วิธีปฏิบัติให้เข้าถึงประสบการณ์ภายใน   

วันที่ 06 เมย. พ.ศ.2563

                                  

 

วิธีปฏิบัติให้เข้าถึงประสบการณ์ภายใน   

 

                                                             

           หากชีวิตว่างเว้น

กายธรรม 

มีอยู่ก็มืดดำ

หม่นไหม้

เหมือนชีพถูกจองจำ

ด้วยโซ่

เกิดแก่ตายเปล่าไซร้

โอ่ โอ้ เสียดาย

                                             
                                                                                ตะวันธรรม                             

                   
                  ต่อจากนี้ไปให้ลูกทุกคนหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะ หลับตาเบา ๆ พอสบาย ๆ คล้ายกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตาอย่ากดลูกนัยน์ตานะให้หลับตาเหมือนเราปรือ ๆ ตานิดหน่อย หลับตาสักค่อนลูกในระดับที่เรารู้สึกว่าสบาย และก็ผ่อนคลายไปทั้งเนื้อทั้งตัวต้องปรับการหลับตานี้ให้ถูกต้อง  สำคัญมากแล้วก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายของเราทั้งเนื้อทั้งตัว ตั้งแต่กล้ามเนื้อบนใบหน้า ศีรษะ ลำคอ บ่า ไหล่ แขนทั้งสองถึงปลายนิ้วมือ ให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ขาทั้งสองถึงปลายนิ้วเท้า ขยับเนื้อขยับตัวของเรา ปรับท่านั่งให้ถูกส่วน กะคะเนว่าเลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก จะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยกัน

 

                 แล้วก็ตรวจตราดูว่า เราผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัวจริงไหม หลับตาถูกต้องตามหลักวิชชาไหม ต้องเบา ๆ ต้องผ่อนคลาย และทำใจให้ใส ๆ เยือกเย็น ให้ใจเราบริสุทธิ์ไม่ผูกพันกับคน สัตว์ สิ่งของ ธุรกิจการงาน บ้านช่องสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่ผูกพันให้ปล่อยวาง ทิ้งทุกอย่างปล่อยวางทุกสิ่ง เพราะว่าสรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นแค่เครื่องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกันชั่วครั้งชั่วคราว และทุกสิ่งล้วน ไปสู่จุดสลาย ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ แม้กระทั่งโลกใบนี้ สักวันหนึ่งก็ต้องพินาศไปด้วยไฟบรรลัยกัลป์บ้าง นํ้าบรรลัยกัลป์บ้าง ลมบรรลัยกัลป์บ้าง เป็นต้น ก็ในเมื่อโลกนี้ยังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วไปสู่จุดสลาย


                กายมนุษย์หยาบของเรา เมื่อเกิดอยู่บนโลกใบนี้ทำไมจะไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ก็มีสภาพเช่นเดียวกันคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายตั้งแต่เราออกจากครรภ์มารดาเรื่อยมาเลยจนกระทั่งบัดนี้ ล้วนไปสู่จุดสลายทั้งสิ้น ทั้งที่ชัดเจนและไม่ชัดเจนเพราะฉะนั้นแม้ร่างกายเราก็เป็นแค่เครื่องอาศัยชั่วครั้งชั่วคราว เพียงเพื่อจะได้เป็นทางผ่านของใจให้กลับ ไปสู่ที่ตั่้งดั้งเดิม ในตำแหน่งเดียวกันกับผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งในธรรมทั้งปวง คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

                  ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ
ให้ลูกทุกคนรวมใจกลับเข้าไปสู่ภายในอย่างละมุนละไม เหมือนขนนกที่ลอยไปในอากาศ แล้วค่อย ๆ บรรจงตกลงมาสัมผัสบนผิวนํ้าอย่างอ่อนโยน โดยไม่ทำให้นํ้ากระเพื่อม ใจของเราก็ต้องค่อย ๆ วางเบา ๆ ให้นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ ให้ใจใส ๆ ใจเย็น ๆ อย่างนี้เรื่อยไป

 

 วิธีสังเกตว่าทำถูกหลักวิชชาไหม


                  ถ้าเราทำถูกวิธี ก็จะมีรางวัลเกิดขึ้นให้แก่ตัวเราคือ ร่างกายจะผ่อนคลาย รู้สึกสบาย ใจก็รู้สึกสบาย ๆ แม้จะยังไม่เห็นอะไร แต่เราก็รู้สึกพึงพอใจกับความรู้สึกเช่นนี้ จะรู้สึกโล่ง ๆ โปร่ง ๆ กลวง ๆ สบาย ๆ
นี่คือรางวัลเบื้องต้นสำหรับตัวเราที่ทำถูกหลักวิชชา*พอได้อารมณ์อย่างนี้ สภาวะธรรมอย่างนี้ ที่สายบายทั้ง ร่างกายและจิตใจ ตอนนี้ต้องทำใจเย็น ๆ ให้รักษาความนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ สบายกายสบายใจต่อไปอีก ความพึงพอใจอย่างนี้แหละคือรางวัลของชีวิตเรา ที่จะต่อไปยังรางวัลถัดไป คือกายก็ยิ่งสบายขึ้น ใจก็ยิ่งสบายเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้นในระดับที่ร่างกายของเราค่อย ๆ โล่งโปร่งเบาสบาย ขยาย หรือกลืนหายไปกับบรรยากาศ คล้าย ๆ กับเราไม่มีร่างกาย ไม่มีตัวตนเหมือนเป็นอากาศธาตุที่ละเอียดอ่อน และมีกระแสแห่งความสุขและความบริสุทธิ์อย่างอ่อน ๆ เข้ามาแทนที่ ซึ่งก็จะเพิ่มความสบายของกายและใจมากขึ้นไปเรื่อย ๆ


