สติกับสบาย
สติ สบาย อีกทั้ง |
สมํ่าเสมอ |
คือทแกล้วสามเกลอ |
ทหารแก้ว |
หากทำอย่างนี้เจอ |
ธรรมแน่ |
จิตพร่างสว่างแพร้ว |
มั่นแล้วกลางกาย |
ตะวันธรรม
เมื่อเราได้กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากันนะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตาอย่ากดลูกนัยน์ตา ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย
ความสบายนี้เป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม สติกับสบายจะต้องไปคู่กัน ไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมด้วยวิธีการอย่างไร จะปฏิบัติแบบไหนก็ตาม หลักมีอยู่ว่าจะต้องให้สติกับสบายไปคู่กัน
สติ จะต้องระลึกนึกถึงสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำสั่งสอนถ้าของหลวงปู่วัดปากนํ้า ท่านให้กำหนดบริกรรมนิมิตเป็นดวงใสกับบริกรรมภาวนา สัมมา อะระหัง จะต้องไม่เผลอจากบริกรรมทั้งสองอย่างนี้เรียกว่า มีสติ แต่วิธีการกำหนดสตินั้นต้องทำอย่างสบาย ๆตรงนี้สำคัญ อย่าฟังผ่านกันนะ
สติกับสบายทั้งสองจะต้องไปคู่กันตลอดเส้นทางตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงที่หมายปลายทาง ถ้าไปด้วยกันเมื่อไรจะทำให้ใจเราหยุดนิ่งได้ง่าย และหลังจากใจหยุดแล้วก็จะเข้าถึงดวงธรรมภายใน หลักก็มีอยู่อย่างนี้ อย่านั่งแบบขุ่นมัวเร่าร้อนหรือนั่งแบบฮึดฮัดอย่างนี้ไม่ได้ผล จะต้องทำอารมณ์ให้สบาย
สำหรับท่านั่งที่กล่าวไปเบื้องต้นนั้น เป็นท่านั่งมาตรฐานของการปฏิบัติธรรม ซึ่งหลวงปู่ วัดปากนํ้า ภาษีเจริญ ท่านถอดแบบมาจากผู้รู้ภายใน คือ พระธรรมกายภายในนั่นเอง
พระธรรมกายภายในเป็นผู้รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอด ในธรรมทั้งหลาย ท่านมีปกตินั่งอย่างนี้ คือ นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้าย โดยเฉพาะนิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายตรงนี้สำคัญนะ แล้วถ้าเราดึงฝ่ามือทั้งสองให้ชิดติดลำตัวได้กายจะตั้งตรงทีเดียว นี่คือท่านั่งมาตรฐาน เป็นท่านั่งที่สมบูรณ์เป็นท่านั่งที่เราควรจะศึกษาเอาไว้ให้ดี
แต่ในแง่การปฏิบัติจริง ๆ ที่บ้านเราจะนั่งท่าไหนก็ได้ให้อยู่ในอิริยาบถที่สบาย จะนั่งพิงข้างฝา นั่งห้อยเท้า หรือนั่งพับเพียบก็ได้ให้มีความรู้สึกว่าร่างกายสบาย แล้วก็กำหนดสติกับสบายไปคู่กันแล้วก็สำรวจตรวจตราดูว่า มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเราเกร็งมั้ยสังเกตดู ตรวจตราดูให้ดี
วิธีปรับใจให้สบาย
เมื่อร่างกายอยู่ในท่าที่ถูกส่วนแล้ว ต่อจากนี้ก็ปรับใจของเราให้สบาย ๆ ใจจะสบายได้มีวิธีคิดในเรื่องสบายอยู่หลายวิธี พระพุทธเจ้าท่านแนะนำสั่งสอนมีอยู่ถึง ๑๐ วิธี เขาเรียกว่า อนุสติ 10* ตั้งแต่ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เป็นต้น คือถ้าใจคิดอย่างนั้นแล้วอารมณ์สบายปลอดโปร่ง นั่นเป็นวิธีการหนึ่ง
