กัณฑ์ที่ ๐๗
มงคลกถา
การอยู่ในประเทศอันสมควร ๑
ความเป็นผู้มีบุญอันทำแล้วในกาลก่อน ๑
ตั้งตนไว้ชอบ ๑
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺสฺส ฯ (๓ ครั้ง)
ปฏิรูปเทสวาโส จ ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา
อตฺตสมฺมาปณิธิ จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมนฺติฯ
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจักได้แสดงมงคลกถา วาจาเครื่องกล่าวปรารภเหตุเครื่องถึงความเจริญ ดังนี้ เป็นข้อใหญ่ใจความ ในสากลโลกต้องการความเจริญด้วยกันทั้งนั้นหลีกเลี่ยงหนีความเสื่อมสิ้นด้วยกันทั้งนั้น ความเสื่อมเป็นอนิฏฐผล ไม่เป็นที่ปรารถนาแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าความเจริญเล่าเป็นอิฏฐผลเป็นที่ปรารถนาแก่ประชาชนหมู่เหล่าดุจเดียวกัน เมื่อเป็นดังนั้น จงมนสิการกำหนดไว้ในใจ ในเวลาที่สดับตรับฟังพระธรรมเทศนาสืบต่อไป ในสัปดาห์ก่อนโน้นได้แสดงตามวาระพระบาลีว่า อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ปูชา จ ปูชะนียานํ การไม่คบคนพาลคบแต่บัณฑิต บูชาแต่สิ่งที่ควรบูชา สามข้อนี้เป็นเหตุแห่งเครื่องถึงความเจริญโดยแท้ได้มาแสดงแล้ว
วันนี้จะแสดงใน ปฏิรูปเทสวาโส เป็นลำดับไปการอยู่ในประเทศอันสมควรเรียกว่า ปฏิรูปเทสวาโส ปุพฺเพ จ กตปุญิญตา ความเป็นผู้ได้กระทำความดีไว้ในปางก่อน อตฺคสมฺมาปณิธิ จ การตั้งตนไว้ชอบ เอตมฺมงคลมุตฺตมํ สามข้อนี้เป็นเหตุเครื่องถึงความเจริญสูงสุด นี่ตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ต่อแต่นี้จะอรรถาธิบายขยายความเป็นลำดับไป
ปฏิรูปเทสวาโส การอยู่ในประเทศสมควรนั้น เราต้องรู้จักประเทศ คือประเทศที่เราอยู่ในบัดนี้เรียกว่าประเทศไทยมีประเทศอื่นอยู่รั้วรอบขอบชิตเรียกว่าประเทศใกล้ชิดติดกัน ประเทศอินโดจีนนี้ก็เป็นประเทศ ประเทศลาวก็เป็นประเทศ ประเทศพม่านี้ก็เป็นประเทศ ต่ออกไปจากประเทศพม่าก็เป็นประเทศอินเดีย ประเทศลังกาต่อไปอีก ไปทางยุโรปมีมากประเทศเลยทีเดียว ประเทศอังกฤษ ประเทศฝรั่งเศส กว้างออกไปอีกคือประเทศเยอรมัน และประเทศเยอรมันนั้นเป็นประเทศลอกแลกตายแล้วกลับฟื้นคืน เวลานี้ฟื้นขึ้นแล้วฟื้นขึ้นครึ่งประเทศ ยังไม่ฟื้นหมดประเทศ แปลก ประเทศก็รู้จักเป็นรู้จักตายเหมือนกัน เมื่อรู้จักหลักอันนี้ประเทศนั้นแหละเป็นอันสำคัญถ้าว่ามนุษย์อยู่ในประเทศใดไม่มีพุทธศาสนา ประเทศนั้นเป็นประเทศเรียกว่าไม่มีศาสนาแน่นอน ประเทศเหล่านี้เรียกว่าประเทศโยกคลอน เพราะศาสนาเป็นตัวสำคัญของประเทศนัก ถ้าประเทศใดมามีพุทธศาสนาที่แน่นอน ประเทศนั้นก็เป็นหลักฐานเป็นประเทศที่เป็นหลักเป็นประธานของโลกทีเดียว ในบัดนี้ประเทศต่างๆ พุทธศาสนาง่อนแง่นคลอนแคลน ในแหลมทองมีอยู่ ๕ ประเทศ ประเทศลาว มอญ พม่า ประเทศเขมรและประเทศไทย ห้าประเทศนี้เป็นประเทศที่นับถือพุทธศาสนา มีศาสนาแน่นแฟ้น ไม่ยักเยื้องแปรผันไปตามใคร พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีคำสอนเป็นนิยยานิกธรรมจริง ๆ นำสัตว์ออกจากไตรภพแท้ ๆ เรียกว่ากระแสพระพุทธฏีกาสืบลำดับของโลกของธรรมมา พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกก็ขนเวไนยสรรพสัตว์ให้พ้นจากไตรวัฏ ๒๔ อสงไชยเศษ ทุก ๆ พระองค์มา
