มิตรแท้

วันที่ 07 พค. พ.ศ.2562

เรื่อง มิตรแท้

         ในอดีตกาล ครั้งหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติ ในนครพาราณสี ชาวปัจจันตชนบทเหล่านั้นได้เนื้อมาก ๆ ในที่ใด ๆ ก็พากันตั้งบ้านขึ้นในที่นั้น ๆ แล้วพากันเที่ยวในป่าฆ่ามฤคต่างๆ ขนเนื้อมาเลี้ยงบุตรและภรรยา ในไม่ไกลจากบ้านของพวกนั้น มีสระใหญ่แห่งหนึ่ง ด้านขวาของสระนั้นมีเหยี่ยวตัวหนึ่ง ด้านหลังมีนางเหยี่ยวตัวหนึ่ง ด้านเหนือมีราชสีห์ ด้านตะวันออกมีพญานกออกอาศัยอยู่ ส่วนในที่ตื้นกลางสระ เต่าอาศัยอยู่. 
ครั้งนั้นเหยี่ยวกล่าวกับนางเหยี่ยวว่า เป็นภรรยาข้าเถิด. นางเหยี่ยวจึงกล่าวกะเขาว่าก็ท่านมีเพื่อนบ้างไหมล่ะ.
ไม่มีเลย. เมื่อภัยหรือทุกข์บังเกิดแก่เรา เราต้องได้มิตรหรือสหายช่วยแบ่งเบา จึงจะควร ท่านควรผูกมิตรก่อนเถิด. นางผู้เจริญ เราจะทำไมตรีกับใครเล่า. ท่านจงทำไมตรีกับพญานกออกที่อยู่ด้านตะวันออก กับราชสีห์ที่อยู่ด้านเหนือ กับเต่าที่อยู่กลางสระ. เขาฟังคำของนางแล้วรับคำ  ได้กระทำตามนั้น. 
         ครั้งนั้นเหยี่ยวทั้งคู่ก็ได้จัดแจงที่อยู่ เขาพากันทำรัง อาศัยอยู่ ณ ต้นกระทุ่ม อันอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งในสระนั้นเอง มีน้ำล้อมรอบ. ครั้นต่อมาเหยี่ยวทั้งคู่ก็ได้ให้กำเนิดลูกน้อยสองตัว. 
         ขณะที่ลูกเหยี่ยวทั้งสองยังไม่มีขนปีกนั้นเอง วันหนึ่งชาวชนบทเหล่านั้นพากันตระเวนป่าตลอดวัน ไม่ได้เนื้ออะไร เลย คิดกันว่าพวกเราไม่อาจไปเรือนอย่างมือเปล่าได้ ต้องจับปลาหรือเต่าไปให้ได้ พากันลงสระไปถึงเกาะนั้น  นอนที่โคนต้นกระทุ่มต้นนั้น เมื่อถูกยุงเป็นต้นรุมกัด ก็ช่วยกันสีไฟก่อไฟ ทำควันเพื่อไล่ยุง ควันก็ขึ้นไปรมนกทั้งหลาย. 
         ลูกนกก็พากันร้อง ชาวชนบทได้ยินเสียงต่างกล่าวว่า ชาวเราเอ๋ยเสียงลูกนก ขึ้นซี มัดคบเถิด หิวจนทนไม่ไหว กินเนื้อนกแล้วค่อยนอนกัน  พลางก่อไฟให้ลุกแล้วช่วยกันมัดคบ. 
         แม่นกได้ยินเสียงพวกนั้นคิดว่า คนพวกนี้ต้องการจะกินลูกของเรา เราผูกมิตรไว้เพื่อกำจัดภัยทำนองนี้ ต้องส่งสามีไปหาพญานกออก แล้วกล่าวว่า ไปเถิดนายจ๋า ภัยบังเกิดแก่ลูกของเราแล้วละ จงบอกแก่พญานกออกเถิด  พ่อเหยี่ยวนั้นบินไปที่อยู่ของพญานกออกโดยเร็ว แล้วร้องบอกให้รู้การที่ตนมา ได้รับโอกาส ก็เข้าไปไหว้   พญานกออกถามว่า สหาย ท่านมาทำไม  ข้าแต่พญานกออก ท่านเป็นนกประเสริฐกว่า นกทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอยึดท่านเป็นที่พึ่ง พวกพรานชาวชนบทปรารถนาจะกินลูกน้อยของข้าพเจ้า ขอท่านจงช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด.
