นั่งอย่างมีชีวิตชีวา
ทำถูกแล้วนิ่งไว้ | กลางดวง |
เฉยต่อสิ่งทั้งปวง | อย่างนั้น |
ตรงกลางจักค่อยกลวง | ทะลุโล่ง |
พระผุดเป็นชุดชั้น | หลายชั้นเป็นตอนตอน |
ตะวันธรรม
เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ
คราวนี้เราก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเราปราศจาก อวัยวะ ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น สมมติเป็นที่โล่งๆ ว่าง ๆ เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้ายๆ ท่อแก้วท่อเพชรใสๆ
ต้องมีชีวิตชีวาทุกขั้นตอน
คราวนี้เราก็มาทบทวนหลักวิชชาในการที่จะปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงพระธรรมกายที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ ท่านได้อบรมสั่งสอนมา ซึ่งเราจะดูเบาไม่ได้เลยในทุกถ้อยคำที่ท่านได้แนะนำเอาไว้ ตั้งแต่ท่านั่ง การหลับตา วางมือ จนกระทั่งมาถึงใจ เราจะดูเบาไม่ได้ในทุกคำ อย่าฟุ้งจนลืมฟังนะ
ตั้งแต่เริ่มต้นเลย จะต้องนั่งอย่างมีชีวิต ชีวา ต้อง alert หน่อย มีชีวิตชีวา อย่านั่งแบบซังกะตาย
ให้สังเกตตัวของเราว่า ตั้งแต่ท่านั่ง วางมือ หลับตา วางใจ มีชีวิตชีวาทุกขั้นตอนไหม นั่งอย่างมีความสุข สนุกสนาน หรือเปล่า มีฉันทะรักที่จะนั่งไหม นั่งอย่างเพลิดเพลิน แม้ว่ายังไม่เห็นอะไร มีตรงนี้ไหม สังเกตนะลูกนะ
ถ้าหากมีชีวิตชีวา มันก็จะเริ่มสดชื่นตั้งแต่เบื้องต้น มีความพร้อมทั้งกายและใจ พอมีชีวิตชีวาแล้ว คราวนี้เราก็สังเกตดูว่า การกำหนดใจของเราตามหลักวิชชาหรือความถนัดซึ่งแต่ละคน ไม่เหมือนกัน เราทำอย่างมีความสุขไหม มีความสุขสนุกกับการวางใจไหม ตั้งแต่ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ซึ่งเราไม่ได้เห็นเลย มันอยู่ตรงไหน ได้แต่คาดคะเนเอาว่า ตรงนี้ใช่เลย ประมาณนี้เลย กลางท้อง กลางกายเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ก็ในเมื่อเราหลับตาแล้วมันมืด ไม่เห็นฐานที่ ๗ แต่ก็รู้ว่าอยู่ตรงนี้ ประมาณนี้ แล้วเริ่มอย่างมีชีวิตชีวาไหม มีความพึงพอใจที่จะกำหนดใจอยู่ตรงนี้ไหม ทั้งๆ ที่ยังมองไม่เห็น ยังมืดอยู่
จนกระทั่งถึงขั้นตอนนึกเป็นภาพ เป็นดวงใสๆ องค์พระใสๆ ภาพหลวงปู่ คุณยาย หรือสิ่งที่เราคุ้นเคย คือนึกแล้วใจเราสูงส่ง บริสุทธิ์เพิ่มขึ้น การนึกถึงภาพ นึกอย่างมีชีวิตชีวาไหม สบายหรือเปล่า นี่ก็คือข้อสังเกตอีกข้อหนึ่ง ที่ลูกทุกคนต้องสังเกตดู
สำหรับบางคนที่เริ่มจากข้างนอก ข้างหน้า หรือข้างในที่ฐานที่ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ ตรงนั้นไปก่อน มีชีวิตชีวาไหม นั่งด้วยใจรักหรือเปล่า ทั้งที่มันก็ไม่ได้เห็นอะไร
แล้วก็วางใจเป็นไหมในข้อถัดไป ตึงหรือหย่อน ให้สังเกตดู
หยาบให้ตรึก ละเอียดให้แตะ นี่ก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องสังเกตนะ ของใครของมัน
นั่งอย่างมีความสุข สนุกกับการนั่งไหม ถ้าเริ่มต้นมีความสุข สนุกกับการนั่ง มีฉันทะรักที่จะนั่ง รักที่จะปฏิบัติ รักที่จะเข้าถึง พอมีตรงนี้แล้ว อย่างอื่นก็ง่ายหมด
จะวางใจเฉยๆ โดยไม่ต้องนึกถึงภาพ ใจก็ยังสบาย จะนึกถึงภาพ แม้ไม่ชัดเจน ใจก็ยังคงสบาย
เวลาภาวนาสัมมาอะระหังไปใจก็ ยังคงสบาย ต้องสบาย สติสบายให้สม่ำเสมอจนกระทั่งหมดเวลานั่นแหละ ถึงจะเรียกว่าถูกหลักวิชชา
ถ้าหากเราทำถูกหลักวิชชา ทำถูกต้อง เราจะมีความรู้สึกว่า เวลามันหมดไปเร็ว นั่งประเดี๋ยวเดียว อ้าว หมดเวลาแล้ว ความมั่นใจ ถ้าไม่ถูกหลักวิชชาจะกระสับกระส่าย ทุรนทุราย ลืมตามาดูเวลาบ้างว่า เมื่อไรจะเลิกสักที อย่างนั้นแสดงว่าไม่ถูกหลักวิชชาแล้วล่ะ ต้องรีบไปล้างหน้าล้างตา แล้วก็กลับมานั่งใหม่ วางเบาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ ต้องทำอย่างนี้นะ
ถ้าถูกหลักวิชชา หลวงพ่อก็ยังยืนยันว่า แม้มืดตื้อมืดมิด ก็มีสิทธิ์เข้าถึงธรรม ลูกทุกคนจะต้องเข้าถึงธรรมอย่างแน่นอน เพราะดวงธรรมก็อยู่ภายในตัวของเรานี่แหละ กายภายในหรือองค์พระธรรมกายก็อยู่ในตัวเรา ไม่ได้อยู่นอกตัวเลย เหลือแต่เพียงว่าทำให้ถูกวิธี สม่ำเสมอ ด้วยใจรัก มีฉันทะ เพราะเห็นประโยชน์ แล้วก็ทำ ด้วยความชื่นบาน มีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะนั่งนอน ยืน เดิน ถ้าเป็นอย่างนี้ ถึงแน่นอน นี่คือข้อสังเกตใน
แต่ละวัน ในแต่ละครั้งที่ลงมือนั่งหลับตา ดูตรงนี้แหละ มีชีวิตชีวาไหม ต้องสังเกตนะ
ถ้าหากมีชีวิตชีวา เดี๋ยวเราจะเกิดความรู้สึกว่า เออ มันก็ไม่ได้ยากอะไรเลย การทำภาวนาให้ใจเป็นสมาธิอยู่ในวิสัยที่เราสู้ได้ ทำได้ ไม่ใช่เป็นวิสัยของหลวงปู่หลวงตาหรือพระธุดงค์เท่านั้น เราจะมีความรู้สึกว่า เออ คนอย่างเราที่ยังมีกิเลสหนา ปัญญาหยาบ ยังข้องอยู่กับโลก ยังครองเรือน ยังต้องทำมาหากิน เจอปัญหา เจอแรงกดดัน เรายังทำได้ ถ้าเกิดอย่างนี้แล้ว กำลังใจก็จะเริ่มมีมา จะเกิดความมั่นใจว่า เราจะต้องได้ต้องห็นสักวันหนึ่ง ความมั่นใจนั่นแหละจะสร้างความมั่นใจถัดไปเรื่อยๆ เหมือนคลื่นลูกแรกก็สร้างคลื่นลูกถัดๆ ไป ความมั่นใจจะเกิดขึ้น เมื่อทำถูกวิธี
ทีนี้สมมติว่า ในแต่ละครั้ง แต่ละวัน เรามีความสุข สนุกสนานกับการนั่ง หรือมีฉันทะ บางรอบบางครั้งได้ ๕ นาที บ้าง ๑๐ นาที บ้าง หรือมากกว่านี้บ้าง ก็ถือว่าดีมาก แล้วนะลูกนะคราวนี้เราก็จำวิธีการนั้น แล้วก็ทำบ่อยๆ ซ้ำๆ ให้ชำนาญ
รักที่จะเข้าถึงพระธรรมกายก็ต้องทำอย่างที่หลวงพ่อ ว่านะลูกนะ เราจะต้องเข้าถึงทุกคน แม้เหลือเพียงครึ่งตัว แต่ศูนย์กลางกายยังอยู่ก็ทำได้ คนตาบอดโดยกำเนิด หลวงพ่อยังเคยแนะนำให้เขาทำได้เลย ทุกคนทำได้ ยกเว้นคนบ้า คนปัญญาอ่อน นั่นเขามีวิบากกรรมติดตามมา ระบบประสาทระบบจิตใจมันสูญเสียไป นั่นเป็นข้อยกเว้น ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ไม่มาก แต่ลูกของหลวงพ่อทุกคน ล้วนแต่เป็นผู้ที่สมบูรณ์
ทั้งกายและใจ สั่งสมบุญเก่ามาก็เยอะ จนกระทั่งมาได้ยินได้ฟัง ได้ปฏิบัติ เหลืออย่างเดียวทำให้ถูกหลักวิชชา ถูกวิธี
ต้องได้ดวง ได้องค์พระ ชีวิตจึงจะปลอดภัย
สอนตัวเองทุกวันว่า ปรโลกเราไม่ไป ไม่ได้ แล้วก่อนไปปรโลก ต้องเข้าสู่สมรภูมิช่วงชิงภพ ปิดงบดุลชีวิต ถ้าหากว่าเราได้ฝึกฝนอบรมจิตของเรามาเป็นอาจิณกรรม อย่างสม่ำเสมอ ถ้าเข้าถึงดวงธรรมใสๆ กายภายในใสๆ พระธรรมกายใสๆ จึงจะปลอดภัย และ sure มากเลย ปลอดภัยมีชัยชนะ ถ้าแค่ทำทาน รักษาศีลก็อย่าเพิ่งประมาท ถ้าเรารักษาภาพบุญที่เราสร้างมหาทานบารมี และศีลที่รักษาเอาไว้ ถ้ารักษาได้ตลอด จนเป็นกรรมนิมิต อย่างนั้นก็เชื่อได้ว่าเราไปสู่สุคติ
แต่อย่าลืมว่า การชิงช่วงช่วงชิงมีอยู่ตลอดเวลา กำลังจิตที่จะเข้มแข็งสู้เขาได้นั้นต้องปฏิบัติธรรมได้ดวงใสๆ องค์พระใสๆ หรือกายภายในใสๆ อย่างนี้ sure ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเฉพาะทานศีลนั้น อาจจะสัก ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ sure ยังมี ๑ เปอร์เซ็นต์ ๒ เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ๑ เปอร์เซ็นต์ ๒ เปอร์เซ็นต์นั้นประมาทไม่ได้เลย เพราะวิบากกรรมวิบากมารที่ติดตามเรามา เป็นระเบิดเวลาทยอยกันมาให้ผลก็มี หรือสอดละเอียดแวบ เดียวมาตัดรอนก็มีนะลูกนะ เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ sure ล้านเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องนั่งธรรมะได้ดวงใสๆ กายภายในใสๆ องค์พระใสๆ
ลูกหลวงพ่อไปสู่สุคติหมด แล้วก็ไปได้ดีเสียด้วย ชั้นดุสิตเป็นที่หมายเลยละ แต่ขั้นทานขั้นศีลนั้น ยังไม่ sure ร้อยเปอร์เซ็นต์ sure แค่ ๙๗ , ๙๘ เปอร์เซ็นต์
ที่พูดอย่างนี้ ไม่ใช่ให้วิตกกังวล หวาดหวั่น หรือให้ท้อใจ ไม่ใช่อย่างนั้นนะ แต่พูดให้ไม่ประมาท ไม่ชะล่าใจในการดำเนินชีวิต เราต้องรู้ความจริงของชีวิตเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้แล้ว เราจะได้ต่อสู้ หาวิธีการทำอย่างไรเราจะอยู่เหนือกฎเกณฑ์ทั้งผองนั้น ที่มีการชิงช่วงช่วงชิงกันอยู่ตลอดเวลา เราจำเป็นต้องศึกษา ซึ่งการรู้ความจริงของชีวิตอย่างนี้ หลวงพ่อว่าดีนะ ได้ประโยชน์
ทีนี้สำหรับท่านที่มาถึง ณ จุดที่เราหยุดใจได้บ้างแล้ว เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวหาย เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราจะต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้ให้มากๆ ให้มีชั่วโมงหยุด ชั่วโมงนิ่ง ชั่วโมงกลาง ให้เยอะๆ ฝึกหยุดฝึกนิ่งไป แตะใจเบาๆ เดี๋ยวการเห็นนั้นก็จะ ขยายเวลาออกไปเพิ่มขึ้น จนเป็นการเห็นถาวรเลย ดวงใส กายภายในใส องค์พระใสๆ ติดอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะหกคะเมน ตีลังกาอย่างไรก็ยังอยู่กับเรา ต้องฝึกให้ถึงตรงนี้
เพราะฉะนั้น อย่ามีข้ออ้าง ข้อแม้ และเงื่อนไขในการปฏิบัติธรรม ถ้านึกได้เป็นตรึก มีเวลาเป็นนั่ง นั่งไป ฝึกไป แล้วอย่าท้อใจ อย่าน้อยใจ ในกรณีที่ไม่ได้ดังใจ ฝึกไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งเราก็จะต้องกำความสำเร็จเอาไว้
คืนนี้ก็เช่นเคย ใครเหนื่อย ใครเพลีย ใครง่วง ใครตึงก็ปล่อยให้หลับไปในกลางกาย ใครเมื่อยก็ขยับเบาๆ อย่าให้ไปสะเทือนคนข้างเคียงเขานะลูกนะ
ใครฟุ้งหยาบก็ลืมตาดูดวงแก้ว องค์พระบนโต๊ะหมู่ ดูหลวงปู่ดูคุณยาย พอใจสบาย ก็หลับตาเบาๆ เริ่มต้นใหม่ ส่วนใครฟุ้งละเอียด ไม่ต้องลืมตา เพราะเป็นความฟุ้งที่เรารู้ตัวและควบคุมได้เพียงแต่ว่าเราไม่ไปสนใจกับความคิดที่มาในใจ เดี๋ยวความคิดนั้นก็จะละลายหายสูญไปเอง
ขอให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัย ในตัวทุกๆ คนนะลูกนะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบๆ
หลวงพ่อธัมมชโย
วันอังคารที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4
โดยคุณครูไม่ใหญ่