การนับสังคายนา นอกอินเดีย

วันที่ 24 กพ. พ.ศ.2563

การนับสังคายนา นอกอินเดีย
การนับสังคายนาของลังกา

             ลังกาซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกับไทย คงรับรองการสังคายนาทั้ง
๓ ครั้งแรกในอินเดีย แต่ไม่รับรองสังคายนาครั้งที่ ๔ ซึ่งเป็นของนิกายสัพพัตถิกวาทผสมกับฝ่าย
มหายาน

            หนังสือสมันตปาสาทิกา ซึ่งแต่งอธิบายวินัยปิฎกกล่าวว่า เมื่อทำสังคายนาครั้งที่ ๓ เสร็จ
แล้ว พระมหินทเถระผู้เป็นโอรสของพระเจ้าอโศก พร้อมด้วยพระเถระอื่น ๆ รวมกันครบ ๕ รูป
ได้เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา ได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิย ติสสะ แสดงธรรมให้
พระราชาเลื่อมใส และประดิษฐานพระพุทธศาสนาได้แล้ว ก็มีการประชุมสงฆ์ ให้พระอริฏฐะผู้
เป็นศิษย์ของพระมหินทเถระ สวดพระวินัยเป็นการสังคายนาวินัยปิฎก ส่วนหนังสืออื่น ๆ เช่น
สังคีติยวงศ์ กล่าวว่า มีการสังคายนาทั้งสามปิฎก สังคายนาครั้งนี้ กระทำที่ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ
มีพระมหินทเถระเป็นประธาน

           การสังคายนาครั้งนี้ ต่อจากสังคายนาครั้งที่ ๓ ในอินเดียไม่กี่ปี คือการทำสังคายนาครั้งที่ ๓
 กระทำใน พ.ศ. ๒๓๕ พอทำสังคายนาเสร็จแล้วไม่นาน (พ.ศ. ๒๓๖) พระมหินทเถระก็
เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลังกา และในปี พ.ศ. ๒๓๘ ก็ได้ทำสังคายนาในลังกา
เหตุผลที่อ้างในการทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้พระศาสนาตั้งมั่น เพราะเหตุที่สังคายนาครั้งนี้
ห่างจากครั้งแรกประมาณ ๓-๔ ปี บางมติจึงไม่ยอมรับเป็นสังคายนา เช่น มติของฝ่ายพม่าดังจะ
กล่าวข้างหน้า ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สังคายนาครั้งนี้ อาจเป็นการวางรากฐานให้ชาวลังกาท่องจำ
พระพุทธวจนะ จึงต้องประชุมชี้แจงหรือแสดงรูปแห่งพุทธวจนะตามแนวที่ได้จัดระเบียบไว้ใน
การสังคายนาครั้งที่ ๓ ในอินเดีย ฉะนั้น จึงนับได้ว่าเป็นสังคายนาครั้งแรกในลังกา

           สังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกา 
           กระทำเมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๓๓1 ในรัชสมัยของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย  เรื่องที่ปรากฏเป็นเหตุทำสังคายนาครั้งนี้ คือเห็นกันว่าถ้าจะใช้วิธีท่องจำพระพุทธวจนะต่อไป ก็อาจมีข้อวิปริตผิดพลาดได้ง่าย เพราะปัญญาในการท่องจำของกุลบุตรเสื่อมถอยลง

จึงตกลงจารึกพระพุทธวจนะลงในใบลาน2 มีคำกล่าวว่า ได้จารึกอรรถกถาลงไว้ด้วย สังคายนา
ครั้งนี้กระทำที่ อาโลกเลณสถาน ณ มตเลชนบท ซึ่งไทยเราเรียกว่า มลัยชนบท ประเทศลังกา

มีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน ได้กล่าวแล้วว่า บางมติไม่รับรองการสังคายนาของ
พระมหินท์ ว่าเป็นครั้งที่ ๔ ต่อจากอินเดีย แต่สังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกานี้ ได้รับการรับรองเข้า
ลำดับโดยทั่วไป
บางมติจัดเข้าเป็นลำดับที่ ๕ บางมติที่ไม่รับรองสังคายนาของพระมหินท์ (ครั้ง
แรกในลังกา) ก็จัดสังคายนาครั้งที่ ๒ ในลังกานี้ว่า เป็นครั้งที่ ๔ ต่อมาจากอินเดีย


