.....พระเดชพระคุณพระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ปาฐกถาธรรม "ภารกิจเพื่อความมั่นคงแห่ง พระพุทธศาสนา" ในโอกาสบำเพ็ญกุศลสวด พระพุทธมนต์ฉลอง มหารัตนอัฐิธาตุ ของคุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และพิธีถวายภัตตาหาร ปัจจัยไทยธรรมเป็น สังฆทานแด่พระเถรานุเถระ พระสังฆาธิการ จำนวน ๒,๐๐๐ กว่าวัด ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี วันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๕
.....(ต่อจากตอนที่ ๔ ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๖)….ดูดีนอกดีในการพิจารณาของพระนั้น ท่านแบ่งออกเป็น ศีล อาจาระ และวัตร โดยได้กล่าวถึงศีลไปแล้วในเบื้องต้น ข้อต่อมาก็คือ
.....อาจาระ คือความประพฤติ ได้แก่อากัปกิริยาต่างๆ ได้แก่ การยืน เดิน นั่ง นอน รวมไปถึงการนุ่ง การห่มที่เป็นระเบียบเรียบร้อย งดงาม น่าชม เช่นพูดจาเรียบร้อย นุ่งห่มเรียบร้อย เป็นสมณสารูป ภาษาพระเรียกพระเณรที่เรียบร้อยว่ามีสมณสารูปบ้าง มีเสขิยวัตรบ้าง ซึ่งอาจาระเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความงดงาม ดูภายนอกแล้วงดงาม ญาติโยมทั้งหลายอยากเห็นอยากกราบไหว้พระเณรที่มีอาจาระงดงาม นั่งเป็นระเบียบ เดินเป็นระเบียบ ทำงานเป็นระเบียบ เหมือนท่านทั้งหลายเห็นกันอยู่ในขณะนี้
.....ที่วัดพระธรรมกายนี่เวลาจัดทำอะไรก็ดูเป็นระเบียบ จัดที่ให้พระเณรนั่งก็เป็นระเบียบ ทุกอย่างเป็นระเบียบไปหมด นี่คือเพื่อฝึกอาจาระ เมื่อได้อาจาระแล้วนี่มันงาม ดูแล้วงาม สิ่งที่งามก็ทำให้สบายตา เมื่อสบายตาก็ทำให้เกิดความสบายใจ เมื่อสบายใจก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส อยากจะบำรุง อยากจะอุปถัมภ์ นี่คืออาจาระ
.....วัตร คือขนบธรรมเนียมต่างๆ โดยรวมก็คือกิจวัตรหรือสิ่งที่ปฏิบัติกัน เป็นปกติประจำวันของพระ เช่นทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ศึกษาเล่าเรียน หมั่นเพียรปฏิบัติ ทำวัตรสวดมนต์ ทำกิจวัตรภายใน เช่น ปัดกวาดวัด ทำความสะอาดโบสถ์วิหารเป็นต้น สิ่งเหล่านี้เมื่อญาติโยมเห็นเข้าก็ชอบ พระที่มีศีลาจารวัตรถือว่าเป็นพระที่มีดีภายนอก ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจน จะอยู่ที่ไหนญาติโยมศรัทธาเลื่อมใส อยากจะบำรุง อยากจะรักษาดูแล
.....ส่วนดีใน ก็คือดีที่อยู่ข้างในตัว ดีที่อยู่ข้างในตัวของพระนั้น มองด้วยสายตาไม่เห็น ต้องดูเวลาท่านพูด ท่านแสดงออกมาเสียก่อน จึงจะรู้ จึงจะเห็นว่าท่านรูปนี้มีดีในอยู่ ดีในนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ความรู้ที่เกิด จากการศึกษาเล่าเรียน ประสบการณ์ต่างๆ ทางโลกบ้าง ทางธรรมบ้าง พูดกันง่ายๆ ก็คือว่ารู้เรื่อง ต่างๆ มามากจนเป็นพหูสูต เช่นในทางธรรมก็เป็นนักธรรม อย่างน้อยก็ได้นักธรรมชั้นตรี สูงขึ้นไปก็นักธรรมชั้นโท ชั้นเอก ถ้าเป็นเปรียญก็เป็นเปรียญ ๓ ประโยคถึง ๙ ประโยค ได้ศึกษาพระไตรปิฎก ได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าทรงจำไว้ได้มากพอที่จะแนะนำสั่งสอนตัวเองและแนะนำสั่งสอนชาวพุทธได้ นี่เรียกว่าดีใน ในด้านปริยัติ
.....ดีในอีกด้านหนึ่ง ก็คือด้านปฏิบัติ ดีในเรื่องปฏิบัติ ก็คือดีในเรื่องจิต ดีในเรื่องการปฏิบัติจิตจนเป็นจิตที่สงบ ศีลาจารวัตรซึ่งเป็นดีนอก ทำให้กายภายนอกงาม ส่วนจิตที่สงบเป็น ดีในทำให้ภายในงาม
.....ดีในที่ทำให้จิตสงบนั้น เกิดได้ด้วยอาศัยการปฏิบัติกัมมัฏฐาน การฝึกฝนจิตให้ปลอดภัยจากกิเลสให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จนกระทั่งกิเลสหมดไป ไม่มาทำให้จิตเศร้าหมองขุ่นมัวได้อีก ในขณะเดียวกันก็มีจิตที่ประกอบด้วยเมตตา ประกอบด้วยกรุณา หรือประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม ไม่มีอคติ ไม่ลำเอียง มีความเที่ยงธรรม มีความเที่ยงตรง และในขณะเดียวกันก็มีคารวธรรมอยู่ในใจ คือมีความเคารพนับถือกันไปตามลำดับอาวุโส ตามพระวินัยและมีคารวะธรรมทางกาย โดยแสดงความเคารพ กราบไหว้กันตามฐานะให้เห็น สิ่งเหล่านี้ญาติโยมก็ต้องการเห็นและอยากเห็นพระที่มีดีในอย่างนี้ พระที่มีดีในเช่นนี้จะมีหน้าตาที่อิ่มเอิบ ยิ้มแย้มแจ่มใส ผุดผ่อง ไม่หน้านิ่วคิ้วขมวด พูดจาไพเราะเรียบร้อย นี่ดีในที่แสดงออกมาให้เห็นได้ ในภายนอก
.....กล่าวโดยสรุป ก็คือพระแท้หรือพระดีในทัศนะของญาติโยมนั้น ต้องมีลักษณะเช่นที่กล่าวมานี้ พระอย่างนี้แหละที่ญาติโยมชอบ ญาติโยมต้องการ มีเท่าไรญาติโยมอุปถัมภ์บำรุงได้ทั้งหมด…
(อ่านต่อตอนที่ ๖ ฉบับวันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖)