บทสรุปพุทธคารวตา

วันที่ 20 มค. พ.ศ.2563

บทสรุปพุทธคารวตา

                     การมีความเคารพในพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึงการศึกษาค้นหาแก่นแท้แห่งคุณความดี คือพระพุทธคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถูกต้อง มิใช่จับเอาแต่กระพี้แห่งคุณความดีของพระพุทธองค์ดังเช่นสกุลุทายิปริพาชก เมื่อค้นพบแก่นแท้แล้วก็พึงพากเพียรนำไปปฏิบัติด้วยความวิริยอุตสาหะอย่างสม่ำเสมอ


                     ไม่มีย่อหย่อน ไม่มีสงสัย โดยยึดเป็นหลักประจำใจ เป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิต ทำจนเป็นกิจวัตรประจำวันตลอดไปไม่ผันแปรเป็นอย่างอื่น เพราะเมื่อปฏิบัติอย่างครบถ้วนจริงจังสม่ำเสมอแล้วย่อมสามารถครองชีวิตอย่างถูกทำนองคลองธรรม สามารถคุ้มครองตนให้อยู่บนเส้นทางแห่งการบำเพ็ญบุญกุศล ซึ่งนอกจากจะสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองแล้ว

 

                      ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่บุคคลรอบข้างและสังคมโดยรอบอีกด้วย ผลแห่งกรรมดีดังกล่าวนี้ บุคคลผู้ปฏิบัติย่อมสามารถรู้เห็นได้ด้วยตนเองในชาตินี้ ครั้นละโลกไปแล้วย่อมไปสู่สุคติอย่างแน่นอน

 

                     ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้“ผู้มีบุญอันตนทำไว้แล้ว ย่อมเพลิดเพลินในโลกนี้ ละไปแล้ว ย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสองเขาย่อมเพลิดเพลินว่า เราทำบุญไว้แล้ว ไปสู่สุคติย่อมเพลิดเพลินยิ่งขึ้น”

 

                     ความเคารพในพระศาสดา หมายถึงการค้นหาแก่นแท้แห่งคุณความดีของพระองค์ แล้วพากเพียรปฏิบัติตามด้วยความวิริยอุตสาหะอย่างสม่ำเสมอ เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ย่อมครองตนอยู่บนเส้นทางแห่งกุศล สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคมโดยรอบ

 

                     เคารพในพระศาสดาทำให้บรรลุเป้าหมายของชีวิต ผู้ที่มีความเข้าใจแก่นแท้แห่งพระพุทธคุณ และพากเพียรปฏิบัติตามพระพุทธองค์ ถือพระองค์เป็นแบบอย่าง ย่อมเกิดปัญญาเข้าใจถูกต้องว่า คนเราทุกคนเกิดมาเพื่อบำเพ็ญคุณความดี หรือบำเพ็ญบุญบารมี เฉกเช่นพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ทั้งนี้ก็เพื่อให้
สามารถกำจัดกิเลสออกจากใจไปตามลำดับ ๆ จนหมดสิ้น

 

                      ซึ่งเป็นการปฏิบัติวิธีเดียวเพื่อความหลุดพ้น เพื่อพระนิพพาน ซึ่งเป็นความสุขอันไพบูลย์อย่างแท้จริงแต่โดยเหตุที่การบรรลุความหลุดพ้น และพระนิพพาน มิใช่เรื่องง่าย อีกทั้งทรงทราบดีว่ามิมีผู้ใดมีจิตใจทรหดแข็งแกร่งทุ่มชีวิตเสี่ยงตายบำเพ็ญธรรมดังเช่น พระพุทธองค์อย่างแน่นอน

                     

                     พระพุทธองค์จึงทรงสอนพุทธศาสนิกชนให้รู้จักปฏิบัติตน เพื่อบรรลุประโยชน์เกื้อกูลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ละเอียดประณีตมากขึ้นไปตามลำดับซึ่งอาจใช้ภาษาชาวบ้านว่า พระพุทธองค์ทรงสอนให้บรรลุเป้าหมายชีวิต ๓ ระดับ คือ

 

                    ๑. เป้าหมายชีวิตระดับต้น (ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์) หรืออาจเรียกว่า เป้าหมายบนดินหมายถึง การกระทำเหตุที่ก่อให้เกิดความสุขความเจริญในชาตินี้สำหรับคฤหัสถ์ คือ การตั้งตนเป็นหลักเป็นฐานให้ได้ในชีวิตนี้ ได้แก่ การมีสัมมาอาชีพมั่นคง มีรายได้ประจำแน่นอน

 

                      มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีบ้านเป็นของตนเอง มีเงินทองใช้สอยเป็นปกติ มีเงินออมไม่เป็นคนหลักลอย ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และอื่นใดที่กล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถกถา เช่น การใช้ของใช้ที่ดี จัดการงานดี มีการงานที่ไม่วุ่นวายสับสน รู้วิธีรักษาสุขภาพ การทำของใช้ให้สะอาด มีศิลปะ แสวงหาความรู้ การเลี้ยงดูบิดามารดา การสงเคราะห์บริวาร

 

                       สำหรับบรรพชิต คือ การเสพปัจจัย ๔ ด้วยการพิจารณาการเว้น ด้วยการพิจารณาในของใช้เหล่านั้น การรักษาสุขภาพเป็นการทำของใช้ให้สะอาด ความมักน้อย ความสันโดษ ความสงัด ความไม่คลุกคลี การไม่ทำในสิ่งที่ทำให้เดือดร้อนใจในภายหน้า

 

                       ๒.เป้าหมายชีวิตระดับกลาง (สัมปรายิกัตถประโยชน์)หรืออาจเรียกว่า เป้าหมายบนฟ้า หมายถึง การประพฤติธรรมตามสมควรแก่ธรรม ตามเพศภาวะของตนได้อย่างเหมาะสม และการสั่งสมบุญกุศล พร้อม ๆ กับการประกอบสัมมาอาชีพตามเพศภาวะ ทั้งในส่วนของคฤหัสถ์และบรรพชิต โดยมีเป้าหมายไปสู่สุคติโลกสวรรค์หลังจากละโลกนี้ไปแล้ว


                      ๓. เป้าหมายชีวิตระดับสูง (ปรมัตถประโยชน์) หรืออาจเรียกว่า เป้าหมายชีวิตเพื่อบรรลุพระนิพพาน จนกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม ด้วยการทุ่มเทกายใจบำเพ็ญธรรมด้วยความวิริยอุตสาหะ
เพื่อให้มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ เพื่อการบรรลุญาณทัสสนะไปตามลำดับ ๆ เพื่อพัฒนาปัญญาขึ้นไปตามลำดับ ๆ

 

                                                                        ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๔๓/๕๔๕                                                                        จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ1
                                             โดยคุณครูไม่เล็ก

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0047188361485799 Mins