โมรปริตร:แคล้วคลาดปลอดภัย สวดได้ทุกเช้าเย็น

วันที่ 14 สค. พ.ศ.2562

โมรปริตร:แคล้วคลาดปลอดภัย สวดได้ทุกเช้าเย็น

โมรปริตร : แคล้วคลาดปลอดภัย สวดได้ทุกเช้าเย็น

      โมระปริตร ซึ่งเริ่มด้วยคำว่า "อุเทตะยัญจักขุมา" เป็นต้นไป เป็นบทสวดที่นกยูงทองได้ท่องภาวนาทุกเช้าก่อน บินไปหาอาหารและทุกเย็นก่อนเข้ารังนอนจนปลอดภัยจากนายพราน

      บทสวดนี้ความมุ่งหมายเพื่อป้องกันภัยให้แคล้วคลาดจากศัตรูทั้งหลาย

ตำนานบทสวดมนต์

      เรื่องนี้เกิดขึ้นในยุคที่พระพุทธเจ้าเป็นพระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกยูง ซึ่งมีขนสีเหลืองเหมือนทอง จึงมีชื่อว่า "นกยูงทอง" อาศัยอยู่บนภูเขาแห่งหนึ่ง

      ตามปกติ ทุกเช้านกยูงทองก็จะไปจับบนยอดเขา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มองดูดวงอาทิตย์ที่กำลังขึ้น แล้วท่องบทสวดมนต์ว่า ''อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา'' เป็นต้น พอท่องคาถาบทนี้เสร็จแล้วก็บินไปหากิน 

      ตกเย็นกลับมาจากหาอาหารแล้วก็ขึ้นไปจับบนยอดเขาหันหน้าไปทางทิศตะวันตก มองดูดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า ท่องบทสวดมนต์ว่า ''อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา'' เป็นต้นไป

      การสวดมนต์ทุกเช้าและเย็นนี้ เป็นกิจวัตรที่นกยูงทองได้ทำเป็นประจำ ทำให้อยู่เป็นสุขและปราศจากอันตรายตลอดมา

      อยู่มาวันหนึ่ง พระนางเขมาอัครมเหสีของพระราชาเมืองพาราณสี ทรงฝันเห็นนกยูงทองแสดงธรรมให้ฟังอย่างไพเราะจับใจ ครั้นตื่นขึ้นมาก็กราบทูลให้พระราชาทราบและมีความประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงทองที่ทรงฝันถึงนั้น

      พระราชาสั่งให้เที่ยวสืบถาม ก็ทรงทราบจากลูกชายของพรานคนหนึ่งซึ่งพ่อของเขาได้สั่งไว้ก่อนตายว่า มีนกยูงสีทองตัวหนึ่งอาศัยที่ภูเขาโน้น จึงรับสั่งให้จับมาถวาย แต่อย่าทำให้ถึงตาย

      นายพรานก็ไปดักบ่วงบนยอดเขาในที่ที่นกยูงทองเที่ยวหากิน เมื่อนกยูงทองเหยียบที่บ่วง ก็รอดปลอดภัยทุกครั้ง ด้วยอำนาจมนต์ที่นกยูงทองสวดอยู่เป็นประจำ นายพรานพยายามดักอยู่ถึง ๗ ปี ก็ไม่สามารถจับได้ จนตัวเองเสียชีวิตไปเสียก่อน

      ฝ่ายพระนางเขมาเมื่อไม่ได้สมความปรารถนา ก็เศร้าโศกเสียใจซูบผอมจนตรอมใจตาย

      พระราชาโกรธแค้นมากที่พระมเหสีต้องเสียชีวิตเพราะนกยูงทอง จึงผูกใจเจ็บจองเวรนกยูงทอง สั่งให้อาลักษณ์จารึกไว้บนแผ่นทองว่า ''มีนกยูงทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่บนภูเขา ถ้าใครได้กินเนื้อนกยูงทองตัวนี้ จะอายุยืน ไม่แก่ไม่ตาย เป็นอมตะ''

      ตำราอายุวัฒนะ (แบบผิดๆ) น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคนี้กระมัง

