.....การศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนามนุษยชาติ ทั้งด้านความรู้ และจิตใจ ในอดีตการจัดการศึกษาของไทยใช้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ วัด คือ สถาบันการศึกษา พระภิกษุ คือ ครูผู้ให้การศึกษา เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ระบบการศึกษาไทยในอดีตมีความพร้อมทั้งสองด้าน คือให้ทั้งความรู้และปลูกฝังคุณธรรมไปด้วยในตัว
.....ต่อมาเมื่อแยกระบบการศึกษาทางโลกออกไปจากวัด และมีการพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้รองรับกับการพัฒนาประเทศยุคโลกาภิวัฒน์ เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ หลักสูตรการศึกษาถูกปรับเปลี่ยนให้ทันยุคทันสมัย หันเหทิศทางไปให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจ จนปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถออกมารับใช้ประเทศชาติมากมาย
…แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนกล้ารับรองว่า หลักสูตรการศึกษาที่ใช้อยู่นี้ จะสามารถทำให้ได้คนดีที่โลกต้องการ เป็นบัณฑิตผู้มีความรู้คู่คุณธรรม เพียงแต่สามารถรับรองความรู้ความสามารถ ซึ่งถือเป็นช่องว่างอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษา ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก
.....ผู้บริหารการศึกษาของไทย ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้เช่นกัน ได้พยายามบรรจุวิชาพระพุทธศาสนา เข้าไปในหลักสูตรการศึกษา แต่ปัญหาที่พบคือ ขาดครูผู้มีความรู้ด้านพระพุทธศาสนา ทำให้การศึกษาหลักธรรมดูเหมือนจะห่างไกลจากสังคมไทยทุกขณะ จนน่าเป็นห่วงว่าอาจจะสูญหายไปในอนาคต หากอนุชนคนรุ่นหลังไม่ร่วมกันหวงแหนรักษาไว้ ด้วยการตั้งใจศึกษาอย่างจริงจัง
.....ในปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาทางธรรม คงเหลืออยู่ในการศึกษาของสงฆ์เท่านั้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นเพียงความหวังประการเดียว ในการผลิตครูผู้มีความรู้ด้านพระพุทธศาสนา ให้มีจำนวนมากพอที่ส่งเสริมการศึกษาทางธรรมให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป
.....โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสอบบาลีสนามหลวงนั้น นับเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก เพราะการสอบบาลีสนามหลวงถือเป็นมาตรฐานสำคัญในการวัดภูมิปัญญาและผลการศึกษาทางด้านปริยัติธรรมของสงฆ์ไทย ซึ่งแบ่งออกเป็นระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นประโยค ๑-๒ ขึ้นไป จนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค มีการจัดสอบกันปีละครั้ง และยังกำหนดเกณฑ์การสอบได้ไว้ค่อนข้างสูง
.....ฉะนั้นผลการสอบที่ประกาศออกมาแต่ละปี จึงถือว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมาก ทั้งต่อตัวผู้เข้าสอบ ต่อสำนักเรียนต้นสังกัด และต่อการคณะสงฆ์อีกด้วย เท่าที่ผ่านมาในแต่ละปี มักจะมีจำนวนผู้สอบผ่านน้อยกว่าผู้สอบตก ยิ่งชั้นประโยคสูงมากเท่าไหร่ ยิ่งมีผู้สอบผ่านน้อยลงไปตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั้น เปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งถือว่ายากที่สุด ในปีหนึ่งๆ จะมีผู้สอบได้เพียงไม่กี่สิบรูปเท่านั้น
.....ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นปีแห่งความสำเร็จของคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานี เพราะมีพระภิกษุสามเณรสอบบาลีสนามหลวงได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดพระธรรมกาย ซึ่งในปีนี้เป็นวัดที่ครองอันดับสูงสุดทั้งในส่วนของยอดผู้สอบผ่านรวมทุกชั้น และยอดรวมระดับสูงสุด คือ ป.ธ.๙ ด้วยการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการคณะสงฆ์ไทย มีจำนวนผู้สอบได้ ป.ธ.๙ ถึง ๙ รูป และผู้สอบรวมทุกประโยค ๒๑๓ รูป นับเป็นอันดับ ๑ ของประเทศไทย