        พญานกออกปลอบเหยี่ยวว่า สหาย อย่ากลัวเลย ข้าพเจ้าจะช่วยท่านเอง  แล้วถามต่อว่า พวกคนป่าพากันขึ้นต้นไม้แล้วหรือ  ตอนนั้นยังไม่ได้ขึ้น กำลังพากันมัดคบเท่านั้น. ถ้าเช่นนั้น ท่านจงรีบไปปลอบแม่สหายของเรา บอกถึงการมาของเราไว้เถิด. เหยี่ยวได้ทำอย่างนั้น. 
      ฝ่ายพญานกออกก็บินมาจับที่ยอดไม้ต้นหนึ่ง มองดูทางขึ้น ของพวกชาวป่าไม่ไกลต้นกระทุ่ม เวลาที่ชาวป่าคนหนึ่งขึ้นต้นกระทุ่ม ใกล้จะถึงรังก็ดำลงในสระ เอาน้ำมาด้วยปีกและด้วยปาก รดราดบนคบเสียคบนั้นก็ดับ. 
       พวกชาวป่ากล่าวว่า พวกเราต้องกินเหยี่ยวตัวนี้ด้วย กินลูกของมันด้วยแล้วถอยลง จุดคบให้ลุก พากันปีนขึ้นไปใหม่. 
       พญานกออกก็เอาน้ำมาดับเสียอีก. เมื่อพญานกออกใช้อุบายนี้ดับคบที่ผูกแล้ว ๆ เวลาก็ล่วงไปถึงเที่ยงคืน. พญานกออกเหน็ดเหนื่อยยิ่งนัก. พังผืดภายใต้ท้องหย่อนตาทั้งคู่แดงก่ำ 
       แม่เหยี่ยวเห็นแล้ว กล่าวกะพ่อเหยี่ยวว่า นายจ๋า พญานกออกลำบากเหลือเกินแล้ว พี่ ท่านจงไปบอกพญาเต่าเถิด เพื่อให้พญานกออกพักผ่อนได้บ้าง
        พ่อเหยี่ยวฟังคำนั้นเข้าไปหาพญานกออก กล่าวว่า  กิจที่สหายพึงทำแก่สหาย ท่านได้กระทำแล้ว  ขอท่านจงรักษาตัวเถิด อย่ารีบร้อนไปนักเลย เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ เราก็จะได้ลูกคืนมาเป็นแน่.
พญานกออกฟังคำของเหยี่ยวนั้นแล้ว กล่าวด้วยความองอาจว่า ฉันกระทำการรักษาป้องกันนั้น แม้ถึงตัวจะตายก็มิได้สะดุ้งเลย แท้จริงสหายทั้งหลายผู้ยอมสละชีวิต กระทำเพื่อสหายทั้งหลาย นี่เป็นธรรมดาของสัตบุรุษทั้งหลาย.
         ฝ่ายพ่อเหยี่ยว กล่าวว่า ข้าแต่พญานกออกผู้สหาย เชิญท่านพักสักหน่อยเถิด แล้วไปหาเต่า ปลุกเต่าลุกขึ้น   เต่าถามว่า มาทำไม เพื่อนเอ๋ย
          เหยี่ยวบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้เต่าฟัง แล้วขอร้องว่า พญานกออกพยายามมาตั้งแต่ยามต้นจนเหนื่อย เหตุนั้นแหละ ข้าพเจ้าจึงต้องมาหาท่าน ขอท่านจงช่วยลูกของข้าพเจ้าด้วยเถิด
เต่าฟังคำนั้นแล้วกล่าวว่า  เพื่อนเอ๋ย บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมทำบุคคลให้เป็นมิตรสหายด้วยทรัพย์ข้าวเปลือกและด้วยตน ดูก่อนเหยี่ยว ข้าพเจ้าจะกระทำประโยชน์นี้แก่ท่านให้จงได้ ขอท่านจงเบาใจเถิด
ครั้งนั้น บุตรของเต่านอนอยู่ไม่ไกล ฟังคำบิดา คิดว่าบิดาของเราอย่าลำบากเลย เราจักกระทำกิจเอง จึงกล่าวว่า   คุณพ่อครับ ขอคุณพ่อจงมีความขวนขวายน้อย อยู่เฉย ๆ เถิด บุตรย่อมบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อ บิดา ผมเองจักป้องกันลูกทั้งหลายของพญาเหยี่ยว จักบำเพ็ญประโยชน์เพื่อคุณพ่อ.
