เหมือนดวงอาทิตย์
"เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมืดเสียได้ ดำรงอยู่เหมือนดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นมากำจัดความมืดทำอากาศให้สว่างฉะนั้น"
ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแก่พราหมณ์นั้น เราควรจะรู้ ธรรมอะไรที่ปรากฏแก่พราหมณ์น่ะ และก็บอกลักษณะท่าทางไว้ให้เสร็จ เสมือนดวงอาทิตย์ขึ้นไปแล้วกำจัดความมืดทำอากาศให้สว่าง
นี้เป็นข้อใหญ่ใจความสำคัญนัก จะเอาธรรมตรงไหน ดวงไหนสิ้นไหน อันไหนกัน ธรรมที่เกิดขึ้นแก่พราหมณ์น่ะ ถ้าว่าไม่รู้จักธรรมดวงนั้นฟังไปเถอะสัก ๑๐๐ ครั้งก็ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้เรื่องได้ราวทีเดียว อุทานคาถานี้ลึกซึ้งอยู่ไม่ใช่ของง่าย เผอิญจะต้องกล่าวไว้ย่อ ไม่ได้กล่าวพิศดาร เรียกว่า อุทานคาถา
ธรรมที่ปรากฏแก่พราหมณ์น่ะ เป็นมนุษย์หญิงก็ดีชายก็ดีทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตไม่ว่า ที่ปรากฏอยู่บัดนี้มีธรรมบังเกิดขึ้นกับใจบ้างไหมที่ปรากฏอยู่เสมอน่ะ บางคนมีบางคนก็ไม่มีที่ไม่มีนั้นเทียบด้วยคนตาบอดที่ธรรมปรากฏขึ้นแล้วน่ะเทียบด้วยคนตาดี
เรื่องนี้พระองค์ทรงรับสั่งในเรื่องธรรมว่า ทิฏฐธมฺมสุขวิหารี ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันทันตาเห็น ธรรมที่บังเกิดปรากฏอยู่กับตัวน่ะ พวกมีธรรมกายมีธรรมปรากฏแก่ตัวเสมอ พวกไม่มีธรรมกายนานๆ จะปรากฏธรรมสักครั้งหนึ่งธรรมที่ปรากฏขึ้นน่ะประจำตัวเชียวนะ ติดอยู่กับใจของบุคคลนั้นสว่างไสวถ้าปฏิบัติดีๆ เหมือนดวงอาทิตย์ในกลางวันเชียวนะ แจ่มจ้าอยู่เสมอ แต่ว่าใจนั้นต้องจดอยู่กับธรรม
ถ้าว่าใจไม่จดกับธรรม หรือธรรมไม่ติดอยู่กับใจละก็ ความสว่างนั้นก็หายไปเสีย เหมือนอย่างตามประทีปในเวลากลางวัน ประทีปอย่างย่อมๆ ความสว่างก็น้อย ประทีปนั้นขยายออกไปความสว่างก็ขยายออกไป อย่างนั้นแหละฉันใด ธรรมก็หลายดวงสว่างต่างกันอย่างนั้นเหมือนกัน
จากพระธรรมเทศนาเรื่อง "อุทานคาถา"
๒๑ มีนาคม ๒๔๙๗