บัดนี้เราเกิดมาเป็นคนไทย เราได้อยู่ในประเทศ มีศาสนาปรากฏอยู่ในประเทศไทยนี้เรียกว่า พุทธศาสนา เราเป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตั้งอยู่ในพุทธศาสนาด้วยนี้เป็นปฏิรูปเทศ ไม่ใช่อื่น ตรงนี้เป็นปฏิรูปเทศ เมื่อครั้งพุทธกาลโน้น อินเดียเป็นปฏิรูปเทศ แล้วต่อมาลังกาเป็นปฏิรูปเทศบัดนี้อินเดียไม่เป็นปฏิรูปเทศเสียแล้ว เท่ากับมีลักขประเทศที่มีศาสนาฟั่นเฟือนหมดแล้ว เราไม่สมควรจะไปประพฤติปฏิบัติ เวลานี้พุทธศาสนารุ่งโรจน์อยู่ในประเทศไทยแห่งเดียว ประเทศพม่า ประเทศเขมร ประเทศลาว เขาก็พอใช้เขาก็ดีเหมือนกัน
แต่ว่าแน่นแฟ้นสำคัญไม่รู้จักแยกแตกสลายละก็ต้องประเทศไทย เพราะเรามีพระเจ้าแผ่นดินเป็นอัครศาสนูปถัมภ์ทีเดียวเรียกว่าอุปถัมภ์ศาสนาอย่างเลิศ พระเจ้าแผ่นดินเป็นศาสนูปถัมภ์ทีเดียว นี่ก็เป็นปฏิรูปเทศ ประเทศที่สมควรที่เราจะพึงประพฤติปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ให้ถูกต้องร่องรอยความประสงค์ของพระพุทธศาสนาได้ ดังนี้เป็นปฏิรูปเทศ เรามาอยู่ในประเทศเช่นนี้แล้ว เราสมควรที่จะดำเนินให้ถูกต้องร่องรอยความประสงค์ของทางพุทธศาสนาที่จะดำเนินได้ถูกต้องร่องรอยความประสงค์ของทางพุทธศาสนาน่ะ จะดำเนินอย่างไร ต้องแก้ไขใจของเราให้หยุดเสียก่อนหยุดที่ไหน ต้องหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้ายกลางกั๊กนั่น ตรงนั้นเวลาเรามาเกิดใจเราต้องหยุดตรงนั้น เวลาเราหลับใจเราต้องหยุดตรงนั้น เวลาเราตายใจเราต้องหยุดตรงนั้น เวลาเราตื่นใจเราตื่นตรงนั้นแหละ จุดนั้นแหละเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น มีจุดเดียว ต้องเอาใจของเราไปจรดนิ่งอยู่ตรงนั้นแหละ ทำใจให้หยุดแก้ไขใจให้หยุด ใจหยุดขณะใด ขณะนั้นต้องถูกร่องรอยความประสงค์ของทางพุทธศาสนาถ้าใจไม่หยุดละก็ไม่ถูกต้องร่องรอยความประสงค์ทางพุทธศาสนา ถ้าใจหยุดละก็ถูกต้องร่องรอยความประสงค์ของทางพุทธศาสนาแท้ ตรงกับกระแสพระโอษฐ์ของพระบรมศาสดา ได้ทรงประทานให้นัยแก่พระองคุลีมาร จนองคุลีมารละพยศ หมดพยศแล้วยอมจำนนแก่พระศาสดาแล้วเปล่งวาจาว่า “สมณะหยุด ๆ” พระองค์ทรงเหลียวพระพักตร์มาแล้วตรัสว่า “สมณะหยุดแล้วแต่ท่านไม่หยุด” นั่น หยุดอันนั้นเป็นพระกระแสพระดำรัสของพระบรมศาสดา หยุดนั่นแหละถูกต้องร่องรอยความประสงค์ของทางพุทธศาสนาถ้าไม่หยุดละก็เลอะละ แต่ถ้าพอหยุดได้แล้วอย่าออกจากหยุดหนา กลางของกลางที่หยุดนั้นแหละ กลางของกลางหนักเข้าไปอย่าถอยออก ถ้าถอยออกผิดความประสงค์ กลางของกลางเข้าไปนั้นแหละตั้งแต่ต้นจนถึงพระอรหัต ไม่ให้คลาดเคลื่อนความหยุดอันนี้ เมื่อเราไปพบประเทศอันสมควรเข้าเช่นนั้นแล้ว เราจะต้องพึงปฏิบัติให้ถูกส่วน ประเทศที่สมควรเป็นประเทศกลาง กลางนั้นแหละที่ใจหยุดเป็นประเทศกลาง
ที่กล่าวมาแล้วเป็นประเทศข้างนอก ประเทศข้างในต้องหยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ หยุดตรงนั้น จึงจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่สมควรทีเดียว หยุดตรงนั้นถูกมัชฌิมประเทศ ถูกมัชฌิมาปฏิปทาข้อปฏิบัติเป็นกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดทั้งสองอย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค กับ อัตตกิลมถานุโยค เป็นมัชฏิมาปฏิปทาแท้
เหตุนี้แหละ ท่านทั้งหลายที่ได้ผ่านมาประสบพระพุทธศาสนา ต้องหยุดตรงนี้แหละ จับหลักอันนี้ให้ได้ ถ้าจับหลักตรงนี้ไม่ได้ก็ไม่ถูกร่องรอยทางพุทธศาสนา ถึงจะปฏิบัติศาสนาสัก ๕๐ พรรษา ๘๐-๙๐ หรือแม้จะเป็นหญิงเป็นชายชนิดใดก็ช่าง เข้าทางนี้ไม่ถูกก็เหลว ไม่ถูกต้องร่องรอยทางพุทธศาสนา
ที่จะถูกต้องร่องรอยทางพุทธศาสนาต้องอาศัย อตฺตสมฺมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ ตั้งตนไว้ถูก ตั้งตนไว้ชอบ ตั้งตนไว้ถูกตั้งกันอย่างไร ต้องรู้จักตนเสียก่อนหนา ถ้าไม่รู้จักตนจะไปตั้งเลอะ ๆ เทอะ ๆ ที่เรียกว่า อัตฺตสมฺมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบไว้ถูกนั่นอะไร อตฺตานํ สุขทุกขํ ภคฺคตีติ อตตา สภาพอันได้รับสุขรับทุกข์ สภาพอันนั้นชื่อว่าตน ก็บัดนี้กายมนุษย์รับสุขรับทุกข์อยู่สุขมันก็รู้ ทุกข์มันก็รู้ เมื่อรับสุขรับทุกข์อยู่ต้องตั้งตนไว้ชอบ ตั้งตนไว้ชอบตั้งกันอย่างไร ขั้นต้นต้องตั้งตนไว้ในทาน ตั้งตนไว้ในศีลตั้งตนไว้ในการเจริญภาวนานี่เป็นการตั้งตนไว้ชอบของกายมนุษย์หยาบ
ส่วนการตั้งตนไว้ชอบของกายมนุษย์ละเอียด กายมนุษย์ละเอียดคือกายที่ฝันออกไป เอากายมนุษย์ละเอียดมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายมนุษย์หยาบ ที่หยุดนิ่งนั้นแหละที่เรียกว่า อตฺตสมฺมาปณิธิ แท้ เมื่อถูกหลักเช่นนี้แล้วหยุดเป็นลำดับเข้าไป เมื่อกายมนุษย์ละเอียดหยุดนิ่ง ที่หยุดนิ่งนั้นแล้ว กายทิพย์หยุดไปตามส่วนกัน กายทิพย์ละเอียดก็หยุดไปตามด้วย ตนของกายรูปพรหมก็ต้องหยุดให้ถูกส่วน ตนของกายอรูปพรหมละเอียดก็ต้องหยุดให้ถูกส่วนกัน กายรูปพรหม อรูปพรหม ต้องหยุดให้ถูกส่วนกันดังนี้ ตลอดจนกระทั่งถึงกายธรรม พอถึงกายธรรมก็ต้องหยุดให้ถูกจุด นิ่งที่จุดหยุดนั้น หยุดนิ่งจุดอื่นไม่เอา จนกระทั่งถึงกายธรรมละเอียด กายธรรมพระโสดาละเอียด เข้าถึงกายธรรมพระสกทาคา พระสกทาคาละเอียด เข้าถึงพระกายอนาคา พระอนาคาละเอียด เข้าถึงกายพระอรหัต พระอรหัตละเอียด เมื่อเข้าถึงถูกต้องร่องรอย ดังนี้เรียกว่า อตฺตสมฺมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
เมื่อตั้งตนไว้ชอบเช่นนี้ ทำอย่างไรจึงได้ชื่อว่า ปุพฺเพ กตปุญฺญตา ความเป็นผู้กระทำความดีไว้แต่ในปางก่อนเพราะตนได้อบรมสั่งสมบารมีมาแล้วตั้งแต่อเนกชาติสมควรแล้วครบ ๑๐๐,๐๐๐ กัปแล้วมาพบพระพุทธศาสนาอาจได้สำเร็จมรรคผลทีเดียวเพราบารมีพอแล้ว ทำอะไรที่เรียกว่าทำความดีน่ะ ? ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์อย่างนี้น่ะ ชาติก่อนที่แล้ว ๆ มา ได้อุส่าห์ให้ทานตามความสามารถและตามกำลังของตน ตามส่วนที่จะพึงให้ได้ บำเพ็ญทานไปดังนี้แหละ ของนอกกายมีเท่าไร ๆ ให้ไปให้หมด ไม่เหลือไว้เลย ดังนี้เรียกว่าทานบารมี เนื้อและเลือดก็ให้ได้ เว้นแต่ชีวิตเท่านั้น ให้ดังนี้เรียกว่าทานอุปบารมีให้ชีวิตเป็นทานก็ได้ นี้เรียกว่า ทานปรมัตถบารมี เมื่อให้ของนอกกายได้ตลอดถึงชีวิตและเลือดเนื้อเช่นนี้ได้ชื่อว่าตนได้บำเพ็ญทานของตน ไม่ใช่แค่ให้เท่านั้นให้สูงยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ครบปัญจมหาบริจาค ทานบารมี ทานอุปบารมี ทานปรมัตถบารมี ให้ได้เกินกว่านั้นเรียกว่า ปุตตบิรจาค ให้ลูกเป็นทานก็ได้ ให้ผัวเป็นทานก็ได้ การให้อย่างนี้สูง ไม่ใช่ให้ง่าย ๆ สละยากนัก คนใจไม่มั่นหมายในทานให้ไม่ได้ ถ้ามั่นหมายในทานจึงจะให้ได้ เพราะฉะนั้น ปุพฺเพ กตปุญิญตา ต้องทำความดีไว้ในปางก่อนต้องบำเพ็ญทานให้มั่นหมาย ไม่ใช่บำเพ็ญง่อนแง่นคลอนแคลน ให้ทานเป็นของนอกกาย ให้ตลอดจนชีวิตและเลือดเนื้อ อย่างนี้เรียกว่าให้ทานจริงจัง คนที่สร้างบารมีต้องสร้างกันอย่างนี้ เรียกว่าทำความดีไว้ในชาติปางก่อน เรียกว่าทานบารมี
ศีลบารมีอีกดุจเดียวกัน การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่มีเศร้าหมองด่างพร้อยอย่างหนึ่งอย่างใด ศีลบริสุทธิ์แท้ ๆ แน่วแน่ทีเดียวแม้สมบัตินอกกายจะวอดวายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ยอมให้ศีลเป็นอันตรายเรียกว่าศีลบารมี แม้เลือดเนื้อจะเป็นอันตรายไม่ยอมให้ศีลขาดเรียกว่า ศีลอุปบารมี แม้ชีวิตจะดับไปเดี๋ยวนี้ก็ไม่ยอมให้ศีลขาดเรียกว่า ศีลปรมัตถบารมี เมื่อสมบูรณ์บริบรูณ์ด้วนสีลเช่นนี้เรียกว่า ปุพฺเพ กตปุญฺญตา ความดีที่ทำไว้ในชาติก่อน
เจริญภาวนาเล่าก็ดุจเดียวกัน เสียสมบัติภายนอกกายเว้นไว้แต่ชีวิตและเลือดเนื้อไม่ยอมให้เสียทางภาวนา เนื้อและเลือดจะแห้งเหือดไปหมดก็ไม่ว่า ไม่ยอมให้เสียทางภาวนา แม้ชีวิตจะดับไปก็ไม่ยอมให้เสียงทางภาวนา มั่นหมายในทางภาวนาที่เดียว อย่างนี้เรียกว่า ภาวนาบารมี ภาวนาอุปบารมี ภาวนาปรมัตถบารมี ดุจเดียวกัน บำเพ็ญให้มั่นหมายในขันธสันดานเรียกว่า ปุพฺเพ กตปุญฺญตา ความเป็นผู้กระทำความดีไว้ในชาติปางก่อน
อุทาหรณ์ที่จะชักให้เห็นนั้นมีมาก ดังท่านผู้ปกครองประเทศ เช่นพระเจ้าแผ่นดินทำไมจึงเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็เพราะท่านเหล่านี้เป็นผู้ได้สั่งสมความดีไว้ในชาติปางก่อน การเกิดเป็นกษัตริย์หรือเป็นพระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่ของเกิดยาก ดังเช่น ทุกขตบุรุษ บุรุษทำการรับจ้างของอนาถปิณฑิกเศรษฐีในเมืองสาวัตถี ในครั้งกระนั้น