ความยาวนานของการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์

วันที่ 12 พค. พ.ศ.2563

ความยาวนานของการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์

                 ภายหลังจากที่พรหมได้กลายมาเป็นมนุษย์แล้วดำรงชีวิตอยู่บนโลกจนหมดอายุขัย
จากนั้นก็เวียนมาเกิดอีก คือ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายกันมานานนับภพนับชาติไม่ถ้วน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงอุปมาให้เห็นชัดว่า มนุษย์เวียนว่ายตายเกิดมามากมายเท่าไหร่ และใช้เวลายาวนานขนาดไหน ดังพระสูตรต่าง ๆ ที่ได้นำมาแสดงไว้ดังนี้

 

อัสสุสูตร ว่าด้วยนํ้าตา


                พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ...


                "ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความ
ข้อนั้นว่าอย่างไร นํ้าตาที่หลั่งไหลของเธอทั้งหลายผู้วนเวียนท่องเที่ยวไปคร่ำครวญร้องไห้อยู่
เพราะประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจโดยกาลนานนี้ กับนํ้าในมหาสมุทรทั้ง ๔ อย่างไหนจะมากกว่ากัน"


                "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว น้ำตาที่
หลั่งไหลของข้าพระองค์ทั้งหลายผู้วนเวียนท่องเที่ยวไป คร่ำครวญร้องไห้อยู่เพราะประสบกับสิ่ง
ที่ไม่พอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้นี้แหละมากกว่า ส่วนนํ้าในมหาสมุทร
ทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย"


                "ถูกละ ถูกละ เธอทั้งหลายรู้ธรรมตามที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกต้องแล้ว นํ้าตาที่หลั่งไหล
ของเธอทั้งหลายผู้วนเวียนท่องเที่ยวไป คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ
เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ โดยกาลนานนี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย


                 เธอทั้งหลายได้ประสบความตายของมารดามาช้านาน นํ้าตาที่หลั่งไหลของเธอทั้งหลายผู้
ประสบความตายของมารดา คร่ำครวญร้องไห้อยู่ เพราะประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เพราะพลัด
พรากจากสิ่งที่พอใจนี้แหละมากกว่า ส่วนนํ้าในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย


                 เธอทั้งหลายได้ประสบความตายของบิดา ... ของพี่ชาย น้องชาย ... ของพี่สาว น้องสาว ...
ของบุตร ... ของธิดา ... ความเสื่อมของญาติ ... ความเสื่อมแห่งโภคะ ...ความเสื่อมเพราะโรคมา
ช้านาน นํ้าตาที่หลั่งไหลของเธอทั้งหลายผู้ประสบความเสื่อมเพราะโรค คร่ำครวญร้องไห้อยู่
เพราะประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่พอใจนี้แหละมากกว่า ส่วนนํ้าในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย

 

                 ข้อนั้นเพราะเหตุไร


                 เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ฯลฯ
 

                ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อหลุดพ้นจาก
สังขารทั้งปวง"


อัสสุสูตร จบ

-------------------------------------------


ขีรสูตร2   ว่าด้วยน้ำนม


                   พระผู้มีพระภาคประทับอยู่... เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ...


                 "ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ เธอทั้งหลายจะเข้าใจความ
ข้อนั้นว่าอย่างไร น้ำนมของมารดาที่เธอทั้งหลายผู้วนเวียนท่องเที่ยวไปโดยกาลนานนี้ดื่มแล้ว  กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ อย่างไหนจะมากกว่ากัน"


                  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว น้ำนม
ของมารดาที่ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้วนเวียนท่องเที่ยวไปโดยกาลนานนี้  ดื่มแล้วนี้แหละมากกว่า
ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย"


                  "ถูกละ ถูกละ เธอทั้งหลายรู้ธรรมตามที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ ถูกต้องแล้ว น้ำนมของ
มารดาที่เธอทั้งหลายผู้วนเวียนท่องเที่ยวไปโดยกาลนานนี้ดื่มแล้ว นี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย


                   ข้อนั้นเพราะเหตุไร


                   เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้น" ...


ขีรสูตร จบ

--------------------------------

 

ปุคคลสูตร3  ว่าด้วยบุคคล


               สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาค

ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า


               "ภิกษุทั้งหลาย สงสารมีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ โครงกระดูก ร่างกระดูก
กองกระดูกของบุคคลคนหนึ่งผู้วนเวียนท่องเที่ยวไปตลอด ๑ กัป ถ้านำกระดูกนั้นนำมากอง
รวมกันได้และกระดูกที่กองรวมกันไว้ไม่สูญหายไป พึงใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้


                 ข้อนั้นเพราะเหตุไร


                 เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้น"...


                 พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ ต่อไปว่า


"เราผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ได้กล่าวไว้ว่า กระดูกของบุคคลคนหนึ่งที่สะสมไว้ ๑ กัป
พึงกองสุมเท่าภูเขา ก็ภูเขาที่เรากล่าวถึงนั้น คือ ภูเขาหลวงชื่อเวปุลละ อยู่ทิศเหนือของภูเขาศิชฌภูฏ
ซึ่งตั้งล้อมรอบกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เมื่อใดบุคคลเห็นอริยสัจ คือ ทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์
ความดับทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันยังสัตว์ให้ถึงความดับทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ เมื่อนั้น
เขาท่องเที่ยวไป ๗ ชาติเป็นอย่างมาก ก็จะทำที่สุดทุกข์ได้เพราะสังโยชน์ทั้งปวงสิ้นไป
"


ปุคคลสูตร จบ

--------------------------------

 

ทุคคตสูตร ว่าด้วยผู้มีความทุกข์


                 สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่.. เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นพระผู้มีพระภาค ..


                "ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลาย
ไม่ปรากฎแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไป เธอทั้งหลาย
เห็นบุคคลผู้มีความทุกข์มีมือและเท้าไม่สมประกอบ พึงสันนิษฐานบุคคลนี้ว่า

 

                'แม้เราทั้งหลายก็เคยเสวยความทุกข์เช่นนี้มาแล้ว โดยกาลนาน'


                 ข้อนั้นเพราะเหตุไร
 

                 เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้น" ...


ทุคคตสูตร จบ

----------------------------------------

 


สุขิตสูตร5  ว่าด้วยผู้มีความสุข


               พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค ...


              "ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ... เธอทั้งหลายเห็นบุคคลผู้
เพียบพร้อมด้วยความสุข มีบริวารคอยรับใช้ พึงสันนิษฐานบุคคลนี้ว่า

 

              'แม้เราทั้งหลายก็เคยเสวย ความสุขเช่นนี้มาแล้ว โดยกาลนาน'


              ข้อนั้นเพราะเหตุไร


               เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้น" ...


สุขิตสูตร จบ

--------------------------

 

ติงสมัตตสูตร6  ว่าด้วยภิกษุ ๓๐ รูป


                 พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน ... เขตกรุงราชคฤห์


               ครั้งนั้น ภิกษุชาวเมืองปาวาประมาณ ๓๐ รูป ทั้งหมดล้วนเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้เที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ทรงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร (แต่) ยังมี
สังโยชน์7 เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร


               ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า 'ภิกษุชาวเมืองปาวาประมาณ ๓๐ รูปนี้ ทั้งหมดล้วน
เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ทรง
ผ้าไตรจีวรเป็นวัตร (แต่) ยังมีสังโยชน์ ทางที่ดี เราพึงแสดงธรรมให้ภิกษุเหล่านี้มีจิตหลุดพ้นจาก
อาสวะเพราะไม่ถึอมั่น ขณะที่นั่งบนอาสนะนี้แหละ' ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียก
ภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วพระผู้มีพระภาค
จึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า


                "สงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลายไม่ปรากฏแก่
เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไป เธอทั้งหลายจะเข้าใจความ
ข้อนั้นว่าอย่างไร โลหิตที่หลั่งไหลของเธอทั้งหลายผู้ถูกตัดศีรษะวนเวียนท่องเที่ยวไปโดยกาล
นานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ อย่างไหนจะมากกว่ากัน "


                "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว โลหิตที่
หลั่งไหลของข้าพระองค์ทั้งหลายผู้ถูกตัดศีรษะวนเวียนท่องเที่ยวไปโดยกาลนานนี้  นี้แหละ
มากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย"

 

                 "ถูกละ ถูกละ เธอทั้งหลายธรรมตามที่เราแสดงอย่างนี้ ถูกต้องแล้ว โลหิตที่หลั่งไหล
ของเธอทั้งหลายผู้ถูกตัดศีรษะวนเวียนท่องเที่ยวไปโดยกาลนานนี้ นี้แหละมากกว่า ส่วนนํ้าใน
มหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย เมื่อเธอทั้งหลายเกิดเป็นโค ซึ่งถูกตัดศีรษะมาช้านาน โลหิตที่
หลั่งไหลนี้แหละมากกว่า ส่วนนํ้าในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย เมื่อเธอทั้งหลายเกิดเป็น
กระบือ ซึ่งถูกตัดศีรษะมาช้านาน โลหิตที่หลั่งไหลนี้แหละมากกว่า ฯลฯ เมื่อเธอทั้งหลายเกิดเป็น
แกะ ฯลฯ เกิดเป็นแพะ ฯลฯ เกิดเป็นเนื้อ ฯลฯ เกิดเป็นสุกร ฯลฯ เกิดเป็นไก่ ฯลฯ


                ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายถูกจับตัดศีรษะด้วยข้อหาว่าเป็นโจรฆ่าชาวบ้านมาช้านาน
โลหิตที่หลั่งไหลนี้แหละมากกว่า ฯลฯ ถูกจับตัดศีรษะด้วยข้อหาว่าเป็นโจรปล้นในทางเปลี่ยว
ฯลฯ ถูกจับตัดศีรษะด้วยข้อหาว่าเป็นโจรประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่นมาช้านาน โลหิตที่หลั่งไหลนี้แหละมากกว่า ส่วนนํ้าในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย


                 ข้อนั้นเพราะเหตุไร


                 เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ฯลฯ ควรเพื่อหลุดพ้น"...


                 พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของ
พระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเวยยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุชาวเมืองปาวา ประมาณ (๓๐ รูป ก็หลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น


ติงสมัตตสูตร จบ

---------------------------------------------

 


มาตุสูตร8 ว่าด้วยผู้เคยเป็นมารดา


                  "ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลาย
ไม่ปรากฎแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไป สัตว์ผู้ไม่เคยเป็น "มารดา"' โดยกาลนานนี้ มิใช่หาได้ง่าย

 

                 ข้อนั้นเพราะเหตุไร


                เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นและเบื้องปลายรู้ไม่ได้ ที่สุดเบื้องต้น ที่สุดเบื้องปลายไม่
ปรากฎแก่เหล่าสัตว์ผู้ถูกอวิชชากีดขวาง ถูกตัณหาผูกไว้ วนเวียนท่องเที่ยวไป เธอทั้งหลายได้
เสวยความทุกข์ เสวยความลำบาก ได้รับความพินาศ เต็มป่าช้าเป็นเวลายาวนาน


                ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละจึงควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรเพื่อหลุดพ้นจาก
สังขารทั้งปวง"


มาตุสูตร9 จบ

-----------------------------------------


                จากพระสูตรต่าง ๆ ทำ ให้ทราบว่า แม้แต่ตัวเราเองก็เคยเกิดมานับครั้งไม่ถ้วน เคยเป็นมา
ทุกอย่างแล้วในวัฎฎสงสารนี้ ไม่ว่าจะเป็นสุคติภูมิ หรือทุคติภูมิ ดังนั้น สัตว์ทั้งหลายล้วนเคยเป็น
ญาติกันมาทั้งสิ้น เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เปรียบเหมือนเชลยซึ่งติดอยู่ในคุกขนาด
ใหญ่ด้วยกัน แม้จะมีชีวิตที่เลิศสักเพียงใดในบางชาติ แต่ก็ยังถือว่าเป็นผู้ที่หลงติดอยู่ในภพอยู่ดี
และหากประมาท ตกเป็นทาสของกิเลส ก็อาจประพฤติผิดพลาดไปเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จน
เวียนไปเกิดอยู่ในภพภูมิที่ต่ำกว่า มีชีวิตที่เลวร้ายลงไปอีกก็ได้.

 

เชิงอรรถอ้างอิง

1พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มจร. เล่ม ๑๖ หน้า ๒๑๗

2พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มจร. เล่ม ๑๖ หน้า ๒๑๘

3พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มจร. เล่ม ๑๖ หน้า ๒๒๓

4พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มจร. เล่ม ๑๖ หน้า ๒๒๕

5พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มจร. เล่ม ๑๖ หน้า ๒๒๕

6พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มจร. เล่ม ๑๖ หน้า ๒๒๖


7สังโยชน์ หมายถึงกิเลสอันผูกใจสัตว์หรือธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์มี ๑๐ ประการ คือ (๑) สักกายทิฎฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน)   (๒)วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)   (๓)สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต)   (๔)กามราคะ (ความกำหนัดในกาม)   (๕)พยาบาท (ความคิดร้าย)    (๖)รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน)(๗)อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน)    (๘) มานะ (ความถือตัว)    (๙) อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) (๑๐) อวิชชา (ความไม่รู้จริง)

 

8พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มจร. เล่ม ๑๖ หน้า ๒๒๗

 

9ในพระสูตรอื่น ๆ มีเนื้อความเหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนคำว่า "มารดา" เป็น "บิดา" (ปิตุสูตร)  , "พี่ชายน้องชาย (ภาตุสูตร)  , "พี่สาวน้องสาว (ภคินิสูตร)"  ,  "บุตร (ปุตตสูตร)"  , ธิดา (ธีตุสูตร)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015949845314026 Mins