กัณฑ์ที่ ๖๒
อริยะนคาถา
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ (๓ ครั้ง)
ยสฺส สทฺธา ตถาคต |
อจลา สิปติฏฺฐิตา |
สิลญฺจ ยสฺส กลฺยาณํ |
อริยกนฺตํ ปสํสิตํ |
สงฺเฆ ปสาโท ยสฺสตฺถิ |
อุชิภูตญฺจ ทสฺสนํ |
อทลีทฺโทติ ตํ อาหุ |
อโมฆนฺตสฺส ชีวิตํ |
ตสฺมา สทฺธญฺจ สีลญจ |
ปสาทํ ธมฺมทสฺสนํ |
อนุยุญฺเชถ เมธาวี |
สรํ พุทฺธาน สาสนนฺติ ฯ |
ณ บัดนี้ อาตภาพจักได้แสดงธรรมิกถาแก้ด้วยอริยธนคาถา วาจาเครื่องกล่าวถึงทรัพย์อันประเสริฐพระคาถานี้ การย่อย่นเนื้อความแห่งธรรมเทศนาของพระรัตนตรัยยกไว้ในที่นี้ จะชี้แจงแสดงตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอเป็นเครื่องปฏิการ ประคับประคองสนองศรัทธาประดับสติปัญญา ซึ่งคุณสมบัติของท่านผู้คฤหัสถ์ทั้งบรรพชิตบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า
เริ่มต้นตามวาระพระบาลีด้วย
ยสฺส สทฺธา ตถาคเต อจลา สุปติฏฺฐิตา
ความเชื่อของบุคคลใดไม่กลับกลอกตั้งมั่นดีแล้วในพระตถาคตเจ้าคือ ธรรมกาย
สีลญฺจ ยสฺส กลฺยานํ อริยกนฺตํ ปสํสิตํ
ศีลอันดีงามของบุคคลใด อันพระตถาครเจ้าใคร่สรรเสริญแล้ว
สงฺเฆ ปสาโท ยสฺสตฺถิ ความเชื่อของบุคคลใด ความเชื่อในพระสงฆ์มีอยู่แก่บุคคลใด
อุชุภูตญฺจ ทสฺสนํ ความเห็นตรงมีอยู่แก่บุคคลใด
อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า บุคคลใดไม่ใช่คนจน เป็นคนมั่นมี
อโมฆนฺตสฺส ชีวิตํ ความเป็นอยู่ของบุคคลนั้นไม่เปล่าปราศจากประโยชน์
ตสฺมา สทฺธญฺจ สีลญฺจ ปสาทํ ธมฺมทสฺสนํ
อนุยุญิเชถ เมธาวี สรํ พุทฺธาน สาสนนฺติ
เพราะเหตุนั้น เมื่อบุคคลมาระลึกถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายแล้ว ควรประกอบตามความเชื่อในธรรมกาย คือ พระตถาคตเจ้ส ควรประกอบตามศีล ควรประกอบด้วยกัลยาณศีล อริยกันตศีล ควรประกอบตามความเลื่อมใสในพระสงฆ์ ควรประกอบตามความห็นตรงไว้เนืองๆด้วยประการดังนี้
นี่เนื้อความของพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษาได้ความเท่านี้ ต่อแต่นี้จะอรรถาธิบายขยายความเป็นลำดับไป เราท่านทั้งหลายทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตหญิงชายทุกถ้วนหน้า บรรดานับถือพระพุทธศาสนา เราจะวางความเชื่อของเราไว้ตรงไหน ถึงจะถูกต้องร่องรอยความประสงค์ทางพระพุทธศาสนา ที่เราจะดำเนินให้ถูกทางมรรคผลต่อไป จะวางความเชื่อลงไว้ตรงไหน
ตำราเขาก็บอกไว้แล้ว
ยสฺส สทฺธา ตถาคเต ความเชื่อของบุคคลใดไม่กลับกรอก ตั้งมั่นดีแล้วในพระตถาคตเจ้าคือธรรมกาย ตถาคตน่ะคือธรรมกายนี่เอง หรือแปลเสียอีกนัยหนึ่งว่า ความเชื่อของบุคคลใดไม่กลับกลอกตั้งมั่นดีแล้วในธรรมกาย ตถาคตคือตัวธรรมกายทีเดียว มีตำรารับรองว่า ตถาตสฺสโข เอตํ วาเสฏฐา อธิวจนํ ธมฺมกาโย อิติปิ ว่าดูก่อน วาเสฏฐโคตรทั้งหลาย คำว่าธรรมกาย ธรรมกายน่ะ เป็นตถาคตโดยแท้บอกไว้อย่างนี้ ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ เราผู้ตถาคตคือธรรมกาย วางหลักไว้อย่างนี้ ความเชื่อที่ไม่กลับกลอกตั้งมั่นดีแล้วในพระตถาคตเจ้า นี้ถูกแล้ว แปลอย่างนี้ เราจะต้องวางความเชื่อลงไง้ในธรรมกายนี้อีก นี้วัดปากน้ำค้นพบแล้วได้ตัวจริงแล้ว ไปนรกได้ ไปสวรรค์ได้ ไปนิพพานได้ อาราธนาพระพุทธเจ้าที่อยู่ในพระนิพพาน มาให้มนุษย์เห็นในวัดปากน้ำมีมากมาย ในวันวิสาขะ มาฆะ ให้เห็นจริงเห็นจังกันอย่างนั้น เท่านั้น แปลบาลีศัพท์หนึ่งแปลได้ตั้งร้อย ผู้รู้น้อยว่าแปลผิดไม่ถูก นี่แปลอย่างนี้ถูกเกินถูกอีก แน่นอนทีเดียวความเชื่อของเราต้องตั้งมั่นลงไปในพระตถาคตเจ้า อย่ากลบกลอก ถ้าว่าไม่กลับกลอกเสีย ก็เป็นอันไร้จากประโยชน์ไร้จากผลไม่ถูกต้องความสนใจพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลท่านมีใจตั้งอยู่ในธรรมกายทั้งนั้น ยืนยันอย่างนี้ ตำรานี้ก็ถูกเรียกว่าอริยธนคาถา ทรัพย์อันประเสริฐของพระอริยเจ้า ถ้าว่าใจหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั้น ต้องมีศูนย์กลางนะ มนุษย์เล่า ถ้าว่ามนุษย์มีใจไม่ลอกแลกใจไม่ง่อนแง่น ใจไม่คลอนแคลน ก็ตั้งอยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ นั้นแหละถูกหลักเป้าหมายใจดำของพุทธศาสนา กายมนุษย์ละเอียดที่ฝันออกไป ก็ต้องตั้งมั่นอยู่ในกลางดวงธรรม อย่างกายมนุษย์ กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียดที่จะเหาะเหินเดินอากาศได้ ใจก็ต้องหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด ก็ต้องตั้งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม ที่จะเหาะเหินเดินอากาศได้ ใจก็ต้องหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นอรูปพรหม กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด ที่จะเหาะเหินเดินอากาศได้ ใจกายอรุปพรหมละเอียดก็ต้องตั้งหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลาง ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ต้องหยุดอยู่ตรงนั้น กายเบา สลฺลหุก วุตฺติโน เป็นผู้ประพฤติเบาพร้อม กายก็เบา วาจาก็เบา ใจก็เบา ไม่มีหนักเลยประพฤติดังนี้
เมื่อเข้าถึงธรรมกาย เคารพธรรมกาย มั่นในธรรมกาย ภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาในพระพุทธศาสนานับถือพระพุทธศาสนาต้องตั้งมั่นอยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ถ้าว่าไม่ได้ธรรมกายละ ก็เข้าถึงธรรมกายให้ได้ จะต้องเอาใจไปตั้งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายให้ได้ บัดนี้ วัดปากน้ำมี ๑๕๐ กว่าคน ใจหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายได้ ๑๕๐กว่า ที่ยังเข้าไม่ถึงก็เพราะประมาทเลินเล่อเผลอตัว ทำไม่จริง เข้าไม่จริง จดไม่จริง ตั้งไม่จริง ลอกแลก เช่นนี้โกงตัวเอง เมื่อโกงตัวเองเสียแล้วเข้าถึงธรรมกายไม่ได้ ทำไมโกงตัวองเล่า มันขี้เกียจทำ ทำเข้าเมื่อยขบเล็กๆน้อยๆขี้เกียจเสียแล้วหยุดเสียแล้ว ไม่ทำแล้ว ทำก็เห็นลางๆ ไรๆ เอ้าปล่อยเสียแล้ว ไม่ทำเสียแล้ว ไปไถลท่าอื่นเสียแล้ว ใจไปจดที่อื่นเสียแล้ว ไปจดอะไรเล่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ปัจจุบันบ้าง อดีตบ้าง อนาคตบ้าง
ไปจดอยู่ที่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสในปัจจุบันเล่าเป็นอย่างไร? ได้ยินเสียงในปัจจุบัน ที่ตั้งอยู่จดอยู่ไปเสียแล้ว เสียงไปแล้ว กำลังนั่งอยู่ไปเห็นรูปเข้า ไปสูดดมกลิ่นเข้า ไปเสียแล้ว ได้ลิ้มรสเข้า เอ้าไปเสียแล้ว ถูกประทุษร้ายด้วยสัมผัสเช่น ยุง ริ้น บุ้ง ร่าน ก็ไปเสียอีกแล้ว ไม่อยู่ที่อย่างนี้ เรียกว่า ลอกแลกในปัจจุบัน