เวลาทุกขตบุรุษเสร็จการรับจ้ากลับมาเป็นเวลาเย็นเป็นวัน ๘ ค่ำ แม่ครัวเขาก็หุงข้าวไว้ให้ แล้วก็ยกมาให้ทุกขตบุรุษ ทุกขตบุรุษจึงถามว่า “ท่านเจ้าข้าคนในบ้านเป็นอันมาก เคยเอิกเกริกโกลาหล หายไปไหนเล่า เงียบเชียบไปหมด” แม่ครัวก็บอกว่า “คนในบ้านนี้เวลาวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เขารักษาศีลกันทั้งหมดบ้าน เด็กเล็กก็ต้องรักษาศีลกันทั้งนั้น เขาไม่รับประทานอาหารเย็นกันดอก” ทุกขตบุรุษนึกแต่ในใจว่า “เอ๊ะเราทำการรับจ้างในบ้านที่เขารักษาศีลกัน เราเป็นคนไม่รักษาศีลมันก็ขัดจังหวะกัน ไม่ได้นา ชอบกล ศีลก็เป็นของรักษาได้ยาก เขาเป็นคนมั่งมีถึงขนาดนี้ เขายังรักษาศีลกันทั้งบ้านทั้งช่อง เราจนถึงขนาดนี้ใจยังหยาบช้ากล้าแข็ง ไม่รักษาศีลกับเขาบ้างล่ะ” คิดดังนี้แล้วก็ถามแม่ครัวว่า “ฉันจะรักษาศีลได้ไหมล่ะ” แม่ครัวก็บอกว่า “ฉันจะไปถามนายดูก่อน” แม่ครัวก็รีบไปถามท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีว่า “บุรุษทำการับจ้างเขาจะรักษาศีลบ้างได้ไหมเจ้าคะ” ท่าอนาถปิณฑิกเศรษฐีก็บอกว่า “ได้ซี แต่ว่าเป็นอุโบสถครึ่งวันนะ ไม่ได้เต็มวันเพราะมันจะค่ำเสียแล้ว หมดวันเสียแล้วกึ่งวันเท่านั้น รักษาได้สมาทานอุโบสถทีเดียว” เมื่อสมาทานอุโบสถเรียบร้อยแล้ว พอค่ำ ๆ ตอนดึก ๆ หน่อยเอ้าปวดท้องเข้าแล้ว เพราะอ้ายท้องมันหิว เพราะทำงานเหนื่อยมากมันแสบท้องเหมือนหิวเต็มที่ แม่ครัวก็ไปบอกท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีว่า บุรุษที่รักษาศีลปวดท้องเสียแล้วเพราะความหิว ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีก็บอกแก่แม่ครัวว่า ทำน้ำอัฏฐบาลให้ดื่มเสียซิ แม่ครัวก็จัดแจงทำน้ำอัฏฐบาลมาให้ บุรุษนั้นไม่ยอมดื่ม แล้วกล่าวว่า “ท่านทำไมไม่ดื่มบ้างล่ะ” “ฉันไม่ได้เป็นอะไรนี่ จะดื่มไปทำไมล่ะ” “ท่านเป็นโรคดื่มน้ำอัฏฐบาลเสียซิโรคปวดท้องจะได้หาย” บุรุษนั้นจะดื่ม ก็ศีลของตัวกึ่งวันเท่านั้น กลัวจะเป็นอันตรายต่อศีล กลัวศีลจะไม่บริสุทธิ์จึงพูดว่า “เมื่อท่านไม่ดื่ม ฉันก็ไม่ดื่ม ตายก็ตายไปเถิด เป็นอะไรก็เป็นไป ไม่ดื่มเหมือนกัน” ก็ทนต่อไป พอตกตอนดึก ๆ ก็ปวดท้องเข้าเต็มที พอรุ่งเช้าขึ้นเต็มที จะตายอยู่แล้ว จวนตายเต็มที ก็พอดีพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จผ่านไปทางนั้น พอใกล้จะตาเห็นพระเจ้าปเสนทิโกศล นึกในใจว่า “ด้วยบุญกุศลของเราที่ได้รักษาศีลกึ่งวันนี้ขอให้ได้ไปเกิดเป็นพระราชโอรสพระเจ้าปเสนทิโกศล" พออธิษฐานใจดังนั้นก็แตกกายทำลายขันธ์จากอัตภาพร่างกาย เข้าไปอยู่ในศูนย์กลางกายพระเจ้าสเปนทิโกศล ลูกไปเกิดในท้องพ่อ เข้าไปทางช่องจมูกขวา ไปอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ของพระเจ้าสเปนทิโกศลพอถึงเวลาพระเจ้าสเปนทิโกศลประกอบธาตุธรรมถูกส่วนอยู่ร่วมกับพระมเหสีถูกส่วนเข้า บังคับกายสัมภเวสีนั้นตกศูนย์ ก็ออกจากท้องพระเจ้าสเปนทิโกศลออกทางจมูกขวาเข้าทางจมูกซ้ายของมารดา