ศีล สมาธิ ปัญญาเกี่ยวข้องกับอะไร

วันที่ 21 ธค. พ.ศ.2549

 

คำถาม คำว่า" ศีล สมาธิ ปัญญา " เป็นคำที่ชาวพุทธรู้จักกันดี แล้วคำว่า อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา " คืออะไร เกี่ยวข้องกับ "ศีล สมาธิ ปัญญา " ?

คำตอบ ความจริงแล้วเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา กับอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เป็นเรื่องที่ต่อเนื่องกัน คือเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ว่าเป็นคนละระดับเท่านั้น
 

ศีล สมาธิ ปัญญา คืออะไร

.....คำเต็มๆ ของคำว่า "ศีล สมาธิ ปัญญา" ที่เราพูดกันอย่างคล่องปากก็คือ การศึกษาเรื่องศีล การศึกษาเรื่องสมาธิ การศึกษาเรื่องปัญญานั่นเอง ศึกษาเรื่องศีล เพื่อเอามาใช้ควบคุมกาย และวาจา ให้มีความสะอาดบริสุทธิ์ คือ ไม่พูด ไม่ทำ ให้วิปริตผิดร่องรอยจนกระทบตนเอง หรือกระทบคนอื่นให้เดือดร้อน ศึกษาเรื่องสมาธิ เพื่อเอามาใช้ควบคุมจิต ไม่ให้หนีไปเที่ยว ไม่ให้คิดฟุ้งซ่านในทางที่เป็นอกุศล ศึกษาเรื่องปัญญา เพื่อให้รู้เท่าทันโลก รู้เท่าทันชีวิต รู้เท่าทันคน พูดง่ายๆ เพื่อให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริง จะได้เลิกโง่เสียที อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา คืออะไร

 

.....เมื่อตั้งใจฝึกฝนตนเองไปตามลำดับๆ ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกกันอย่างจริงๆ จังๆ ชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพันแล้ว จากศีลธรรมดาที่ใช้ควบคุมกาย และวาจาให้สะอาดบริสุทธิ์ ก็กลายเป็น อธิศีล หรือว่าศีลอย่างยิ่งขึ้นมา จากสมาธิจิตธรรมดา ที่ใช้ควบคุมจิต ก็กลายเป็นอธิจิต หรือว่าจิตอย่างยิ่งขึ้นมา จากปัญญาธรรมดา ก็กลายเป็นอธิปัญญา หรือว่าปัญญาอย่างยิ่งขึ้นมา

 

.....ขั้นตอนการเปลี่ยนจากศีลเป็นอธิศีล คุณโยมลองสำรวจตัวเอง โดยใช้ศีล ๕ เป็นเกณฑ์ก็ได้ เมื่อตอนเข้าวัดใหม่ๆ ศีล ๓ ข้อแรก ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ซึ่งเป็นเรื่องของการควบคุมกายและวาจาของเรา ยกตัวอย่าง ศีลข้อที่ ๑ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ตอนเข้าวัดใหม่ๆ พวกเราส่วนมากมักจะมีอาการอย่างนี้ คือพอยุงกัดหมับละก็ เงื้อมมือขึ้นเตรียมจะตบทันทีเลย แต่พอจะตบลงไปก็นึกได้ว่า " เรากำลังรักษาศีลอยู่นะ" แล้วก็เอามือลง ต่อมารักษาศีลมากเข้า พอยุงกัดหมับ แทนที่จะยกมือขึ้นเตรียมจะตบ แล้วเงื้อค้างอย่างเคย ก็ไม่ทำ กลับเกิดความรู้สึกว่า "เจ้ายุงเอ๊ย ข้าเจ็บแล้ว เอ็งไปหาของอื่นกินบ้างเถอะนะ ครั้นรักษาศีลนานๆ เข้า ใจก็เปลี่ยนไปอีก ที่เคยคิดจะฆ่านั้นหมดไป พอถูกยุงกัด ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า "สัตว์โลกมันก็เบียดเบียนกันอย่างนี้แหละ" เห็นการลัก การขโมย ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า " สัตว์โลกก็แย่งชิงกันอย่างนี้แหละ"เห็นเขาผิดสามี ผิดภรรยากัน ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า "สัตว์ โลกไม่รู้จักควบคุมใจกันอย่างนี้แหละ"จากเมื่อก่อนต้องคอยระมัดระวังในการรักษาศีล พอรักษาศีลจนเกิดความคุ้นเคยมากเข้า จนกระทั่งศีลกับใจได้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมา ก็เลยไม่ต้องมาคอยระมัดระวัง ในการรักษาศีลอีกต่อไป เพราะว่าใจนั้นสะอาดบริสุทธิ์ ที่จะคิดร้าย พูดร้าย ทำร้ายใครเป็นไม่มี จากการรักษาศีลธรรมดาๆ กลายเป็นอธิศีลขึ้นมาได้อย่างนี้ คือ รักษาศีลจนกระทั่งกลายเป็นศีลรักษาเรานั่นเอง