ลอกแลกในอดีตเป็นอย่างไรล่ะ นึกถึงรูปที่ล่วงไปแล้ว เสียงที่ล่วงไปแล้ว กลิ่นที่ล่วงไปแล้ว รอที่ล่วงไปแล้ว สัมผัสที่ล่วงไปแล้ว รูปที่ล่วงไปแล้ว รูปที่ล่วงไปแล้วน่ะเป็นอย่างไร ตึกร้านบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา เรือแพนาวา ต้นไม้ต้นไร่ ของที่ตนเห็นด้วยตาของตน เป็นของๆตนอยู่เป็นอันตรายไปเสีย ก็นึกถึงอ้ายเรื่องนั้นยังไม่หาย นั่นแหละนึกถึงอดีตละ รูปเป็นอย่างนั้น เสียงเป็นอย่างนั้น กลิ่นก็เป็นอย่างนั้น รสก็เป็นอย่างนั้นสัมผัสก็เป็นอย่างนั้น ลอกแลกไปเสียในอดีตอีกแล้ว
ลอกแลกในอนาคตออกไปข้างหน้า จะได้รูปอย่างนั้น จะได้เสียงอย่างนั้น จะได้กลิ่นอย่างนั้น จะได้รสอย่างนั้น จะได้สัมผัสอย่างนั้น นึกไปข้างหน้าอีกและวันพรุ่งนี้ออกไป นั่นเป็นข้างหน้าอนาคต จิตมันลอกแลกในธรรม ๕ ประการนี้
ธรรม ๕ ประการนี้เรียกว่า ธรรมที่ทำให้สัตว์เนิ่นช้า ปปญฺจาภิรตา ปชา หมู่สัตว์เนิ่นนานในรูปภพ อรูปภพ ไม่จบไม่แล้ว นี่แหละผู้ที่เลินเล่อเผลอตัว โกงตัวเองก็รูปนี้ ปล่อยใจไปจดรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส อดีตบ้าง ปัจจุบันบ้าง อนาคตบ้าง ไม่จดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรม ธรรมกายละเอียด จดอยู่นั่นไม่โกงตัวเอง ให้ความสุขแก่ตัวเองปัจจุบันทันตาเห็น แม้เป็นปุถุชนอยู่ก็เรียกว่า ปุถุชนสาวก ถ้าจดอยู่ได้ ถ้าจดอยู่ไม่ได้ยังเป็นปุถุชนอยู่เรียกว่า ลอกแลกอยู่นั่นเอง ไม่จัดเข้าในปุถุชนสาวก ถ้าจดอยู่ละก็จัดเข้าไปปุถุชนสาวกละต้องเข้าถึงธรรมกายโคตรภูให้หนักขึ้นไป เข้าถึงพระโสดาอริยสาวกทีเดียวนี้ความตั้งใจเป็นอย่างนี้นะ วางใจเป็นอย่างนี้ ให้ถูกหลักฐานอย่างนี้ เมื่อถูกหลักฐานอย่างนี้แล้ว นี่ในข้อต้น
ข้อที่สองรองลำดับลงไป
สีลญฺจ ยสฺส กลฺยาณํ อริยกนฺตํ ปสํสิตํ
นี้ศีลของบุคคลใดอันดีงาม กลฺยาณํ อริยากนฺตํ อันพระอริยเจ้ารักใคร่ชอบใจ ปสํสิตํ อันพระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว ศีลอันดีงามน่ะศีลอะไร เขาเรียกว่ากัลยาณศีล อริยกันตศีล ปลังสิตศีล เรียกว่าศีลอันดีงามที่พระอริยเจ้าใคร่ พระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว ศีลอันดีงาม เมื่อใจหยุดจดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์พอดี กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด ทั้งแปดกาย เก้ากาย สิบกาย เป็นลำดับขึ้นไป ถ้าว่าศีลของผู้มีใจหยุดเช่นนั้น ศีลของบุคคลผู้นั้นก็เป็นกัลยาณศีล เป็นอริยกันตศีล เป็นปลังสิตศีลทีเดียว ทำไมเป็นเช่นนั้น ศีลก็แปลว่าปกติ ศีลเขาแปลว่าปกติ ปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ ใจเป็นอัพโพหาริกศีล ด้วยปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ ปกติน่ะเป็นอย่างไร ใจหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ถูกเป้าหมายใจดำร่องรอยของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ เมื่อใจหยุดแล้ววาจาก็อยู่ในกรอบของศีล กายก็อยู่ในกรอบของศีล ใจก็อยู่ในกรอบของศีล