สถานการณ์ปัญหา
- คนไทยดื่มจัดเป็นอันดับ 5 ของโลก เฉลี่ยคิดเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 13.59 ลิตรต่อคนต่อปี
- มูลค่าโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงปี 2539 – 2544 เฉลี่ยสูงกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี
- อัตราตายต่อปีจากอุบัติเหตุจราจร ของไทยนั้นสูงกว่าเพื่อน โดยไทยตายเฉลี่ยปีละประมาณ 20 ต่อแสน ขณะที่ อินโดนีเซียประมาณ 15 ต่อแสน ศรีลังกาและอินเดียประมาณ 10 ต่อแสน และกลุ่มประเทศตะวันตก (อเมริกา ยุโรป) ประมาณ 5 ต่อแสน ในช่วงเวลาเดียวกัน (2539 –2544)
- ไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 2.23% ของ GNP ประมาณ 70,000 ล้าน ในปี 2536 จากอุบัติเหตุจราจรอย่างเดียว หากนับความสูญเสียอื่นๆอันเป็นผลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่น โรคตับ กระเพาะและการบาดเจ็บจากความรุนแรงที่แอลกอฮอล์มีส่วนเกี่ยวข้อง ตัวเลขดังกล่าวจะสูงกว่า แสนล้านต่อปี
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในเชิงสุขภาพและสังคมในหลายด้าน ที่เห็นชัดเจนที่สุด ได้แก่ การที่ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขับขี่ยานพาหนะ เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจราจรมากกว่าร้อยละ 50 ของที่เกิดทั้งหมด และเกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงต่อครอบครัว และบุคคลอื่นๆ ในลักษณะของการก่ออาชญากรรม
คนไทยกับการบริโภคสุรา
- ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า แนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในแง่ของจำนวนผู้ดื่ม คนไทยดื่มสุราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2.6 แสนคน และในแง่ของปริมาณการดื่มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันพบว่า มีจำนวนคนไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราว 15.3 ล้านคน และคิดเป็นมูลค่าการบริโภค 125,000 ล้านบาทต่อปี
- คนไทยมีอัตราการบริโภคแอลกอฮลล์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยใน 10 ปีที่ผ่านมา จาก พ.ศ. 2535-2545 มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จาก 992 ล้านลิตร เป็น 1,926 ล้านลิตร
- อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 25.2 ลิตร ในปี 2535 เป็น 41.6 ลิตร ในปี 2545
- โดยเฉพาะเบียร์ มีการบริโภคเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จาก 320 ล้านลิตร เป็น 1,222 ล้านลิตร หรือ จาก 8.1 ลิตรต่อคน เพิ่มเป็น 24.8 ลิตรต่อคน
- อายุของผู้ริเริ่มดื่มสุราครั้งแรก มีแนวโน้มไปสู่ผู้มีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ขณะนี้กลุ่มผู้ริเริ่มดื่มสุราที่ใหญ่ที่สุด คือ กลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีซึ่งพบว่า ร้อยละ 46.9 หรือเกือบครึ่งหนึ่งเริ่มลองดื่มสุราแล้ว
- จากการวิจัยพบว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาเมื่อปี 2544 มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 11.8 ตอบว่า ตั้งใจงดดื่มสุราในช่วงเข้าพรรษา คือ ประมาณจำนวนผู้งดดื่ม 1.8 ล้านคน และมูลค่าการบริโภคลดลง 3,600 ล้านบาท
พิษของเหล้า
เหล้า น้ำใสๆ แก้วเดียว ออกฤทธิ์มากมาย เพราะประกอบด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ซึ่งมีผลเสียมากมาย บ้างก็คลุ้มคลั่ง โมโห ฉุนเฉียว บ้างก็ใจดี สนุกสนาน ครื้นเครงรง เคยอายก็กล้า ดังคำว่า “ดื่มเหล้าปลอบใจเสือป่า” กล้าทำในสิ่งที่ยามมีสติไม่กล้าทำ ทำในสิ่งที่ผิดขาดสติและประมาท จนเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก แม้พระพุทธเจ้าเองก็ทรงบัญญัติไว้ในศีล 5 ให้ละเว้นสุราเมรัย ฤทธิ์ของเหล้าทำให้ ผู้คนประมาท กระทำในสิ่งที่ผิดมากมาย ได้แก่
1. เกิดความประมาท เป็นตัวการทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น อุบัติเหตุในการจราจร ตกจากที่สูง ถูกของมีคม อุบัติเหตุในโรงงาน ฯลฯ
2. ขาดความยั้งคิด ก่อการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายในกลุ่มคนใกล้ชิด เช่น เพื่อนฝูง ภรรยา และลูก จนบานปลายเกิดความระหองระแหงจนถึงหย่าร้าง ครอบครัวล่มสลาย ที่สำคัญความรุนแรงยิ่งกว่านั้น คือ การมีเพศสัมพันธ์อันมิชอบ หลายรายนำเอดส์มาฝากภรรยาอีกด้วย
3. สร้างความทุกข์ให้ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ บุตร ภรรยา (สามี) จะต้องกลืนน้ำตาด้วยความทุกข์ เศร้าหมอง หมดศักดิ์ศรี ขาดความนับถือและความมั่นคงทางจิตใจ
4. เพิ่มค่าใช้จ่าย สถิติค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเหล้าวันละ 80 บาทต่อวัน เท่ากับค่าของข้าว 1 วัน สำหรับครอบครัวเล็กๆ และเท่ากับค่าการศึกษาของลูก 1 คน
5. บั่นทอนสุขภาพ แอลกอฮอล์ในเหล้าทำลายอวัยวะทุกส่วนตั้งแต่ สมอง กระเพาะอาหาร ตับอ่อน ไต หัวใจ จนถึงอวัยวะเพศ ฯลฯ
ทบทวนถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น
เมื่อรู้ว่าแอลกอฮอล์มีผลเสียก็ไม่ควรไปดื่มอีก สำหรับคนที่ต้องการหักดิบเลิกเหล้าเบียร์ ให้ปฎิบัติ ดังนี้
- ทบทวนตัวเองทุกวันถึงส่วนดีและส่วนเสียของเหล้า
- ระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เทียบเคียงกับชีวิตที่ดื่มเหล้าและไม่ดื่มเหล้า
- หันมองหน้าลูกเมีย หรือผู้ที่ท่านรัก เคารพ และคำนึงถึงคำแนะนำของบุคคลเหล่านั้น
- นึกถึงภารกิจที่ท่านมีต่อครอบครัว และอนาคตของท่านเอง
- ตัดสินใจเสียวันนี้ว่าจะดื่มต่อไปหรือจะหยุด
- ถ้าจะดื่มต่อไป คิดว่าจะลด ละ เลิกเมื่อใด หรือจะตายไปกับเหล้า
- ถ้าจะหยุด คิดว่าจะทำอย่างไรดี ทำใจเข้มแข็ง สัญญากับผู้ที่ท่านรักว่าจะเลิกดื่ม
- การเลิกเหล้ามี 3 วิธี การใช้พฤติกรรมกลุ่ม ,การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า และการใช้ยา มีสถานบริการทั่วไปทุกโรงพยาบาลของรัฐ
- ปฎิบัติตามคำแนะนำของที่ปรึกษาด้านอดเหล้าอย่างเคร่งครัด
- วางตัวให้ห่างจากขวดเหล้า และห่างจากเพื่อนกินเหล้า หันมาคบกับเพื่อนกลุ่มที่สนใจกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น กีฬา ดนตรี สิ่งดีๆที่ท่านชอบ สิ่งที่ทำให้ท่านหลุดพ้นจากอิทธิพลของเหล้า ปฏิบัติเพียงเท่านี้ ทุกท่านก็จะพ้นจากการครอบงำของน้ำเมาได้อย่างสิ้นเชิง !!!
- ดร.สังคม -
อ้างอิงข้อมูลจาก: เครือข่ายองค์กรงดเหล้า http://www.stopdrink.com/