สังคายนาครั้งที่ ๓ ในลังกา 
 กระทำเมื่อไม่ถึง ๑๐๐ ปีมานี้เอง คือใน พ.ศ. ๒๔๐๘3 (ค.ศ. ๑๘๖๕)  ที่รัตนปุระในลังกา

พระเถระชื่อหิกขทุเว สิริสุมังคละ เป็นหัวหน้า กระทำอยู่ ๕ เดือน  การสังคายนาครั้งนี้น่าจะไม่มีใครรู้กันมากนักนอกจากเป็นบันทึกของชาวลังกาเอง   การโฆษณาก็ คงไม่มากมายเหมือนสังคายนาครั้งที่ ๖ ของพม่า

 

การนับสังคายนาของพม่า

           ได้กล่าวแล้วว่า พม่าไม่รับรองสังคายนาครั้งแรกในลังกา คงรับรองเฉพาะสังคายนาครั้งที่ ๒ ของลังกาว่าเป็นครั้งที่ ๔ ต่อจากนั้นก็นับสังคายนาครั้งที่ ๕ และที่ ๖ ซึ่งกระทำในประเทศพม่า

สังคายนาครั้งแรกในพม่า หรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ ๕ ต่อจากครั้งจารึกลงในใบลาน
ของลังกา สังคายนาครั้งนี้ มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในแผ่นหินอ่อน ๗๒๙ แผ่น ณ เมือง
มันฑะเล ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้ามินดง ใน พ.ศ. ๒๔๑๔ (ค.ศ. ๑๘๗๑) พระมหาเถระ ๓ รูป
คือ พระชาคราภิวังสะ พระนรินทาภิธชะ และพระสุมังคลสามี ได้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นประธาน
โดยลำดับ มีพระสงฆ์และพระอาจารย์ผู้แตกฉานในพระปริยัติธรรมร่วมประชุม ๒,๔๐๐ ท่าน
กระทำอยู่ ๕ เดือนจึงสำเร็จ

 

สังคายนาครั้งที่ ๒ ในพม่า หรือที่พม่านับว่าเป็นครั้งที่ ๖ ที่เรียกว่าฉัฏฐสังคายนา เริ่ม
กระทำเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ จนถึงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นอัน
ปิดงาน ในการปิดงานได้กระทำร่วมกับการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ (การนับปีของพม่าเร็วกว่า
ไทย ๑ ปี จึงเท่ากับเริ่ม พ.ศ. ๒๔๘๙ ปิด พ.ศ. ๒๕๐๐ ตามที่พม่านับ) พม่าทำสังคายนาครั้งนี้ มุ่ง
พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นข้อแรก แล้วจะจัดพิมพ์อรรถกถา (คำอธิบายพระไตรปิฎก) และคำแปล
เป็นภาษาพม่าโดยลำดับ มีการโฆษณาและเชิญชวนพุทธศาสนิกชนหลายประเทศไปร่วมพิธีด้วย
โดยเฉพาะประเทศเถรวาท คือ พม่า ลังกา ไทย ลาว เขมร ทั้งห้าประเทศนี้ ถือว่าสำคัญสำหรับ
การสังคายนาครั้งนี้มาก เพราะใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีอย่างเดียวกัน
จึงได้มีสมัยประชุม ซึ่ง
ประมุขหรือผู้แทนประมุขของทั้งห้าประเทศนี้เป็นหัวหน้า เป็นสมัยของไทย สมัยของลังกา
เป็นต้น ได้มีการก่อสร้างคูหาจำลองทำด้วยคอนกรีต จุคนได้หลายพันคน มีที่นั่งสำหรับพระสงฆ์
ไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ที่ บริเวณที่ก่อสร้างประมาณ ๒๐๐ ไร่เศษ เมื่อเสร็จแล้วได้แจกจ่าย
พระไตรปิฎกฉบับอักษรพม่าไปในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย


