สัทธาธิกถา

วันที่ 13 มีค. พ.ศ.2547

พระธรรมเทศนา แสดงโดย พระธรรมคุณาภรณ์

อดีตเจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม


เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๘ เวลา ๑๐.๒๐ น.

 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ฯ
สัทโธ สีเลนะ สัมปันโน ยะโสโภคสะมัปปิโต
ยัง ยัง ปเทสัง ภะชะติ ตะตัถ ตะตเถวะ ปูชิโต ฯ

 

.....ความว่า ผู้มีศรัทธาความเชื่อมั่น สมบูรณ์ด้วยศีล ถึงพร้อมด้วยยศและโภคะ จะไปสู่สถานใด ๆ ย่อมเป็นผู้ที่ชนทั้งหลายบูชาในสถานที่นั้น ๆ ดังนี้

 

.....เนื้อความตามพระคาถานี้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส รับรองไว้โดยแสดงว่า บุคคลประพฤติปฏิบัติในธรรม ๔ ประการ คือ ๑.มีศรัทธา ๒.สมบูรณ์ด้วยศีล ๓.มียศคือความปลื้มใจ ๔.มีโภคะคือทรัพย์ทั้งภายในและภาย นอก ย่อมเป็นผู้ที่ชนทั้งหลายเคารพบูชาในที่ที่ไปและเป็นอยู่

(ธรรมทั้งสิ้นมีอรรถาธิบายโดยสังเขปดังนี้)

.....สัทธา ความเชื่อ ได้แก่การเชื่อตามหลักธรรมที่เป็นจริง โดยเห็นว่าทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ดังเช่นคนหว่านพืชในท้องนาที่ ๆ ประสงค์จะหว่าน จะหว่านข้าวก็คงเป็นข้าว หว่านถั่วงาก็คงเป็นถั่งงาเป็นต้น สมตามนิ พนธ์ ภาษิตที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า

 

ยาทิสัง วะปะเต พีชัง ตาทิสัง ละภะเต ผลัง
กัลยาณการี กัลยาณัง ปาปการี จ ปาปกัง


บุคคลหว่านพืชเช่นไรย่อมได้ผลเช่นนั้น

ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว

 

.....สัทธา คือความเชื่อที่พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์ก็คือ สัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาอันเรียกว่า สัทธาญาณสัมปยุต ซึ่งจำแนกได้เป็น ๔ ประการ ได้แก่ เชื่อว่าการทำเช่นไรต้องมีผล เรียกว่า กัมมสัทธา ๑ เชื่อว่าบุคคลหรือสัตว์ต่าง ๆ เกิดมาจากผลของการกระทำ เรียกว่าวิปากสัทธา ๑ เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ รับผลของกรรมสืบ ๆ มาเรียกว่า กัมมัสสกตาสัทธา ๑ และเชื่อในความตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ค้นพบจนรู้ว่าทุกข์คือความทนได้ยากและเป็นทุกข์นี้ เกิดขึ้นเพราะความทะยานอยากคือตัณหา จะดับได้ก็ต้องอาศัยดำเนินในอริยมรรคอันเป็นทางสายกลางคือมัชฌิมาปฏิปทา เรียกว่า ตถาคตโพธิสัทธา ๑ เมื่อบุคคลมีสัทธาประกอบด้วยคุณธรรม ๔ ประการ นี้จึงชื่อว่าผู้มีสัทธาตามพุทธประสงค์

.....สำหรับผู้ที่มีกาย วาจา เรียบร้อยตามขนบธรรมเนียมที่ดีงาม ตามจารีตประเพณีที่ดีงาม ประพฤติปฏิบัติ ตามเหตุ ตามผล ตามกาลเวลา ตามบุคคลและหมู่คณะนั้น ๆ มีกิริยาวาจาอ่อนน้อมและอ่อนโยนในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อเรียกว่าเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล คือ มีกาย วาจา เป็นปกติ

.....ความเป็นผู้ที่มีความเอิบอิ่มปลื้มใจในตัวของตัวเอง เพราะบำเพ็ญประโยชน์ทำกิจการทั้งปวง เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวมด้วย ความที่บุคคลอื่นทราบความประพฤติปฏิบัติ ในกิจที่ดีงามแล้วพากันยกย่อง สรรเสริญ ดีใจและปลื้มใจด้วย ชื่อ ยศ คือความดีใจ ท่านตรัสไว้เป็นสังเขป ๓ ประการคือ

.....การประพฤติปฏิบัติโอบอ้อมอารี ทั้งขวนขวายในกิจที่ชอบที่พอจะทำด้วยตนเองด้วย ให้ผู้อื่นทำด้วยและปฏิบัติในสังคหธรรม ๔ ประการ คือ เป็นผู้ให้แก่บุคคลที่ควรให้ ๑ กล่าววาจาด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ๑ ประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ๑ ความเป็นผู้ที่มีตนสม่ำเสมอ ไม่ถือเราถือเขา ๑

.....เมื่อประพฤติดังนี้ ย่อมเป็นที่รักเคารพของหมู่ชนและชนนั้น ๆ ย่อมเป็นพวกพ้องบริวาร เรียกว่า บริวารยศ อนึ่ง เมื่อมีบริวารเคารพนับถือมากจะไปในทิศใด ๆ ก็มีคนแซ่ซ้องสรรเสริญให้เกียรตินอบน้อม อย่างนี้เรียกว่า เกียรติยศ และในหมู่คณะตลอดถึงชุมชนใหญ่ ๆ จนถึงประเทศชาติ เมื่อหัวหน้าหรือผู้ปกครองได้สดับความดีงามเช่นนั้นก็ยกย่องให้ปรากฏแก่ชนทั้งปวง เรียกว่า อิสริยยศ

.....ความเป็นผู้มีโภคะ คือโภคทรัพย์อย่างพรั่งพร้อมทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกก็สมบูรณ์ด้วยบุตรธิดา เป็นผู้ดำรงวงศ์สกุลสืบมาด้วยดีและทางธรรมก็มีทรัพย์ภายในอันเป็นอริยทรัพย์คือทรัพย์อันประเสริฐ ๗ ประการ ดังพุทธบรรหารที่ตรัสไว้ว่า

 

สัทธาธนัง สีลธนัง หิริ โอตตัปปิยัง ธนัง
สุตธนัญจ จาโค จ ปัญญา เว สัตตมัง ธนัง ฯ

ทรัพย์ คือ สัทธา ๑ ศีล ๑ หิริ ๑ โอตตัปปะ ๑

สุตะ ๑ จาคะ๑ และปัญญา เป็นที่ เจ็ด
ยัสสะ เอตา ธนา อัตถิ อัตถิยา ปุริสสัสะ วา
อทฬิทโทติ ตัง อาหุ อโมฆัง ตัสสะ ชีวิตัง ฯ

 

.....มีอยู่แก่บุคคล จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม ท่านผู้รู้กล่าวชมบุคคลนั้นว่าเป็นผู้ไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้น ก็ไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ ดังนี้เรียกว่า ผู้มีโภคะเพียบพร้อม

.....ผู้ที่ประกอบด้วยคุณธรรมทั้งสี่ประการนี้จะไปสู่ที่ใด สถานที่ใด ๆ ก็เป็นที่เคารพสักการบูชาของปวงชนในที่นั้น ๆ .

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023671801884969 Mins