ทางเดินของใจ ๗ ฐาน
เรียนใดฤาจักสู้ |
วิชชา |
เรียนอื่นของมารา |
เขานั้น |
เรียนหยุดพุทธศาสนา |
พาหลุด |
พ้นจากมารบีบคั้น |
กลั่นแกล้งอนันต์กาล |
ตะวันธรรม
เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจเจริญสมาธิภาวนากัน คราวนี้เรามาทบทวนหลักวิชชาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากนํ้า ภาษีเจริญ ท่านได้อบรมสั่งสอนมาว่า ทางเดินของใจนั้นมีทั้งหมด ๗ ฐาน
ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก หญิงข้างซ้าย ชายข้างขวา
ฐานที่ ๒ อยู่ที่เพลาตา ตรงตำแหน่งที่นํ้าตาไหล ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา
ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊ก ศรีษะ ในระดับเดียวกีบ หัวตาของเรา
ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก
ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอ เหนือลูกกระเดือก
ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางท้อง ระดับเดียวกับสะดือของเราสมมติว่าเราหยิบเส้นด้ายขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง จากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท ตรงจุดตัดที่เล็กเท่ากับปลายเข็มนั่นคือ ฐานที่ ๖
ฐานที่ ๗ จะอยู่เหนือฐานที่ ๖ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน และนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นที่ตั้งใจของเราอย่างแท้จริง
จากฐานที่ ๑ ถึง ฐานที่ ๖ เป็นทางเดินของใจ แต่ฐานที่ตั้งของใจที่แท้จริง คือ ฐานที่ ๗ เราจะต้องเอาใจมาหยุดนิ่งที่ฐานที่ ๗ให้ได้ตลอดเวลาเลย
เราจะเห็นฐานที่ ๗ ได้ชัดเจนก็ต่อเมื่อใจหยุดสนิทถูกส่วนสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ตอนนี้เรายังเป็นผู้ฝึกใหม่ ใจยังไม่หยุดนิ่ง ก็ให้สมมติเอาว่าอยู่ในกลางท้อง ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ หรือจำง่าย ๆ ว่า อยู่ตรงกลางท้องของเราฐานที่ ๗ ต้องการแค่ให้รู้จักว่าอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เอาไว้สำหรับไป
ควานหาว่าอยู่ตรงไหน ไม่ต้องนะ สมมติว่าอยู่กลางท้องในตำแหน่งที่เรารู้สึกว่าสบาย แล้วเราพึงพอใจที่จะเอาใจเรามาวางไว้ตรงนี้
วิธีนึกบริกรรมนิมิต
คราวนี้ปฏิบัติตามหลักวิชชาที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากนํ้า ภาษีเจริญ ท่านให้นึกถึงดวงใสประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว
ไม่มีตำหนิ ไม่มีขีดข่วนคล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาเป็นบริกรรมนิมิต แล้วท่านก็สอนให้เอาใจมาหยุดนิ่ง ๆ ที่กลางดวงใส ๆ ตรงตำแหน่งที่เรามั่นใจว่าเป็นฐานที่ ๗ แล้วก็ประกอบบริกรรมภาวนาสัมมา อะระหัง ทุกครั้งที่ภาวนาจะต้องไม่ลืมนึกถึงดวงใส ๆ ประคองใจกันไปอย่างนี้ นี่คือหลักวิชชาที่ท่านสอนเอาไว้
ทีนี้บางท่านทำอย่างนี้แล้วมันตึง มันเกร็ง แล้วนึกไม่ออกจะนึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคยเป็นบริกรรมนิมิตก็ได้ ขายทุเรียนก็นึกทุเรียนขายเงาะ ขายมังคุด ขายลองกอง มะกรูด มะนาว มะพร้าว ส้มโอเราก็นึกถึงสิ่งนั้น ขายปาท่องโก๋ก็นึกปาท่องโก๋ก็ได้ ขายซาลาเปาก็นึกได้ ไส้หวาน ไส้เค็ม ไส้เค็มมันก็ย่น ๆ หน่อย
มีบางคนนึกถึงซาลาเปาเพราะขายซาลาเปา มองไปมองมากลายเป็นซาลาเปาแก้วใสแจ่มปรากฏอยู่ในกลางกายฐานที่ ๗ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ขายดิบขายดีทีเดียว ให้เรามองต่อไป เดี๋ยวซาลาเปาแก้วก็จะเป็นดวงปฐมมรรค นี่เราทำอย่างนี้ก็ได้นะ ถ้าขายเพชร ขายพลอย ขายไข่มุก เราก็นึกเอา คุ้นเคยอย่างไหนเราก็เอาอย่างนั้น นึกอย่างสบาย ๆ ดูไปเรื่อย ๆ จะประคองใจด้วย สัมมาอะระหัง ก็ได้ หรือจะไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร
ไม่ชอบนึกนิมิต ก็ไม่ต้องนึกการนึกนิมิตนี้เหมาะสำหรับผู้ที่นึกเป็น คือ นึกแล้วไม่ตึง ไม่เกร็ง นึกแล้วสบาย ก็ให้นึกนิมิตไป แต่ผู้ที่นึกแล้วไม่สบาย มันตึง อดที่จะไปลุ้น ไปเร่ง ไปเพ่ง ไปจ้องไม่ได้ ก็ให้เปลี่ยนวิธีการ เปลี่ยนมาเป็นแบบที่ไม่ต้องนึกถึงนิมิต คือ เอาใจของเรามาหยุดนิ่ง ๆ อยู่ในฐานที่ ๗ หรือกลางท้องตำแหน่งที่เรามั่นใจว่านี่คือฐานที่ ๗ เอาใจมาหยุดนิ่ง ๆ ตรงนี้ก็ได้
หยุดเบา ๆ อย่างสบาย ๆ อยู่กับความมืดไปก่อน เหมือนเรานั่งอยู่ในยามราตรี มืดมิดด้วยใจที่เป็นสุข ใจที่สบาย จะภาวนา สัมมาอะระหัง เป็นเพื่อนด้วยก็ได้ หรือจะอยู่เฉย ๆ อย่างนั้นก็ได้ หยุดอย่างสบาย นิ่ง ๆ วางเบา ๆ ค่อย ๆ คลี่คลายระบบประสาทและกล้ามเนื้อเดี๋ยวมันก็จะค่อย ๆ โล่ง โปร่งเบาสบายไปเรื่อย ๆ
ความมืดเป็นมิตร
ความมืดเป็นมิตร ไม่ได้เป็นศัตรูกับการเข้าถึงธรรม เป็นความมืดที่น่ารัก ถ้าเรารู้จักที่จะอยู่กับความมืด ความมืดก็จะเป็นเกลอเป็นสหายของเรา อย่ากังวลกับการเห็นภาพ หรือว่าต้องเห็นอะไรอย่างนั้น อยู่กับความมืดอย่างสบาย ๆ อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ
ยิ่งมืดก็ยิ่งดึก ยิ่งดึกก็ยิ่งใกล้สว่าง ไม่ช้าความสว่างก็จะมาเองอยู่กับความมืดด้วยใจที่สบาย ๆ เบิกบาน แล้วก็อย่าให้มีความคิดว่า เออ มืดอย่างนี้แล้วเมื่อไรดวงสว่างจะมาปรากฏ อย่านึกคิดอย่างนี้ อยู่กับความมืดด้วยใจที่นิ่งสงบ ให้เราคุ้นกับความมืดอย่างนั้นไปก่อน อย่าไปตีโพยตีพายว่า ไม่เห็นจะได้อะไรเลย ความ
สว่างไม่เห็นมา
ต้องนึกเหมือนเรานั่งเงียบ ๆ ในคืนที่มืดมิด สมมติว่ามันเป็นเวลาตี ๑ เราก็ต้องยอมรับว่านี่คือตี ๑ ถึงจะตีโพยตีพายอย่างไรดวงอาทิตย์ก็ไม่มาปรากฏให้เราเห็นหรอก แม้ตี ๒ ตี ๓ ตี ๔ ตี ๕ ก็เช่นเดียวกัน จนกว่าจะถึงเวลาอันเหมาะสมใกล้รุ่งแสงเงินแสงทองจึงจะมาปรากฏให้เราได้เห็น และแหล่งกำเนิดของแสงเงินแสงทองเป็นดวงสีแดง ๆ ยามอรุโณทัยจึงจะมาภายหลัง ถ้าเรานั่งนิ่ง ๆ โดยไม่กังวลอะไร เหมือนนั่งในยามรัตติกาลในคืนเดือนมืดอย่างนี้ ไม่ช้าลูกจะสมหวัง คือใจจะสงบ ไม่ทุรนทุราย มันจะหยุดนิ่ง จะสว่างไปเอง
แสงแห่งความบริสุทธิ์
เมื่อสว่างแล้วก็อย่าไปตื่นเต้น อย่าไปสงสัยด้วย บางทีพอสว่าง อ้าว สงสัยอีกแล้ว เอ๊ะ เราเปิดไฟไว้หรือเปล่า แสงมันแทงทะลุเปลือกตาเข้ามาในท้องหรือเปล่าไม่ต้องไปสงสัยว่าแสงมันมาจากทางไหน เราเปิดไฟหรือเปล่าไม่ต้องไปคิดเลย ให้ทำเฉย ๆ มีแสงสว่างมาก็ดีแล้ว อย่าสงสัย อย่าตื่นเต้น มันก็เป็นเหมือนกับแสงเงินแสงทองที่ปรากฏตอนรุ่งอรุณนั่นแหละ แต่นั่นมันแสงภายนอก นี่เป็นแสงภายใน เกิดขึ้นเมื่อ
ใจบริสุทธิ์ เป็นแสงแห่งความบริสุทธิ์ เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ใคร่ในธรรม ฝึกใจให้หยุดนิ่ง ๆ แล้วเดี๋ยวแสงเงินแสงทองภายในก็จะมาปรากฏเป็นเรื่องปกติธรรมดาถ้าเราคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา มันก็จะไม่ตื่นเต้นเหมือนเราเห็นดวงอาทิตย์ในยามเช้าของทุกเช้าอย่างนั้น และความไม่ตื่นเต้นตรงนี้จะทำให้ใจนิ่งลงไปอีก หยุดนิ่งไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็เห็นดวงใส ๆ
ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแสงภายใน แล้วเดี๋ยวก็เห็นกายในกาย เห็นองค์พระ เห็นไปตามลำดับอย่างนี้เมื่อเข้าใจดีแล้ว ต่อจากนี้ไปวางใจเบา ๆ หยุดนิ่ง ๆ ใจใส ๆเรื่อยไปเลย จนกว่าจะเข้าถึงธรรมะภายใน ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ
พฤหัสบดีที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕
จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 1
โดยคุณครูไม่ใหญ่