การศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา

วันที่ 28 กพ. พ.ศ.2551

 

.....นักเรียนมักจะถามเสมอว่า การเรียนพระพุทธศาสนานั้นให้ประโยชน์อะไรกับเขา วิชาความรู้ที่เขาเรียนในโรงเรียนนั้นส่วนใหญ่แล้วได้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเขา ในการบริหารปัจจัย 4 แต่ขอกราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า ในวิชาพุทธศาสนานั้น เมื่อศึกษาไปแล้ว ให้ประโยชน์อะไรแก่ผู้เรียนครับ

 

คำตอบ: เจริญพร โยมอาจารย์ ความที่เวลาเราสอนพระพุทธศาสนาเมื่อไหร่ ทุกยุคทุกสมัยมักจะเริ่มต้นด้วย

 

1. เริ่มต้นด้วยพุทธประวัติ ซึ่งเด็กๆ บางทีตามไม่ทัน เพราะความเป็นมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามีเรื่องที่อยู่เบื้องหลัง เรื่องปูมหลังเยอะมาก

 

2. หรือพอเจาะลึกเข้าไปในพระพุทธศาสนา ก็มักจะเอาหลักธรรมหนักๆ เอามาสอนเด็ก เด็กชั้นประถมก็สอนแล้ว อริยสัจ 4 โธ่...ครูยังไม่รู้เรื่องเลย...อย่าว่าแต่เด็ก เมื่อเราเอาเรื่องหนักๆในพุทธศาสนาไปสอนเด็ก จึงทำให้เด็กมีความรู้สึกว่า มันไม่ค่อยจะเกี่ยวอะไรกับชีวิตของแก ก็เลยค่อนข้างจะต่อต้านวิชาพระพุทธศาสนา

 

.....เปลี่ยนแนวสอนใหม่ คือ แทนที่จะสอนในลักษณะที่เป็นธรรมะแท้ๆ ควรสอนพระพุทธศาสนาที่แทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างก็แล้วกัน ในเรื่องของการใช้ปัจจัย 4 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนอะไรบ้าง...ยกตัวอย่างนะ ซึ่งเกี่ยวกับในเรื่องของข้าวปลาอาหารที่เราต้องกิน ต้องดื่มกันอยู่ทุกวัน พระพุทธศาสนาได้แทรกเอาไว้เรียบร้อยแล้วอยู่ในนั้น คือ คนในโลกนี้ส่วนมาก มันไม่ได้กินเพื่ออยู่ แต่มันมุ่งอยู่เพื่อจะกิน...นี่ตัวอย่าง เมื่อเขาไม่ได้กินเพื่ออยู่ แต่ว่าจะอยู่เพื่อกิน เพราะฉะนั้นความโลภ ความเห็นแก่ได้ก็เลยมีมากในมนุษย์

 

.....ตรงกันข้าม ถ้าเราสอนเด็กของเราให้กินเพื่ออยู่ ซึ่งกินเพื่ออยู่นั้น กินไม่มากหรอก ไม่ได้กินเล่น ไม่ได้กินจุกกินจิก ยิ่งไปกว่านั้น สอนลูกหลานของเราให้รู้ว่า ในการกินข้าวปลาอาหารนั้น ถ้าเรารู้จักคุณค่าอาหาร ข้าวจานเดียวกัน...ถ้า กินเมื่อตอนโกรธ มีเรี่ยวแรงแล้ว ก็เอาเรี่ยวแรงจากอาหารนั้นไประบายความโกรธ ไปยกพวกตีกัน ข้าวปลาอาหารนั้นกลายเป็นข้าวบาป แต่ว่า...ข้าวปลาอาหารจานเดียวกันนั้น กินเมื่อตอนจิตใจงาม พอกินอิ่ม ก็เอาเรี่ยวแรงที่เกิดไปทำความดี ข้าวปลาอาหารนั้นก็กลายเป็นข้าวบุญ

 

.....วิธีที่จะทำให้ใจเป็นบุญ ควรจะทำอย่างไร ก็สวดมนต์ หรือบูชาข้าวพระเสียก่อน ก่อนที่จะกิน เพื่อให้ใจผ่องใส พอบูชาข้าวพระเสร็จ แล้ว จึงเอาข้าวนั้นมากิน ข้าวนั้นกลายเป็นข้าวบุญ เพราะกินเมื่อใจผ่องใส เพียงแค่นี้ พระพุทธศาสนาก็เข้าไปอยู่ในใจเด็ก ในขณะที่กินข้าว แต่ละคำ

 

.....หรือ ลูกเอ๊ย...เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มใช้ให้เป็นนะลูก ไม่ใช้เพื่อเอามาอวดสัดส่วนว่า ใครจะสวย ใครจะงาม แต่ว่าลูกเอ๊ย...เสื้อผ้านี้ เอามากันร้อนกันหนาว เอามากันอาย เอามาเพื่อให้ร่างกายของเรานี่อบอุ่น แล้วก็เหมาะแก่การที่จะมาประพฤติ ประกอบคุณงามความดี ไม่ใช่เอามาเพื่อยั่วให้กามราคะคนอื่นกำเริบ สิ่งเหล่านี้ถ้ารู้จักสอนเขา พระพุทธศาสนาก็แทรกเข้าไปในเสื้อผ้าของเขา แล้วก็แทรกผ่านเข้าไปในใจ ทำให้เขารู้จักแต่งเนื้อแต่งตัวในทางที่ถูกที่ควร

 

.....หรือ แค่สอนให้เด็ก ตื่นนอนก็เก็บที่นอน ช่วยกันกวาดบ้านกวาดเรือน ช่วยกันปัดกวาดเช็ดถูห้องพระให้ดี ช่วยกันจัดดอกไม้ใส่แจกันไว้บูชาพระ สิ่งเหล่านี้ถ้ารู้จักสอนเด็กในที่สุดก็กลายเป็นว่า พุทธศาสนาได้สอนให้เด็กรับผิดชอบอยู่ในบ้านทุกอณูในพื้นที่ไปในตัวแล้ว สอนพระพุทธศาสนาประเภทที่นำเอามาใช้ในชีวิตจริงให้ได้ คือ นำมาเพื่อการเพาะนิสัยเด็กให้มีสัมมาทิฐิเกิดขึ้นได้ พระพุทธศาสนาอย่างนี้ คือ พระพุทธศาสนาที่เด็กต้องการ

 

.....ถ้าเราสอนด้วยวิธีนี้ เด็กจะไม่ย้อนมาถามเราอีกว่า จะเรียนพระพุทธศาสนาแล้วได้อะไร เพราะเด็กได้รู้จักพุทธศาสนาไปตามลำดับๆ ตั้งแต่ข้าวแต่ละคำ น้ำแต่ละอึก นมแต่ละอิ่ม เด็กจะรู้จักพุทธศาสนาตั้งแต่เขาหยิบผ้าขึ้นมาสวมใส่ เด็กจะรู้จักพระพุทธศาสนา ตั้งแต่การที่เขารู้จักปักแจกันเอาไว้ที่โต๊ะหมู่บูชาพระ รวมกระทั่งเด็กจะรู้จักพระพุทธศาสนา ผ่านวิธีรักษาสุขภาพในชีวิตประจำวันของเขา ถ้าครูบาอาจารย์สอนพระพุทธศาสนาเป็น จะสอนอย่างนี้ ไม่ใช่ไปยกอริยสัจ 4 มาสอนเด็กอนุบาล เด็กประถม...เจริญพร.

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.022500717639923 Mins