บิดาได้กล่าวแย้งว่า  ลูกเอ๋ย บุตรพึงบำเพ็ญสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อบิดา นี่เป็นธรรมของสัตบุรุษทั้งหลายโดยแท้ แต่พวกพรานทั้งหลายแลเห็นพ่อผู้มีกายอันใหญ่โต ที่ไหนเลยจะเบียดเบียนลูกทั้งหลายของพญาเหยี่ยวได้.
           เต่าใหญ่ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็ส่งเหยี่ยวไปล่วงหน้า ด้วยคำว่าเพื่อนเอ๋ย อย่ากลัว ท่านจงไปก่อน ข้าจักไปเดี๋ยวนี้ พลางโดดลงน้ำ กวาดเปือกตมและสาหร่ายมา ถึงเกาะแล้ว ก็ดับไฟเสียหมอบอยู่. 
พวกชาวป่า พูดกันว่า พวกเราจะมัวใส่ใจกับลูกนกทำไม กลับมาฆ่าไอ้เต่าบอดตัวนี้เถิด
มันถึงจะพอกับเราทุกคน พลางดึงเถาวัลย์เป็นสาย แก้ผ้านุ่งผูกไว้ ณ ที่นั้น แต่ก็ไม่อาจพลิกเต่าได้. เต่าเล่าก็พาพวกนั้นไปโดดลงน้ำตรงที่ลึก ๆ. 
         พวกเหล่านั้นต่างถูกลากลงน้ำไปด้วยเพราะอยากได้เต่า ต่างกลืนน้ำลงไปเต็มท้อง ลำบากไปตาม ๆ กัน ครั้นผละได้แล้วพูดกันว่า พวกเราเหวย นกออกตัวหนึ่งคอยดับคบของเราเสียตั้งครึ่งคืน คราวนี้โดนเต่านี้ให้ตกน้ำ ดื่มน้ำท้องกางไปตาม ๆ กัน ก่อไฟกันใหม่เถอะ แม้อรุณจะขึ้นแล้ว ก็ต้องกินลูกเหยี่ยวเหล่านี้จงได้ แล้วเริ่มก่อไฟใหม่. แม่นกฟังคำของพวกนั้นกล่าวว่า นายเอ๋ย พวกเหล่านี้จักต้องกินลูกของเราให้ได้ แล้วจึงจะพากันไป ท่านจงไปหาราชสีห์ที่เป็นสหายของเราเถิด. 
         เหยี่ยวนั้นไปถึงที่อยู่ของราชสีห์ทันทีทันใด 
ราชสีห์พูดว่า มีอะไรหรือ เหตุใดจึงมาในเวลาอันไม่ควร 
เหยี่ยวบอกเล่าเรื่องทั้งหมดให้ราชสีห์ทราบ แล้วขอร้อง ว่า
          ข้าแต่ราชสีห์ที่ประเสริฐด้วยความแกล้วกล้า   สัตว์และมนุษย์เมื่อตกอยู่ในภัยแล้ว ย่อมเข้าไปหาผู้ ประเสริฐ พวกบุตรของข้าพเจ้าเดือดร้อน ข้าพเจ้าจึง รีบมาหาท่านเพื่อขอให้ท่านเป็นที่พึ่งอาศัย ท่านเป็นเจ้านายของข้าพเจ้า
        ขอท่านได้โปรดช่วยให้ข้าพเจ้าได้รับความสุขด้วยเถิด.
ราชสีห์ ได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า           ดูก่อนพญาเหยี่ยวผู้สหาย ฉันจะบำเพ็ญ ประโยชน์นี้เพื่อท่านให้จงได้ เรามาด้วยกันเพื่อกำจัดหมู่ ศัตรูของท่านนั้นเสีย วิญญูชนรู้ว่าภัยเกิดขึ้นแก่มิตร จะไม่พยายามเพื่อคุ้มครองมิตรอย่างไรได้.  ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ราชสีห์ก็ส่งเหยี่ยวนั้นไปว่า เจ้าจงไป จงคอยปลอบลูกไว้เถิด แล้วเดินลุยน้ำอันมีสีเหมือนแก้วมณีไป. 
        พวกชาวป่าเห็นราชสีห์นั้นกำลังเดินมา พูดกันว่า ครั้งแรกนกออกคอยดับไฟของพวกเราเสีย
เต่ามาทำพวกเรามิให้เหลือผ้านุ่ง คราวนี้ราชสีห์จักทำให้พวกเราถึงสิ้นชีวิต  ต่างกลัวตายเป็นกำลัง พากันวิ่งหนีกระเจิงไป. 
          ราชสีห์มาถึงโคนกระทุ่มนั้นไม่เห็นใคร ๆ ที่โคนต้นไม้เลย. 