.....โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดพระธรรมกาย ได้เริ่มเปิดดำเนินการและส่งนักเรียนเข้าสอบบาลีสนามหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นต้นมา แม้ว่าในช่วงแรกๆ ยังขาดความพร้อมอยู่หลายด้าน แต่ทางวัดได้พยายามหาทางแก้ไขปรับปรุงตามลำดับ ดังนี้
.....๑.สร้างความภูมิใจในการศึกษา ว่า ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา คือสมบัติอันล้ำค่า เป็นมรดกสืบทอดอันยิ่งใหญ่ และเป็นวิชชาที่ควรศึกษาให้เจริญยิ่งกว่าวิชาการใดๆในโลก เพราะเป็นวิชชาเพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์ จึงถือว่าผู้เรียนพระบาลี คือ ผู้ได้โอกาสอันทรงคุณค่ายิ่ง
.....๒.ให้ความสนับสนุนทางด้านทางด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ ทั้งด้านทุนการศึกษา อุปกรณ์การศึกษา และจัดหาครูบาอาจารย์ผู้มีความเชี่ยวชาญจากภายนอกมาสอน
.....๓.พัฒนาสิ่งแวดล้อมให้เป็นสัปปายะ เหมาะแก่การศึกษาพระธรรมวินัยทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรมีความพอใจในการดำรงสมณเพศต่อไป ตั้งใจศึกษาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
.....๔.จัดให้มีการบริหารการศึกษาอย่างมีระบบแบบแผน เพื่อให้เกิดความสะดวกและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทำให้มีพื้นฐานมั่นคงและแผ่ขยายได้กว้าง
.....ผลจากความพยายาม และความตั้งใจในการส่งเสริมการศึกษา พระปริยัติธรรมควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรม ทำให้ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา กิจการด้านการศึกษาของวัดพระธรรมกายมีการพัฒนาก้าวหน้ามาโดยลำดับ
.....พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ผู้สถาปนาโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธรรมกาย และเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยมาโดยตลอด ได้กล่าวแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการสอบบาลีสนามหลวงของพระภิกษุสามเณรในวัดพระธรรมกายว่า
.....“ การที่พระภิกษุสามเณรวัดพระธรรมกาย สอบบาลีได้มากที่สุดในปีนี้ หลวงพ่อคิดว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่งก็คือความสามารถในตัวของพระภิกษุสามเณรผู้สอบนั่นเอง ความสามารถดังกล่าวเป็นความสามารถที่เกิดจาก การมีเป้าหมายชัดเจน ส่วนหลวงพ่อจะมีบทบาทก็เป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุน และให้แนวทางการปลูกฝังลูกพระลูกเณรของหลวงพ่อ ให้ตระหนักว่าชีวิตของนักบวช นับแต่วันแรกที่เข้ามาบวช จะต้องสำนึกเสมอว่า ต้องเรียนและเรียนให้ “รู้แจ้ง” มิใช่เรียนเพียงเพื่อรู้จำ หรือเพียงเพื่อให้สอบผ่านเท่านั้น
…เราต้องยอมรับว่าพระพุทธธรรมคำสอนได้มีการบันทึกไว้เป็น ภาษาบาลี หลวงพ่อจึงมุ่งสนับสนุนให้ลูกพระลูกเณรได้ศึกษาบาลี เพื่อจะนำความรู้มาศึกษาค้นคว้าให้เข้าถึงหลักคำสอน ให้รู้แจ้งชัดเพื่อจะได้นำมาประพฤติปฏิบัติ มิได้มุ่งหวังว่าเรียนมาแล้วจะให้ไปทำอย่างอื่น …ไม่เพียงประโยค ๙ ที่หลวงพ่อปรารถนา อยากให้ลูกพระลูกเณรของหลวงพ่อได้ศึกษาให้เจนจบ แม้จะมีประโยคสูงกว่านี้หลวงพ่อก็จะสนับสนุน เพราะการศึกษาและนำไปสู่การปฏิบัติ ย่อมจะทำให้ชีวิตในเพศนักบวชเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ เพราะได้ชื่อว่า เป็นการฝึกฝนปฏิบัติขัดเกลาตนเอง เป็นการเติมความบริสุทธิ์ให้กับตนเองสู่การมีชีวิตที่ประเสริฐ”
.....มาถึงตอนนี้ ทุกท่านคงตระหนักดีแล้วว่า กว่าที่พระภิกษุสามเณรจะสำเร็จการศึกษา สอบได้ถึงประโยคสูงสุด เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยคนั้น แต่ละท่านต้องใช้ความวิริยอุตสาหะอย่างสูง และจะต้องมีสติปัญญาอย่างเยี่ยม ประกอบความเพียรไม่ย่อหย่อน จึงจะสามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้
.....มหาเปรียญธรรม ผู้เป็นเพชรน้ำเอกในพระพุทธศาสนาทุกรูป จึงสมเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐให้กับชาวโลก ด้วยหัวใจของนักสู้ผู้มีมโนปณิธานกล้าแกร่ง หนักแน่นมั่นคงในการสร้างบารมี พร้อมจะทุ่มเทอุทิศชีวิตสืบสานงานพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองตลอดไป