เผยแผ่ศาสนาในต่างประเทศ (จบ)

วันที่ 09 กพ. พ.ศ.2550

 

 

 

.....แต่ก่อนนั้นการเผยแผ่ศาสนาในต่างประเทศ จะเป็นไปในลักษณะ ไปตายดาบหน้า เมื่อไปก็ไม่คิดกลับ ตั้งใจจะไปตายที่นั่นเลย เพราะระยะทางที่ห่างไกล การเดินทางก็ไม่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ เช่น การที่พระโสณะ พระอุตตระมาเผยแผ่ ยังประเทศไทยในสมัยพระเจ้าอโศก ผู้ที่ไปเผยแผ่ต้องเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์สูงส่งจริงๆ

 

.....การเดินทางมักอาศัยเส้นทางการค้า เช่น พระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าในเอเชียกลาง และประเทศจีนตามเส้นทางสายไหม ส่วนชาวมุสลิมก็มีวิทยาการ การเดินเรือที่ก้าวหน้ามากในยุคหนึ่ง นักสอนศาสนาอิสลามจึงติดตามขบวน เรือสินค้าไปเผยแผ่ศาสนาในหมู่เกาะต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ตอนใต้ของฟิลิปปินส์

 

.....เช่นเดียวกับยุคล่า อาณานิคมของชาวตะวันตก บาทหลวงชาวคริสต์ก็ติดตาม ขบวนเรือสินค้าและเรือรบเข้าไปเผยแผ่ศาสนา ในดินแดนต่างๆ ที่ตกเป็นอาณานิคม เป้าหมายในการเผยแผ่ศาสนา ก็คือคนในท้องถิ่นโดยภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ก็ไปเรียนรู้เอาที่นั่นเลย ไม่ได้เป็นอุปสรรคมากมายอะไร

 

.....ต่อมาเมื่อวิทยาการเจริญก้าวหน้ามากขึ้น การเดินทางสะดวกขึ้น ก็มีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ทั้งระยะสั้นระยะยาวของ ประชากรในโลกมากขึ้น ทำให้เกิดรูปแบบการเผยแผ่ศาสนา ในต่างประเทศแบบใหม่ โดยที่ศาสนาเข้าไปพร้อมๆ กับการอพยพของผู้คน เช่น ชาวจีนอพยพไปในที่ต่างๆ ก็นำพุทธศาสนามหายานไปด้วย ชาวไทยอพยพเข้าอเมริกา ก็นำพระพุทธศาสนาไปด้วย มีการสร้างวัด นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ไปอยู่จำพรรษา สั่งสอนประชาชน เป็นการพยายามรักษาวัฒนธรรม และศาสนาเดิมในสิ่งแวดล้อมใหม่

 

.....อย่างไรก็ตามการเผยแผ่ศาสนาแบบนี้ แม้ว่าช่วงแรกจะดูดีเพียงไรก็ตาม แต่ก็ยังจำกัดวงอยู่เพียงในหมู่ผู้อพยพ ซึ่งถ้าหากไม่สามารถเจาะเข้าไปสู่คนท้องถิ่นนั้นๆ ได้ ก็ถือว่ายังไม่มั่นคง เพราะผู้อพยพรุ่นแรกจะมีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และตายลงตามลำดับ ส่วนลูกหลานผู้อพยพซึ่งเกิดในประเทศใหม่ มีวัฒนธรรมภาษาต่างกัน ก็ค่อยๆ กลมกลืนกลายเป็นคนในประเทศนั้น วัฒนธรรมนั้น ถ้าผู้เผยแผ่ศาสนาไม่มีการปรับตัว ทั้งด้านภาษาและการอบรมสั่งสอน ยึดติดรูปแบบเดิมๆ แล้ว ศาสนาที่ผู้อพยพรุ่นแรกพยายามก่อร่างสร้างขึ้นในดินแดนนั้นๆ ก็จะค่อยๆ เสื่อมสลายไปในที่สุด ประเด็นสำคัญที่สุด ที่จะเป็นตัวกำหนดความมั่นคงของการเผยแผ่ ศาสนาในต่างแดนอยู่ที่ว่า จะสามารถปลูกจิตสำนึกพร้อมกับเจาะเข้าไปในหมู่คนท้องถิ่นได้หรือไม่

 

ความจำเป็นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ

 

.....มีบางท่านคิดว่า ทำไมจึงต้องไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในต่างประเทศให้ชาวต่างชาติด้วย ในประเทศไทยเราก็ยังทำได้ไม่ดีเต็มที่เลย น่าจะทำในประเทศไทยให้ดีก่อน ความคิดนี้ถ้าจะเปรียบแล้วก็เหมือน กับผู้ที่คิดว่า ทำไมประเทศไทย ต้องผลิตสินค้าส่งไปขายต่างประเทศด้วย ในประเทศไทยเราก็ยังผลิตสินค้าหลายอย่าง ได้ไม่เพียงพอกับ ความต้องการของผู้บริโภคเลย น่าจะผลิตเพื่อซื้อขายใช้กัน ในประเทศไทยก็พอแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงถ้าเราทำอย่างนั้น ผลสุดท้ายคือประเทศจะล้มละลาย เพราะไม่ว่าเราจะผลิตสินค้าส่งไป ขายต่างประเทศ หรือไม่ต่างประเทศเขาก็ส่งสินค้า มาตีตลาดประเทศไทยอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรามัวแต่ตั้งรับอย่างเดียว อย่างไรเสียก็ตั้งรับไม่อยู่ ๑๐๐% เขาก็จะค่อยๆ แย่งเอาตลาดลูกค้าชาวไทย ไปทีละน้อยๆ จนหมดในที่สุด

 

.....วิธีการแก้ไขคือ เราจะต้องบุกไปภายนอกด้วย โดยเมื่อเราผลิตสินค้าตั้งเป้าตีตลาดไปทั่วโลกแล้ว ก็จะเกิดภาวะกดดันให้เรา ต้องปรับปรุงคุณภาพ พัฒนาสินค้าเป็นการใหญ่ เพื่อให้แข่งขันกับตลาดโลกได้ และการที่เราพัฒนาปรับปรุงตัวเช่นนี้ ก็จะเป็นทั้งการรุกไปข้างหน้า และเป็นการรักษาตลาดในประเทศของตัวด้วย เพราะสินค้าและวิธีการจัดจำหน่ายต่างๆ มีการพัฒนาในระดับโลก สามารถสู้กับสินค้าต่างชาติได้แล้ว

 

.....เช่นเดียวกับ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา (มิได้หมายความว่าเป็นสินค้า แต่เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นสถานการณ์ : ผู้เขียน) เราจะเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในต่างแดนหรือไม่ ศาสนาอื่นเขาก็มาเผยแผ่ อยู่ในประเทศไทยเต็มไปหมด และทำงานกันเต็มที่เนิ่นนานมาแล้ว บางกลุ่มบางองค์กรก็สามารถดึงคนไทย ไปนับถือศาสนาเขาได้อย่างรวดเร็ว มีศาสนิกมากมายเรือน แสนในเวลาเพียงไม่ถึง ๓๐ ปี

 

.....ถ้าเรามัวตั้งรับอย่างเดียว พุทธศาสนิกชนชาวไทยก็จะค่อยๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ และอาจหมดไปในที่สุด เหมือนในอินเดียก็ได้ เราจึงจำเป็นต้องทุ่มเทสนับสนุนการทำงาน เผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน อย่างเต็มที่ และการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในต่างแดนนี้เอง จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ประกาศ พระพุทธศาสนาของเรา ตื่นตัวที่จะพัฒนาตัวเอง ทั้งความรู้ในหลักธรรม การประยุกต์ใช้ การอบรมเทศน์สอน การปฏิบัติตน และด้วยโลกทรรศน์ที่กว้างขวางขึ้น ซึ่งทักษะที่ได้รับการพัฒนานี้เอง ก็จะย้อนกลับมาเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ส่งผลทำให้พระพุทธศาสนา ในประเทศมั่นคงด้วยเช่นกัน

 

.....พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีคำสอนที่ลุ่มลึก สมบูรณ์ด้วยเหตุและผลกว้างขวาง ครอบคลุมทั้งประโยชน์ในชาตินี้ ชาติหน้า และประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน นักปราชญ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีใจเป็นกลางไม่ลำเอียง จะต้องยอมรับว่าคำสอน ในพระพุทธศาสนานี้เป็นเลิศที่สุด

   

.....นี่คือสิ่งที่ชาวพุทธควรภาคภูมิใจ แต่เราก็ไม่ควรจะประมาท เพราะแม้ว่าพระพุทธศาสนา จะมีคำสอนที่ดีเลิศ เคยเป็นศาสนา ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจำนวนศาสนิกชนมากกว่าทุกศาสนาเมื่อ ๒๐๐ ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ จำนวนพุทธศาสนิกชนกลับลดลงไปมาก กล่าวกันว่าเหลือชาวพุทธจริงๆ เพียงประมาณ ๓๐๐ ล้านคนเท่านั้น ในขณะที่ชาวคริสต์เพิ่มจำนวนเป็นประมาณ ๒,๕๐๐ ล้านคน ชาวมุสลิมเพิ่มเป็นกว่า ๑ พันล้านคน ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ?

 

.....เรื่องของการเผยแผ่ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรหรือสื่อวัสดุอุปกรณ์ ต่างๆ รวมทั้งวิธีการทำงาน การบริหารงาน ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรคำนึงถึงว่าจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงอย่างไร บ้าง เราจะมัวแต่ภาคภูมิใจเฉพาะในแก่นคำสอนอันดีเลิศของพระ พุทธศาสนาเพียงเท่านั้นไม่ได้

 

.....เรายังมีภารกิจอีกมากมายที่รออยู่ จะต้องมีการปรับปรุงเทคนิควิธีการ ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยต้องรู้จักนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ แนวทางการนำเสนอใหม่ๆ มาใช้ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ สังคมของผู้คนในแต่ละท้องถิ่น ให้กระแสธารชุ่มเย็นแห่งพุทธธรรม ซึมซาบแผ่กว้างไปในใจของชาวโลก ดับไฟกิเลสที่เร่าร้อน นำสันติสุขกลับคืนมาสู่โลก ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกคนทุกฝ่าย โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำของพระพุทธศาสนาและชาวพุทธ จักต้องตระหนักในภารกิจอันยิ่งใหญ่ ดังพุทธโอวาท...

 

.....ภิกษุทั้งหลาย เธอจงแสดงธรรมให้ งดงามในเบื้องต้น ให้งดงามในท่ามกลาง ให้งดงามในที่สุดลงรอบ จงประกาศพรหมจรรย์ให้เป็นไป พร้อมทั้งอรรถทั้งพยัญชนะ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์โลกทั้งหลาย ที่เป็นผู้มีธุลีในดวงตาน้อย ผู้จักอาจรู้ทั่วถึงธรรมนั้นมีอยู่ เขาเหล่านั้นย่อมเสื่อมจากคุณที่พึงได้พึงเห็น เพราะเหตุที่ไม่ได้ฟังธรรม..

 

ภิกษุทั้งหลาย แม้เราเองก็จักไปสู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเหมือนกัน

(วิ. มหา. ๔/๓๒/๓๙)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010821660359701 Mins