.....พระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ปาฐกถาธรรม "ภารกิจเพื่อความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา" ในโอกาสบำเพ็ญกุศลสวดพระพุทธมนต์ฉลองมหารัตนอัฐิธาตุ ของคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และพิธีถวายภัตตาหาร ปัจจัยไทยธรรมเป็นสังฆทานแด่พระเถรานุเถระ พระสังฆาธิการ จำนวน ๒,๐๐๐ กว่าวัด ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี วันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕
.....(ต่อจากตอนที่ ๒ ฉบับวันเสาร์ที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๖)…. จากที่ได้กล่าวถึงการสร้างพลังให้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา ด้วยการรู้จักพึ่งตนเองก่อน และในการสร้างพลังในส่วนแรกนั้น คือ การป้องกัน อันตรายที่จะมาถึงพระพุทธศาสนา ตามมาด้วย ขั้นตอนต่อมาคือ
๓.๒ การดูแลรักษา
.....การป้องกันอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องดูแลรักษาด้วย การดูแลรักษานั้น ก็คือการอนุรักษ์สิ่งใดที่มีอยู่ก่อนแล้วก็รักษาไว้ไม่ทำลาย บำรุงรักษาไว้ให้ดี
.....แม้ในหลักอปริหานียธรรม คือหัวข้อธรรมที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมเสีย
.....พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนไว้ข้อหนึ่ง ในเรื่องการรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือระเบียบแบบแผนที่ โบราณอาจารย์ได้กำหนดตั้งขึ้นไว้และปฏิบัติสืบๆ กันมา นอกจากขนบธรรมเนียมประเพณีแล้ว ก็มีวัฒนธรรมต่างๆ วัฒนธรรมของพระเราก็มีทั้งวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม ได้แก่พระวินัยต่างๆ และวัฒนธรรมที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ศิลปวัตถุและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่นโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หรือสถานที่อำนวยความสะดวกอื่นๆ สิ่งเหล่านี้รวม เรียกว่าศาสนสถาน ซึ่งล้วนเป็นวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งก็ต้อง ช่วยกันป้องกันดูแลรักษา โดยเฉพาะคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกกันว่า พระธรรมวินัยนั้นถือว่าเป็นรากแก้ว เป็นเสาหลักของพระพุทธศาสนาซึ่งเราท่านทั้งหลายจะต้องช่วยกันดูแลรักษา แม้จะต้องเอาชีวิตเข้าแลกก็ต้องยอมกัน
.....ถ้าหากว่าเราไม่รักษาพระธรรมวินัยกัน พระธรรมวินัยก็จะอันตรธานไป คือจะค่อยๆ ลบเลือน ถูกลบถูกเลือนไป
.....ความจริงพระธรรมวินัยนั้นมีมาก อย่างที่ท่านทั้งหลายทราบกันอยู่ ล้วนแต่เป็นหลักเป็นข้อปฏิบัติบ้าง เป็นสิ่งที่ควรรู้บ้าง บางครั้งบางคราวก็ถูกเพิกเฉย ถูกละเลยเสีย อย่างนี้เรียกกันว่าไม่ได้ดูแล ไม่ได้รักษากัน การดูแลการรักษาพระพุทธศาสนาก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นภารกิจเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท
๓.๓ การพัฒนา
.....อีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญ ก็คือการพัฒนา การพัฒนา หมายถึงการทำให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น ให้แพร่หลายขึ้น ให้กว้างไกลออกไป อันนี้ถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของพุทธบริษัท และดูเหมือนว่าจะเป็นภารกิจหลักเสียด้วย ที่ว่าเป็นภารกิจหลักนั้น เราจะเห็นได้ว่า แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงทำให้ดูไว้เป็นตัวอย่างแล้ว กล่าวคือหลังจากที่พระองค์ตรัสรู้แล้วก็ส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาในที่ต่างๆ ที่เราเรียกกันต่อมาว่าพระธรรมทูตนั่นเอง พระองค์เองก็ทรงทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูต เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังที่ต่างๆ เหมือนกัน
.....การเผยแผ่เป็นการกระจายคำสอนของพระองค์ออกไปให้กว้างขวาง พระสาวกรุ่นหลัง องค์อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาในรุ่นหลังๆ ก็ปฏิบัติภารกิจนี้เช่นเดียวกัน เช่นพระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระธรรมทูตไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งสุวรรณภูมิประเทศ ซึ่งได้แก่บริเวณประเทศไทยและพม่าด้วย ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายมาจนถึงประเทศไทย ไกลออกไปอีกหลายประเทศ ตั้งแต่ยุคก่อนจนถึงยุคปัจจุบัน
.....รวมความก็คือภารกิจหน้าที่ของพุทธบริษัทต่อพระพุทธศาสนา ก็คือ การป้องกัน การดูแลรักษาและการพัฒนา
.....วิกฤติการณ์พระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้น ก็ต้องมาพิจารณากันว่าเวลา นี้เราจะทำอย่างไร หากจะกล่าวกันแบบกำปั้นทุบดิน ก็ต้องบอกว่าต้องทำภารกิจทั้ง ๓ ประการให้บริบูรณ์ไปพร้อมๆ กัน ส่วนจะทำอะไรมากน้อยกว่ากันนั้นก็ต้องดูกาละ คือเวลา เทศะคือสถานที่และเหตุการณ์ เพราะว่าปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในแต่ละถิ่นแต่ละที่นั้นไม่เหมือนกัน แต่ก็สามารถนำเอาภารกิจหลักทั้ง ๓ ประการนี้ไปใช้แก้ไขได้เหมือนกัน
๔.ปัญหาหลักในปัจจุบันของคณะสงฆ์
.....ในขณะนี้ มีปัญหาเกิดขึ้นมากในวงการคณะสงฆ์ จะไม่ขอกล่าวในที่นี้ให้มากความไป แต่อยากจะพูดอย่างหนึ่งว่า ปัญหาหลักในปัจจุบันที่ยังแก้ไขไม่ตก คือปัญหาบุคลากรของสงฆ์มีไม่เพียงพอ
.....ปัญหาบุคลากรของสงฆ์มีไม่เพียงพอ นี้เป็นปัญหาใหญ่เราต้องยอมรับความจริงว่าในจำนวนพระสงฆ์ คือพระภิกษุ สามเณรของเรา ในพรรษาก็ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูปนี้เป็นพระภิกษุสามเณรที่มีศักยภาพ เป็นบุคลากรซึ่งมีความรู้ความสามารถในการที่จะป้องกัน ดูแลรักษาและพัฒนาพระศาสนาได้นั้นมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร และความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ
(อ่านต่อตอนที่ ๔ ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๖)