                 * วิชชา คือ ความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นแจ้งด้วยธรรมจักขุ จนสามารถกำจัดอวิชชาคือความไม่รู้ได้


                   ใจของเราก็จะเริ่มนิ่ง นุ่ม ไม่ซัดส่ายไปคิดในเรื่องต่างๆ ที่เราคุ้นเคย และเราชอบความรู้สึกอย่างนี้ที่นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ โดยปราศจากความคิดใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเราไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน คือสภาวะของใจ
ที่ปลอดความคิดอย่างนั้นมันให้ความบันเทิงใจ ความพึงพอใจ มากกว่าใจที่ใช้ความคิด ให้ใจเย็น ๆ ต่อไปอีก รักษาสภาวะใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆอย่างละเอียดอ่อนของเราอย่างนั้นต่อไปอีก ถ้าทำได้ก็จะมีรางวัลเกิดขึ้นเพิ่มมาอีก ความรู้สึกฟ่องเบาของเราจะเพิ่มขึ้น จนเข้าใจคำว่า “กายเบา” “ใจเบา” ละเอียดนุ่มนวลเพิ่มมากขึ้น จนถึงจุดที่ใจอยากจะนิ่งอย่างนั้นอย่างเดียวไปนาน ๆ จนไม่จำกัดกาลเวลา


                   การนิ่งที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็จะทำให้ใจเปลี่ยนสภาวะจากนิ่งหลวม ๆที่เดี๋ยวนิ่ง เดี๋ยวหลุด กลายเป็นนิ่งที่ค่อย ๆ แน่นขึ้น และก็นิ่งแน่นขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นนิ่งแน่นที่ไม่อึดอัด ไม่คับแคบ นิ่งแน่นที่กว้างขวาง
และใจก็นุ่มนวลเพิ่มขึ้น เราจะเข้าใจคำว่า “นุ่มนวล” มากกว่าที่เราเคยเข้าใจแค่เพียงที่เราได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านมา มันเป็นประสบการณ์ภายในของคำว่า “นิ่งแน่นและนุ่มนวล”เมื่อรักษาสภาวะใจนี้ต่อไป แสงสว่างส่องทางชีวิตใหม่ก็จะเกิดขึ้น เป็นชีวิตที่แตกต่างจากชีวิตเก่าที่เหมือนกับคนยังนอนหลับอยู่ หรือคนที่อยู่ในโลกมายา แต่เป็นแสงสว่างส่องทางชีวิตใหม่ เป็นชีวิตของท่านผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว

 

                 เป็นแสงสว่างภายในที่ให้ความพึงพอใจมากกว่าแสงสว่างภายนอกเป็นความอัศจรรย์ทีเดียวที่เราหลับตาแล้วไม่มืด เริ่มจากสว่างคล้ายฟ้าสางตอนตี ๕ ในฤดูร้อน และสว่างขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าเรายังคงรักษาใจของเรานิ่ง ๆ นุ่ม ๆ นาน ๆ อย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องอะไรเลย จากฟ้าสาง ๆ ก็จะสว่างเพิ่มขึ้น เหมือนรุ่งอรุณแห่งชีวิตใหม่ ที่แสงเงินแสงทองในยามอรุโณทัยของดวงอาทิตย์ส่องสว่างมาบนโลกใบนี้แต่นี่เป็นแสงสว่างแห่งธรรมภายใน เป็นดวงตะวันภายในที่ใสเย็นซึ่งมีอยู่แล้วภายใน แต่ถูกบดบังด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕ คือสิ่งที่เราไปหมกมุ่นอยู่ในเรื่องกามฉันทะ พยาบาท อะไรต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นต้นเราก็จะค่อย ๆ เห็นไปตามลำดับ แม้เห็นแล้วก็ตามก็ต้องรักษาใจให้นิ่งแน่นและนุ่มนวลอย่างเดิม เหมือนดูดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าในยามเช้า อย่าไปตื่นเต้น

               

                 เพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของผู้ที่มีใจหยุดนิ่งภายใน ดวงตะวันภายในหรือดวงธรรมภายในก็จะ
ปรากฏเกิดขึ้น เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ขยันและทำถูกหลักวิชชาเพราะฉะนั้นเบื้องต้นนี้นะ ให้ลูกทุกคนฝึกวางใจให้เป็นอย่างนี้ก่อน ให้ใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ เบา ๆ สบาย ๆ ให้ใจใส ๆ ใจเย็น ๆอย่างนี้ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ

 

อาทิตย์ที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

 

                    จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
                                             โดยคุณครูไม่ใหญ่

               

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.033510263760885 Mins