ไม่ละเมิดศีลไปได้ เพราะใจหยุดเสียแล้วแน่นอนทีเดียว ไม่คลาดเคลื่อนไม่ฟั่นเฟือนทีเดียว แน่นอนทีเดียว เมื่อแน่นอนเช่นนั้นละก็ นั่นแหละ เป็นกัลยาณศีล(เป็นตอนต้น)เป็นอริยกันตศีล เป็นปลังสิตศีล ศีลโดยตรงทีเดียวนี้แหละ พระอริยะเจ้าใคร่ พระอริยเจ้าชอบใจ พระอริยเจ้าสรรเสริญทีเดียว เป็นอย่างนี้ แม้จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยกาย จะพูดสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยวาจา จะคิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยใจ ก็ไม่มีละเมิดศีล อยู่ในกรอบศีลนั่นเอง ไม่เคลื่อนจากศีลไปได้ จึงจัดได้ชื่อว่าเป็นกัลยาณศีล อริยกันตศีล ปลังสิตศีล ศีลอย่างนี้เป็นศีลสามัญ ยังไม่เป็นวิสามัญ ศีลวิสามัญ ต้องเห็นศีล ศีลอย่างนี้ถึงจะมีในกายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด ทั้ง๘กายที่มีในไตรภาพก็เป็นศีลสามัญ ศีลของเทวดาต้องมั่นอยู่เป็นปกติธรรมดา กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด มีอยู่เป็นปกติธรรมดา ศีลของกายมนุษย์ละเอียดไว้ใจไม่ได้นัก เจ้ากายมนุษย์หยาบนี้ก็ไว้ใจไม่ได้นัก ยังลอกแลกอยู่ไม่มั่นคง ถ้าว่าทั้ง๖กายนี่ละก็มั่นคงละถ้าว่าไม่อยู่นิ่งละก็เหาะเหินเดินอากาศไม่ได้ทีเดียว ทั้ง๖กายนั้นจึงจัดได้ชื่อว่าเป็นศีลสามัญ
ศีลวิสามัญน่ะเห็นศีลทีเดียว เห็นศีลคือกาย กายมนุษย์ไม่เห็น กายมนุษย์ละเอียดเห็น กายทิพย์เห็น กายทิพย์ละเอียดเห็น กายรูปพรหมเห็น กายรูปพรหมละเอียดเห็น กายอรูปพรหมเห็น กายอรูปพรหมละเอียดเห็น นั่นเห็นศีล เห็นศีลเป็นดวง ขนาดดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ใสบริสุทธิ์สนิทดุจกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้าอย่างนี้ เรียกว่าเห็นดวงศีล เมื่อเห็นดวงศีลเช่นนี้ละก็เห็นหมดทั้ง๘กายนั่น เห็นตลอดไป เมื่อเห็นเช่นนี้ละก็นั่นแหละเป็นกัลยาณศีลแท้ๆ นั่นแหละเป็นอริยกันตศีลแท้ๆ นั่นแหละเป็นไปสังสิตศีลแท้ๆ ถูกละเป็นทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ เมื่อเห็นเช่นนั้นแล้วใจของผู้เห็นนั้นก็ติดอยู่ศูนย์กลางดวงศีลนั่นไม่คลาดเคลื่อนทีเดียว เมื่อติดดวงศีลได้ ดวงสมาธิไม่ต้องไปไหนอยู่ในกลางดวงศีล ดวงปัญญาก็อยู่กลางดวงสมาธิ ดวงวิมุตติไม่ต้องไปไหนอยู่กลางดวงปัญญา ดวงวิมุตติญานทัสสนะไม่ต้องไปไหนอยู่กลางดวงวิมุตติ เข้าทางไปของพระอริยจ้าพระอรหันต์ ถูกทีเดียวไม่คลาดเคลื่อนละ นี้ท่านจึงได้วางตำราไว้เป็นข้อที่สอง เป็นศีลของธรรมกาย นี่เป็นศีลของธรรมกาย เข้าถึงธรรมกายก็ด้วยวิธีนี้ พอเข้าถึงธรรมกายแล้ว ศีลของธรรมกายก็มีแบบเดียวกันนี้ เป็นลำดับไปทีเดียว ตำราวางไว้แสดงกันแล้วมากมาย นี่เป็นข้อที่สองเรียกว่าศีล
ข้อที่สามเป็นลำดับไป
สงฺเฆ ปสาโท ยสฺสตฺถิ อุชุภูตนฺจ ทสฺสนํ