ไปเป็นกลรูปติดที่ขั้วมดลูกในท้องของพระมเหสี เหมือนกับอนาถปิณฑิกเศรษฐี อุ้มเด็กกุมารส่งให้ภรรยาเลี้ยงไว้ในท้อง พอเจริญครบ ๑๐ เดือนก็ประสูติออกมาเป็นราชกุมาร เป็นโอรสของพระเจ้าสเปนทิโกศล รักษาศีลกึ่งวันเท่านั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ได้เสวยราชสมบัติสืบต่อพระเจ้าสเปนทิโกศลเมื่อพระเจ้าสเปนทิโกศลสวรรคตแล้ว นี่เป็น ปุพฺเพ กตปุญฺญตา อย่างนี้ทำความดีเข้าไว้ เขาได้รักษาศีลจริงๆ ศีลบริสุทธิ์จริง ๆ ยอมตายไม่ให้ศีลเป็นอันตราย นี่เขาเรียกว่า ปุพฺเพ กตปุญฺญตา ทำความดีอย่างนี้ก็ได้เกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินปรากฏอย่างนี้
ไม่ใช่แต่เท่านั้น เหมือนดังลาชเทวธิดาเฝ้าไร่ข้าวสาลี เมื่อเห็นพระมหาอริยกัสสปะเดินทางมา มีศรัทธาเลื่อมใสเข้าไปในท้องนา ไปเอาข้าวตอกที่ตัวเตรียมเอาไปไว้สำหรับรับประทานในกลางวัน เอาออกมาคอยอยู่ พอพระคุณเจ้าพระมหาอริยกัสสปะมาใกล้ “ติฏฺฐถ ภนฺเต นิมนต์โปรดก่อนเจ้าค่ะ” พระมหาอริยกัสสปะก็รออยู่ นางก็เอาข้าวตอกยกมือขึ้นทูลศีรษะ แล้วขออาราธนาพระคุณเจ้าเปิดบาตร พระคุณเจ้าก็เปิดบาตร นางก็ใส่ข้าวตอกลงไปครึ่งขัน ท่านก็ปิดบาตร พอครึ่งขันก็ปิดบาตรเสียแล้วนี่เขาเรียกว่ารู้จักประมาณในการรับ เขาให้ละก็รับเรื่อยเปื่อยไปมันก็เดือดร้อนนะซิ เขาก็รับประทานเหมือนกัน ให้เขาครึ่งเอาครึ่ง เอาข้าวตอกครึ่งเดียวปิดบาตรเสียแล้วนางนั่นนั่งลงยกมือขึ้นไหว้ว่า “ปรโลกํ สงฺคหํ กโรถ ขอนิมนต์พระคุณเจ้าโปรดฉันข้างหน้าเถิด” โลกนี้อย่าโปรดเลย โปรดโลกหน้าเถิด” พระมหาอริยกัสสปะก็เปิดบาตร นางก็ใส่ข้าวตอกหมด ดีอกดีใจ ปลื้มอกปลื้มใจ พระมหาอริยกัสสปะท่านรับข้าวตอกแล้วท่านก็ไปเลย เดินทางไปตามคันนา นางก็ตามส่งพระผู้เป็นเจ้ามหาอริยกัสสปะ ไปถึงคันนาตอนหญ้ารกปกคลุม อสรพิษมันอยู่ในที่นั้น พระมหาอริยกัสสปะเดินไปข้างหน้ามันไม่ได้กัดเมื่อนางเดินผ่านไปมันก็ออกจากปล่องขบเอาแข้งนางล้มลง ณ ที่นั้น สุปฺปพุทฺโธ วิย ดุจดัวราวกับว่าตื่นจากหลับ สุวณฺณวิมาเน อุปฺปชฺชิ ก็บังเกิดในวิมานทอง ห้อยย้อยไปด้วยสายข้าวตอกในชายวิมานงดงามยิ่งนักหนา เมื่อลมทิพย์พัดมาอ่อน ๆ ดังประหนึ่งปัญจางคดุริยางค์ดนตรี ไพเราะเสนาะสนานประสานเสียง นางก็นึกแต่ในใจว่า โอ เรามาเกิดนี้ด้วยกุศลอันใด ก็รู้ว่าถวายข้าวตอกแก่พระมหาอริยกัสสปะจึงได้มาเกิด งูกัดเข้าล้มตายอยู่ตรงนั้น ซากศพยังปรากฏอยู่นั้น เราต้องแก้ไขสมบัติของเราให้ตั้งมั่นต่อไป ทำบุญนิดหนึ่งเท่านี้ได้สมบัติมากมายขนาดนี้ กลัวจะไม่ตั้งมั่นสิ้นกาลนาน คิดดังนั้นแล้วเวลารุ่งเช้าของมนุษย์โลกนางก็ถือเอากระเช้าทองลงมา สู่วิหารที่อยู่ของพระมหาอริยกัสสปะ มาปฏิบัติปัดกวาดปูลาดอาสนะตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้ เรียบร้อยสำหรับพระมหาอริยกัสสปะ พระมหาอริยกัสสปะกลับจากบิณฑบาต “เอ๊ะ นี่ใครมาปฏิบัติอยู่นี่ จะเป็นภิกษุหนุ่มหรือสามเณรหรือ” รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งนางก็มาทำดังนั้นอีก ทำเสร็จแล้วก็กลับไป “เอ นี่จะเป็นภิกษุหนุ่มหรือสามเณรหนอมาทำ” พอรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พระผู้เป็นเจ้าไปครึ่งเวลาเท่าที่เคยไป แล้วกลับมาดูที่วิหาร มองไปในช่องดาน “โอสว่างโล่ง แสงสว่างอะไรน่ะ”
