.....พระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ปาฐกถาธรรม "ภารกิจเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา" ในโอกาสบำเพ็ญกุศลสวดพระพุทธมนต์ฉลองมหารัตนอัฐิธาตุ ของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และพิธีถวายภัตตาหาร ปัจจัยไทยธรรมเป็นสังฆทานแด่พระเถรานุเถระ พระสังฆาธิการ จำนวน ๒,๐๐๐ กว่าวัด ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี วันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕
(ต่อจากตอนที่ ๓ ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๖)
.....ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึง ปัญหาหลักในปัจจุบันของคณะสงฆ์ ที่แก้ไขไม่ตก คือปัญหาบุคลากรของสงฆ์ที่มีไม่เพียงพอไปแล้วนั้น ในประการต่อมากล่าวถึง
๕.ภารกิจหลักในปัจจุบัน
.....ที่กล่าวดังนี้มิได้เกินเลย เพราะเหตุว่าพระภิกษุ สามเณรที่เข้ามาบวชกันนั้นต้องเริ่มต้นกันใหม่เป็นส่วนใหญ่ คือต้องศึกษาเล่าเรียนบ้าง ต้องไปทำภาระอย่างอื่นบ้าง สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงบ้าง อายุมากแล้วบ้าง ยังเด็กเกินไปที่จะไปทำภารกิจอย่างนั้นบ้าง เหลือที่เป็นกำลังสำคัญมีศักยภาพจริงๆ นั้นไม่มากเลย เมื่อมีไม่มากก็เลยไม่พอ
.....ภารกิจหลักในปัจจุบันที่เร่งด่วนก็คือทำอย่างไร เราจึงจะสร้างพระภิกษุ สามเณรที่เป็นกำลังหลักให้ได้มากเท่าที่จะมากได้ ที่สุดแม้ว่าทางการคณะสงฆ์จะมีหลักสูตร และกำหนดให้เป็นภาระหน้าที่ ของพระสังฆาธิการ จัดการเรียนการสอนแก่พระภิกษุ สามเณร ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ยกตัวอย่างเช่นในขณะนี้เรามีวัดทั้งวัดเล็กวัดใหญ่ อยู่ในเมืองและชนบททั่วประเทศประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัดเศษ มีพระภิกษุ สามเณร อยู่ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูป เฉลี่ยแล้วตกวัดละ ๑๐ รูป ในจำนวน ๑๐ รูป หากว่าเรามีพระที่มีศักยภาพสูง เป็นที่น่าพอใจ เรียกว่า ได้มาตรฐานสักวัดละ ๑ รูป เท่านั้น พระพุทธศาสนาของเราไปรอดแน่นอน
.....แต่เวลานี้มิใช่เช่นนั้น เราต้องยอมรับความจริงกันก่อนว่า เวลานี้วัดบางวัดไม่มีพระ กลายเป็นวัดร้าง หรือยังไม่ทันร้างแต่ก็ไม่มีพระอยู่ประจำ นี่ประการหนึ่ง
.....อีกประการหนึ่ง มีพระอยู่กันรูปสองรูป ซึ่งเป็นพระที่เฝ้าวัด ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะทำภารกิจที่ต้องการได้ แม้จะพยายามผลิตพระที่มีศักยภาพเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ
.....เพราะฉะนั้น ก็อยากจะพูด ในที่นี้ว่า เป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญของ เพื่อนพระสังฆาธิการทั้งหลาย ที่นั่งอยู่ในที่นี้ว่า ต้องช่วยกันผลิตพระที่มีศักยภาพกันแล้ว นั่นก็คือ ช่วยกันสร้างพระให้มีความรู้ความเข้าใจ ให้มีความสามารถมีศักยภาพกัน
๖.พระดี พระแท้
.....พระที่โยมต้องการคือพระประเภทไหน ก็ลองมาวิจัยกันดูบ้าง ญาติโยมทั้งหลายที่นั่งกันอยู่ในที่นี้เป็นหมื่นคน ต้องการอยากได้พระประเภทไหน ก็คงจะตอบตรงกันเลยทีเดียวว่าต้องการพระที่ดี หรือพระแท้ อันว่าพระดีพระแท้นั่นคืออย่างไร เคยได้รับคำแนะนำสั่งสอนมาบ้าง ในเรื่องตำราดูพระ ก็อยากจะมาพูดมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟังกันบ้าง
.....แม้พระสงฆ์ที่มีเลือดมีเนื้อ เขาก็มีตำราดู และมีแว่นส่องเหมือนกัน แว่นส่องพระ ก็คือลักษณะหรือองค์ประกอบที่ท่านกำหนดไว้ ท่านบอกว่าดีของพระ หรือพระที่ดี หรือพระแท้นั้น ต้องดูทั้งดีนอกและดีใน เหมือนกับพระเครื่อง ตอนแรกก็ส่อง ดูเนื้อข้างนอกก่อนว่าเป็นอย่างไร แล้วก็ค่อยๆ พลิกไปดูเนื้อข้างในจึงจะเห็นชัดเจน
๗.ดีนอกดีในของพระ
.....เวลาจะดูพระ ก็ต้องดูทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน คือดูดีนอก กับดีใน ดีนอกของพระ ก็คือดีที่มองเห็นได้ด้วยสายตา ดูที่ภายนอกของท่านว่างามหรือไม่งาม ดีหรือไม่ดี สิ่งที่จะเป็นเครื่องประดับให้พระเรามีดีนอกนั้นก็คือศีล ซึ่งต่อมาเราพูดให้ยาวออกไปว่า ศีลาจารวัตร ศีลาจารวัตร คำนี้เอาคำ ๓ คำมารวมกัน คือคำว่า ศีล อาจาระ และวัตรรวมกันเข้าเป็น ศีลาจารวัตร ศีล ก็คือปกติพระที่มีศีล สามเณรที่มีศีล ก็เป็นพระ เป็นสามเณรที่เป็นปกติ ปกติของพระเณรเรา ก็คือความเรียบร้อย ความเป็นระเบียบ ความประพฤติที่ไม่ผิดเพี้ยน อันนี้แทบจะไม่ต้องอธิบาย พระรูปใดมีศีลครบบริบูรณ์ รักษาศีลได้มาก ญาติโยมก็ชอบ ญาติโยมอยากกราบไหว้
(อ่านต่อตอนที่ ๕ ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๖)