ลำดับอาจารย์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก

วันที่ 25 กพ. พ.ศ.2563

ลำดับอาจารย์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก

               ได้กล่าวไว้แล้วในสมัยที่ยังมิได้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลานนั้นใช้วิธีท่องจำ
และการท่องจำก็แบ่งหน้าที่กัน ตามแต่ใครจะสมัครเป็นผู้เชี่ยวชาญในส่วนไหนตอนไหนของ
พระไตรปิฎก เช่น คำว่า ทีฆภาณกะ แปลว่า ผู้สวดคัมภีร์ทีฆนิกาย (พระธรรมเทศนาหมวดยาว)
มัชฌิมภาณกะ ผู้สวดคัมภีร์มัชฌิมนิกาย (พระธรรมเทศนาขนาดปานกลาง) โดยนัยนี้จึงเป็นการ
แบ่งงานกันทำในการท่องจำพระไตรปิฎก และมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา มีศิษย์ของแต่ละสำนัก
ท่องจำตามที่อาจารย์สั่งสอน เป็นทางให้เห็นความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก ด้วยประการฉะนี้

             ในหนังสืออธิบายพระไตรปิฎก หรือที่เรียกว่าอรรถกถา ได้แสดงการสืบสายของอาจารย์
ในแต่ละทาง คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก ที่เรียกว่าอาจริยปรัมปรา สายแห่ง
พระอาจารย์ ดังนี้

 

สายวินัยปิฎก1
๑) พระอุบาลี
๒) พระทาสกะ
๓) พระโสณกะ
๔) พระสิคควะ
๕) พระโมคคลีบุตรติสสะ

 

สายสุตตันตปิฎก

         ไม่ได้มีระบุไว้ในอรรถกถา เป็นแต่ได้กล่าวถึงการมอบหน้าที่ในการท่องจำนำสืบ ๆ กัน  ต่อไปดังนี้2

๑) มอบให้พระอานนท์ท่องจำสั่งสอนทีฆนิกาย
๒) มอบให้นิสสิตทั้งหลายของพระสารีบุตรท่องจำมัชฌิมนิกาย
๓) มอบให้พระมหากัสสปะท่องจำสังยุตตนิกาย

๔) มอบให้พระอนุรุทธ์ท่องจำอังคุตตรนิกาย ส่วนขุททกนิกายไม่ได้กล่าวไว้ว่ามอบเป็นหน้าที่
ของใคร

 

สายอภิธัมมปิฎก3

๑)พระสารีบุตร
๒)พระภัททชิ
๓) พระโสภิตะ
๔)พระปิยชาลี
๕) พระปิยปาละ
๖)พระปิยทัสสี
๗) พระโกสิยปุตตะ
๘)พระสิคควะ
๙)พระสันเทหะ
๑๐) พระโมคคลีบุตร
๑๑) พระติสสทัตตะ
๑๒) พระธัมมิยะ
๑๓) พระทาสกะ
๑๔) พระโสณกะ
๑๕) พระเรวตะ


           ตามรายนามนี้ สืบต่อมาเพียงชั่ว ๒๓๕ ปีเท่านั้น ต่อจากนั้นยังมีรายนามอีกมาก ซึ่งนับแต่เผยแผ่ศาสนาไปในลังกาแล้ว


เชิงอรรถอ้างอิง
1สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ หน้า ๖๑ ครั้นแล้วได้กล่าวถึงชื่ออาจารย์ในรุ่นหลัง ตอนที่แผ่ศาสนาไปในลังกาแล้ว เกือบ ๑๐๐ รูป

2สุมังคลวิลาสินี ภาค ๑ หน้า ๑๘

3อัฏฐสาลินี ภาค ๑ หน้า ๔๓

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001169232527415 Mins