พระธรรมราชานุวัตร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แสดง ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วันธรรมสวนะที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธธัสสะ ฯ
ปุญญัญเจ ปุริโส กยิรา กยิราเถนัง ปุนัปปุนัง
ตัมหิ ฉันทัง กยิราถ สุโข ปุญญัสสะ อุจจโยติ ฯ
.....ณ บัดนี้ จักแสดงพระธรรมเทศนา เรื่องที่พึ่งชีวิต เพื่อเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะ ประดับปัญญาบารมีแก่สาธุชนทั้งหลาย โดยสมควรแก่เวลา
.....วันธรรมสวนะ คือวันพระ นับเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาแห่งเราทั้งหลายทรงบัญญัติให้เป็นวันบำเพ็ญทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญภาวนา สวดมนต์ไหว้พระ ซึ่งพุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาแต่โบราณกาล ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงของโลกได้วิวัฒนาการไปรวดเร็ว ผู้ที่ไม่มีโอกาสจะไปวัดได้ หรือผู้ที่ใคร่ต่อธรรมปฏิบัติ ก็สามารถสมาทานศีลฟังเทศน์ทางสถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ได้ ซึ่งย่อมอำนวยประโยชน์สำเร็จเป็นสุขสมบัติได้ดังปรารถนา
.....อันชีวิตคือความเป็นอยู่ของมนุษย์ชาติที่เกิดมาในสังสารในโลกนี้ ย่อมปรารถนาสิ่งยึดเหนี่ยวอันเป็นเครื่องนำพาชีวิตให้มีความสุขความเจริญ บิดามารดาผู้ก่อกำเนิดบุตรธิดา ต่างสรรหาสรรพสิ่งที่จะทำให้บุตรธิดายึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่ง จึงได้นำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คือ พระพุทธศาสนามาอบรมบ่มจิตใจสร้างอุปนิสัยวาสนาบารมีให้แก่ลูก ๆ ตั้งแต่อ้อนแต่ออกยังไม่รู้ความ คำสั่งสอนอันเป็นเบื้องต้นมีเพียงสองคำเท่านั้น พระพุทธวจนะสองคำนั้น ขยายออกไปถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ได้แก่ คำว่า บุญ กับ บาป
.....บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ ปู่ ย่า ตา ยาย ตลอดทั้ง พี่ ป้า น้า อา จะบอกลูกสอนหลาน เช่น สอนให้ยกมือไหว้พระ พร้อมทั้งบอกว่า เป็นบุญ ห้ามปรามมิให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดีบอกว่า เป็นบาป คำว่า บุญกับบาป จึงเกาะติดเป็นอุปนิสัยต่อเนื่องกันมา จนเป็นที่ซึมซาบกันดีว่า บุญ คือความดีงาม ให้ผลเป็นความสุข บาป คือความชั่ว ให้ผลเป็นความทุกข์
.....เราทุกคนจึงปรารถนาความเป็นคนมีบุญ ความเจริญ คนมีบุญนั้นย่อมมีนานาประการ เช่น คนรูปร่างสวยงาม ก็เรียกว่าคนมีบุญ คนร่ำรวย คนมีสติปัญญาดีเฉลียวฉลาด ก็เป็นคนมีบุญ ตลอดไปถึงคนที่มีบิดามารดาดี มีพี่น้อง มีเพื่อนฝูงต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนกล่าวได้ว่า เป็นคนมีบุญทั้งนั้น ต่างแต่จะมีบุญมากน้อยเพียงใด แม้ที่เราเกิดมาเป็นคน ก็ชื่อว่า มีบุญนำมาเกิดเหมือนกัน
.....คำว่า บุญ นี้ย่อมทราบกันดีแล้วว่า เป็นนามธรรม มีแต่ชื่อเท่านั้น มิได้มีรูปร่าง ต้นเหตุที่เกิดของบุญ เรียกว่า บุญญสมุทัย มีอยู่ ๓ ประการ คือ อโลภะ ความไม่โลภ ๑ อโทสะ ความไม่โกรธ ๑ อโมหะ ความไม่หลง ๑ การทำบุญ จะทำอย่างไรก็ตาม ต้องทำโดยมีเจตนาความตั้งใจ เพื่อลดความโลภของตนให้น้อย เบาบางลงจนถึงหมดสิ้นก็ดี เพื่อลดความโกรธให้ลดน้อย เบาบางลงจนถึงหมดสิ้นก็ดี เพื่อลดความหลงงมงาย คือความรู้ไม่จริง รู้ผิด ๆ ถูก ๆ หรือไม่รู้เลยแล้วอบรมเพาะบ่มให้เกิดสติปัญญาความรอบรู้ อันเป็นคุณธรรม บรรเทาความหลง และให้เกิดวิชา ที่เป็นเหตุข้อปฏิบัติให้ถึงความสิ้นทุกข์ได้ในที่สุดก็ดี รวมเรียกว่า บุญญสมุทัย ต้นเหตุแห่งบุญ เปรียบดั่งรากเหง้า อันจะทำให้บุญเกิดขึ้น บุญกิริยาวัตถุ วิธีทำบุญ แยกออกอย่างย่อมี ๓ ประการ คือ ทานมัย บุญที่เกิดด้วยการบริจาคทาน การให้ ๑ สีลมัย บุญที่เกิดด้วยความประพฤติเรียบร้อยดีงาม ได้แก่ การรักษาศีล ๑ ภาวนามัย บุญที่เกิดด้วยเพาะบ่มอบรมจิตให้เกิดมี เกิดเป็นขึ้น คือ การบำเพ็ญเพียรเจริญภาวนา สวดมนต์ไหว้พระ ๑
.....ทาน คือ การให้ ที่ท่านกำหนดเป็นกิริยาบุญ การทำบุญข้อแรก เรียกว่า ทานมัย คือ บุญที่เกิดด้วยการบริจาคทานนั้น เพราะทานคือการให้เป็นเหตุกำจัดโลภะ ความโลภ คือความอยากได้ ได้แก่ กิริยาที่กำจัดความตระหนี่ที่มีประจำอยู่ในจิตใจของผู้ที่ยังเป็นปุถุชน ฉะนั้น ผู้ที่มีเจตนาความตั่งใจบริจาคให้สรรพวัตถุสิ่งของของตนที่มีอยู่แก่ผู้อื่น จะเป็นการให้เพื่อบูชาพระคุณ เช่น บุตรธิดา ให้เพื่อบูชาบิดามารดา หรือการให้เพื่อช่วยเหลือสงเคราะห์ เช่น ญาติมิตร หรือผู้ประสบเคราะห์กรรมภัยพิบัติ เป็นต้น การให้การบริจาคด้วยความตั้งใจ เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจอันดีงาม ด้วยความเสียสละของที่รักของที่หวงแหน อันน่าจะเสียสละได้ยาก ฉะนั้น ทานคือการให้จึงเป็นบุญ เพราะกำจัดความอยากได้ ความตระหนี่เหนียวแน่นที่ฝังซ่อนอยู่ในหัวใจของปุถุชน เป็นการชำระจิตใจของผู้ให้นั้นให้เกิดความบริสุทธิ์กว่าเดิม อนึ่งเพื่อจะกำหนดจดจำไว้ง่าย การให้นั้นเป็นบุญนอกตัว เพราะการให้เป็นการบริจาควัตถุสิ่งของที่มองเห็นรูปธรรม และการให้ยังเป็นการทำบุญที่ทำได้โดยง่าย เป็นที่นิยมกันโดยทั่วไป….
(ติดตามอ่านตอนที่ ๒ ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๖)