การปฏิบัติธรรมคือการแสวงหาความพอดี
อยากเห็นหยุดอยากไซร้ |
อย่ามี |
หยุดนิ่งสนิทให้ดี |
จึ่งได้ |
หากอยากสักล้านปี |
นั่งเมื่อย เทียวนา |
หยุดอย่างเดียวนิ่งไว้ |
ไม่ช้าธรรมใส |
ตะวันธรรม
เมื่อเราสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะ
ไม่ต้องควานหา ฐานที่ ๗
น้อมใจเรามาหยุดนิ่งๆ ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่ ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติว่า เราหยิบเส้นด้ายมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย อีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ซึ่งเราต้องทำความรู้จักเอาไว้ให้ดี เพราะว่าจะเป็นที่หยุดใจของเราอย่างถาวร ใจของเราจะต้องมาตั้งมั่นไว้ตรงนี้ แล้วเราจะได้พบกับความสุขที่แท้จริง เราจะเข้าถึงพระรัตนตรัยซึ่งมีอยู่ในตัวของเรา เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของเรา สิ่งอื่นไม่ใช่
ตำแหน่งศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ตรงนี้ ต้องทำความรู้จักเอาไว้ แต่ในแง่ของการปฏิบัติจริงๆ เราไม่ต้องไปมัวควานหาศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นะ เราแค่ทำความรู้สึกว่าใจของเรามาอยู่ในบริเวณกลางท้องอย่างนี้ไปก่อน
นึกว่าใจอยู่ในกลางท้อง พร้อมกับกำหนดบริกรรมนิมิต คือ นึกในใจเบาๆ อย่างสบายๆ ถึงดวงแก้วใสๆ หรือเพชรสักเม็ดหนึ่งที่ใสๆ กลมรอบตัว เหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ที่เจียระไนแล้ว หรือจะนึกเป็นพระแก้วใสๆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ขนาดเล็กใหญ่ก็แล้วแต่ใจเราชอบ เพื่อให้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา ใจของเราจะได้ไม่แวบไปคิดเรื่องอื่น พร้อมกับประคองใจด้วย บริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหัง โดยให้เสียงของคำภาวนา เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากในกลางท้องของเรา
ทุกครั้งที่ภาวนา สัมมาอะระหัง อย่าลืมตรึกนึกถึงดวงใส หยุดอยู่ในกลางดวงใส หรือตรึกนึกถึงพระแก้วใสๆ หยุดอยู่ ในกลางพระแก้วใสๆ ประคองใจของเราให้อยู่กับบริกรรมนิมิต ในกลางท้อง แถวๆ บริเวณฐานที่ ๗ ตรงนั้น ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แต่อย่าตั้งใจมากเกินไปนะ
ทำเล่นๆ เหมือนนั่งพักผ่อน
อย่าตั้งใจมาก โดยพยายามจะบังคับให้ใจมันหยุด มันนิ่ง มันสงบ หรือพยายามเค้นภาพให้มาปรากฏชัดเจนเหมือนเรา ลืมตาเห็นวัตถุภายนอก ถ้าทำอย่างนี้จะมีปฏิกิริยาที่ร่างกาย จะบอกเราว่า ตอนนี้เรากำลังปฏิบัติไม่ถูก เพราะเกิดอาการเกร็ง ตึง นั่งไม่มีความสุข มันเบื่อหน่าย ถ้าหากรู้สึกอย่างนี้แล้วแสดงว่าผิดวิธี อย่าฝืนทำโดยวิธีการผิดๆ อย่างนั้นนะ ต้องเริ่ม ผ่อนคลาย โดยลืมตาขึ้นมาสักนิดหนึ่ง เผยอเปลือกตาสักหน่อย แล้วค่อยๆ ปรับระบบประสาทกล้ามเนื้อใหม่ ให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย แล้วก็เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ
วัตถุประสงค์เราแค่ต้องการให้ใจหยุดนิ่งๆ อยู่ในฐานที่ตั้งดั้งเดิมของใจ เพราะ “หยุดเป็นตัวสำเร็จ” หรือทำให้เราประสบความสำเร็จในการเข้าถึงดวงธรรมภายใน ถึงกายในกาย และพระธรรมกายในตัว ถ้าผิดจากนี้ไปแล้ว ไม่ใช่ ใจต้องหยุดนิ่งอย่างเดียว จึงจะเข้าถึงได้ ต้องจับหลักตรงนี้ให้ได้นะ เรารู้หลักการแล้ว ก็เหลือแต่วิธีการ วิธีการเราก็ต้องฝึกฝนเอา
วิธีการที่ถูกต้อง
วิธีการที่ถูกต้องคือ ต้องพอดี ไม่ตึงและไม่หย่อนเกินไป
ตึงเกินไป เพราะตั้งใจมาก มันจะตึง เกร็ง ไม่สนุก นั่งแล้ว มันไม่อร่อย มันเบื่อ
หย่อนเกินไป คือ จะเคลิ้มบ้าง ง่วงบ้าง หลับบ้าง ฟุ้งบ้าง ไปเรื่อยเปื่อยเลย
ถ้าพอดี จะเกิดความพึงพอใจ กับการวางอารมณ์อย่างนี้ ปฏิกิริยาที่ร่างกายจะรู้สึกตัวเริ่มโล่ง ไม่ทึบ เริ่มโปร่ง เบา สบายตัวพองๆ ขยาย จนกระทั่งกลืนไปกับบรรยากาศ ตัวหายไปเลย มีความรู้สึกว่า เวลาหมดเร็ว เราไม่อยากออกจากอารมณ์นี้เลย อยากอยู่ตรงนี้ไปนานๆ แม้ยังไม่มีปรากฏการณ์ใดๆ เช่น ไม่มีภาพให้เห็น เราก็ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ อยากอยู่นิ่งๆ นานๆ แม้ไม่เห็นอะไรก็ตาม อย่างนี้ถูกหลักวิชชานะ
หยุดแรกได้ หยุดต่อไปก็ง่าย
เรามาปรับปรุงในเบื้องต้นให้ได้กันเสียก่อน จะทำเป็นหรือไม่เป็นอยู่ที่ตรงนี้ ถ้าหยุดแรกได้ หยุดสอง หยุดสามหยุดสี่ หยุดถัดๆ กันไป มันก็ง่าย
เราคุ้นเคยกับชีวิตประจำวันของโลกภายนอกว่า กว่าเราจะได้อะไรมา มันต้องต่อสู้ ต้องใช้กลยุทธ์ทุกวิถีทาง ต้องใช้ระบบการคิด นึก อะไรต่างๆ เหล่านั้น เรามีความคุ้นเคยอย่างนั้น แต่ถ้าระบบความรู้ภายในมันตรงกันข้ามกัน เราต้องจับหลักตรงนี้ให้ได้เสียก่อน
วิธีภายนอกก็เหมาะกับโลกภายนอก วิธีแสวงหาพระภายในก็ต้องใช้วิธีภายใน ซึ่งตรงข้ามกัน อย่าไปเอาวิธีการข้างนอกมาใช้กับการแสวงหาพระรัตนตรัย ทำอย่างนั้นนั่งเป็นล้านปีก็ไม่ได้ผล เพราะฉะนั้นต้องทำให้ถูกหลักวิชชา จับหลักตรงนี้ให้ได้เสียก่อน
ตอนนี้เราเข้าใจดีแล้วว่า ภายในตัวเรามีดวงธรรม มีกายในกาย มีพระรัตนตรัยในตัว เราเข้าใจแล้วว่า จะต้องเริ่มต้นที่ ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ต้องประกอบบริกรรมนิมิต กับบริกรรมภาวนาควบคู่กันไป หลักการตอนนี้เราเข้าใจแล้ว ก็เหลือแต่วิธีการ ก็ปรับเอา ฝึกเอา ค่อยๆ ปรับปรุงไป ใจเย็นๆ
เราไม่ได้นั่งแข่งกับใคร แม้กระทั่งกับตัวเราเอง เราก็ไม่ได้แข่ง แต่ว่าเรากำลังจะฝึกในปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้ว่า จะให้ใจหยุดใจนิ่งอย่างสบายๆ เท่านั้น
การฝึกใจให้หยุดนิ่งเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวหรือ การปฏิบัติธรรมก็คือการแสวงหาความพอดีนั่นเอง ถ้าเราวางใจได้พอดี เราก็จะมีประสบการณ์ภายใน ใจก็จะไปหยุดนิ่งที่ฐานที่ ๗ แล้วมันจะสปาร์คเป็นแสงสว่างเกิดขึ้นมาเลย
เมื่อเราเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวแล้ว เราจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความพอดี เราจะรู้จักคำว่า “กินอยู่แต่พอดี” เป็นอย่างไร มีชีวิตระดับไหนที่มันพอดี และทำให้เกิดความพึงพอใจ จนไม่อยากได้อะไรที่นอกเหนือจากนี้ แล้วอยากจะดำเนินชีวิตของเราให้เป็นประโยชน์ต่อโลก
เพราะฉะนั้น สำคัญที่หยุดแรกนะลูกนะ ประคองใจเอาไว้ให้ดี ค่อยๆ ทำ
สิ่งที่ใครเคยทำได้ สิ่งนั้นเราก็ต้องทำได้
เด็กๆ เขาฝึกใจหยุดนิ่งง่าย เพราะเขาไม่ได้คิดอะไร บอกให้วางใจ แล้วเขาทำใจอินโนเซ้นต์ ง่ายๆ แล้วก็ปรุงใจให้สบาย ให้หยุดนิ่งลงไปในกลางท้อง เดี๋ยวก็มีประสบการณ์มาให้ดูมีแสงสว่างเกิดขึ้นบ้าง มีดวงใสๆ เกิดขึ้นบ้าง เห็นตัวเองบ้างมีองค์พระใสๆ เกิดขึ้นบ้าง
เพราะฉะนั้น ให้สังเกตดูนะ ถ้าเรานั่งแล้วเกิดความพึงพอใจ มีอาการโล่ง โปร่ง เบา สบาย นั่นถูกต้องแล้ว จากนั้น ก็ทำอย่างนั้นเรื่อยไป ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น อย่างที่มันอยากจะเป็น คือปล่อยไปนิ่งอย่างเดียว มีแสงสว่างให้ดูเราก็ดู มีความมืดให้ดูเราก็นิ่งอย่างเดียว แสงสว่างมาก็นิ่ง มีภาพอะไร มาเราก็นิ่ง หยุดกับนิ่งอย่างเดียว ทำอย่างนี้ แค่นี้ เท่านั้น
และถ้าหากเราทำไม่ถูกวิธี เราจะต้องพร้อมเสมอสำหรับ การเริ่มต้นใหม่อย่างถูกต้องแบบนักเรียนอนุบาล ต้องพร้อมอย่างนี้นะ
อย่าท้อใจ อย่าน้อยใจ อย่าไปนั่งแข่งกับใคร แม้กับตัวเราเอง อย่าไปคาดหวังว่า วันนี้เราจะต้องนั่งให้ดีกว่าเมื่อวาน อย่าไปบังคับใจให้มันนิ่ง หรือเค้นภาพให้ทะลักมาในท้อง อะไรต่างๆ ตั้งแต่เบื้องต้นที่ได้กล่าวมาแล้ว
เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ไปให้ลูกทุกคนประคับประคองใจ ให้หยุดนิ่ง หยุดนิ่งคือความยิ่งใหญ่ที่ไม่มีสิ่งใดจะมาเสมอเหมือนได้ ต้องหยุดนิ่งให้ได้อย่างสบายๆ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจ ในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกๆ คน ต่างคน ต่างนั่งกันไปเงียบๆ นะ
หลวงพ่อธัมมชโย
วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘
จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4
โดยคุณครูไม่ใหญ่