ความเสื่อมใสในพระสงฆ์ ความเลื่อมใสในหมู่ สงฺโฆเขาแปลว่าหมู่ มีอยู่แก่บุคคลใด ความเลื่อมใสในหมู่มีอยู่แก่บุคคลใด ความเลื่อมใสคือชอบใจ ปีติปราโมทย์ ร่าเริงบันเทิงใจ ปลาบปลื้มตื้นเต็มเอิบอิ่มในใจที่เรียกว่าเลื่อมใส ปลาบปลื้มเอิบอิ่มตื้นเต้นในใจ ความเลื่อมใสคือความผ่องใส เมื่อมีศรัทธากำลังบริจาคทานอยู่ก็ม่ความเลื่อมใส จัดขึ้นเพิ่มอีก เมื่อนั่งทำความเพียร กำลังนั่งอยู่ เมื่อมีความเลื่อมใสนั่งหนักขึ้นไปอีก นั่นเรียกว่าความเลื่อมใส ความเลื่อมใส ความผ่องใส นัยหนึ่งว่า เหม แปลว่าเป็นแดนสร้างเอกแห่งรัศมี ก็ความเลื่อมใสเกิดขึ้นแล้ว ดูสีหน้าสีตาก็รู้ ดูสีหน้ารู้ หน้าดำอยู่กลับมีสีงามขึ้นทีเดียว ขาวๆ ก็ผิวงามขึ้นทีเดียวผุดผ่องขึ้นทีเดียว นี้เพราะเกิดจากความเลื่อมใส เลื่อมใสนี่แหละทำร่างกายให้สะอาดสะอ้าน ทำร่างกายให้สละสลวย ให้งดงาม เพราะความเลื่อมใสอันนี้ เลื่อมใสเต็มที่ก็เหาะเหินเดินอากาศไปได้ เลื่อมใสจัดหนักเข้าๆ เหาะเหินเดินอากาศได้ เพราะความเลื่อมใสอันนี้ไม่ได้เป็นของพอดีพอร้าย ให้เลื่อมใสในหมู่
เลื่อมใสในหมู่เลื่อมใสอย่างไร? อย่างนี้ เหมือนพระเณรอย่างนี้แหละ นับว่า พระก็สี่แถวๆละ ๘องค์ เณรก็สามแถวๆละ๘องค์ เขาไปเลื่อมใสเขามาแต่แถวเดียว เณรพระก็มาไม่ครบสี่แถว นี่เขาไม่เลื่อมใสเพราะขาดความเลื่อมใสเสียแล้ว เขาไม่เลื่อมใสในหมู่ เขาไม่อยากให้เข้าหมู่ นั่นแน่พวไม่เลื่อมใสในหมู่ พวกไม่อยากเข้าหมู่ เหมือนพวกเราอุบาสกอุบาสิกาเวลาถึงวันธรรมสวนะจะต้องฟังเทศนา ฟังธรรมกัน จำศีลภาวนากันไม่มาเสียแล้ว ขาดตกบกพร่องไปเสียแล้ว นั่นเขาไม่เลื่อมใสในหมู่ เขาขาดความเลื่อมใสในหมู่เสียแล้ว ถ้าเขาเลื่อมใสในหมู่ละก็ไม่ขาดตกบกพร่องเลย สมบูรณ์บริบูรณ์เต็มเปี่ยมทีเดียว ถึงเวลามาแล้วก็กลัวจะขาดหน้าที่ไป หน้าที่ของตัวจะขาดไป ไม่ให้ขาดตกบกพร่องละ นี้พวกนี้เลื่อมใสในหมู่กลัวหมู่จะขาด กลัวหมู่จะไม่เจริญ กลัวหมู่จะซูบซีดเศร้าหมองขุ่นมัว ไม่แน่นหนา ไม่เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา รักษาความเลื่อมใสในหมู่ไว้ไม่ให้คลาดคเลื่อนไม่ยอมทีเดียว รักษาความเลื่อมใสในหมู่ไว้
นี้พวกเลื่อมใสในหมู่น่ะ หมู่อะไร หมู่พุทธศาสนิกชนนี่แหละ หมู่ภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกา แต่ว่านกมันก็เลื่อมใสในหมู่เหมือนกันนะ หัวหน้าไปทางไหนละก็ไปเป็นแถว ไม่คลาดเคลื่อนละ นั่นก็เลื่อมใสในหมู่เหมือนกัน ขาดหมู่ไม่ได้ หมู่เนื้อ หมู่นก หมู่ปลาเขาก็เลื่อมใสในหมู่เป็นธรรมชาติของสัตว์พวกนั้น หมู่ภิกษุสามเณรเล่าก็เป็นธรรมชาติของหมู่ภิกษุสามเณรเหมือนกัน เพราะมีธรรมเสมอกัน มีธรรมร่วมกัน มีศีล๒๒๘ ศีล๑๐ ร่วมกัน ประพฤติธรรมร่วมกัน มีศีลร่วมกัน สมาธิร่วมกัน ปัญญาร่วมกัน พวกนี้อยู่ที่ไหนก็รักใคร่กันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน น้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ขาดตกบกพร่องทำสิ่งใดก็ทำพร้อมๆกันเลิกสิ่งใดก็เลิกพร้อมกัน ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ซึ่งกันและกัน นี่พวกนี้เลื่อมใสในหมู่ทั้งนั้น ลักษณะเลื่อมใสในหมู่นี่แหละเป็นธรรมสำคัญ มีอยู่แก่บุคคลใด เลื่อมใสในหมู่น่ะ หมู่ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ผู้มีธรรมกาย หมู่มีธรรมกายก็รักใคร่ในกันและกัน ไม่ทุ่มเถียงกัน พูดก็อนุโลมตามกันอนุมัติกัน ไม่แก่งแย่งกัน พวกที่แก่งแย่งกันเสียคัดค้านกันเสีย นี่ทำหมู่ให้แตก ทำพวกให้แตก อย่างนี้เรียกว่า ไม่เลื่อมใสในหมู่ คัดค้านในหมู่ ต้องเลื่อมใสในหมู่ ไม่ให้หมู่แตก ไม่ให้หมู่กระเทือนทีเดียว เพราะพร้อมซึ่งกันและกันนี่ สงฺเฆ ปสาโท ความเลื่อมใสในหมู่มีอยู่แก่บุคคลใด บุคคลนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนไม่ยากจน เป็นคนมั่งมีทีเดียว เลื่อมใสในหมู่น่ะ เอาใจใส่แนะนำตักเตือน ให้ซึ่งกันและกัน รู้เหมือนตน มีนิสัยใจคออันเดียวกันไปไหนก็ไปในหมู่เดียวพวกเดียวกัน
