หยุดเป็นตัวสำเร็จ

วันที่ 17 สค. พ.ศ.2563

หยุดเป็นตัวสำเร็จ

 

630817_b.jpg

หยุดเป็นตัวสำเร็จ                            

กลางกาย

เป็น จุดสำคัญหมาย                          

สู่เป้า

ตัว สมมติถูกมลาย                            

สลายหมด

สำเร็จ พระพุทธเจ้า                          

เสด็จเข้านิพพานเขษม

ตะวันธรรม

 

         เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ ไปตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา

 

          แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลดให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ

 

           คราวนี้เราก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเราปราศจากอวัยวะ ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น สมมติเป็นที่โล่งๆ ว่างๆเป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้ายๆ ท่อแก้วท่อเพชรใสๆ

 

อานุภาพ “หยุดเป็นตัวสำเร็จ”

 

          คราวนี้เราก็มานึกถึงคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงปู่ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ที่ท่านสรุปคำสอนเอาไว้ว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ

 

         หยุดเป็นตัวสำเร็จ คือ ใจของเราปกติมันไม่หยุด มันวิ่งไปในอารมณ์ต่างๆ คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้สารพัดเรื่อง คน สัตว์สิ่งของ ตึกรามบ้านช่อง ครอบครัว เป็นต้น มันไม่หยุดไม่นิ่งเลย เราก็เอาใจที่แวบไปแวบมา มาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒นิ้วมือ

 

          ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ตรงนี้เป็นที่หยุดใจ อย่างถาวร ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งเป็นพระอรหันต์ หยุดอย่างเดียว ไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย ซึ่งน่าอัศจรรย์จริงๆ ไม่มีคำสอนไหนจะวิเศษเท่าคำว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” คือไม่ต้องอ่าน ไม่ต้องท่องจำ ไม่ต้องขีดเขียน ไม่ต้องไปค้นคิด เขียนก็ไม่เขียน อ่านก็ไม่ต้องอ่าน ฟังก็ไม่ต้องฟังอะไรมาก คิดก็ไม่ต้องคิด“หยุด” อย่างเดียว

 

         พอหยุดถูกส่วน ร่างกายเราจะโปร่ง โล่ง เบา สบาย ตัวจะ ขยาย แล้วก็หายไปเลย แสงแห่งความบริสุทธิ์ซึ่งเป็นแสงแก้วจะเกิดขึ้นเรืองรองเหมือนฟ้าสางๆ แล้วก็สว่างเพิ่มขึ้น เหมือนดวงอาทิตย์ ๗ โมงเช้า ๘ โมง ๙ โมง ๑๐ โมง ๑๑ โมงถึงเที่ยง ไม่มีบ่าย ไม่มีคล้อย สว่างเหมือนอาทิตย์เที่ยงวันหรือยิ่งกว่านี้ คือดวงอาทิตย์เที่ยงวัน ๒ ดวงบ้าง ๓ ดวงบ้าง หลายๆ ดวงบ้างเอาความสว่างทั้งหมดมารวมกัน แต่เป็นแสงที่เนียนตา ละมุนใจแสงแห่งความบริสุทธิ์ของใจที่ปราศจากนิวรณ์ ปราศจากความหมองของใจ

 

        แล้วจะเห็นความใสปรากฏเกิดขึ้นในกลางแสงสว่าง เป็นดวงใสๆ ใสเหมือนเพชรหรือยิ่งกว่านั้นใหม่ๆ อาจจะใสเหมือนน้ำ เหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า เหมือนแก้ว แล้วก็เหมือนเพชร หรือยิ่งกว่าเพชร จะใสๆ แล้วก็จะเห็นจุดสว่างเล็กๆ เท่ากับปลายเข็มอยู่ในกลางดวงใสๆ แล้วหยุดต่อไปเรื่อยๆ

 