 

.....อุปมาการรักษาศีลถ้าจะอุปมาการรักษาศีลเมื่อตอนเข้าวัดใหม่ๆ เหมือนอย่างกับเอามะขามเปรี้ยวๆ มาจิ้มน้ำตาล รสชาติก็เปรี้ยวๆ หวานๆ กันล่ะนะ พอรักษาศีลนานเข้า จนกระทั่งกลายเป็นอธิศีล ก็เหมือนอย่างกับการเอามะขามเปรี้ยวๆ มาแช่อิ่มในน้ำตาล ปรากฏว่ารสเปรี้ยวไม่มีเหลืออยู่เลย หวานสนิทเช่นเดียวกัน อธิศีลก็ทำให้กายและวาจาของเรา สะอาดบริสุทธิ์เกินกว่าที่ใครจะคาดคะเนได้ ขั้นตอนการเปลี่ยนจากสมาธิจิตเป็นอธิจิต การฝึกสมาธิอย่างที่ทำกันอยู่ทั่วไป จากใจที่หยุดนิ่งบ้าง หนีไปเที่ยวบ้าง คิดฟุ้งซ่านบ้าง สงบลงไปบ้าง พอฝึกแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันมากเข้าๆ ใจจะหยุดนิ่งสนิทอยู่ที่ศูนย์กลางกายอย่างถาวร ไม่คิดฟุ้งซ่าน ไม่หนีไปเที่ยวที่ไหนอีกแล้ว ซึ่งเป็นความก้าวหน้าของสมาธิ และนั่นคือเป็นความก้าวหน้าของจิตเราด้วย ถึงตอนนี้ไม่ว่าจะหลับตา ลืมตา ใจใสสว่าง ทีเดียว เมื่อใจใส ใจสว่าง จึงต่างจากใจของคนธรรมดาทั่วไป ที่ยังมืดตื้อมืดมิดกันอยู่ ท่านเรียกใจที่มีสมาธิอย่างนี้ หยุดอย่างนี้ว่า อธิจิต หรือว่า จิตอย่างยิ่งขั้นตอนการเปลี่ยนจากปัญญาเป็นอธิปัญญาเมื่อจิตของเราสะอาดอย่างยิ่งด้วยอำนาจแห่งอธิศีล มีความสว่างยิ่งกว่าตะวันเที่ยงเป็นอย่างน้อยด้วยอำนาจแห่งอธิจิต สิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดตามมา ลองนึกดูก็แล้วกัน ถ้าใจของเรามีความสว่างยิ่งกว่าตะวันเที่ยง ลูกนัยน์ตาของเราก็คงจะมองอะไรได้ทะลุหมด แล้วอาศัยความสว่างที่ปรากฏขึ้นมาอย่างยิ่งนั้น ไม่ว่าจะมองอะไร ย่อมเห็นและรู้ไปตามสภาพความเป็นจริง เช่น รู้เรื่องกรรมที่เราเคยสงสัยนักหนาว่าเป็นอย่างไร รู้ว่าบุญบาปเป็นอย่างไร และสามารถมองเห็นได้ชัดเจนว่า กิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ในใจ คอยบีบคั้นใจของเราให้มีความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น เป็นอย่างไร ปัญญาที่เกิดจากการเห็นจากภายใน ซึ่งอาศัยความสว่างจากอธิจิต ทำให้เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของทุกสรรพสิ่งทั้งหลาย โดยไม่ต้องเสียเวลาคิดนี้ ท่านเรียกว่า อธิปัญญา เพราะฉะนั้น อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา จึงเป็นเสมือนลูกโซ่ที่ต่อเนื่องกันมา จากการที่ได้ศึกษาเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา มาตั้งแต่ต้นนั่นเอง คือศึกษาแล้วไม่ศึกษาเปล่า เมื่อรู้และเข้าใจแล้ว ก็เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการนำมาประพฤติปฏิบัติ ฝึกฝนตนเอง จนกระทั่งกาย วาจา ใจ เกิดความสะอาดบริสุทธิ์อย่างยิ่ง เกิดความสว่างอย่างยิ่ง แล้วก็ เกิดความสงบอย่างยิ่ง


.....เพราะฉะนั้น ความสะอาดบริสุทธิ์ ความสว่าง และความสงบของกายและใจนี้ จึงเป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนต้องฝึกกันให้ได้ เพื่อเราจะได้ปิดนรกให้สนิท และเปิดสวรรค์ได้เต็มที่ ยิ่งกว่านั้น ยังสามารถถางทางไปพระนิพพานได้สะดวกสบายเหลือเกิน ตั้งใจฝึกกันให้ดี จะได้ไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้มาพบพระพุทธศาสนา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024615180492401 Mins