การนับสังคายนาของไทย

             ตามหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมของไทยเรายอมรับรองสังคายนาครั้งที่ ๑-๒-๓
ในอินเดียและครั้งที่ ๑-๒ ในลังกา รวมกัน ๕ ครั้ง
ถือว่าเป็นประวัติที่ควรรู้เกี่ยวกับความเป็นมา
แห่งพระธรรมวินัยแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงถือว่าสังคายนา
ในลังกาทั้งสองครั้งเป็นเพียงสังคายนาเฉพาะประเทศ ไม่ควรจัดเป็นสังคายนาทั่วไป จึงทรง
บันทึกพระมติไว้ในท้ายหนังสือพุทธประวัติ เล่ม ๓

            แต่ตามหนังสือสังคีติยวงศ์ หรือประวัติแห่งการสังคายนา ซึ่งสมเด็จพระวันรัต วัด
พระเชตุพนรจนาเป็นภาษาบาลีในรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่ครั้งเป็นพระพิมลธรรม ได้ลำดับความเป็นมา
แห่งสังคายนาไว้  ๙ ครั้ง ดังต่อไปนี้

            สังคายนาครั้งที่ ๑-๒-๓ ทำในประเทศอินเดียตรงกับที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น
            สังคายนาครั้งที่ ๔-๕ ทำในลังกา คือครั้งที่ ๑ ที่ ๒ ที่ทำในลังกาดังได้กล่าวแล้วในประวัติการสังคายนาของลังกา

            สังคายนาครั้งที่ ๖ ทำในลังกาเมื่อ พ.ศ. ๙๕๖ พระพุทธโฆสะได้แปลและเรียบเรียง
อรรถกถาคือคำอธิบายพระไตรปิฎกจากภาษาลังกาเป็นภาษาบาลี ในรัชสมัยของพระเจ้ามหานาม
เนื่องจากการเเปลอรรถกถาเป็นภาษาบาลีครั้งนี้ มิใช่การสังคายนาพระไตรปิฎก ทางลังกาเองจึง
ไม่ถือว่าเป็นการสังคายนาตามแบบแผนที่นิยมกันว่า จะต้องมีการชำระพระไตรปิฎก

            สังคายนาครั้งที่ ๗  ทำในลังกา เมื่อ พ.ศ. ๑๕๘๗  พระกัสสปเถระได้เป็นประธานมีพระ
เถระร่วมด้วยกว่า ๑,๐๐๐ รูป ได้รจนาคำอธิบายอรรถกถาพระไตรปิฎก เป็นภาษาบาลี กล่าวคือ
แต่งตำราอธิบายคัมภีร์อรรถกถา ซึ่งพระพุทธโฆสะได้ทำเป็นภาษาบาลีไว้ในการสังคายนาครั้งที่ ๖
คำอธิบายอรรถกถานี้ กล่าวตามสำนวนนักศึกษาก็คือคัมภีร์ฎีกา ตัวพระไตรปิฎกเรียกว่าบาลี
คำอธิบายพระไตรปิฎกเรียกว่าอรรถกถา คำอธิบายอรรถกถาเรียกว่าฎีกา การทำสังคายนาครั้งนี้
เนื่องจากมิใช่สังคายนาพระไตรปิฎก แม้ทางลังกาเองก็ไม่รับรองว่าเป็นสังคายนา

             อย่างไรก็ตามข้อความที่กล่าวไว้ในหนังสือสังคีติยวงศ์  ก็นับว่าได้ประโยชน์ในการรู้
ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา อย่างดียิ่ง

            สังคายนาครั้งที่๘   ทำในประเทศไทย ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ พระเจ้าติโลกราชแห่ง
เชียงใหม่ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป ให้ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎก
ในวัดโพธาราม เป็นเวลา ๑ ปี จึงสำเร็จ สังคายนาครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ ๑ ในประเทศไทย

            สังคายนาครั้งที่ ๙ ทำในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า
จุฬาโลกปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระ
พระไตรปิฎก ในครั้งนี้มีพระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชปัณฑิตาจารย์อุบาสก ๓๒ คน ช่วยกันชำระ
พระไตรปิฎก แล้วจัดให้มีการจารึกลงในใบลาน สังคายนาครั้งนี้สำเร็จภายใน ๕ เดือน จัดว่าเป็น
สังคายนาครั้งที่ ๒ ในประเทศไทย


