อานุภาพพระปริตร

วันที่ 26 กพ. พ.ศ.2562

อานุภาพพระปริตร

อานุภาพพระปริตร

        เมื่อเราทำบุญที่บ้านและนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลในงานต่างๆ หลังจากที่รับศีล พิธีกรจะกล่าวอาราธนาพระปริตรว่า "วิปัตติปฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา'' เป็นต้นไป

        จุดประสงค์เพื่อขออาราธนาพระสงฆ์ให้สวดพระปริตร เพื่อป้องกันกำจัดความทุกข์ และโรคภัยทั้งหลาย และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

        คำว่า "อาราธนา" แปลว่า "เชื้อเชิญ'' หรือ "ขอนิมนต์" เป็นคำขอร้องด้วยความเคารพ

        บางคนอาจสงสัยว่า หากเราไม่กล่าวคำอาราธนาพระปริตรพระสงฆ์จะสวดได้หรือไม่ ?

        ความจริง แม้จะไม่มีผู้อาราธนานิมนต์ให้สวด ท่านก็สวดได้แต่เพื่อให้เข้าใจความหมายและเป็นการน้อมใจของผู้ฟังให้เกิดสมาธิ จึงมีการอาราธนาพระปริตร

        หากเราสวดเองคนเดียวที่บ้าน ก็ไม่ต้องกล่าวอาราธนาเพราะเราไม่ได้เชิญให้ใครสวด

        หากเป็นพิธีการ จะมีผู้กล่าวนำ เพียงเราน้อมจิตตามดังบทสวดว่า

        วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
        สัพพะทุกขะวินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง

        ขอท่านทั้งหลายจงสวดพระปริตรอันเป็นมงคล เพื่อป้องกันความวิบัติ เพื่อความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง และเพื่อกำจัดความทุกข์ทั้งปวงเถิด

        วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
        สัพพะภะยะวินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง

ขอท่านทั้งหลายจงสวดพระปริตรอันเป็นมงคล เพื่อป้องกันความวิบัติ เพื่อความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง และเพื่อกำจัดภัยทั้งปวงเถิด

        วิปัตติปะฏิพาหายะ สัพพะสัมปัตติสิทธิยา
        สัพพะโรคะวินาสายะ ปะริตตัง พรูถะ มังคะสัง

        ขอท่านทั้งหลาย จงสวดพระปริตรอันเป็นมงคล เพื่อป้องกันความวิบัติ เพื่อความสำเร็จในสมบัติทั้งปวง และเพื่อกำจัดโรคทั้งปวงเถิด ฯ

        การสวดพระปริตรจะมีอานุภาพมาก เมื่อผู้สวดประกอบด้วยเหตุ ๓ ประการคือ

.        ๑. ขณะสวดต้องมีเมตตา โดยมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง ไม่สวดเพื่อหวังลาภสักการะ สวดด้วยจิตเป็นกุศล อันเกิดจากสมาธิและประกอบด้วยเมตตา
        ๒. ออกเสียงให้ถูกตัอง ทั้งเสียงอักขระและพยัญชนะรู้จังหวะรู้ทำนองการสวด ตัวสะกดไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม
        ๓. รู้ความหมายของบทสวด เข้าใจความหมาย ความเป็นมา รู้ว่าต้องสวดอย่างไร บทใดควรสวดในพิธีเช่นใด
        นอกจากนี้ ผู้ฟังต้องประกอบด้วยลักษณะ ๓ ประการ การฟังจึงจะเกิดอานิสงส์มาก คือ ไม่เคยทำอนันตริยกรรม คือกรรม

        อันร้ายแรง ๕ ประการ ที่ทำให้ไม่ถึงสวรรค์ถึงนิพพาน ได้แก่
        ๑. ฆ่าบิดา
        ๒. ฆ่ามารดา
        ๓. ฆ่าพระอรหันต์
        ๔. ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต
        ๕. ทำสงฆ์ให้แตกแยกกัน
        ไม่มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ที่เห็นว่ากรรมและผลของกรรมไม่มี และมีศรัทธาเชื่อมั่นในอานุภาพของปริตร ที่จะสามารถคุ้มครองป้องกันภัยได้จริง

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.046013033390045 Mins