อังคุลิมาลปริตร : ช่วยให้คลอดลูกง่าย ปลอดภัย

วันที่ 14 กย. พ.ศ.2562

อังคุลิมาลปริตร : ช่วยให้คลอดลูกง่าย ปลอดภัย

อังคุลิมาลปริตร : ช่วยให้คลอดลูกง่าย ปลอดภัย

       บทอังคุลิมาลปริตรที่เริ่มสวดด้วยคำว่า "ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต" ปรากฏในอังคุลิมาลสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ เป็นคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้พระองคุลิมาลให้ทำสัจกิริยาแล้วอธิษฐานจิตเพื่อช่วยให้หญิงคนหนึ่งคลอดลูกง่าย

       พระปริตรบทนี้ พระสงฆ์นิยมสวดในพิธีมงคลสมรส เพื่อให้เจ้าสาวมีสุขภาพแข็งแรง คลอดลูกอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีอานุภาพในการขจัดโรคภัยและอันตรายทั้งหลายอีกด้วย

ตำนานบทสวดมนต์

       ตามประวัติพระองคุลิมาล "โจรพันนิ้ว " ท่านกล่าวไว้ว่า

       พระองคุลิมาลนี้ มีมารดาชื่อว่า "มันตานี" ส่วนบิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าโกศล นางมันตานีได้คลอดบุตรในเวลากลางคืน ในช่วงเวลาที่มารดาคลอดองคุลิมาลนั้น ก็เกิดอาเพศเป็นลางร้าย อาวุธทั้งหลายในเมืองส่องประกายขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

       แม้กระทั่งฝักดาบที่อยู่ในห้องพระบรรทมของพระราชาก็เรื่องแดงฉานไปทั่ว

       พราหมณ์ผู้เป็นบิดาจึงลุกออกมาแหงนดูดาวตรวจดูฤกษ์ยาม ก็รู้ว่าบุตรเกิดในฤกษ์โจร จึงเข้าเฝ้าทูลให้พระราชาทราบว่าจะไม่มีอันตรายใดๆ แก่พระราชาหรือราชสมบัติ แต่ภัยนี้จักเกิดขึ้นในอนาคตด้วยว่า เมื่อคืนนี้ ลูกชายของหม่อมฉันเกิดแล้ว จึงเป็นเหตุให้ศาสตราวุธลุกเป็นไฟ ด้วยเดชของกุมารน้อยนั้น แต่เมื่อเจริญวัยจะมีจิตใจหยาบช้า จะเข่นฆ่าผู้คนจะเป็นเหตุให้มหาชนเดือดร้อนเป็นอันมากขอพระองค์ทรงโปรดให้จับกุมารนั้น ไปประหารเสียเถิดเพื่อมิให้เป็นภัยต่ออาณาประชาราษฎร์สืบไป

       พระเจ้าโกศล เป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นพุทธมามกะ จึงทรงมีจิตเมตตาเห็นว่าเด็กน้อยเพิ่งจะลืมตามาดูโลก ยังไม่รู้เรื่องราวอะไร จะสั่งให้ประหารก็ดูจะโหดร้ายทารุณ สู้อุตส่าห์เลี้ยงดูให้เติบใหญ่จะมีประโยชน์กว่า แล้วจึงทรงตั้งชื่อกุมารนั้นว่า "อหิงสกะ" แปลว่า ผู้ไม่เบียดเบียนใคร

       ตั้งแต่นั้นมา อหิงสกกุมารนั้นก็อยู่ในการอุปการะของพระเจ้าแผ่นดิน

 

ความอิจฉาเป็นเครื่องทำลายโลก

       ต่อมาอหิงสกะกุมารเจริญวัยเติบใหญ่เป็นหนุ่มรูปงามท่านปุโรหิตและนางพราหมณี จึงส่งลูกชายให้ไปศึกษาศิลปวิทยา ณ เมืองตักศิลา

       อหิงสกะเป็นเด็กฉลาดหลักแหลม เนื่องจากเป็นศิษย์รับใช้ใกล้ชิดกับอาจารย์ เข้าไปเรียนศิลปวิทยากับอาจารย์ไม่นานเท่าไหร่ ก็เข้าใจรอบรู้สรรพวิทยาของอาจารย์ได้ทั้งหมด อีกทั้งยังเป็นผู้กตัญญูรู้คุณอาจารย์  พยายามตอบแทนพระคุณอาจารย์ด้วยช่วยเหลือกิจการงานทุกอย่างที่จะทำได้ จนเป็นที่อิจฉาริษยาแก่บรรดาศิษย์คนอื่นๆ

       แผนการกำจัดอหิงสกะจึงได้เริ่มขึ้นตั้งแต่บัดนี้ เพียงเพราะความอิจฉาริษยาตัวเดียว

       นี่แหละที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า "อรติ โลกนาฬิกา ความอิจฉาเป็นเครื่องทำลายโลก"

       คนประเภทนี้คนอื่นดีหรือเด่นเกินตัวไม่ได้ ต้องหาทางกำจัด

       ปุถุชนคนธรรมดาอย่างอาจารย์แรกๆ ยังไม่เชื่อ พอได้ฟังอยู่บ่อยๆ ก็เริ่มจะเอนเอียง เหมือนคำกล่าวที่ว่า "น้ำเซาะหิน หินยังกร่อน ใจอ่อนๆ ของคนหรือจะทนได้"

       พวกที่ใส่ร้ายป้ายสีก็ทำเป็นกระบวนการ พูดทุกวันจนอาจารย์ชักจะเริ่มเอียง พลอยหลงเชื่อตามคำใส่ร้ายป้ายสี จึงคิดวางแผนเพื่อหาทางกำจัดให้ได้ คิดว่า "ถ้าเราฆ่าลูกศิษย์ ใครๆ ก็จะคิดว่าเราใจร้ายทำลายได้แม้กระทั่งลูกศิษย์ในสำนัก ต่อไปจะไม่มีใครมาเรียนที่สำนักนี้อีก เมื่อเป็นอย่างนี้ ชื่อเสียงก็จะเสียหายรายได้ขาดสูญ หมดทางทำมาหากิน"

       มีวิธีเดียวก็คือยืมมือคนอื่นฆ่า

       จากนั้น : อาจารย์ก็วาดแผนการณ์ร้ายไว้ในใจแล้วเรียกอหิงสกะกุมารมาบอกว่า "ยังมีวิชาขั้นสุดท้ายที่ยังไม่ได้เรียนเธอต้องฆ่าคนให้ได้พันคน จึงจะสำเร็จวิชานี้ และมีเพียงเธอเป็นผู้เดียวเท่านั้นที่จะทำได้ เมื่อทำได้เช่นนี้ ก็จะได้ชื่อว่าบูชาครู"

       อหิงสกะกุมารจึงกล่าวว่า "ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าทำเช่นนั้นไม่ได้หรอก"

       อาจารย์จึงขู่ว่า "ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่เรียนไม่จบนะ เพราะต้องได้นิ้วมาบูชาครู"

       อหิงสกะจนใจต้องยอมรับข้อเสนอ เพราะถ้าทำผิดพลาดก็จบชีวิตเช่นกัน ถ้าไม่ทำก็เรียนไม่จบ เรียกว่าจบทั้งสองอย่างกลับไปคงอายฟ้าดิน

       เมื่อตัดสินใจดังนั้น อหิงสกะจึงลาอาจารย์ถืออาวุธเข้าป่าเริ่มชีวิตเป็นนักฆ่า ฆ่าไปนับไป บางทีก็ลืมนับ บางทีนับผิดนับถูกจากนั้น จึงเอานิ้วมาร้อยเป็นพวงมาลัยแทน

       ด้วยเหตุนั้นแล คนทั้งหลายจึงขนานนามว่า "องคุลิมาล" ผู้มีนิ้วมือเป็นมาลัย

       องคุลิมาลถือดาบตระเวนไล่ฟันเข่นฆ่าผู้คน ล้มตายไปมากมาย ผู้คนพากันหวาดกลัวทิ้งบ้านเรือนเดินทางมาล้อมพระนครสาวัตถี รวมตัวกันประท้วงให้พระราชาแก้ปัญหา

       ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นบิดารู้ว่าโจรองคุลิมาลนั้นคือลูกของตน จึงบอกภรรยาว่า โจรนั้นไม่ใช่ใครอื่นคืออหิงสกะลูกของเรา บัดนี้ พระราชาจักเสด็จออกไปจับเขา จะทำอย่างไรกันดี

       ทั้งสองตกลงมอบให้ผู้เป็นแม่ไปหาลูก เพราะไม่ไว้ใจใครมีเพียงแม่เท่านั้นที่รักและปรารถนาดีต่อลูกอย่างแท้จริง ด้วยความรักของแม่ที่มีต่อลูกสุดชีวิต ไม่คิดเสียดายว่าชีวิตจะมีอันตราย จึงออกเดินทางล่วงหน้า เพื่อหวังจะไปบอกแก่ลูกว่ากำลังจะมีภัย ให้หยุดฆ่าคนเสีย

 

หยุดเป็นตัวสำเร็จ

       ขณะนั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เขตเมืองสาวัตถี ช่วงนั้น ชื่อเสียงขององคุลิมาลโด่งดังไปทั่ว ไม่มีใครที่ได้ยินชื่อแล้วไม่กลัว

       วันนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูโลกในเวลาใกล้สว่าง ทรงเห็นโจรองคุลิมาลจึงทรงดำริว่า เมื่อเราไปจักเป็นความสวัสดีแก่เธอเมื่อเขาได้ฟังธรรมแล้วจักออกบวชจนได้บรรลุธรรม แต่ถ้าเราไม่ไปเขาจะทำความผิดอันใหญ่หลวงด้วยการฆ่ามารดา ถึงตอนนั้นใครๆ ก็ช่วยไม่ได้ จากนั้น จึงเสด็จออกไปจากวิหาร เสด็จดำเนินไปตามทางที่องคุลิมาลซุ่มอยู่

       พวกคนเลี้ยงโคและชาวนาที่เดินมาได้เห็นพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จไปทางนั้น จึงได้กราบทูลเตือนพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง

       ว่าอย่าเดินไปทางนั้น ขนาดคน ๓๐ - ๔๐ คน ก็ถูกองคุลิมาลปราบมาแล้ว พระองค์เสด็จไปรูปเดียว คงรอดยาก

       คนเหล่านั้น หารู้ไม่ว่านี้คือพระพุทธเจ้า ใครๆ ก็ไม่อาจทำร้ายได้

       เมื่อคนพวกนั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่งเสียแล้วได้เสด็จไป

       ตอนนั้น โจรองคุลิมาลฆ่าคนเป็นจำนวน ๙๙๙ เหลืออีกเพียงคนเดียวก็จะครบพัน และตั้งใจว่าวันนี้เจอใครก่อนก็จะฆ่าก่อน เพื่อจะได้ครบพันและเป็นการบูชาครู จะได้สำเร็จวิชาเสียทีจึงออกมาดักรออยู่ ได้พบกับพระพุทธเจ้า

       องคุลิมาลเห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล จึงคิดว่าแปลกจริง ธรรมดาพวกผู้ชายประมาณ ๓๐-๔๐ คน ขนาดรวมกลุ่มกันเดินผ่านทางนี้ ยังไม่รอดพ้นมือเรา แต่ไฉนพระรูปนี้มาคนเดียวไม่มีเพื่อน สงสัยอยากจะลองดี เดียวเถอะ เราจะฆ่าพระรูปนี้เสีย

       ครั้นแล้ว องคุลิมาลก็ถือดาบและโล่ห์วิ่งติดตามพระพุทธเจ้าไปทางด้านหลัง ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าทรงบันดาลฤทธิ์แสดงปาฏิหาริย์โดยประการที่องคุลิมาลแม้วิ่งจนสุดกำลัง ก็ไม่อาจตามทัน

       องคุลิมาลได้ฉุกคิดขึ้นว่า แปลกจริงๆ เมื่อก่อนแม้ช้าง ม้า หรือรถกำลังแล่น เราก็ยังวิ่งตามจับได้ แต่บัดนี้ เราวิ่งจนสุดกำลัง ยังไม่อาจทันสมณะรูปนี้ซึ่งเดินไปตามปกติ ดังนี้ จึงหยุดยืนถามพระพุทธเจ้าว่า "หยุดก่อนสมณะ หยุดก่อนสมณะ"

       พระพุทธเจ้าจึงตรัสตอบว่า "เราหยุดแล้ว องคุลิมาลเธอล่ะ หยุดหรือยัง"

 

ต้นคดปลายตรง

       ครั้งนั้น องคุลิมาลเกิดความสงสัยว่า ธรรมดาพระมักเป็นคนพูดจริง ไม่โกหก แต่ว่าพระรูปนี้เดินไปอยู่แท้ๆ แต่กลับพูดว่าเราหยุดแล้ว องคุลิมาล เธอหละหยุดหรือยัง พระรูปนี้พูดหมายถึงอะไร

       นับว่าเป็นโอกาสดีที่องคุลิมาลจะได้มีสติหยุดทิ้งดาบและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า

       องคุลิมาลได้กราบทูลว่า "สมณะ ท่านกำลังเดินไปอยู่แท้ๆ แต่พูดว่า เราหยุดแล้ว และกล่าวกับข้าพเจ้าผู้หยุดแล้วว่าไม่ยอมหยุด เรื่องนี้มีความหมายว่าอย่างไร"

       พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า "ดูกรองคุลิมาล เรางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ได้แล้ว จึงชื่อว่าหยุดทำบาปแล้วโดยสิ้นเชิงส่วนเธอยังเที่ยวเข่นฆ่าคนทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เราจึงหยุดแล้ว แต่ท่านยังไม่หยุด"

       องคุลิมาลเมื่อได้ฟังดังนั้น ก็กลับได้สติทิ้งดาบและอาวุธได้ถวายบังคมพระบาทของพระศาสดา แล้วได้ทูลขอบรรพชา ณ ที่นั่นเอง

       องคุลิมาลนั้นมีบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ พร้อมกับพระดำรัสนั้นเอง ทันใดนั้น เพศคฤหัสถ์ก็อันตรธานหายไปสมณะเพศปรากฏขึ้นแทน

       การบวชเช่นนี้ เรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือ พระพุทธเจ้าบวชให้เอง

       ในขณะนั้น ยังไม่มีใครรู้ว่าองคุลิมาลได้บวชเป็นพระแล้วพระพุทธเจ้าและพระองคุลิมาลประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี สมัยนั้น หมู่มหาชนรวมตัวกันที่ประตูพระราชวังพากันประท้วงพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า มีโจรองคุลิมาล เป็นคนหยาบช้าโหดร้ายทารุณ เที่ยวเข่นฆ่ามนุษย์แล้วเอานิ้วมือร้อยเป็นพวงมาลัยขอให้พระองค์จงกำจัดมันเสียเถิด (ถ้าทำไม่ได้ก็ลาออกไป)

       พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงรีบเสด็จออกจากเมืองพร้อมด้วยกองทัพม้า ๕๐๐ เสด็จเข้าไปทางวัดพระเชตวัน เพื่อไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

       ความจริง พระเจ้าปเสนทิโกศลก็กลัวองคุลิมาลเหมือนกันแต่เพราะกลัวข้อครหาไม่ปกป้องประชาชน จึงขันอาสาออกจับด้วยตนเอง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า "มหาบพิตร มีใครทำให้พระองค์โกรธเคืองหรือ จึงได้ยกทัพเหมือนจะออกไปรบ"

       พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลว่า "กำลังจะยกทัพไปปราบโจรองคุลิมาล" พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามว่า "มหาบพิตรถ้าพระองค์เห็นพระองคุลิมาลกลับตัวกลับใจเป็นคนดี บวชเป็นพระแล้ว จะทำอย่างไร"

       พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลว่า "ถ้าอย่างนั้นก็ดีนะสิ หม่อมฉันจึงถวายการบำรุงท่านด้วยปัจจัย ๔ แต่ว่าองคุลิมาลนั้นเป็นคนทุศีล ทำความชั่วมามากขนาดนั้น บวชแล้วจักบรรลุธรรมได้หรือ"