      เมื่อจารึกแล้วก็บรรจุแผ่นทองลงในหีบ เพื่อคนภายหลังจะได้อ่าน ต่อมาพระราชาก็สวรรคต

      จากการสั่งให้เจ้าหน้าที่จารึกด้วยความแค้นใจในครั้งนั้น นำมาซึ่งความเข้าใจผิดหลายชั่วอายุคน

      เมื่อพระราชาองค์นั้นสิ้นพระชนม์แล้ว พระราชาองค์อื่นก็ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา เมื่อไค้ทราบความในศิลาจารึกนั้น ก็มีพระราชประสงค์ที่จะมีอายุยืนเช่นกัน จึงรับสั่งให้นายพรานไปจับนกยูงนั้นมา แม้นายพรานจะพยายามอยู่อย่างสุดความสามารถก็ไม่สามารถจะจับได้ เพราะนกยูงท่องคาถาบทเดิมอยู่ทุกเช้าและเย็น ทำให้ปลอดภัยจากศัตรู

      จนในที่สุด นายพรานทั้งหลายก็ทิ้งชีวิตไว้ที่กลางป่าดังเช่นนายพรานคนก่อนๆ

      เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ จนถึงยุคที่ ๗ ของราชวงศ์

      พระราชาองค์ที่ ๗ ผู้ครองราชย์สืบต่อมาเมื่อได้อ่านแผ่นศิลาจารึกนั้น ก็สำคัญว่าเป็นยาอายุวัฒนะเช่นเดียวกัน จึงสั่งให้พรานไปดักจับ นายพรานคนนั้นเป็นคนฉลาดหลักแหลมช่วงแรกแม้จะไม่สามารถจับนกยูงได้ ก็อดทนรอคอย

      อยู่มาวันหนึ่ง นายพรานได้ตั้งข้อสังเกตว่า ''ทำไมหนอนกยูงทองนี้จึงรอดบ่วงไปได้ทุกที" เมื่อสะกดรอยดูก็เห็นนกยูงทองท่องมนต์ทุกเช้าทุกเย็น จึงแน่ใจว่าการท่องมนต์บทนี้เองเป็นเหตุให้นกยูงทองไม่ติดบ่วง แคล้วคลาดปลอดภัยทุกครั้ง

      นายพรานจึงคิดใช้แผน ''นางนกยูงต่อ"

      แผนนารีพิฆาตหรือใช้ผู้หญิงเป็นเหยื่อล่อนี้ จึงใช้ได้ผลทุกยุคทุกสมัย แม้แต่สัตว์ก็ยังไม่วายที่จะติดกับดักนี้เหมือนกัน นับประสาอะไรกับมนุย์ทั้งหลาย

      นายพรานได้ไปจับนางนกยูงตัวหนึ่งมาฝึกให้รู้อาณัติสัญญาณ เช่น ดีดนิ้วมือนกยูงก็ร้อง ถ้าปรบมือนางนกยูงก็ฟ้อนรำเมื่อฝึกจนชำนาญแล้ว จึงอุ้มนางนกยูงไปตั้งแต่เช้ามืดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แล้วดักบ่วงไว้ก่อนที่นกยูงทองจะท่องมนต์

      พอดีดนิ้วมือ นางนกยูงจึงส่งเสียงด้วยสำเนียงไพเราะจับใจ
      นกยูงทองพอได้ยินเสียงร้องของนางนกยูง เกิดอาการหลงเสียงนาง ขาดสติไปชั่วขณะ จิตใจก็ร้อนรุ่มไปด้วยกิเลส อยากรู้ว่าเสียงนางนกยูงนี้มาแต่ทิศใด หลงลืมบทสวดมนต์ที่ตนเองเคยท่องเป็นประจำทุกวัน รีบโผบินไปตามเสียงนางนกยูง

      พอโผบินลงจากอากาศเท่านั้น ก็ติดกับดักนายพราน
      นายพรานจึงนำนกยูงทองไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน
      พระราชาทรงพอใจมากที่จะได้เสวยเนื้อนกยูงทอง จะได้เป็นอมตะตามคำจารึกนั้น แต่ก่อนจะเสวยจึงใคร่จะสนทนากับนกยูงทองเสียก่อน จึงจัดที่ให้นกยูงทองจับ เมื่อนกยูงทองจับที่กรงแล้ว จึงได้ถามถึงสาเหตุที่ให้คนไปดักจับตน