             ประวัติการสังคายนา ๙ ครั้งตามที่ปรากฏในหนังสือสังคีติยวงศ์ ซึ่งสมเด็จพระวันรัต
รจนาไว้นี้ ภิกษุชินานันทะ ศาสตราจารย์ภาษาบาลี และพุทธศาสตร์แห่งสถาบันภาษาบาลีที่
นาลันทา ได้นำไปเล่าไว้เป็นภาษาอังกฤษ ในหนังสือ ๒๕๐๐ ปี แห่งพระพุทธศาสนาในอินเดีย
ซึ่งพิมพ์ขึ้นในโอกาสฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในอินเดียด้วย

              ความรู้เรื่องการชำระและการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย มีความสำคัญสำหรับ
พุทธศาสนิกชนชาวไทยโดยเฉพาะ ข้าพเจ้าจึงจะกล่าวถึงเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ
ได้กล่าวถึงเรื่องอื่น ๆ เสร็จแล้ว

 

การสังคายนาของฝ่ายมหายาน

               การที่กล่าวถึงสังคายนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเป็นคนละสายกับฝ่ายเถรวาทไว้ในที่นี้ด้วย ก็เพื่อ
เป็นแนวศึกษาและประดับความรู้ เพราะพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท โดยเฉพาะสุตตันตปิฎก
ได้มีคำแปลอยู่ในภาษาจีน ซึ่งแสดงว่าฝ่ายมหายานได้มีเอกสารของฝ่ายเถรวาทอยู่ด้วย จึงควรจะ
ได้สอบสวนดูว่า ความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกนั้น ทางฝ่ายมหายานได้กล่าวถึงไว้อย่างไร

                เมื่อกล่าวตามหนังสือพุทธประวัติ และประวัติสังฆมณฑลสมัยแรกตามฉบับของธิเบต
ซึ่งชาวต่างประเทศได้แปลไว้เป็นภาษาอังกฤษ4   ได้กล่าวถึงการสังคายนา ๒ ครั้ง คือครั้งที่ ๑
และครั้งที่ ๒ ในอินเดีย ดังที่รู้กันอยู่ทั่วไป แต่จะเล่าไว้ในที่นี้ เฉพาะข้อที่น่าสังเกตคือ

               ในการสังคายนาครั้งที่ ๑ หลักฐานฝ่ายเถรวาท ว่า สังคายนาพระธรรมกับพระวินัย
พระอานนท์เป็นผู้ตอบคำถามเกี่ยวกับพระธรรม จึงหมายถึงว่า พระอานนท์ได้วิสัชนาทั้ง
สุตตันตปิฎก และอภิธัมมปิฎก แต่ในฉบับของธิเบตกล่าวว่าพระมหากัสสปะเป็นผู้วิสัชนา
อภิธัมมปิฎก ส่วนพระอานนท์วิสัชนาสุตตันตปิฎก และพระอุบาลีวิสัชนาวินัยปิฎก กับได้กล่าว
พิสดารออกไปอีกว่า สังคายนาสุตตันตปิฎกก่อน พอพระอานนท์เล่าเรื่องปฐมเทศนาจบ
พระอัญญาโกณฑัญญะได้ยืนยันว่าถูกต้องแล้ว เป็นพระสูตรที่ท่านได้สดับมาเอง แม้เมื่อกล่าว
สูตรที่ ๒ (อนัตตลักขณสูตร) จบ พระอัญญาโกณฑัญญะก็ให้คำรับรองเช่นกัน รายละเอียดอย่าง
อื่นที่เห็นว่าฟั่นเฝือ ได้งดไม่นำมากล่าวในที่นี้ มีข้อน่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในหนังสือที่อ้าง
ถึงนี้ใช้คำว่า มาติกา (มาตริกา) แทนคำว่า อภิธัมมปิฎก


