อุทานคาถา (๑)

วันที่ 21 มค. พ.ศ.2550

stop490312.jpg

      ณ บัดนี้ อาตมาภาพจักได้แสดงในอุทานคาถา ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงเปล่งขึ้นด้วยพระองค์เอง มิได้ปรารภสิ่งหนึ่งสิ่งใด ปรารภแต่ธรรมสิ่งเดียวเท่านั้น ทรงเปล่งอุทานคาถาขึ้นดังที่ยกขึ้นไว้ ณ เบื้องต้นนั้น อุทานคาถานี้เป็นความเปล่งขึ้นจากพระโอษฐ์ของพระองค์เอง เปล่งขึ้นด้วยมาปรารภถึงธรรมว่าเป็นของอัศจรรย์นัก ธรรมน่ะเป็นของอัศจรรย์ บัดนี้ ท่านทั้งหลายทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต จงตั้งใจให้บริสุทธิ์สนิทฟังอุทานคาถา ซึ่งเปล่งขึ้นจากพระทัยของพระบรมศาสดา

ปรากฏโดยวาระพระบาลีว่า ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา อาตาปิโน ฌายโต พฺราหฺมฺณสฺส อถสฺส กงฺขา วปยนฺติ สพฺพา ยโต ปชานาติ สเหตุธมฺมํ ฯ แปลเป็นสยามภาษาว่า เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะพราหมณ์นั้นได้รู้จักธรรมว่าเกิดแต่เหตุ เมื่อใดธรรมทั้งหลายเกิดแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะพราหมณ์นั้นได้รู้ความสิ้นไปของปัจจัยทั้งหลาย เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏขึ้นแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมืดเสียได้ ดำรงอยู่เหมือนดวงอาทิตย์อุทัยขึ้นมากำจัดความมืด ทำอากาศให้สว่างฉะนั้น นี้เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ไม่ใช่เป็นของรู้ถึงได้ง่าย รู้ถึงได้ยากนัก

ธรรมทั้งหลายที่ปรากฏแก่พราหมณ์นั้น เราควรจะรู้ ธรรมอะไรที่ปรากฏแก่พราหมณ์น่ะ และก็บอกลักษณะท่าทางไว้ให้เสร็จ เสมือนดวงอาทิตย์ขึ้นไปแล้วกำจัดความมืดทำอากาศให้สว่าง นี้เป็นข้อใหญ่ใจความสำคัญนัก จะเอาธรรมตรงไหน ดวงไหน ชิ้นไหน อันไหนกัน ธรรมที่เกิดขึ้นแก่พราหมณ์น่ะ ถ้าว่าไม่รู้จักธรรมดวงนั้น ฟังไปเถอะ สักร้อยครั้งก็ไม่ได้เรื่อง ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราวทีเดียว

อุทานคาถานี้ลึกซึ้งอยู่ไม่ใช่ของง่าย เผอิญจะต้องกล่าวไว้ย่อ ไม่ได้กล่าวพิสดาร เรียกว่า อุทานคาถา ธรรมที่ปรากฏแก่พราหมณ์น่ะ เป็นมนุษย์เป็นหญิงก็ดี ชายก็ดี ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตไม่ว่า ที่ปรากฏอยู่บัดนี้มีธรรมบังเกิดขึ้นกับใจบ้างไหม ที่ปรากฏอยู่เสมอน่ะ บางคนก็มีบางคนก็ไม่มี ที่ไม่มีนั้นเทียบด้วยคนตาบอด ที่ธรรมปรากฏขึ้นแล้วน่ะเทียบคนตาดี เรื่องนี้พระองค์ทรงรับสั่งในเรื่องธรรมว่า ทิฏฺฐธมฺมสุขวิหารี ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันทันตาเห็น ธรรมที่บังเกิดปรากฏอยู่กับตัวน่ะ พวกมีธรรมกายมีธรรมปรากฏแก่ตัวเสมอ พวกไม่มีธรรมกายนาน ๆ จะปรากฏธรรมสักครั้งหนึ่ง ธรรมที่ปรากฏขึ้นน่ะประจำตัวเชียวนะ ติดอยู่กับใจของบุคคลนั้น สว่างไสว ถ้าปฏิบัติดี ๆ เหมือนดวงอาทิตย์ในกลางวันเชียวนะ แจ่มจ้าอยู่เสมอ แต่ว่าใจต้องจรดอยู่กับธรรม ถ้าว่าใจไม่จรดอยู่กับธรรมหรือธรรมไม่ติดอยู่กับใจละก็ ความสว่างนั้นก็หายไปเสีย เหมือนอย่างตามประทีปในเวลากลางวัน ประทีปอย่างย่อม ๆ ความสว่างก็น้อย ประทีปนั้นขยายออกไปความสว่างก็ขยายออกไป อย่างนั้นแหละฉันใด ธรรมก็มีหลายดวง สว่างต่างกันอย่างนั้นเหมือนกัน

ธรรมน่ะอยู่ที่ไหน มนุษย์อยู่ที่ไหนธรรมที่อยู่ที่นั่น มนุษย์มีธรรมด้วยกันทุกคน เขาเรียกว่า ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ถ้าว่าผู้ที่ทำธรรมเป็นละก็ ใจไปติดที่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้นติดอยู่ที่นั่น นั่นแหละได้ชื่อว่า ธรรมนั้นปรากฏแก่มนุษย์คนนั้นแล้ว

ถ้าว่ากายมนุษย์ละเอียด ใจมนุษย์ละเอียดก็ติดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั่น สองเท่าฟองไข่แดงไก่ ได้ชื่อว่า ธรรมนั้นปรากฏแก่กายมนุษย์ละเอียดนั้นแล้ว ถ้าว่าเป็นกายทิพย์ ใจก็ไปติดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ถ้าว่าไม่ติดอยู่ในธรรมดวงนั้น ไม่เห็นธรรมดวงนั้นแจ่ม ได้ชื่อว่าธรรมยังไม่ปรากฏ เมื่อธรรมปรากฏแล้วก็เห็นธรรมดวงนั้นแจ่ม สามเท่าฟองไข่แดงไก่ ดวงขนาดนั้น ดวงกลม กายทิพย์ละเอียดเห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด สี่เท่าฟองไข่แดงของไก่ แจ่มอยู่กับใจเสมอ นั่นได้ชื่อว่าธรรมปรากฏแก่กายทิพย์ละเอียดแล้ว กายรูปพรหมใจติดอยู่กับศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ใส ห้าเท่าฟองไข่แดงของไก่ ใสบริสุทธิ์ นั่นแหละธรรมนั่นปรากฏแก่กายรูปพรหมแล้ว กายรูปพหรมละเอียด เห็นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด เห็นดวงใส หกเท่า ฟองไข่แดงของไก่ ติดอยู่กับใจเสมอ สว่างไม่มืด ได้ชื่อว่าธรรมนั้นปรากฏแก่กายรูปพรหมละเอียดแล้ว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.04556493361791 Mins