      พระราชาก็เล่าตามที่ปรากฏในศิลาจารึกนั้น

      นกยูงทองจึงทูลว่า "ตัวข้าพเจ้าเองกำลังจะตาย ถ้าเนื้อของข้าพเจ้าวิเศษจริง กินแล้วไม่แก่ไม่ตายเป็นอมตะ ไฉนผู้กินเนื้อของข้าพเจ้าจะไม่ตายเล่า ขอพระองค์อย่าได้เชื่อตามนั้นเลยกรรมหนักจะตกแก่พระองค์''

      สัตว์กำลังสอนมนุษย์ว่า ถ้าอวัยวะร่างกายของสัตว์ทั้งหลายวิเศษจริง ตามที่มนุษย์โฆษณาหลอกลวงกัน ทำไมส์ตว์เหล่านั้นต้องตายกลายเป็นอาหารของมนุษย์เล่า

      สัตว์ทั้งหลายกินเนื้อหรืออวัยวะตัวเองไม่ดีกว่าหรือ
      เพื่อจะได้เป็นอมตะไม่แก่ไม่ตาย
      แต่โดยธรรมชาติแล้ว ไม่มีใครสามารถล่วงพ้นความตายไปได้ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ ในโลกนื้ไม่มีสัตว์วิเศษ ถ้าเป็นเช่นนั้น คนและสัตว์ก็คงอยู่เต็มโลกนื้

      จากนั้นนกยูงทองก็แสดงอานิสงส์ของการไม่เบียดเบียนสัตว์ จนพระเจ้าแผ่นดินทรงหูตาสว่าง คลายจากความหลงผิดมีจิตเลื่อมใส รับสั่งให้ปล่อยนกยูงทองไป แล้วออกประกาศห้ามไม่ให้ผู้ใดทำร้ายสัตว์ทุกชนิดในพระราชอาณาเขตของพระองค์

      ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความเชื่อเรื่องยาอายุวัฒนะของเมืองนี้ ก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย

บทสวดและคำแปล
หากสวดในเวลาเช้าให้สวดท่อนนี้

      อุเทตะยัญจักทุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง
เย พ๎ราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ

      พระอาทิตย์เป็นดวงตาของโลก เป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียวมีสีดั่งทอง ส่องพื้นปฐพีให้สว่างอยู่ เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีดั่งทอง สาดส่องพื้นปฐพีให้สว่างอยู่ ข้าพเจ้าทั้งหลายได้รับการปกป้องคุ้มครองแล้วในวันนี้ ย่อมมีชีวิตอยู่ได้ตลอดวัน ท่านเหล่าใดละบาปได้แล้ว รู้ธรรมทั้งหมดทุกอย่าง ขอท่านเหล่านั้น ขอจงรับการเคารพนอบน้อมจากข้าพเจ้า และขอท่านเหล่านั้น จงคุ้มครองรักษาข้าพเจ้าด้วยเถิด

      ขอความนอบน้อม จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จงมีแด่พระโพธิญาณ ขอความนอบน้อม จงมีแด่ผู้หลุดพ้นแล้วทั้งหลาย ขอความนอบน้อม จงมีแด่ธรรมะเครื่องหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง นกยูงนั้นได้ท่องพระปริตรบทนี้แล้ว จึงบินไปเพื่อแสวงหาอาหาร

หากสวดในตอนเย็นให้สวดท่อนนี้

      อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง
ตะยัชชะ คุตตา วิหะเรมุ รัตติง
เย พ๎ราหมะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม
เต เม นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ
นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา
อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ

      พระอาทิตย์ เป็นดวงตาของโลก เป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียวมีสีดั่งทอง สาดแสงส่องพื้นปฐพีให้สว่างอยู่ ย่อมอัสดงคตไปเพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระอาทิตย์นั้นซึ่งมีสีดั่งทอง สาดส่องพื้นปฐพีให้สว่างอยู่

