ขาดเสียซึ่งสังฆคารวตา...ยากที่จะไปได้ตลอดรอดฝั่ง

วันที่ 13 มีค. พ.ศ.2563

ขาดเสียซึ่งสังฆคารวตา...ยากที่จะไปได้ตลอดรอดฝั่ง

 

                  หากเรายังจำได้ถึงสาเหตุ ๕ ประการ ที่นำมาซึ่งความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนา ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นได้แก่

 

                   ๑) ภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนพระไตรปิฎกที่ทรงจำนำสืบกันมาอย่างดี จึงมีความเข้าใจเนื้อเรื่องและสาระสำคัญของพระสูตรที่เรียนแล้วได้อย่างถูกต้องตรงประเด็น

 

                  ๒) ภิกษุทั้งหลายเป็นผู้ว่าง่าย มีความอดทน น้อมรับคำพร่ำสอนของพระเถระผู้เป็นครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพ กรณีนี้ย่อมส่งเสริมให้พระสัทธรรมตั้งมั่นไม่ลบเลือนไม่เสื่อมสูญ

 

                 ๓) ภิกษุทั้งหลายที่เรียนเก่งเป็นพหูสูต ทรงธรรม ทรงวินัย และทรงมาติกา ตั้งใจทำหน้าที่กัลยาณมิตรบอกธรรมแก่ผู้อื่นโดยเคารพเมื่อพระภิกษุเหล่านี้ล่วงลับไปแล้ว พระธรรมจะตั้งมั่นอยู่ด้วยหลัก
ฐานมั่นคง

 

                 ๔) ภิกษุทั้งหลายผู้เถระไม่มักมาก มีความประพฤติเคร่งครัดไม่ย่อหย่อน ปรารภความเพียร เพื่อกระทำให้แจ้งในธรรมที่ยังไม่แจ้งเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ

 

                ๕) สงฆ์มีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอันดี ไม่ทะเลาะวิวาทกัน ไม่แข่งขันชิงดีกัน แต่ชื่นชมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ข้อปฏิบัติเช่นนี้ของสงฆ์ย่อมทำให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสเกิดความ
เลื่อมใส ส่วนคนที่เลื่อมใสอยู่แล้วก็จะยิ่งเลื่อมใสมากขึ้น

 

               เราจะพบว่า ข้อปฏิบัติทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นขั้นตอนต่อไปที่ผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาพึงมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในข้อที่ ๒ คือ เป็นผู้ว่าง่าย มีความอดทน น้อมรับคำพร่ำสอนของพระเถระผู้เป็นครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพ เพราะแม้จะพบครูดี ฟังคำท่านตรองคำท่าน และลงมือปฏิบัติตามท่าน แต่หากเป็นผู้ว่ายาก ขาดความอดทน ขาดความเคารพในครูบาอาจารย์ ก็ยากเหลือเกินที่จะเดินไปสู่หนทางนิพพานได้ตลอดรอดฝั่ง ด้วยเหตุนี้ ธรรมอันเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมของพระภิกษุ นอกจากความเคารพในพระพุทธเจ้า
(พุทฺธคารวตา) และความเคารพในพระธรรม (ธมฺมคารวตา) แล้วยังมีความเคารพในพระสงฆ์ (สงฺฆคารวตา) ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไปเสียไม่ได้        

 

                นอกจากนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ประทานธรรมาทาส หรือแว่นธรรม เพื่อให้พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ได้ใช้เป็นบรรทัดฐานในการพยากรณ์โสดาปัตติผล หมดสิ้นเหตุในการ
บังเกิดในทุคติภูมิ ดังที่ปรากฏใน มหาปรินิพพานสูตร ดังนี้

 

                “พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า...พระธรรม...พระสงฆ์...ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท ท่านผู้รู้สรรเสริญ ไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ อานนท์ นี้แล คือหลักธรรมที่ชื่อว่าแว่นธรรม
เป็นเครื่องมือให้อริยสาวกมีไว้ เมื่อประสงค์ก็จะพึงพยากรณ์ตนได้ด้วยตนเองว่า เราหมดสิ้นเหตุที่ให้ไปเกิดในนรก...กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน...แดนเปรต...อบาย ทุคติ และวินิบาตแล้ว เราเป็นพระโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”    

       

                แม้ในที่นี้พระพุทธองค์จะตรัสถึงหัวข้อธรรมที่เรียก ธรรมาทาส หรือ แว่นธรรม ในการพยากรณ์โสดาปัตติผลก็ตาม แต่ในอีกนัยหนึ่ง ย่อมเป็นการแสดงอานิสงส์ของการเป็นผู้มีความเลื่อมใสหรือ
มีความเคารพในพระรัตนตรัย นั่นคือ เป็นเหตุทำให้ไปสู่สุคติภูมิไม่ไปสู่ทุคติภูมิ มีมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด

 

               ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ความเสื่อมและความเจริญของตัวพระภิกษุเอง หรือความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาส่วนรวม ล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความเคารพในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนั้นความเคารพในพระรัตนตรัยเป็นสิ่งที่เกื้อกูลและเป็นอุปการะอย่างยิ่งในการรักษาผู้ปฏิบัติให้ดำรงคงอยู่ในเส้นทางธรรมที่ถูกต้องดีงาม

 

               โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระสงฆ์ เพราะนอกจากท่านจะเป็นผู้ที่ฝึกฝนอบรมตนเองและรักษาพระธรรมวินัยแล้ว ท่านยังได้อบรมสั่ง สอนให้ผ้อื่นรู้เห็นตาม และคอยอบรมพร่ำสอนพระภิกษุผู้เป็นศิษยานุศิษย์ที่เข้ามาสู่พระศาสนานี้ในภายหลัง เพราะมีความเคารพในพระรัตนตรัย จึงทำให้พระสงฆ์สาวกมีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในการฝึกฝนอบรมตนเอง สมดังพระพุทธดำรัสที่พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระอานนท์ไว้ใน                  มหาสุญญตสูตร ที่ว่า

 

                 “อานนท์ เราจักไม่ประคับประคองเธอทั้งหลายเหมือนช่างหม้อประคับประคองภาชนะดินดิบที่ยังดิบอยู่ เราจักกล่าวข่มแล้วข่มอีก จักกล่าวยกย่องแล้วยกย่องอีก บุคคลใดมีแก่นสาร บุคคลนั้นจักดำรงอยู่”

 

              "แม้จะพบครูดี แต่หากเป็นผู้ว่ายาก ขาดความอดทนขาดความเคารพในครูบาอาจารย์ ก็ยากเหลือเกินที่จะเดินไปสู่หนทางที่ดีได้ตลอดรอดฝั่ง"

 

 

 

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๕๖/๒๕๗-๒๕๘ (แปล.มจร)
๒ องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๒/๔๗๘-๔๗๙, องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๓/๔๘๐, องฺ.สตฺตก. ๒๓/๓๕/๕๓-๕๕ (แปล.มจร)

๓ ที.ม. ๑๐/๑๕๙/๑๐๓-๑๐๔ (แปล.มจร)

๔ ม.อุ. ๑๔/๑๙๖/๒๓๓ (แปล.มจร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3 

โดยคุณครูไม่เล็ก

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014643085002899 Mins