ผู้พยายามจะเอาน้ำเมาเข้าตลาดหุ้น มักอ้างเสมอว่า กฎหมายอนุญาตโดยอ้างถึงมติคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปี ๒๕๓๘ แต่การกล่าวอ้างดังกล่าวไม่เป็นความจริงและมีความไม่ชอบมาพากล ดังนี้
๑. คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีประกาศที่ กจ.๑๒/๒๕๔๓ โดยข้อ ๔ (ก) ได้กำหนดคุณสมบัติของธุรกิจที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯไว้ว่า จะต้องมี “ธุรกิจหลักเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” แต่น้ำเมาเป็นสาเหตุของความเสียหายต่อสังคมมหาศาล ดังนี้
* ๗๒.๗% ของผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุบนท้องถนนดื่มน้ำเมาก่อนเกิดเหตุ
* ๕๙.๑% ของผู้ก่อคดีทำลายทรัพย์สินดื่มน้ำเมาก่อนก่อคดี
* น้ำเมาเป็นสาเหตุถึง ๕๔.๓% ของคดีความผิดเกี่ยวกับเพศและข่มขืนกระทำชำเรา
* ๒๐.๘% ของผู้กระทำความผิดต่อร่างกาย ดื่มน้ำเมาก่อนก่อเหตุ
* ผู้หญิงและเด็กวันละนับล้านคนถูกทุบตีจากพ่อบ้านที่เมามาย
ขณะเดียวกันผู้บริโภคน้ำเมาเป็นประจำ ๕๑.๒% มีความเครียดรุนแรง ๔๘.๖% ซึมเศร้าในระดับควรพบแพทย์ และถ้าบริโภคจนติดมี ๑๑.๙% อยากฆ่าตัวตายและ ๑๑.๓% อยากฆ่าผู้อื่น นอกจากนี้น้ำเมายังเป็นสาเหตุของโรคร้ายกว่า ๕๐ ชนิด เช่น ตับแข็ง มะเร็งทางเดินอาหาร และสมองเสื่อมอีกด้วยแม้ในทางเศรษฐกิจ จากการวิจัยพบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียกำลังผลิต (Productivity lost) ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและค่าเสียหายรวมรายจ่ายของรัฐจากอาชญากรรมและความรุนแรงที่มีสาเหตุจากการดื่มน้ำเมา สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าปีละกว่า ๕ แสนล้านบาท
ดังนั้น เมื่อธุรกิจน้ำเมาส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมายตามสถิติข้างต้น จึงขาดคุณสมบัติที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
๒. มติ ก.ล.ต. ปี ๒๕๓๘ ที่ถูกอ้าง ก็อนุญาตเพียงไวน์และเบียร์ไม่ได้อนุญาตให้ธุรกิจเหล้า เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด แต่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ ที่ต้องการเข้าตลาดหุ้น นอกจากผลิตเบียร์แล้วยังผลิตเหล้าด้วย ทั้งเหล้าแม่โขง เหล้าแสงโสม เหล้าหงส์ทอง เหล้าหงส์ทิพย์ เหล้าหงส์ชัย เหล้าหงส์รุ้ง เหล้าหงส์เพชร เหล้าขาว จึงเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้ เพราะ ก.ล.ต. ไม่เคยอนุญาตให้ธุรกิจเหล้าเข้าตลาดหลักทรัพย์
๓. แม้ตัวมติ ก.ล.ต.ปี ๒๕๓๘ เอง ก็ย่อมไม่อาจไปขัดกับประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต.ปี ๒๕๔๓ ที่กำหนดให้บริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์จะต้องมี “ธุรกิจหลักเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ดังกล่าวแล้วข้างต้น เพราะศักดิ์และสิทธิ์ของ “ประกาศ” ย่อมสูงกว่ามติ เหมือนกฎกระทรวงจะไปแย้งกฎหมายไม่ได้ กฎหมายก็ไปแย้งรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้นธุรกิจเบียร์และไวน์ก็ควรจะห้ามเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามประกาศคณะกรรมการก.ล.ต. ปี ๒๕๔๓
การพยายามอ้างว่า กฎหมายเปิดทางให้ธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหุ้นได้ โดยหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงประกาศคณะกรรมการก.ล.ต.ปี ๒๕๔๓ จึงเป็นการแสดงความไม่ชอบมาพากล ดูมีลับลมคมนัย ไม่โปร่งใสและน่าแปลกที่มติก.ล.ต. ปี ๒๕๓๘ ก็ดูมีความพยายามปกปิด ไม่เปิดเผยเนื้อหาสาระสู่สาธารณะเหมือนมติก.ล.ต. เรื่องอื่นๆ สอบถามก็ไม่ยอมบอก อ้างว่า เป็นความลับ ไม่รู้ว่า กลัวประชาชนจะรู้ความจริงว่าไม่ได้อนุญาตให้ธุรกิจเหล้าเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือเปล่า?
๔. คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอง ได้มีมติอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ ว่า ไม่รับธุรกิจที่ไม่มีประโยชน์ หรือมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมต่ำ อาทิ บุหรี่ การค้าอาวุธ การพนัน เป็นต้น เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯเพราะฉะนั้นเป็นที่ชัดเจนว่า ธุรกิจใดจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้หรือไม่ อยู่ที่ว่าธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศหรือไม่?การกล่าวอ้างว่า กฎหมายอนุญาตให้ธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ จึงไม่เป็นความจริง!!
เครือข่ายเยาวชนคนรักชาติ