงได้กล่าวเตือนถึงการไปให้ถึงที่สุดที่เอาชนะการคุกคามการเป็นบ่าวทาสของมารนี้ว่า


ใจต้องแข็งแกร่ง

                            "ที่จะเข้าถึงวิราคธาตุวิราคธรรมนะ ต้องปล่อยชีวิตจิตใจนะ ไปรักไปห่วงอะไรไม่ได้ ปล่อยกันหมดสิ้นทีเดียว ไปรักไปห่วงใยอยู่ละก็ไปไม่ได้ไปไม่ถึงทีเดียว เด็ดขาดทีเดียว ต้องทำใจหยุดนั่นแน่ จึงจะไปถูกวิราคธาตุวิราคธรรมได้ ต้องทำใจหยุด หยุดในหยุด ไม่มีถอยกันไม่มีกลับกันละ นั่นแหละจึงจะไปสุดได้ ถ้าใจอ่อนแอ ไปไม่ได้ดอก ต้องใจแข็งแกร่งทีเดียวจึงไปได้"

                            (จาก ธรรมนิยามสูตร แสดงเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๗  )


มัวชมสวนดอกไม้ไม่ไปที่สุด

                             "พวกเราทั้งหลายนี้ไม่ได้ไปกันเลย เฉยๆ อยู่ มัวชมสวนดอกไม้ในโลกอยู่นี่เอง ชมรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง ก็อยู่ที่เดียวนั่นเอง ไม่ได้ไปไหนกับเขาเลย

                             นี้พวกจะไปก็ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา จะไปให้สุดวิราคธาตุวิราคธรรม

                             อ้าว..ไปๆ ก็เลี้ยวกลับกันเสียแล้ว ไม่ไปกันจริงๆ ไปชมสวนดอกไม้กันอีกแล้ว ไปเพลิดเพลินในบ้านในเรือนกันอีกแล้ว

                             อ้าวไปๆ ก็จะไปอีกแล้ว ไปๆ ก็กลับเสียอีกแล้ว พวกเรานี้แหละกลับกลอกๆ อยู่อย่างนี้แหละ จะเอาตัวไม่รอดชีวิตไม่พอ"

(จาก ธรรมนิยามสูตร แสดงเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๗  )


รีบเอาชนะให้ได้

                            "เมื่อปรากฏรู้ตัวว่าเป็นทาสพระยามารอยู่เช่นนี้ ก็ต้องช่วยรีบเปลื้องตัว ต้องรีบพยายามแก้ตัว ถ้ารีบพยายามแก้ตัวให้พ้นไปเสียได้ ก็จะไม่ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เอาชนะเสียให้ได้"

(จากปัพพโตปมคาถา แสดงเมื่อวันที่ ๒  มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗   )

                            หนทางชนะนั้นมีอยู่ แต่ถ้าไม่สู้ก็ต้องแพ้อยู่ร่ำไป ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอย่างหลีกไม่พ้น แต่ถ้าสู้ หนทางชนะก็มองเห็นอยู่รำไร

                             เป้าหมายแห่งชัยชนะที่หลวงพ่อวัดปากน้ำปรารถนาจะไปให้ถึงนั้น เป็นวิสัยของผู้ที่มีน้ำใจอันอาจหาญ เด็ดเดี่ยวทิ้งทุกสิ่งแล้วมุ่งแสวงหาไปสู่จุดแห่งชัยชนะ จึงจะกระทำความสำเร็จได้ วิสัยเช่นนี้ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่ยังครองเรือนอยู่จะพึงกระทำ หากแต่อยู่ในวิสัยของผู้ที่ละทิ้งบ้านเรือนมุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์ที่จะปลดปล่อยตนเอง และมวลมนุษยชาติให้หลุดพ้นจากการเป็นบ่าวทาส ของพระยามาร

                             หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านทิ้งชีวิตฆราวาที่อาศัยอยู่ในบ้านเรือน ออกบวชเป็นพระภิกษุเพื่อแสวงหา "ที่สุด"ชีวิตนักบวชอย่างท่าน เป็นตัวอย่างชีวิตที่ไม่กลับกลอกไม่ใช่ "ไปๆ ก็กลับเสียอีกแล้ว"สึกออกไปแล้ว ชีวิตท่านมีเป้าหมาย อยู่อย่างมีเป้าหมาย แม้สิ้นชีวิตในชาตินี้แล้ว เป้าหมายของท่านก็ยังคงอยู่

                             หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเป็นคนธรรมดา รูปร่างหน้าตาก็เหมือนคนธรรมดา แต่ท่านไม่ธรรมดา เพราะท่านมีความปรารถนาที่คนธรรมดาไม่เคยคิด

                             บุคคลที่มีความปรารถนาไม่ธรรมดาเช่นนี้ จากคนกี่ล้านล้านล้านล้านคนจะหาได้ผ่านการเกิดและตายกี่ล้านล้านล้านล้านหน จึงจะมีโอกาสได้พบ และเมื่อเป็นบุญลาภที่สั่งสมมาด้วยดีทำให้ได้มีโอกาสประสบพบท่าน แม้จะเกิดไม่ทัน แต่ก็ยังได้พบคำสอนที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันเช่นนี้แล้ว จะมีโอกาสที่จะได้ติดตามหลวงพ่อวัดปากน้ำไปได้อย่างไร

                             หากท่านรู้สึกเช่นนี้ มีความกล้า มีน้ำใจอันอาจหาญที่จะร่วมเดินทางไปกับหลวงพ่อวัดปากน้ำแล้ว ขอเชิญปลุกขวัญและกำลังใจสาวเท้าร่วมกันเข้ามา ตามรอย จะนำพาท่านผู้อ่านไปสู่การเข้าร่วมรบเอาชนะมาร ร่วมเดินทางไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่กับหลวงพ่อวัดปากน้ำในครั้งนี้

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012532353401184 Mins