เหมือนพระพุทธเจ้าท่านอุบัติตรัสขึ้นในโลก ท่านมีธรรมกาย ธรรมกายเป็นพระพุทธเจ้าเป็นตถาคตเจ้า ท่านมองทีเดียวแหละใครจะมีธรรมกายเหมือนเราบ้าง ท่านมีความรู้วิเศษ คนนี้มีเหตุได้สั่งสมอบรมมาสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยกันแล้วบารมีเป็นเหตุบารมีแก่แล้ว สมควรที่จะได้มรรคผลสมควรจะมีได้ธรรมกายเหมือนเรา ไม่ว่าอยู่ใกล้อยู่ไกล พระองค์อุตส่าห์พยายามไปแนะนำ ให้มีธรรมกายเหมือนท่าน เมื่อมีธรรมกายเหมือนท่าน ก็เป็นหมู่เดียวกับท่าน เป็นพวกเดียวกับท่าน พอมีธรรมกายหมือนท่าน ก็เป็นพวกเดียวกับท่าน เป็นหมู่มีธรรมกายน่ะเป็นชั้นๆเป็นอรหันต์อรหัตบ้างเป็นพระอนาคาบ้าง เป็นพระสกทาคาบ้าง เป็นพระโสดาบ้างเป็นโคตรภูบ้างไม่ว่าอยู่ที่ไหน พระองค์เสด็จไปแนะนำสั่งสอนให้มีธรรมกายปรากฏขึ้นเหมือนพระองค์ เมื่อมีธรรมกายปรากฏขึ้นเหมือนพระองค์แล้ว ก็เป็นพระพุทธเจ้าทีเดียว เมื่อมีธรรมกายก็รู้จักพระตถาคตเจ้าทีเดียวรู้จักพระตถาคตเจ้าว่า อ้อนี่เป็นพวกเดียวกันหมู่เดียวกัน นั่นท่านผู้นั้นก็เลื่อมใสในหมู่ อยู่ที่ไหนไม่ว่าใกล้และไกล เวลาจำพรรษาต่างกัน ไกลจากกัน ไปมากันไม่ถึง พอปวารณาพรรษาแล้วละก็ต่างฝ่ายต่างมุ่งแน่แน่วไปเฝ้าพระศาสดาที่วิหารเชตวันทีเดียว มาสั อยู่ที่ไหนไม่ว่าใกล้และไกล เวลาจำพรรษาต่างกัน ไกลจากกัน ไปมากันไม่ถึง พอปวารณาพรรษาแล้วละก็ต่างฝ่ายต่างมุ่งแน่แน่วไปเฝ้าพระศาสดาที่วิหารเชตวันทีเดียว มาสะบักสะบอมทีเดียว ผ้าผ่อนเปียกน้ำคร่ำฝนมาทีเดียว เคลอะคละมาด้วยตมด้วยเลนทีเดียว พระองค์เห็นความลำบาก ความเลื่อมใสในหมู่ของพระสงฆ์มาด้วยความลำบากเช่นนี้เมื่อมีความลำบากเช่นนี้แล้ว พระองค์ก็ทรงอนุญาตวินัยบางข้อ ให้ภิกษุไปมาเฝ้าพระตถาคตเจ้าได้สะดวกด้วยการไปมาในเรื่องนี้พระศาสดาถึงความใหญ่ นับความเลื่อมใสในหมู่น่ะ เลื่อมใสในหมู่ หมู่มีศีลก็ต้องให้มีศีลเหมือนกัน หมู่มีสมาธิเหมือนกันน หมู่มีปัญญาให้มีปัญญาเหมือนกัน หมู่มีความวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะก็ให้มีเหมือนกัน ถ้าหมู่มีธรรมก็ให้มีธรรมกายเหมือนกัน นี่เป็นอันเลื่อมใสในหมู่ สงฺเฆ ปสาโท ยสฺสตฺถิ ความเลื่อมใสในหมู่มีอยู่แก่บุคคลใด บุคคลนั้นเรียกว่า เป็นคนดีมีปัญญา เป็นคนมีอริยทรัพย์ภายในทีเดียว แสดงตัวเองอย่างนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้นนี่เป็นข้อที่สาม
ข้อที่สี่
อุชุภูตญฺจ ทสฺสนํ
ความเห็นตรงความเห็นตรงมีอยู่แก่บุคคลใด เห็นตรงน่ะเห็นอย่างไร เห็นตรงไม่คด เห็นทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ว่าทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์นั้นไม่ใช่ทางอื่น มีทางเดียวทางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายเดินไปในกลางทางนั้น กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย
กายมนุษย์ ก็มีกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์
ถ้าว่ากายมนุษย์ละเอียด ก็มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด
กายทิพย์ ก็มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์
กายทิพย์ละเอียด ก็มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด
กายรูปพรหม ก็มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม
กายรูปพรหมละเอียด ก็มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด
กายอรูปพหรม ก็มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม
กายอรูปพรหมละเอียด ก็มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด
กายธรรม ก็มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม
กายธรรมละเอียด ก็มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมละเอียด
ในกลางดวงธรรมนั่นแหละ ดำเนินไปทางกลางดวงธรรมนั้น ดำเนินไปในทางดวงธรรมานุปัสสนา สติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เดินไปในทางนั้นเหมือนกันหมดและเข้าถึงกายธรรมละเอียด
เดินไปในกลางดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมตุติญาณทัสสนะ ก็เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ใจกายมนุษย์ละเอียดก็หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ก็เดินไปในกลางดวงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญาวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ในกลางดวงนั่นก็เข้าถึงกายทิพย์ เดินไปอย่างนี้ ก็จะเข้าถึงกายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหมก็เดินไปอย่างนี้ ไปแบบเดียวกันนี้ เข้าถึงกายรูปพรหมละเอียดก็เดินไปแบบเดียวกันนี้ เข้าถึงกายอรูปพรหมก็เดินไปแบบเดียวกันนี้ เข้าถึงกายอรูปพรหมละเอียดก็เดินไปแบบเดียวกันนี้ เข้าถึงอายอรูปพรหมก็เดินไปแบบเดียวกันนี้ เข้าถึงกายรูปพรหมละเอียดก็เดินไปแบบเดียวกันนี้ เข้าถึงกายธรรมก็เดินไปแนบเดียวกันนี้ เข้าถึงกายธรรมละเอียดก็เดินไปแบบเดียวกันนี้ นี้เรียกว่า อุชุภูตญฺจ ทสฺสนํ ความเห็นเป็นธรรมชาติตรงทีเดียว นี่ตรงอย่างลึกลับ ตรงอย่างทางมรรคผลทีเดียว
ถ้าตรงผิดจากมรรคผลล่ะ ย่นย่อลงมาเสียกว่านั้น ความเห็นต่ำลงมากกว่านั้นโลกประเพณีวิสัยความเป็นไปของมนุษย์นี่ ภิกษุนี่ สามเณรก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี ประพฤติไปตามสุจริตกาย สุจริตวาจา สุจริตใจ ตัวเองก็ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนประการใดด้วยกายวาจาใจของตัวคนอื่นก็ไม่ได้รับความเดือดร้อนเพราะกายวาจาใจของตัว ทั้งตนและบุคคลผู้อื่นก็ไม่ได้รับความเดือดร้อนเพราะกายวาจาใจของตัว นี้ เรียกว่า อุชุภูตญฺจ ทสฺสนํ ความเห็นตรงนี้ต่ำลงมา ต่ำลงมากกว่าทางมรรคผลดังกล่าวแล้ว