       ในขณะนั้น พระองคุลิมาลนั่งอยู่ไม่ไกลพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้าบอกว่า "รูปที่นั่งอยู่นั้น คือพระองคุลิมาล" 

       พระเจ้าปเสนทิโกศลพอเห็นเข้าเท่านั้น ก็ตกใจกลัวจนขนหัวลุก เหงื่อไหลท่วมตัว

       พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อย่าทรงกลัวเลย มหาบพิตร ตอนนี้พระองคุลิมาลไม่มีพิษภัยแก่ใครแล้ว

       หลังจากที่พระเจ้าปเสนทิโกศล หายตกใจทรงระงับความกลัวได้ จึงค่อยๆ เสด็จเข้าไปใกล้พระองคุลิมาลแล้วได้ตรัสถามท่านถึงเชื้อชาติเหล่ากอ เมื่อรู้ว่าไม่ผิดตัวแน่นอน จึงได้ปวารณาถวายความอุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัย ๔

       แต่เพราะพระองคุลิมาลถือการอยู่ป่า การบิณฑบาตและถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร จึงได้ปฏิเสธความหวังดีของพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า อย่าเลย มหาบพิตร ไตรจีวรของอาตมภาพบริบูรณ์แล้ว

       พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ชื่นชมในอานุภาพของพระพุทธเจ้าที่ทรงฝึกคนที่ฝึกได้ยาก โจรที่ปราบไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ปราบได้ราบคาบ สมกับที่พระองค์ทรงเป็นยอดครูของโลก จากนั้นได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเสด็จกลับไป

 

ปัจจุบันสำคัญที่สุด

       ต่อมา เช้าวันหนึ่ง พระองคุลิมาลเข้าไปบิณฑบาตในเมืองขณะที่กำลังเดินบิณฑบาตอยู่นั้น ได้พลันเห็นสตรีคนหนึ่งซึ่งท้องแก่ใกล้คลอด จึงมีความสงสาร หลังกลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้กราบทูลถึงเหตุการณ์ที่พบเมื่อเช้านี้

     พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ดูกรองคุลิมาล ถ้าอย่างนั้น เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้นและกล่าวอย่างนี้ว่า "ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว ไม่เคยแกล้งฆ่าสัตว์จากชีวิตเลย ด้วยสัจจะวาจานี้ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่เธอ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเธอเถิด"

       เพราะความที่ท่านเคยฆ่าคนมาก่อน พระองคุลิมาลจึงไม่กล้ากล่าวเท็จ

       พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า องคุลิมาล ถ้าอย่างนั้น เธอจงพูดใหม่ว่า "ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ ไม่เคยแกล้งฆ่าสัตว์จากชีวิตเลย ด้วยสัจจะวาจานี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่เธอขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเธอเถิด"

       เนื้อความที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกแก่พระองคุลิมาลนี้ เป็นการเตือนไม่ให้ท่านฝังใจกับอดีตที่ผ่านมา เพราะท่านเคยฆ่าคนมาเป็นจำนวนมาก อดีตไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ให้ถือเป็นบทเรียน

       ปัจจุบันจึงสำคัญที่สุด

       คือในอริยชาตินี้ ตั้งแต่ได้บวชเป็นพระในพุทธศาสนา ท่านไม่เคยฆ่าสัตว์ทำร้ายชีวิตอื่นเลย

       ขอเพียงสำนึกผิดและกลับใจเป็นคนดี ก็ถือว่าเป็นคนประเสริฐ

       พระองคุลิมาลเมื่อเข้าใจในความหมายนั้นแล้ว จึงเข้าไปหาหญิงนั้นแล้วได้กล่าวว่า "ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เวลาที่ฉันเกิดแล้วในอริยชาติ ไม่เคยแกล้งฆ่าสัตว์จากชีวิตเลย ด้วยสัจจวาจานี้ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่เธอ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของเธอเถิด"

       พอได้ฟังสัจจะวาจาของพระองคุลิมาล หญิงนั้นก็คลอดลูกอย่างปลอดภัย

       ต่อมา พระองคุลิมาล หลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียรพยายามฝึกตนอยู่ ไม่นานนัก ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