                ในการสังคายนาครั้งที่ ๒ ฉบับมหายานของธิเบตได้กล่าวคล้ายคลึงกับหลักฐานของฝ่าย
เถรวาทมาก ทั้งได้ลงท้ายว่าที่ประชุมได้ลงมติตำหนิข้อถือผิด ๑๐ ประการของภิกษุชาววัชชี อัน
แสดงว่าหลักฐานของฝ่ายมหายานกลับรับรองเรื่องนี้ ผู้แปล (คือ Rockhill) อ้างว่าได้สอบสวน

ฉบับของจีน ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ากล่าวถึงอะไร นอกจากจบลงด้วย
การตำหนิข้อถือผิด ๑๐ ประการนั้น

               ดร. นลินักษะ แห่งมหาวิทยาลัยกัลกัตตา อินเดีย ได้พยายามรวบรวมหลักฐานฝ่าย
มหายานเกี่ยวด้วยสังคายนาครั้งที่ ๒ ไว้อย่างละเอียดเป็น ๓ รุ่น คือรุ่นแรก รุ่นกลาง และรุ่นหลัง
แม้รายละเอียดปลีกย่อยในหลักฐานนั้น ๆ จะมีต่างกันออกไปก็ตาม แต่ก็เป็นอันตกลงว่า ฝ่าย
มหายานได้รับรองการสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ร่วมกัน5

             โดยเหตุที่คัมภีร์พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมักจะมีอะไรต่ออะไรต่างออกไปจากของ
เถรวาท เมื่อเกิดปัญหาว่าคัมภีร์เหล่านั้นมีมาอย่างไร ก็มักจะมีคำตอบว่า มีการสังคายนาของฝ่าย
มหายาน คัมภีร์เหล่านั้นเกิดขึ้นจากผู้ที่สังคายนา ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้รู้ได้ฟังมาคนละสายกับฝ่ายเถรวาท


              เมื่อตรวจสอบจากหนังสือของฝ่ายมหายาน แม้จะพบว่าสังคายนาผสมกับฝ่ายมหายาน
นั้น เกิดเมื่อสมัยพระเจ้ากนิษกะ ประมาณ พ.ศ. ๖๔๓ ก็จริง แต่ข้ออ้างต่าง ๆ มักจะพาดพิงไปถึง
สังคายนาครั้งที่ ๑ และที่ ๒ คือมีคณะสงฆ์อีกฝ่ายหนึ่ง ทำสังคายนาแข่งขันอีกส่วนหนึ่งคือ

             ๑) สังคายนาครั้งแรกที่พระมหากัสสปะเป็นประธานนั้น กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้าง
เขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ มีคำกล่าวของฝ่ายมหายานว่า ภิกษุทั้งหลายผู้มิได้รับเลือกเป็น
การกสงฆ์ (คือสงฆ์ผู้กระทำหน้าที่) ในปฐมสังคายนาซึ่งมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้
ประชุมกันทำสังคายนาขึ้นอีกส่วนหนึ่งเรียกว่าสังคายนานอกถ้ำ  และโดยเหตุที่ภิกษุผู้ทำ
สังคายนานอกถ้ำมีจำนวนมาก จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสังคายนามหาสังฆิกะ คือของสงฆ์หมู่ใหญ่
เรื่องนี้ปรากฏในประวัติของหลวงจีนเฮี่ยนจัง ผู้เดินทางไปดูการพระพุทธศาสนาในอินเดีย ที่นาย
เคงเหลียน สีบุญเรือง แปลเป็นภาษาไทย หน้า ๑๖๙ และกล่าวด้วยว่าในการสังคายนาครั้งนี้ แบ่ง
ออกเป็น ๕ ปิฎก คือ พระสูตร, วินัย, อภิธรรม, ปกิณณกะ และธารณี

             แต่หลักฐานของการสังคายนา "นอกถ้ำ” ครั้งที่ ๑ นี้น่าจะเป็นการกล่าวสับสนกับ
เหตุการณ์ที่เกิดขนานกับการสังคายนาครั้งที่ ๒ (หนังสือประวัติของหลวงจีนเฮี่ยนจัง เป็นนิพนธ์
ของภิกษุฮุยลิบศิษย์ของท่าน ส่วนบันทึกเดินทางของหลวงจีนเฮี่ยนจัง มีอีกเล่มหนึ่งต่างหากซึ่ง