นางลาชเทวธิดาตอบว่า “หม่อมฉันเองพระเจ้าค่ะ”
“หม่อมฉันเองน่ะคือใครล่ะ”
หม่อมฉันคือลาชเทวธิดาผู้เป็นอุปัฏฐากของพระคุณเจ้า”
“อุปัฏฐากของเราไม่มีนะ ลาชเทวธิดา”
พอเปิดประตูเข้าไปพระคุณเจ้าก็ไต่ถามว่า
“วานนี้เจ้ามาทำหรือ”
นางก็ตอบรับตามตรงทุกสิ่งทุกอย่าง
“ต่อแต่นี้ไม่ได้หนา เราอยู่ผู้เดียว เจ้าถึงจะเป็นกายทิพย์ก็เป็นผู้หญิง ผู้หญิงกับผู้ชายทางพระพุทธศาสนามีวินัยบัญญัติห้ามนัก ถ้าว่าปฏิบัติกันสองต่อสองเช่นนี้ละก็ นานต่อไปภายภาคเบื้องหน้า พระธรรมกติกาจารย์ขึ้นธรมมมาสน์ ถือพัดวาลวิชนี จะยกกัสสปะนี้ขึ้นเป็นตัวอย่าง ว่าทำชั่วร้ายในศาสนาหนา ผิดธรรมวินัย ท่านจงออกไปเสียเถิด อย่าปฏิบัติเราเลย” “พระคุณเจ้าได้ขอกรุณาหม่อมฉันเถิด ขอให้สมบัติของหม่อมฉันตั้งมั่นต่อไป สมบัติที่ได้นั้นเพราะอาศัยบุญบารมีของพระคุณเจ้า” “ไม่ได้ ออกไปเสียเถอะ จะเป็นตัวอย่างเสียหายในทางพุทธศาสนา”
นางก็อยู่ไม่ได้ ก็ร้องไห้ เสียงร้องไห้ได้ยินเข้าไปในโสตของพระบรมศาสดา พระองค์ทรงสงเคราะห์แสดงพระกายให้ปรากฏต่อหน้านางลาชเทวธิดานั้น นางจะเหาะไปทางไหนพระองค์ก็เทศนาเรื่อยไปต่อหน้านาง นางก็ได้ยินเรื่อยไป กำลังเหาะนั้นแหละฟังเทศน์เรื่อยไป นางได้สำเร็จมรรคผลมาดปรารถนาด้วยความเลื่อมใสศรัทธา นี่เป็นปุพเพกตปุญญตา นางได้กระทำความดี ได้ถวายข้าวตอกแก่พระมหาอริยกัสสปะ แล้วงูกัดตาย ไปเกิดในดาวดึงส์เทวโลก ก็เพราะสำเร็จด้วยบุญที่ตัวได้กระทำไว้ในชาติก่อนภพก่อนอาศัยบุญที่ตัวได้กระทำไว้แล้วจึงได้ไปเป็นเทพธิดา ก็มุ่งมาดปรารถนาจะทำสมบัติให้ตั้งมั่น ก็ได้สมมาดปรารถนา อุตส่าห์ไปปฏิบัติพระมหาอริยกัสสปะ พระบรมศาสดาจึงได้ทรงอนุเคราะห์ให้ได้สำเร็จมรรคผลสมปรารถนา
ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนาก็ต้องอาศัยปุพเพกตปุญญตา ได้กระทำความดีไว้ในปางก่อนจงอตส่าห์พยายามทำความดีให้หนักขึ้นไป ให้เป็นบุญนิธิหนักขึ้นไป เมื่อจะทำได้ด้วยวิธีให้ทาน ก็ให้ทานหนักขึ้นไป เมื่อจะทำได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ก็จงอุตส่าห์พยายามทำให้สุดความสามารถของตนสิ่งที่เป็นที่ตั้งกองการบำเพ็ญกุศลพระบรมทศพลได้ทรงตรัสเทศนาไว้เป็นอเนกประการว่า
ทานการให้ก็ได้ชื่อ ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
ศีลการรักษาได้ชื่อว่า ศีลมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล
ภาวนา การทำให้มีให้เป็น ก็ได้ชื่อว่า ภาวนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการเจริญภาวนา
ประพฤติตกต่ำยำเกรงแต่ตระกูลผู้เจริญกว่าก็ได้ชื่อว่า อปจายนมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่หรือผู้เจริญกว่า การช่วยเหลือในกิจที่ชอบเรียกว่า ไวยาวัจมัย บุญสำเร้จด้วยการขวนขวายในกิจที่ชอบ การให้ความดีแก่ผู้อื่นได้ชื่อว่า ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ความดีแก่ผู้อื่น การอนุโมทนาความดี ไม่อิจฉาริษยาเขาที่เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาบุญของผู้อื่น การสดับตรับฟังธรรมเทศนาของเราท่านในบัดนี้เหมือภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาที่ฟังอยู่ ณ บัดนี้ได้ชื่อว่า ธรรมสวนมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการแสดงธรรมให้แก่ผู้อื่นทั้ง ๙ อย่าง ได้ชื่อว่าเป็น ทิฏฐุชุกรรม เป็นการทำความเห็นให้ตรง ถูกต้องร่องรอยตามความประสงค์ของทางพุทธศาสนา เรียกว่า ทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นของตนให้ตรง
สิ่งเป็นที่ตั้งของการบำเพ็ญบุญมีถึง ๑๐ ประการ ในวันหนึ่ง ๆ เราบำเพ็ญหลายประการ เหมือนเราท่านในบัดนี้ก็ได้บำเพ็ญหลายอย่างด้วยกัน ทานมัยให้ทานแล้ว ก็มารักษาศีลที่เรียกว่าศีลมัย รักษาศีลแล้วก็ไปเจริญภาวนาเรียกว่าภาวนามัย แล้วไปอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เรียกว่าอปจายนมัย การช่วยทำครัวเลี้ยงพระเจ้าพระสงฆ์อย่างนี้ก็เรียกว่าไวยาวัจมัย ให้คนโน้นเขาประเคนบ้าง ให้คนนี้เขาประเคนบ้างสิ่งของของตนให้คนอื่นเขาให้ทานบ้างเรียกว่าปัตติทานมัย การแสดงธรรมให้บุคคลผู้อื่นฟังจำได้เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็นำไปแสดงให้ผู้อื่นฟังบ้างเรียกว่าธรรม เทศนามัย การทำความเห็นของตนให้ตรงต่อความประสงค์ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ทิฏฐุชุกรรม
ได้ชี้แจงแสดงมาในมงคลคาถาทั้ง ๓ ข้อนี้ ข้อต้นว่าอยู่ในประเทศอันสมควร ข้อที่สองว่าได้กระทำความดีไว้ในปางก่อน และข้อที่สามว่า ได้ตั้งตนไว้ชอบ ประกอบด้วยองค์คุณทั้งสามประการนี้ เอตํ มงฺคลํ อุตฺตมํ เป็นเหตุเครื่องถึงซึ่งความเจริญอันสูงสุด นี้ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอเป็นเครื่องปฏิการประคับประคองสนองศรัทธา ประดับสติปัญญาคุฯสมบัติของท่านพุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์บรรพชิต บรรดาที่มาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมาภาพชี้แจงแสดงมา พอสมควรแก่เวลาด้วยอำนาจสัจวาจาที่ได้อ้างธรรมเทศนาตั้งต้นจนอาวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดาที่มาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมาภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลาสมมุติว่า ยุติธรรมมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงนี้แค่นี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้