        พอหยุดไปเรื่อยๆ ดวงก็สว่างขยาย ไม่ต้องไปทำอะไรเลย เดี๋ยวก็จะเห็นดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติดวงวิมุตติญาณทัสสนะ แล้วก็เห็นกายในกาย กายมนุษย์ละเอียด หน้าตาเหมือนตัวเรา ท่านหญิงเหมือนท่านหญิง ท่านชายเหมือนท่านชาย นั่งขัดสมาธิเจริญสมาธิภาวนา หันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวเรา แล้วไม่ต้องคิดอีก ไม่ต้องพิจารณา หยุดอย่างเดิมอย่างเดียว เดี๋ยวกายก็ขยาย เห็นดวงธรรมอีกชุดหนึ่ง

 

       แล้วก็จะเข้าถึงกายทิพย์หยาบ กายทิพย์ละเอียด
       กายรูปพรหมหยาบ กายรูปพรหมละเอียด
       กายอรูปพรหมหยาบ กายอรูปพรหมละเอียด
       กายธรรมโคตรภูหยาบ กายธรรมโคตรภูละเอียด

 

       เป็นกายองค์พระ ชัดใสแจ่มเลย หยุดอย่างเดียว รู้เรื่องเลย พอหยุดก็เห็น เห็นก็รู้ ทั้งรู้ทั้งเห็น กายนี้เรียกว่า พระธรรมกาย เป็นกายผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว จนกระทั่งเห็น

 

        กายธรรมพระโสดาบัน หน้าตัก ๕ วา สูง ๕ วา
        กายธรรมพระสกิทาคามี หน้าตัก ๑๐ วา สูง ๑๐ วา
        กายธรรมพระอนาคามี หน้าตัก ๑๕ วา สูง ๑๕ วา
        กายธรรมพระอรหัต หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา

 

        ใสบริสุทธิ์ เห็นไปตลอดเลย เห็นไปรู้ไปด้วยหยุดอย่างเดียวไม่หยุดไม่สว่าง ไม่สว่างก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่รู้ เรียงกันอย่างนี้

 

         แล้วก็เห็นกิเลสที่มันบังคับด้วย แล้วก็รู้ด้วยเรียกว่าอะไรบังคับกายมนุษย์ อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ลักษณะเป็นอย่างไรก็เห็น แล้วก็รู้ด้วยเป็นอย่างนี้ๆ ไม่ต้องไปพิจารณาอะไร ไม่ต้องคิดอะไรเลย คิดก็คิดไม่ออก เพราะมันอยู่เหนือความนึกคิด

 

         เพราะฉะนั้น หยุดอย่างเดียว เดี๋ยวก็รู้ อันนี้เรียกโลภะ อันนี้โทสะ อันนี้โมหะ อันนี้ราคะ โทสะ โมหะ อันนี้กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อันนี้สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เป็นต้น เรื่อยไปเลย จนกระทั่งอันนี้เรียก อวิชชา

 

         ไม่ได้คิดเลย ไม่ได้เขียน ไม่ได้อ่าน ไม่ต้องไปพิจารณาอะไร นิ่งอย่างเดียว เห็นไปเรื่อยๆ เห็นไป รู้ไป เขาถึงเรียกว่า“ตรัสรู้” จนกระทั่งหลุดไปเป็นชั้นๆ เลย หลุดไปเรื่อย เห็นขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ แต่ละอย่างมันมีอยู่อย่างนี้

 

          ขันธ์ ๕ มีอะไรบ้าง ก็เห็นไป เห็นแล้วก็เรียกอย่างนั้นอย่างนี้ มีคุณสมบัติอย่างนี้อย่างนั้น กระทั่งอริยสัจ ๔ ก็ไม่ได้พิจารณา อันนี้ก็เห็นว่าเป็นทุกข์เป็นอย่างนี้ สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ก็เป็นอย่างนี้ๆ นิโรธเป็นอย่างนี้ มรรคเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยเลย นี่แหละหยุดเป็นตัวสำเร็จตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่ง เป็นพระอรหันต์ ถอดกายออกเป็นชั้นๆ ได้ เพราะหยุดนี่แหละ

 

           จะไปนรก ไปสวรรค์ ก็หยุดอย่างเดียว หยุดนิ่งอยู่ในกลางกายธรรม เมื่อทำเป็นวสี มีความชำนาญแล้วจะโน้มน้าวไป ตรงไหนก็ได้ ไปถึงมันก็ไปเห็น เห็นมันก็รู้ ตรงนี้เรียกว่า ยมโลก มีกำแพงอย่างนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนั้น มองตามไปเรื่อยๆ เห็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ หยุดอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไรเลย

 

           ไปถึงสวรรค์ชั้นนี้เป็นอย่างนี้ หยุดเข้าไป ธรรมกายขยาย ธรรมกายละเอียดขยาย เราจะดูภพภูมิไหนก็เอาภพภูมินั้นตั้งภพภูมินั้นเป็นกสิณเดินสมาบัติในนั้นก็วืดลงไป ก็หยุดอย่างเดียว ก็ไปรู้ไปเห็น อ้อ นี่ชั้นจาตุมหาราชิกา มีมหาราชทั้ง ๔ ปกครองในทิศต่างๆ เราก็มองไป ชั้นดาวดึงส์มีท้าวสักกเทวราช จอมเทพปกครอง มีวิมานเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ปราสาทเวชยันต์ มีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ มีสวน มีสระ มีธรรมสภา ก็หยุดอย่างเดียวนั่นแหละ หยุดต้องให้สนิท

 

          เห็นไหมจ๊ะว่า อานุภาพอานิสงส์ของ “หยุด” มันยิ่งใหญ่มหาศาล พระเดชพระคุณหลวงปู่ของเรา ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกายจึงสรุปมาว่า “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” หยุดอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นตอนนี้มืดสว่างไม่ต้องไปคำนึงถึง หยุดให้เป็นเสียก่อนนะลูกนะ

 

ฝึกใจทุกวัน อย่างสบายๆ  

 

            ฝึกหยุดฝึกนิ่ง ฝึกทุกวัน นั่งนอนยืนเดินเราก็ฝึกไปอย่างสบายๆ ลำบากไม่มีทางเห็น ต้องสบาย นั่งแบบสบายๆ หน้ายิ้มๆให้มัน alert มีชีวิตชีวา ใจหยุดนิ่ง ใจใส ถ้าไปนั่งทอดถอนใจ อย่างนี้เห็นยาก ถ้านั่งแบบสบายๆ เดี๋ยวก็หยุดได้

 

            “ใจ” ชอบสบายนะ เราคงได้ยินคำว่า “อยู่เย็นเป็นสุข” ที่ตรงไหนเย็น ที่ตรงไหนสบาย ที่ตรงไหนเป็นสุข ใจชอบอยู่ ตรงนั้นแหละ อยู่เย็นเป็นสุข เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำให้สบาย ให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น หยุดอย่างเดียว เห็นไหมจ๊ะ มันเริ่มง่ายเข้า เราเริ่มหมดความกังวลว่าจะเห็นภาพหรือไม่เห็นภาพ ไม่คำนึงถึงแล้ว จะฝึกหยุดฝึกนิ่งอย่างเดียว มืดก็หยุด สว่างก็หยุด เห็นดวงก็หยุด เห็นกายก็หยุด เห็นองค์พระก็หยุด หยุดเข้าไปเรื่อยๆ ง่ายๆ ไม่ได้ยากจนกระทั่งมันเหลือวิสัย

 

         แต่ก็ไม่มีทางลัดอื่นใดอยู่ดี ต้องสั่งสมหยุดกับนิ่งนี่แหละ ให้มีชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลาง ให้เยอะๆ ไม่ว่าเราจะทำภารกิจอะไรก็ตาม ต้องฝึกหยุดฝึกนิ่ง ให้ใจใสๆ แช่มชื่น เบิกบาน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อะไร ก็ต้องชุ่มชื่นเบิกบานในทุกสถานการณ์ ใจใสๆ จึงจะเป็นตัวสำเร็จ จับหลักให้ได้จับแล้วก็ฝึกให้ได้ด้วย ให้สม่ำเสมอนะลูกนะ

 

ธรรมะเป็นเพื่อนตายของเรา

 