ฉบับหลังนี้ฝรั่งให้เกียรตินำไปอ้างอิงไว้ในหนังสือของตนมากมายด้วยกัน) หรือนัยหนึ่งเอา
เหตุการณ์ในสังคายนาครั้งที่ ๒ ไปเป็นครั้งที่ ๑ คือ

             ๒) การสังคายนาของมหาสังฆิกะ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อภิกษุวัชชีบุตรถือวินัยย่อหย่อน ๑๐
ประการ และพระยสะกากัณฑกบุตร ได้ชักชวนคณะสงฆ์ในภาคต่าง ๆ มาร่วมกันทำสังคายนา
ชำระมลทินโทษแห่งพระศาสนา วินิจฉัยชี้ว่าข้อถือผิด ๑๐ ประการนั้น มีห้ามไว้ในพระวินัย
อย่างไร แล้วได้ทำสังคายนา ในขณะเดียวกัน พวกภิกษุวัชชีบุตรซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ได้เรียก
ประชุมสงฆ์ถึง ๑๐,๐๐๐ รูป ทำสังคายนาของตนเองที่เมืองกุสุมปุระ (ปาตลีบุตร) ให้ชื่อว่ามหาสังคีติ
คือมหาสังคายนา เป็นเหตุให้เกิดนิกายมหาสังฆิกะ ซึ่งแม้จะยังไม่นับว่าเป็นมหายาน
โดยตรง แต่ก็นับได้ว่าเป็นเบื้องต้นแห่งการแตกแยกจากฝ่ายเถรวาทมาเป็นมหายานในกาลต่อมา
การสังคายนาครั้งนี้ ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงของเดิมไปไม่น้อย หลักฐานของฝ่ายมหายานบางเล่ม
ได้กล่าวถึงกำเนิดของนิกายมหาสังฆิกะ โดยไม่กล่าวถึงวัตถุ ๑๐ ประการก็มี แต่กล่าวว่าข้อเสนอ
๕ ประการของมหาเทวะเกี่ยวกับพระอรหันต์ว่ายังมิได้ดับกิเลสโดยสมบูรณ์ เป็นต้น เป็นเหตุให้
เกิดการสังคายนาครั้งที่ ๒ แล้วพวกมหาสังฆิกะก็แยกออกมาทำสังคายนาของตน


การสังคายนาของนิกายสัพพัตถิกวาท

                  การสังคายนาของพระเจ้ากนิษกะ ประมาณในปีพุทธศักราช ๖๔๓ (ค.ศ. ๑๐๐) พระเจ้ากนิษกะ
 ผู้มีอำนาจอยู่ในอินเดียภาคเหนือได้สนับสนุนให้มีการสังคายนา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็น
สังคายนาแบบผสม ณ เมืองชาลันธร หรือบางแห่งกล่าวว่า เมืองกาษมีระ

                 ในหนังสือจดหมายเหตุของหลวงจีนเฮี่ยนจังเล่าว่า พระเจ้ากนิษกะหันมาสนใจ
พระพุทธศาสนาและตำรับตำราแห่งศาสนานี้ จึงให้อาราธนาพระภิกษุ ๑ รูป ไปสอนทุก ๆ วัน
และเนื่องจากภิกษุแต่ละรูปที่ไปสอนก็สอนต่าง ๆ กันออกไป บางครั้งก็ถึงกับขัดกัน พระเจ้ากนิษกะ
ทรงลังเล ไม่รู้จะฟังว่าองค์ไหนถูกต้อง จึงปรึกษาข้อความนี้กับพระเถระผู้มีนามว่า
ปารศวะ ถามว่า คำสอนที่ถูกต้องนั้นคืออันใดกันแน่ พระเถระแนะนำให้แล้ว พระเจ้ากนิษกะจึง
ตกลงพระทัยจัดให้มีการสังคายนา ซึ่งมีภิกษุสงฆ์นิกายต่าง ๆ ได้รับอาราธนาให้มาเข้าประชุม
พระเจ้ากนิษกะโปรดให้สร้างวัด เป็นที่พักพระสงฆ์ได้ ๕๐๐ รูป ผู้จะพึงเขียนคำอธิบาย