ครั้งนั้นนกออก เต่า และเหยี่ยว ก็พากันเข้าไปหากราบกรานราชสีห์นั้น. 
        ราชสีห์นั้นก็กล่าวอานิสงส์แห่งมิตรแก่สัตว์เหล่านั้นตักเตือนว่า ตั้งแต่นี้ไป ท่านทั้งหลายจงอย่าทำลายมิตรธรรม ต่างไม่ประมาทไว้เถิด แล้วก็หลีกไป. สัตว์เหล่านั้น ก็พากันไปสู่ที่อยู่ของตน.
         แม่เหยี่ยวมองดูลูกของตนแล้ว คิดว่า เพราะอาศัยหมู่มิตร เราจึงได้ลูก ๆ ไว้ ครั้นถึงสมัยที่นั่งกันอยู่อย่างสบาย เมื่อจะประกาศมิตรธรรมจึงกล่าวกับพ่อเหยี่ยวว่า
บุคคลพึงคบมิตรสหายและเจ้านายไว้ เพื่อได้รับความสุข เรากำจัดศัตรูได้ด้วยกำลังแห่งมิตร เป็นผู้พร้อมเพรียงด้วยบุตรทั้งหลาย บันเทิงอยู่เหมือนเกราะที่บุคคลสวมแล้ว ป้องกันลูกศรทั้งหลายได้ ฉะนั้น.
ลูกน้อยทั้งหลายของเรา เปล่งเสียงอันจับใจ  ร้องรับเราผู้ร้องหาอยู่ ด้วยการกระทำของพญาเนื้อ  ผู้เป็นมิตรสหายของตนซึ่งมิได้หนีไป.
         แน่ะท่านผู้ต้องการสิ่งที่น่าปรารถนา บัณฑิตได้มิตรสหายแล้วย่อมปกปักรักษาบุตร ปศุสัตว์และทรัพย์ ไว้ได้ ฉัน บุตร และสามีของฉันด้วย เป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เพราะความอนุเคราะห์ของมิตรทั้งหลาย
บุคคลผู้มีพระราชาและมีมิตรผู้กล้าหาญ สามารถจะ บรรลุถึงประโยชน์ได้เพราะสหายเหล่านี้ ย่อมมีแก่ผู้มีมิตรธรรมอันบริบูรณ์ บุคคลผู้มีมิตรสหายมียศ มีตน อันสูงส่ง ย่อมบันเทิงใจอยู่ในโลกนี้ด้วย.
ข้าแต่พญาเหยี่ยว มิตรธรรมทั้งหลาย แม้ผู้ที่ยากจนก็ควรทำ ดูซิท่าน เราพร้อมด้วยหมู่ญาติเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ด้วยความอนุเคราะห์ของมิตร นก ตัวใดผูกมิตรไว้กับผู้กล้าหาญมีกำลัง นกตัวนั้น ย่อมมี ความสุขเหมือนฉันกับท่าน ฉะนั้น. 
         นางเหยี่ยวแสดงคุณของมิตรธรรมด้วยประการฉะนี้.
แม้สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ก็คงเป็นสหายกัน ไม่ทำลายมิตรธรรม ดำรงอยู่ตลอดอายุแล้ว ต่างไปตามยถากรรม.
จบเรื่องมิตรแท้

ประเด็นน่าสนใจ
ธรรมที่เป็นเครื่องผูกมิตรยึดเหนี่ยวน้ำใจของสหาย คือ สังคหวัตถุ ๔ อันได้แก่
๑ ทาน  การให้
๒ ปิยวาจา การกล่าววาจาที่เป็นที่รัก
๓ อัตถจริยา การประพฤติให้เป็นประโยชน์
๔ สมานัตตตา มีความเสมอในธรรม
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอานิสงส์ของธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจมิตรว่า
การให้ ๑ เจรจาไพเราะ ๑ การประพฤติ ให้เป็นประโยชน์ ๑ ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลายในคนนั้น ๆ ตามควร ๑ ธรรมเครื่องยึดเหยี่ยวน้ำใจในโลกเหล่านี้แล เป็นเหมือนเพลารถอันแล่นไปอยู่ หากธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้ ไม่พึงมีไซร้ 
มารดาบิดาไม่พึง ได้ความนับถือ หรือความบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร. เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาเห็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้โดยชอบ ฉะนั้นบัณฑิตเหล่านั้น จึงถึงความเป็นใหญ่และเป็นผู้อันหมู่ชนสรรเสริญทั่วหน้า
Cr.ขุนพลไร้เงา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0076455632845561 Mins