          รักธรรมะให้มากๆ เพราะธรรมะนี่แหละจะเป็นเพื่อนตาย สำหรับเรา อยู่เคียงข้างเราตลอดไป ไม่ว่าเราจะอยู่ตามลำพังใน ป่า เขา ห้วย หนอง คลองบึง ไม่มีเหงา ไม่มีเศร้าสร้อย ซึม เซ็งเครียด เบื่อกลุ้ม ไม่มีเลย มีแต่ความสบาย    ธรรมะเป็นเพื่อนตาย สำหรับเรา เป็นที่พึ่งที่ระลึก สิ่งอื่นไม่ใช่

 

         แล้วใครว่านั่งธรรมะไม่สนุก สู้ดูหนังดูละครไม่ได้ นั่งธรรมะสนุกกว่าดูหนังดูละครอีก พอเราหยุดใจได้เท่านั้น ได้ศึกษาวิชชา ธรรมกาย เราก็มาเรียนวิชชา ๓ เรียนปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ดูหนังดูละครเรื่องตัวของเราเอง ย้อนยุคไปเลย เหมือนรีไวนด์ เทปชีวิต ดูย้อนกลับไป ยิ่งกว่าดูหนังดูละครในจอทีวี แต่เราดูชีวิตของเราที่ผ่านมา ซึ่งมีประโยชน์มาก จะทำให้เราเข้าใจความจริงของชีวิต พอเข้าใจแล้วจะเบื่อหน่ายเรื่องที่ไม่เป็นสาระ พอเบื่อหน่ายก็คลายความยึดมั่นถือมั่น พอคลายก็หลุดพ้นจากสิ่งที่เคยติดยึด พอหลุดพ้น จิตก็บริสุทธิ์เป็นกุศลธรรม เกลี้ยงเกลาพอบริสุทธิ์ก็หยุดนิ่ง พอหยุดก็ดับ พอดับก็เกิดเป็นดวง เป็นกายเรียงกันมาเลย ซึ่งภาษาทางวิชาการเขาใช้คำนี้ว่า

 

            “นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน”

 

             นิพพิทา คือ เบื่อชีวิตที่ไร้สาระ ที่มันตรึงเอาไว้ติดกะโหลกกะลา ให้ไปเที่ยวสนุกสนาน เพลิดเพลิน ปล่อยวันเวลาให้เปล่าประโยชน์ บางครั้งก็หัวเราะ บางครั้งก็ร้องไห้ ร้องไห้เพราะว่าลงไปในอบาย หัวเราะเพราะว่าพ้นแล้ว เห็นแล้วมันเบื่อ

 

            วิราคะ คลายความผูกพัน ยึดมั่น ถือมั่น ในคน สัตว์ สิ่งของ ตัวเราของเรา เป็นต้น

            วิมุตติ หลุดพ้นเลย หลุดออกมาเลย ตอนหลุดใจจะขยาย

            วิสุทธิ จิตบริสุทธิ์เป็นกุศลธรรม เกลี้ยงเกลา ผ่องใส ใจเกลี้ยงๆ โล่งๆ สบ๊าย สบาย 

             สันติ คือ หยุด ใจหยุดเลย หยุดนิ่ง สงบ ไม่มีความนึกคิดใดๆ

 

            นิพพาน ดับวูบไปเลย วูบตกศูนย์ไป เกิดมาเป็นดวงใสๆ เห็นปฐมมรรคต้นทางที่จะไปนิพพาน เป็นดวงใสๆ เดี๋ยวก็เห็นกายในกาย กระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย แล้วก็ข้ามวัฏสงสาร ได้ด้วยพระธรรมกาย จับหลักให้ได้นะลูกนะ นิพพิทา วิราคะ วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน ๖ อย่างนี้ จำให้ดี

 

           คืนนี้ก็เช่นเคย ใครเหนื่อย ใครง่วง ใครเพลีย ใครตึงก็ปล่อยให้หลับในกลางอู่แห่งทะเลบุญ พอสดชื่นตื่นมาแล้วก็นั่งต่อ ทำต่อ ใครเมื่อยก็ขยับ ใครฟุ้งก็ลืมตา แล้วก็ว่ากันใหม่ทำอย่างนี้นะลูกนะ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ

 

หลวงพ่อธัมมชโย

วันจันทร์ที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4

          โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034711734453837 Mins