       เช้าวันหนึ่ง ในขณะที่ท่านเข้าไปบิณฑบาตในเมือง ประชาชนที่ยังโกรธแค้นอยู่ เมื่อรู้ว่าท่านเดินผ่านมา ก็พากันเอาก้อนดินท่อนไม้ขว้างใส่ท่าน จนหัวแตกเลือดไหลอาบจีวรบาตรก็แตกผ้าสังฆาฏิก็ฉีกขาด

       ถึงกระนั้น ท่านก็ไม่ตอบโต้ไม่โกรธตอบต่อคนเหล่านั้นเพราะถือว่าจะได้ชดใช้กรรมให้หมดในชาตินี้

       เมื่อกลับจากบิณฑบาต จึงเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ขอให้เธอจงอดกลั้นไว้ การที่เธอได้รับผลกรรมในปัจจุบันนี้ ยังดีกว่าตกนรกหมกไหม้หลายร้อยหลายพันปีในชาติหน้า

       นี้คือประวัติของยอดโจรผู้ยิ่งใหญ่ แต่กลายเป็นยอดคนในภายหลัง

 

บทสวดและคำแปล

       ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา ฯ เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ

       ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาโดยชาติอริยะ ไม่เคยจงใจฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเลย

       ด้วยการกล่าวคำสัจนี้ ขอความสุขสวัสดี จงมีแก่เธอขอความสุขสวัสดี จงมีแก่ครรภ์ของเธอเถิด ฯ (สวด ๓ จบ)

 

ธรรมะจากบทสวดมนต์

       เรื่องของพระองคุลิมาล มีแง่คิดสอนเราหลายอย่าง

       ทั้งเรื่องความริษยาที่มาพร้อมกับความเก่ง คนดีมักประสบปัญหานี้กันเป็นส่วนมาก แต่น้อยคนจะเข้าใจและหาทางออกให้กับตัวเองได้

       พระองคุลิมาลโดยพื้นฐานเป็นคนดี เป็นคนเก่ง แต่เพราะถูกสภาพแวดล้อมทางอารมณ์ ทั้งด้านการศึกษาและหน้าที่การงานบีบคั้นกดดัน ทำให้ต้องทำผิด แม้ไม่อยากทำ

       แต่คนเก่งมักลืมคิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมองแต่ความสำเร็จในปัจจุบัน อยากสำเร็จการศึกษาเร็วๆ สนใจแต่เป้าหมาย ละเลยวิธีการที่ถูกต้อง แม้จะผิดก็ทำ

           ฉะนั้น คนเก่งไม่ได้หมายความว่าเป็นคนดี คนเก่งและดี ก็มีเหมือนกัน แต่มีน้อย

       พระองคุลิมาลโชคดีที่ได้เจอพระพุทธเจ้า ไม่เช่นนั้นอาจทำกรรมหนักคือฆ่าแม่ชีวิตของท่านผิดแล้วยอมรับผิด ทำให้มีโอกาสแก้ตัว

       แม้จะเป็นโจรร้ายมาแค่ไหน ถ้าปัจจุบันคนนั้นกลับตัวกลับใจเป็นคนดี สังคมควรให้อภัย ไม่ควรถือโทษโกรธเคือง

       อย่าเจ็บแบบฝังใจ เพราะเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

       บางทีคนที่ทำให้เราโกรธเจ็บซ้ำใจ หายโกรธและลืมไปนานแล้ว แต่เรายังเก็บเป็นความทรงจำที่ไม่ดีไว้อยู่ คนที่ทุกข์คือเราไม่ใช่เขา

       ปัจจุบันคือเวลาที่ดีที่สุด อดีตเป็นเพียงประสบการณ์และเป็นบทเรียนในการวิเคราะห์เท่านั้น หลายครั้งเราใช้ข้อมูลในอดีตวิเคราะห์คาดการณ์ถึงปัจจุบัน ผิดบ้าง ถูกบ้าง อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่ควรกังวลใจ

       อย่าตัดสินพฤติกรรมของคนเพียงเพราะเหตุผลของอดีต

       ลองเปิดใจให้กว้าง ให้โอกาสคนทำผิดได้แก้ตัว

       ดีกว่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0040804862976074 Mins