      ข้าพเจ้าทั้งหลายได้รับการปกป้องคุ้มครองแล้วในวันนี้ ย่อมเป็นอยู่ได้ตลอดคืน ท่านเหล่าใดละบาปได้แล้ว รู้ธรรมทั้งหมดทุกอย่าง ขอท่านเหล่านั้น ขอจงรับการเคารพนอบน้อมจากข้าพเจ้า และขอท่านเหล่านั้น จงคุ้มครองรักษาข้าพเจ้าด้วยเถิด

      ขอความนอบน้อม จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จงมีแด่พระโพธิญาณ ขอความนอบน้อม จงมีแด่ท่านผู้หลุดพ้นแล้วทั้งหลาย ขอความนอบน้อม จงมีแด่ธรรมะเครื่องหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง นกยูงนั้นได้กระทำการสาธยายพระปริตรบทนี้แล้ว จึงพักผ่อนนอนหลับ

 

ธรรมะจากบทสวดมนต์
      โมรปริตรนี้เป็นบทสวดที่กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น้อมใจให้เกิดเป็นพุทธานุภาพ ผู้สวดเป็นประจำทุกวันย่อมเกิดอานุภาพคุ้มครองให้เกิดความสวัสดี แคล้วคลาดปลอดภัยแม้ศัตรูก็ไม่อาจทำร้ายได้ ดังเช่นนกยูงทอง

      แม้สัตว์ยังรู้คุณของพระพุทธเจ้า น้อมเป็นพุทธานุสสติเตือนใจ
      ไฉนเราเป็นมนุษย์จะไม่ลองสวดมนต์ดูบ้างหละ
      เรื่องนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผู้ใดเขียนประวัติศาสตร์ผู้นั้นคือผู้ชนะ

      นกยูงทองถูกปองร้ายมาหลายชั่วอายุคน เพราะความแค้นฝังใจของพระราชาผู้สูญเสียพระมเหสี แล้วสั่งอาลักษณ์ (คนเขียนบันทึกประวัติศาสตร์) จารึกว่า ''คนใดได้กินเนื้อนกยูงทอง จะอายุยืนเป็นหมื่นๆ ปี เป็นอมตะ"

      เมื่อเชื่ออะไรผิดๆ ก็จะมักจะมีประเพณีและวัฒนธรรมแบบผิดๆ สืบต่อกันมา โดยไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงนั้นคืออะไร

      ความเชื่อ (ผิด) เช่นนี้ มักเกิดขึ้นมาก เพราะเราขาดเมตตาธรรม ไม่รู้จักการให้อภัย

      การทำลายชีวิตสัตว์อื่น เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหาร แล้วบอกว่าช่วยให้อายุยืนนั้นเป็นไปไม่ได้

      หลักพุทธศาสนาสอนว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมรักตัวกลัวตาย ผู้รักตนไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น คนที่จะมีอายุยืนนั้นจะต้องงดเว้นจากการฆ่า การเบียดเบียนทำร้ายชีวิตของผู้อื่น

      เพราะเราฆ่ามามากเท่าไร ย่อมถูกจองเวรมากเท่านั้น
      ชีวิตที่ถูกจองเวร จะยืนยาวได้อย่างไร
      ตำรายาอายุวัฒนะมากมายกล่าวไว้ว่า กินอุ้งตีนหมีบ้างกินอวัยวะสัตว์ต่างๆ บ้าง จะทำให้อายุยืน มีพลัง (โดยเฉพาะพลังด้านลบ)

      ถ้าเป็นจริงตามตำรา สัตว์ทั้งหลายที่โดนฆ่ากิน น่าจะกินตัวเองก่อน จะได้เป็นอมตะอายุยืน ไม่ถูกฆ่า เพราะตัวเองยังถูกฆ่าตาย แล้วจะไปช่วยต่ออายุมนุษย์ได้อย่างไร
      แม้เขี้ยวหมูตัน เล่าลือกันว่าสามารถป้องกันอันตรายได้ทุกอย่าง
      แต่หมูก็โดนเชือดก่อน ถ้าขลังจริง หมูต้องมีชีวิตรอด
      ไม่ใช่ถูกฆ่าตายแล้วเอาเขี้ยวมาแขวนคอโชว์

      ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเข้าถึงเราอย่างรวดเร็ว จนไม่มีเวลาตรวจว่าอะไรคือข่าวจริง อะไรคือข่าวลวง เพื่อป้องกันความสับสนและเข้าใจผิด ในกาลามะสูตรพระพุทธเจ้าทรงตรัสหลักของความเชื่อและการฟังอย่างมีเหตุผลไว้ ๑๐ ประการ คือ

      ๑. อย่าเชื่อด้วยการฟังตามกันมา ยิ่งถ่ายทอดหลายต่อข่าวสารยิ่งบิดเบือนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงมาก ฉะนั้น แค่ได้ฟังมา หรือ "เขาเล่าว่า'' ยังไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

      ๒. อย่าเชื่อด้วยการถือสืบต่อกันมา วัฒนธรรมประเพณีบางอย่าง ผิดเพี้ยนจากประวัติศาสตร์ ของจริงในอดีตเป็นอย่างหนึ่งแต่ปัจจุบันตีความไปทางหนึ่ง ซึ่งมีมากในสังคม

      ๓. อย่าเชื่อด้วยการเล่าลือ ท่ามกลางกระแสลับลวงพรางสังคมใดเชื่อข่าวลือมากกว่าความจริง ประชาชนและประเทศชาติจะอ่อนแอ

      ๔. อย่าเชื่อด้วยการอ้างตำรา มนุษย์เรารู้เพียงเสี้ยวเดียวแต่ความจริงมีหลายด้านหลายมิติ ตำราก็อาจบันทึกสิ่งที่ผิดไว้ก็ได้ ไม่ใช่บันทึกแต่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป

      ๕. อย่าเชื้อด้วยตรรกะ เพราะอาจจริงหรือเท็จก็ได้ไม่แน่นอน อย่าเพิ่งดีใจว่าตรรกะนี้ใช้ได้จริง

      ๖. อย่าเชื่อด้วยการอนุมาน การอนุมานจึงอาจผิดหรือถูกก็ไดัไม่แน่นอน อย่าเพิ่งเชื่อว่าจะเป็นจริงเสมอไป

      ๗. อย่าเชื่อเพราะการตรึกตรอง อาจทำให้เราเข้าใจผิดได้เพราะจิตเรายังไม่บริสุทธิ์พอและคิดยังไม่เป็นระบบ ต้องใช้วิธีคิดแบบสังเคราะห์วิเคราะห์ด้วยปัญญาอย่างลึกซึ้ง (โยนิโสมนสิการ) จึงจะมีโอกาสเข้าใจถูกต้อง

      ๘. อย่าเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตนเอง วันนี้หลายทฤษฎีพิสูจน์แล้วว่าผิดจากความเป็นจริง ทฤษฎีเก่าหายไป มีทฤษฎีใหม่เกิดขึ้น แต่กว่าจะรู้ความจริง คนก็เชื่อและตายไปแล้วก็มี ไม่มีโอกาสได้แก้ตัว

      ๙. อย่าเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อถือ อย่าหลงเชื่อคำพูดเพราะผู้พูดแต่งตัวดี พูดจาน่าเชื่อถือ ระวังจะหลงคารมคนหล่อ

      ๑๐. อย่าเชื่อเพราะเห็นว่าเป็นครูของเรา เพราะมนุษย์ยังมีอคติความลำเอียงเพราะรัก เพราะเกลียด เพราะกลัว เพราะหลง ครูไม่ใช่ผู้รู้แจ้ง ไม่ใช่ผู้รู้จริง เราสามารถรับฟังได้แต่อย่าเพิ่งเชื่อทันที

      มนุษย์เป็นผู้มีจิตใจสูง ต้องฉลาดต้องพัฒนาตนเองให้เกิดปัญญารู้เท่าทันเสียก่อน ประเภทว่า ''ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ขออย่าได้เกิดมีในสังคมชาวพุทธเลย

      ถ้าไม่เชื่อ ต้องพิสูจน์ด้วยปัญญา อย่าหลงงมงาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027173781394958 Mins