พระไตรปิฎก คำอธิบายหรืออรรถกถาสุตตันตปิฎก มี ๑๐๐,๐๐๐ โศลก อรรถกกาวินัยปิฎก
๑๐๐,๐๐๐ โศลก และอรรถกถาอภิธรรมอันมีนามว่า อภิธรรมวิภาษา ก็ได้แต่งขึ้นในสังคายนา
ครั้งนี้ด้วย เมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ก็ได้จารึกลงในแผ่นทองแดง เก็บไว้ในหีบศิลา แล้วบรรจุไว้
ในเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะเพื่อการนี้อีกต่อหนึ่ง มีข้อน่าสังเกต คือกำหนดกาลของสังคายนา
ครั้งนี้ที่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายธิเบตกล่าวว่า กระทำในยุคหลังกว่าที่หลวงจีนเฮี่ยนจังกล่าวไว้  เเต่
เรื่อง พ.ศ. ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ในพระพุทธศาสนาก็มีข้อโต้แย้งผิดเพี้ยนกันอยู่มิใช่แห่งเดียว จึง
เป็นข้อที่ควรจะได้พิจารณาสอบสวนในทางที่ควรต่อไป

                การสังคายนาครั้งนี้ เป็นของนิกายสัพพัตติกวาท ซึ่งแยกสาขาออกไปจากเถรวาท แต่ก็มี
พระของฝ่ายมหายานร่วมอยู่ด้วย จึงเท่ากับเป็นสังคายนาผสม


สังคายนานอกประวัติศาสตร์

              ยังมีสังคายนาอีกครั้งหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์และไม่ได้การรับรองทาง
วิชาการจากผู้ศึกษาค้นคว้าทางพระพุทธศาสนา อาจถือได้ว่าเป็นความเชื่อถือปรัมปราของ
พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานในจีนและญี่ปุ่น คือสังคายนาของพระโพธิสัตว์มัญชุศรี กับ
พระโพธิสัตว์ ไมเตรยะ (พระศรีอารย์) ทั้งนี้ ปรากฏตามหลักฐาน ในหนังสือประวัติศาสตร์ย่อแห่ง
พระพุทธศาสนา ๑๒ นิกายของญี่ปุ่น6   หน้า ๕๑ ซึ่งไม่ได้บอกกาลเวลา สถานที่ และรายละเอียด
ไว้ ที่นำมากล่าวไว้ในที่นี้ พอเป็นเครื่องประดับความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎกใน
ที่มาต่าง ๆ เท่าที่จะค้นหามาได้

             เป็นอันว่าได้กล่าวถึงการสังคายนาทั้งของฝ่ายเถรวาท และของมหายานไว้พอเป็น
แนวทางให้ทราบความเป็นมาแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนาและโดยเฉพาะคัมภีร์
พระไตรปิฎก ทั้งได้พยายามรวบรัดกล่าว เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นต้องแต่งประวัติศาสตร์
ความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนาขนาดใหญ่ไว้ในที่นี้



เชิงอรรถอ้างอิง
1หลักฐานบางเเห่งว่า พ.ศ. ๔๕๐

2ลักษณะการสืบทอดคำสอนของพระไตรปิฎก แบ่งเป็น ๔ ยุค คือ ๑.ยุคมุขปาฐะ ๒ ยุคใบลาน ๓. ยุคฉบับพิมพ์ 
๔.ยุคดิจิตอล

3 ลังกานับเป็น พ.ศ. ๒๔๐๙

4The Life of the Buddha and the Early History of His Order translated by W.W. Rockhill from Tibetan Works in the
BKAH-HGYUR and BSTANHGYUR.

5ผู้ต้องการหลักฐานละเอียดโปรดดู หนังสือ Early Monastic Buddhish เล่ม ๒ หน้า ๓๑ ถึง ๔๖

6A Short History of Twelve Japanese Buddhist Sects by Bunyiu Nantio.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015866216023763 Mins