ต่ำลงไปกว่านั้นอีก การเลี้ยงชีพหารายได้ของมนุษย์หรือการปกครองสมบัติของมนุษย์ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ชาวนาทำนาก็ไม่รุกคันไร่คันนากัน ชาวสาวนทำสวนก็ไม่รุกคันไร่คันสวนกัน การค้าขายก็ไม่เบียดเบียนกัน ค้าขายกันโดยชื่อตรงไม่อิจฉาริษยากัน ดังนี้ เรียกว่า อุชุภูตญฺจ ทสฺสนํ ความเห็นตรงเหมือนกันหรือปกครองประเทศก็ไม่เบียดแว้ง ขอบเขตประเทศกัน ไม่เกี่ยงกันคนในปกครองในกันและกัน เดินตรงๆ เอ็งจะมาอาศัยก็มาเถอะโดยตรง ฉันชอบเดินตรงๆ ผู้มาอาศัยเล่าก็มาอาศัยโดยตรงๆไม่มีเล่ห์เหลื่อมเป็นอุบายปลอมตัวเข้ามาอย่างนี้ เรียกว่า อุชุภูตญฺจ ทสฺสนํ ความเห็นตรงอย่างต่ำลงมา ความเห็นตรงอย่างนี้ก็ใช้ได้ดุจเดียวกัน
เพราะเหตุนั้นในข้อที่ ๔ นี้ เมื่อมีความเห็นตรงเช่นนี้ก็จะเป็นภิกษุสามเณรหรืออุบาสกอุบาสิกา ก็ได้ชื่อว่ามีอริยทรัพย์อยู่ภายใน เป็นคนมีอริยทรัพย์ เป็นผู้มีดวงใจจดถูกกลางความดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ความเห็นไม่มีพิรุธเลย หรือความทำก็ไม่มีพิรุธเลย ความพูดก็ไม่มีพิรุธเลย ความคิดก็ไม่มีพิรุธเลย เพราะใจนั้นวางถูกหลัก ถูกเป้าหมาย ใจดำทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ เหตุนั้นท่านจึงยืนยันว่า
อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ
ทั้ง๔จำพวก การเลื่อมใสไม่กลับกลอก ความเลื่อมใสไม่กลับกลอก มั่นด้วยดีในธรรมกาย ศีลอันดีงามอันพระอริยเจ้าใคร่ชอบใจ อันพระอริยเจ้าสรรเสริญแล้ว และความเลื่อมใสในหมู่มีอยู่แก่บุคคลใด ความเห็นตรงมีอยู่แก่บุคคลใด อทลิทฺโทติ ตํ อาหุ ว่านักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่าบุคคลนั้นเป้นคนมีอริยทรัพย์ เป็นคนไม่ยากจน เป็นคนไม่ขัดสน เป็นคนมีอริยทรัพย์อยู่ภายใน
ตสฺมา สทฺธญฺจ สีลญฺจ ปสาทํ ธมฺมทสฺสนํ
อนุยญฺเชถ เมธาวี สรํ พุทฺธานสาสนํ
เพราะเหตุนั้น เมื่อบุคคลมาระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดังนี้ ควรประกอบความเชื่อ ควรประกอบความศีล ควรประกอบตามความเลื่อมใส ควรประกอบตามความเห็นธรรมไว้เนืองๆ ให้มั่นในขันธสันดาน ย่อมประสบสุขพิเศษไพศาลในปัจจุบันนี้ และต่อไปในภายหน้า
ที่ชี้แจงแสดงมานี้ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัจที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ สทา โสตถึ ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า สพฺพพุทฺธรานุภาเวนด้วยอำนาจพระพุทธเจ้าทั้งปวด สพฺพธมฺมานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระธรรมทั้งปวง สพฺพสงฺฆานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระธรรมทั้งปวง สพฺพสงฺฆานุภาเวน ด้วยอานุภาพพระสงฆ์ทั้งปวง พุทฺธรตนํ ธมฺมรตนํ สงฺฆรตนํ ติณณํ รตนานํ อนุภาเวน ด้วยอานุภาพรัตนะทั้ง๓ พระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ จาตุราสีติสหสฺสธมฺมกฺขนฺภเวน ด้วยอานุภาพพระธรรมพันธ์ทั้งแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ปิฏฺกตฺตยานุภาเวน ด้วยอานุภาพปิฏกทั้งสาม คือ วินัยปิฏก สุตตันตปิฏก ปรมัตถปิฏก ชินสาวกานุภาวน ด้วยอานุภาพชินสาวก สาวกของท่านผู้ชนะมาร จงดลบันดาลความสุขสวัสดิ์ให้อุบัติบังเกิดมีเป็นปรากฏในขันธ์ปัญจกแห่งท่านทานิสราบดีทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมุติยุติธรรมิกถา โดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้