ถาม หลวงพ่อเจ้าคะ ในฐานะที่เป็นแม่ก็พยายามสอนลูกให้ทำความดีหรือกรรมดี แต่เด็กสมัยนี้ต้องการเหตุผลค่ะ เขามักจะย้อนถามกลับมาว่า แม่มีอะไรเป็นเครื่องวัดว่า อะไรคือกรรมดี อะไรคือกรรมชั่ว ซึ่งแม่ก็ตอบเขาไม่ค่อยถนัด จึงขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า คำว่า "กรรม" มีความหมายอย่างไร คนเราทำกรรมได้กี่ทาง และมีอะไรเป็นเครื่องตัดสินคะ ?
ตอบ เจริญพร หลวงพ่อขอตอบคำถามแรกก่อนก็แล้วกัน ที่ถามว่า "กรรม" คืออะไร คำว่า "กรรม" คือ การกระทำ แต่ละคนก็มีการกระทำอยู่ในชีวิตประจำวันด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะทำด้วยการคิด ทำด้วยการพูด หรือทำด้วยไม้ด้วยมือของเราก็ตาม แต่ว่าความหมายของ "กรรม" ที่ลึกๆ ไปกว่าการกระทำทั่วไป กรรม หมายถึง การกระทำที่ทำด้วยความตั้งใจ ถ้าไม่ตั้งใจ ไม่ถือว่าเป็นกรรม ถ้าถามว่าคนเราทำกรรมได้กี่ทาง ตอบชัดเจนเลย ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หญิง หรือชาย คนเราทำกรรมได้ ๓ ทางด้วยกัน
.....ประการที่ ๑ กรรมทางกาย เราจะเอามือ เอาเท้า เอาทั้งตัว ไปทำก็ตาม เช่น เอาหัวโขกพื้น ด้วยความโกรธ ก็เป็นกรรม เพราะตั้งใจโขก เอาหัวโขกคำนับอย่างที่บางชนชาติเขาทำกัน นั่นก็เป็นกรรม เพราะทำด้วยความตั้งใจ สิบนิ้วของเราพนมยกมือไหว้กราบผู้ที่มีคุณธรรม นี้ก็จัดเป็นกรรม แต่ว่าสิบนิ้วอีกเหมือนกันรวบกำเข้าเป็นกำปั้น แล้วไปต่อยเขาเข้า ก็จัดเป็นกรรมชั่ว
.....ประการที่ ๒ กรรมทางวาจา เราตั้งใจพูดชมใครตามความเป็นจริงว่า เขาดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ ก็จัดว่าเป็นกรรมดีของเรา ในทำนองกลับกัน ถ้าตั้งใจด่าใครก็เป็นกรรมชั่วของเรา จัดเป็นกรรมทางวาจา คนหลับนอนละเมอไม่เป็นกรรม เพราะไม่ได้ตั้งใจ ไม่ถือสาหาความกัน คนไข้เพ้อ จะเพ้อชมใครติใครก็ตาม ไม่จัดว่าเป็นกรรม เพราะไม่มีความตั้งใจ ไม่มีเจตนา
.....ประการที่ ๓ กรรมทางใจ คือเป็นกรรมทางความคิดนั่นเอง คิดรักใครเกลียดชังใคร คิดอิจฉาตาร้อนใคร ก็เป็นกรรม แค่คิดก็เป็นกรรมแล้ว ตรงนี้เองเวลาจะตัดสินว่า กรรมที่เราทำเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ถ้าจะเอามาตรฐานของใครมาวัดคงยาก ก็ต้องเอามาตรฐานของผู้รู้มาวัดกัน
.....สมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงพระชนม์อยู่ ก็มีผู้สงสัยเช่นเดียวกับที่คุณโยม ว่า กรรมดีเป็นอย่างไร กรรมชั่วเป็นอย่างไร พระองค์ทรงมีวิธีตรัสตอบกลุ่มคนต่างๆ ให้ เข้าใจ คือ
.....กรณีที่ ๑ ตอบให้เด็กเข้าใจ ตรัสตอบว่า ทำอะไรแล้วเดือดร้อนเขา เดือดร้อนเรา นั่นเป็นกรรมชั่ว ทำอะไรแล้วถ้าเดือดร้อนเรา แต่สบายใจเขา ก็อย่าทำ เพราะยังจัดเป็นกรรมชั่ว ทำอะไรแล้วเย็นใจเขา แต่ร้อนใจเรา ก็อย่าทำ จัดเป็นกรรมชั่ว ทำอะไรแล้วไม่ร้อนเขาไม่ร้อนเรา ทำเถิด นั่นแหละกรรมดี
.....กรณีที่ ๒ ตอบให้ผู้ใหญ่เข้าใจ พระพุทธองค์จะตรัสตอบอีกลักษณะหนึ่ง คือ กรรมชั่ว คือ ทำอะไรแล้วต้องร้อนใจในภายหลัง อย่าทำ แม้ว่าเริ่มต้นดูว่าสนุก สบาย สะดวก แต่ลงท้ายด้วยความเดือดร้อน นั่นแหละกรรมชั่ว เช่น กินเหล้าตอนเริ่มต้นสนุก แต่ตอนท้ายก็คลานกันเสียแล้ว อาเจียนกันเสียแล้ว ตีกันเสียแล้ว ทำแล้วต้องร้อนใจในภายหลังจัดเป็นกรรมชั่ว
.....กรรมดี คือ ทำอะไรแล้วไม่ต้องร้อนใจในภายหลัง ทำเถิด เช่น เด็กตั้งใจเรียนหนังสือตั้งแต่ต้นปี ทั้งทำการบ้าน อ่านท่องหนังสือสารพัด ไม่มีเวลาไปเที่ยวเลย เหนื่อยแต่ว่าปลายปีเขาสอบได้ จัดว่าเป็นกรรมดี
.....กรณีที่ ๓ ตอบให้ผู้ใหญ่ที่การศึกษาหย่อนสักหน่อยเข้าใจ พระองค์ทรงตีกรอบเลยว่า กรรมชั่วทางกาย คือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ตัดสินลงไปชัดเจน ไม่ต้องคิดมาก
.....กรรมชั่วทางวาจา คือ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง จัดเป็นกรรมชั่ว
.....กรรมชั่วทางใจ คือ คิดโลภอยากได้ของเขา คิดพยาบาทจองล้างจองผลาญเขา คิดเห็นผิดเป็นชอบ คิดโง่ๆ คิดอิจฉาริษยา จัดเป็นความชั่วทางใจ ชัดเจนลงไปอีก
.....กรณีที่ ๔ ตอบให้นักปราชญ์บัณฑิตหรือนักฝึกสมาธิ พระองค์ก็ตรัสชัดว่า ทำอะไรแล้วใจมันขุ่นมัว นั่นคือ กรรมชั่ว ทำอะไรแล้วใจใส ยิ่งทำยิ่งใส นั่นคือ กรรมดี
.....กรรมชั่วกรรมดีตัดสินกันอย่างนี้ คุณโยมค่อยๆ อธิบายให้ลูกฟังก็แล้วกัน หลวงพ่อก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าลูกคนโตของคุณโยมอายุ เท่าไร คนเล็กเท่าไร ก็ไปปรับดูให้พอเหมาะก็แล้วกัน