วันมาฆบุรณมี พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์ เป็นวันที่พระอรหันต์พุทธสาวก ๑,๒๕๐ ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์สี่ประการ เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงได้ถือเอาเหตุนั้น ประกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ พระองค์นั้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและสังเวช หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้และสั่งสอนพระธรรมมาเป็นระยะเวลา ๔๕ ปี พระองค์ทรงปลงมายุสังขาร คือ ตั้งพระทัยว่า "ต่อแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน" การปลงอายุสังขาร ตรงกับวันมาฆบูชาในปีที่พระพุทธองค์มีพระชนมายุ ๘๐ พระชันษา
ด้วยเหตุนี้ ในวันมาฆบูชา ชาวพุทธจึงถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้า รวม ๒ ประการ คือ เป็นวันที่แสดงโอวาทปาติโมกข์ และ เป็นวันปลงอายุสังขาร
“ จาตุรงคสันนิบาต ”เป็น วันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประกาศหลักการและอุดมการณ์แห่งพุทธศาสนา มีเนื้อหาหลักว่าด้วยการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี ละเว้นความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่ สอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพระธรรมคำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่
การประชุมที่ประกอบด้วยความพิเศษ ๔ ประการข้างต้นนี้ เกิดขึ้นใน “ วันมาฆบูชา ” นี้เป็นครั้งแรกและเป็นเพียงครั้งเดียวในสมัยพุทธกาลเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะ แสดงโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นการประกาศหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งหลักธรรมคำสอนดังกล่าว เรียกว่าเป็น ธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา หรือ หัวใจของพุทธศาสนา ก็ได้
หลักการ ๓ หมายถึง สาระสำคัญที่ควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ ได้แก่ ๑.การไม่ทำบาปทั้งปวง ๒.การทำกุศลให้ถึงพร้อม ๓.การทำจิตใจให้ผ่องใส อุดมการณ์ ๔ หมายถึง หลักการที่ทรงวางไว้ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ และวิธีการ ๖ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติให้บรรลุจุดหมาย คือต้องฝึกอบรมตนแบบต่อเนื่อง
ในวันมาฆบูชา พระภิกษุสามเณรจะนำในการประกอบพิธี มีการให้โอวาท สวดมนต์ และนำในการเวียนเทียน มีการแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา มีการนั่งสมาธิเจริญภาวนา
พุทธศาสนิกชน มักนำครอบครัวไปร่วมบำเพ็ญกุศลกันในวันพระวันมาฆบูชานี้ เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ ควรไหว้พระ นั่งสมาธิ ทำจิตให้สงบหลังจากตื่นนอน เพื่อเตรียมตัวไปตักบาตร หรือถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร
จากนั้นในตอนสาย..เดินทางไปวัดที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อจะทำบุญ และสมาทานรักษาศีล ๕ หรือ ศีล ๘ บ้าง รับฟังพระธรรมเทศนา หรือถวายอาหารเพลแด่พระภิกษุสามเณรในวัดต่าง ๆ อีกด้วย ช่วงบ่าย : ฟังพระธรรมเทศนาในวัดที่จัดให้มีพิธีเทศน์ในตอนกลางวัน หรือไปปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา
จากนั้นในตอนเย็น..เตรียมตัวเพื่อไปเวียนเทียน หรือจุดโคมประทีปเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระสถูปหรือพระเจดีย์ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระปฏิมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การตามระลึกถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา วันแห่งพระธรรมในพระพุทธศาสนา และน้อมนำหลักธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นหลักถือปฏิบัติดำเนินชีวิต ให้ถูกต้อง ดีงาม เป็นประโยชน์สุขต่อตนเอง ครอบครัว ตลอดจนสังคมประเทศชาติ ช่วยกันรักษาวัฒนธรรมชาวพุทธที่สำคัญ อันเป็นทางมาแห่งบุญกุศลแก่ผู้ปฏิบัติสืบไป.