บางท่านอาจจะนึกถึงธรรมชาติทำให้อารมณ์รู้สึกสบาย ปลอดโปร่งมีอารมณ์อยากจะนั่งทำภาวนา อยากจะทำใจให้หยุดนิ่ง อย่างนี้ก็มี
แต่วิธีลัดที่สุดก็คือ ทำใจให้ว่าง ๆ นิ่งเฉย ๆ ทำตัวประหนึ่งว่า เราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีพันธะผูกพันกับเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาเล่าเรียนเรื่องครอบครัว เรื่องธุรกิจการงาน หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ทำเป็นเหมือนกับว่าเราอยู่คนเดียวในโลกจริง ๆ หรือสมมติตัวเราอยู่กลางอวกาศโล่ง ๆไม่มีสรรพสัตว์สรรพสิ่ง คน สัตว์ สิ่งของไม่มี อย่างนี้เป็นทางลัดที่จะทำให้ใจเราปลอดโปร่งสบาย
คำว่า “สบาย” ของหลวงพ่อในที่นี้
สบายเบื้องต้นก็คือ รู้สึกเฉย ๆ ภาษาธรรมะเขาเรียกว่า อทุกขมสุข(อะ-ทุก-ขะ-มะ-สุก) คือ จะเรียกว่าสุขก็ไม่เชิง ทุกข์ก็ไม่ใช่ ในเบื้องต้นมันอยู่ในสภาพที่เฉย ๆ แล้วเราก็ทำใจว่าง ๆ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้มองโลกนี้ให้ว่างเปล่า ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งของ ใจว่าง ๆนิ่ง ๆ นี่คือความหมายของคำว่า สบาย ของหลวงพ่อในเบื้องต้น
แล้วเราก็อาศัยจุดนี้แหละ จุดที่เรารักษาใจที่เป็นกลาง ๆว่าง ๆ โล่ง ๆ นิ่ง ๆ เฉย ๆ ถ้าเรารักษาอารมณ์นี้ให้สมํ่าเสมอ ด้วยใจที่เยือกเย็น ไม่เร่งร้อน เร่งรีบ ประคองอารมณ์นี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในตำแหน่งที่ใจเราตั้งมั่นแล้วรู้สึกว่า สบาย ปลอดโปร่ง มีความรู้สึกพึงพอใจกับอารมณ์ชนิดนี้ ความรู้สึกชนิดนี้ ไม่ช้าเราจะเข้าถึงจุดแห่งความสบายที่แท้จริง ซึ่งจะมีความรู้สึกที่แตกต่างจากคำว่าสบาย ในเบื้องต้นของหลวงพ่อ
เพราะฉะนั้นคำว่า “สบาย” คำเดียวกัน แต่ปริมาณแห่งความสบายนั้นมันจะไม่เท่ากัน ตั้งแต่สบายในระดับมีปริมาณน้อย จนกระทั่งมีปริมาณเพิ่มพูนขึ้น ดังนั้นตอนนี้เราแสวงหาอารมณ์สบายกันเสียก่อน
โดยการทำใจให้ว่าง ๆ นิ่ง ๆ โล่ง ๆ เฉย ๆ เหมือนอยู่กลางอวกาศ เมื่ออารมณ์เราสบายและมีสติ เดี๋ยวเราคอยดูนะ สิ่งที่เราเคยคิดว่ามันยาก มันจะกลายเป็นของง่ายสำหรับเรา
ธรรมะภายใน
ธรรมะเราเคยได้ยินได้ฟังว่าเป็นเรื่องลึกซึ้ง ยากต่อการเข้าถึง จะต้องใช้ความเพียรกันอย่างอุกฤษฏ์ ต้องไปอยู่ในสถานที่ที่แตกต่างจากบ้านเรือนของเราจึงจะเข้าถึง นั่นคือสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังกันมา แต่เดี๋ยวนี้เราจับหลักได้แล้ว เราจะได้ยินสิ่งที่แปลกออกไป นั่นคือธรรมะแม้เป็นของลึกซึ้งแต่ก็เข้าถึงได้อย่างง่าย ๆ ด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยการกำหนดสติกับสบาย
คำว่า “ธรรมะ” แปลได้หลายอย่าง ในตำราพระพุทธศาสนามีผู้รวบรวมความหมายได้กว่า ๕๐ ความหมาย แต่ส่วนใหญ่มักจะมาลงว่าธรรมะ คือ ความสะอาด ความบริสุทธิ์ ความถูกต้องดีงาม
บางแห่งกล่าวถึงลักษณะทีเดียวว่า ธรรมะนั้นมีลักษณะเป็นดวงกลม ๆ ใส ๆ บางท่านได้กล่าวถึงธรรมะก็คือธรรมกาย เป็นองค์พระใส ๆ ใสเหมือนเพชร ตั้งอยู่ภายในกายของเรา เมื่อใจเราสบาย ใจเราก็จะหยุดนิ่งได้อย่างง่ายๆ พอหยุดนิ่งแล้วเราก็จะเข้าถึงธรรมอย่างนี้
หลวงปู่วัดปากนํ้าท่านค้นพบไปเจอ “ดวงธรรมภายใน”ซึ่งตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ธรรมเบื้องต้นนั้นจะเป็นดวงใสบริสุทธิ์ กลมรอบตัว อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน
และท่านก็ค้นพบว่า เมื่อใจหยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ ที่กลางดวงธรรมนั้น ไม่ช้าก็จะเข้าถึง กายภายในต่าง ๆ ทีซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เข้าไป
กายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ในกายมนุษย์หยาบ กายทิพย์ซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์ละเอียด กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายทิพย์กายรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางกายรูปพรหม กายธรรมซ้อนในกลางกายอรูปพรหม ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อย่างนี้เข้าไปตามลำดับ
กายทั้งหมดเหล่านี้มีอยู่แล้วภายใน ซ้อนกันอยู่เป็นชั้น ๆ เข้าไปไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราสร้างหรือสมมติกันขึ้นมา เมื่อไรเราทำใจให้หยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ และต่อเนื่อง เราก็จะเห็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็น
ใครก็ตามในโลก จะเป็นชาติไหน ภาษาไหน แม้มีความเป็นอยู่แตกต่างกันแต่ภายในนั้นเหมือนกัน
ธรรมะทั้งหมดนี้มีอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราไปทำให้มันเกิดขึ้นมา เมื่อใจของเราหยุดไปถึงไหน มีความละเอียดเท่าเทียมกับสิ่งที่มีอยู่ในภายในนั้นแล้ว เราก็จะเห็นสิ่งนั้นปรากฏขึ้น
เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเรามีเพียงทำใจของเราให้หยุด ให้นิ่งให้เฉย ๆ อย่างสบาย ๆ ด้วยใจที่ใสเยือกเย็น ให้อารมณ์สมํ่าเสมอต่อเนื่องกันไป ไม่ช้าเราก็จะเข้าถึง
* อนุสติ ๑๐ คือ ๑. พุทธานุสสติ - ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ๒. ธัมมานุสสติ - ระลึกถึงคุณ
พระธรรม ๓. สังฆานุสสติ - ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ ๔. สีลานุสสติ - ระลึกถึงศีลที่ตนรักษา
๕. จาคานุสสติ - ระลึกถึงทานที่ตนบริจาค ๖. เทวตานุสสติ - ระลึกถึงคุณที่ทำให้คนเป็น
เทวดา ๗. มรณัสสติ - ระลึกถึงความตาย ๘. กายคตาสติ - ระลึกทั่วไปในกายให้เห็นว่า
ไม่งาม ๙. อานาปานสติ - กำหนดลมหายใจเข้าออก ๑๐ . อุปสมานุสสติ - ระลึกถึงธรรม
เป็นที่สงบระงับกิเลสและความทุกข์ คือ นิพพาน
อาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๖
จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
โดยคุณครูไม่ใหญ่