Set Zero
จงสู้และอย่าท้อ | ลูกเอย |
ต้องถึงธรรมอย่างเสบย | แน่แท้ |
ให้ทำอย่างที่เคย | สอนสั่ง |
นั่งบ่มีข้อแม้ | จักได้ธรรมครอง |
ตะวันธรรม
หาจุดสบายให้เจอ
ผ่อนคลายทุกส่วนของร่างกายของเรานะ ทั้งเนื้อทั้งตัว ให้รู้สึกสบาย ต้องสบาย
แล้วก็ทิ้งทุกอย่าง ปล่อยวางทุกสิ่ง นิ่งอย่างเดียว อย่าให้ใจไปเกาะ ไปเกี่ยว ไปเหนี่ยว ไปรั้งเรื่องอะไรนะ ทำใจใสๆ ใจสบายๆ
จุดสบาย คือ จุดที่เรานั่งแล้ว เราไม่อยากเลิก อยากอยู่กับ อารมณ์นี้ไปนานๆ โดยไม่อิ่ม ไม่เบื่อ สบายตรงไหนเอาตรงนั้นไปก่อน เพราะเรารู้ว่า จุดสุดท้ายจะต้องมาอยู่ที่ศนูย์กลางกาย ฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นสบายตรงไหนเอาตรงนั้นไปก่อน
ถ้าเราหาจุดสบายเจอ จะทำให้มีอารมณ์อยากนั่งไปนานๆ อยากให้ใจเราอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่อยากคิดเรื่องอะไรเลย อยากอยู่กับตัวเอง เพราะฉะนั้นสบายตรงไหนก็เอาตรงนั้นก่อน อาจจะอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของเรา เช่น ข้างหน้าเราหรือภายในตัวของเราตามฐานต่างๆ ที่เราคุ้นเคย สบายตรงไหนเอาตรงนั้นไปก่อน นี่เป็นเรื่องที่สำคัญนะ เพื่อให้ใจของเราพร้อมที่จะนึกถึงดวงใสๆ หรือองค์พระใสๆ ที่กลางกาย
ถ้าเรายังไม่พร้อมแล้วไปนึก มันจะตึง จะเกร็งจะเบื่อ จะนั่งได้ไม่นานเท่าไร แต่ถ้าเรามีความพร้อมเพราะเราได้อารมณ์สบาย มันก็อยากจะนึกถึงดวงหรือองค์พระ หรือพระเดชพระคุณหลวงปู่อยู่ที่กลางกาย มีอารมณ์อยากจะนึก เพราะฉะนั้นอย่าฟังผ่าน อย่ามองข้ามไปนะ
ที่เราเสียเวลาไปนานๆ เพราะเราหาตรงนี้กันไม่เจอ ใจยังไม่พร้อมเลย จะน้อมไว้ตรงกลางเลย หรือนึกภาพเลย มันจะตึง จนกระทั่งเร่งจนคุ้นลุ้นจนเคยนั่นแหละ ดูความพร้อมของเราก่อน ถ้าเราได้อารมณ์สบายจริงๆ แล้วความพร้อมก็จะเกิดขึ้น ถึงตอนนี้จะนึกน้อมอะไรก็ง่าย ฉันทะก็จะเกิดขึ้น สติสบายก็จะเกิดขึ้นอย่างง่ายๆ และอย่างสม่ำเสมอเอง
อารมณ์สบาย
อารมณ์สบาย คือ ทางสายกลางนั่นเอง ที่ไม่ใช่สายตึงหรือสายหย่อน
สายตึง คือ มีสติเพ่งเกินไป
สายหย่อน คือ สบายเกินไป จนผล็อยหลับ หรือฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น
ถ้าสบายจริงๆ ใจจะนิ่งๆ นุ่มๆ และอยู่กับเราได้นานๆ อีกทั้งเราพึงพอใจและชอบอารมณ์นี้ พอเราได้อารมณ์นี้ อะไร มันก็ง่ายหมดแล้ว
พอใจสบาย บุญเก่าก็จะได้ช่องส่งผลเข้ามาภายในตัวเราได้ แสงสว่างก็จะได้ช่องเข้ามาภายใน ความสุขก็จะได้ช่องเข้ามา ความบริสุทธิ์ก็จะได้ช่องเข้ามา ธรรมะก็ได้ช่องเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นดวงใสๆ กายภายใน หรือองค์พระจะได้ช่องเข้ามา ตอนที่เราสบาย เพราะฉะนั้นต้องหมั่นฝึกตรงนี้ให้คุ้นเคยและจนชิน จนเรายอมรับว่า นี่คืออารมณ์สบายที่เหมาะสำหรับเรา และหลังจากนั้นก็ฝึกซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ
หมั่นสังเกตว่า ทำอย่างไรเราถึงจะได้อารมณ์นี้ เราเผลอไปทำอย่างไร อารมณ์นี้ถึงหลุดจากใจของเรา สังเกตแล้วเราก็ปรับปรุงแก้ไข พร้อมจะเริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ Set Zero ใหม่อย่างง่ายๆ ณ จุดสบาย ไม่ว่าจะนอกตัว ในตัว หรือกลางตัว
อีกทั้งทุกวัน ทุกคืน จะต้องหมั่นถามตัวเองอยู่เสมอว่า ตอนนี้ใจเราอยู่ที่ไหน ไกลตัว ใกล้ตัว หรือกลางตัว เมื่อเราตอบได้ว่า ใจเราอยู่ตรงไหน แล้วก็ปรับให้เข้าสู่สภาวะอารมณ์สบายดังกล่าว
เดี๋ยวใจก็จะกลับเข้ามาสู่จุดที่ตั้งดั้งเดิมที่ถูกหลักวิชชา ที่จะทำให้ทุกสิ่งดังกล่าวได้ช่องเข้ามา ตั้งแต่ความสุข ความบริสุทธิ์ ความสว่าง ดวงใส กายใส องค์พระใส จะได้ช่องเข้ามาในตอนนี้ แล้วลูกจะมีปีติสุขหล่อเลี้ยงใจ อิ่มอกอิ่มใจเบิกบานใจ
จะอยู่เป็นสุขในองค์กร จะสร้างบารมีอย่างมีความสุข สนุกต่อการสร้างบารมี ไม่ว่าเราจะมีภารกิจที่เราได้รับมอบหมาย ภารกิจอะไรก็ตาม เราจะมีอารมณ์ดี มีดวงปัญญา มีวิธีการที่อยากจะทำสิ่งนั้นให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีความสุขในทุกๆ ภารกิจ ภารกิจกับจิตใจจะไปด้วยกันอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เหมือนเราหายใจเข้าออกโดยที่เราไม่ต้องนึกถึงได้อย่างง่ายๆ สบายๆ
วันเวลาได้กลืนกินความแข็งแรงร่างกายของลูกๆ ไปหมดทุกคน รวมทั้งของหลวงพ่อด้วย เพราะฉะนั้นวันเวลาที่เหลืออยู่นี้ จะต้องหาจุดสบายให้เจอ เพื่อนั่งเข้าไปสู่ธรรมะภายใน แล้วเราก็จะสามารถศึกษาวิชชาธรรมกายได้ทั้งองค์กรอย่างที่เราได้ ตั้งใจไว้ด้วยดี ตั้งแต่วันแรกที่เราทิ้งทุกอย่าง วางทุกสิ่ง วิ่งเข้าวัดมาสร้างบารมี ทุกๆ ภารกิจลูกก็จะทำอย่างมีความสุข และสนุกสนานบุญบันเทิง ประกอบไปด้วยสติปัญญา มีความสุขสดชื่นตลอด ปีติและภาคภูมิใจในทุกสิ่งที่เราได้ทำ
หลวงพ่อธัมมชโย
วันศุกร์ที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4
โดยคุณครูไม่ใหญ่