หวงห่วงแบบอริยะ
โลกที่เราอยู่นี้ |
ใช่ละคร |
แต่ที่แท้เป็นสมร- |
ภูมิสู้ |
ธรรมอธรรมต่อกร |
กันอยู่ |
มนุษย์ชาติบ่อาจรู้ |
เพราะเค้าปิดบัง |
ชีวิตในโลกหล้า |
ลวงตา |
เห็นทุกข์เป็นสุขพา |
โศกสิ้น |
ดังเหยื่อที่ล่อปลา |
ติดเบ็ด |
แสบเผ็ดเดือดร้อนดิ้น |
กว่าได้เห็นธรรม |
ตะวันธรรม
เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา
แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลดให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ
คราวนี้เราก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเราปราศจากอวัยวะ ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น สมมติเป็นที่โล่งๆว่างๆ เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้ายๆ ท่อแก้ว ท่อเพชรใสๆ
คลายความผูกพัน ของเราแต่ไม่ใช่ของเรา
คราวนี้เรามาฝึกตัดทุกๆ ห่วง ที่เป็นเครื่องกังวล ฝึกทุกวันจะไปใช้กันจริงๆ วันเดียว วันศึกชิงภพปิดงบดุลชีวิต เราต้องฝึกทุกวันนะ
สิ่งที่เราห่วงก็เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ ทรัพย์สินเงินทองเป็นต้น ก็จะวนๆ เวียนๆ กันอยู่อย่างนี้ เราลองมาพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ไปตามความเป็นจริงว่า
คนก็ดี สัตว์ สิ่งของ สมบัติ ทรัพย์สินเงินทอง ที่ดินตึกรามบ้านช่อง เพชรนิลจินดา สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมันเกิดขึ้นตั้งอยู่ แล้วก็เสื่อมสลายไป
บ้านของเราแต่ไม่ใช่บ้านของเรา เพราะถ้าบ้านของเรา เราปรารถนาอยากให้มันสวยงาม คงทน ไม่มีปลวก มด แมลงไม่มีฝุ่นละออง ไม่ให้ผุพัง มันก็ต้องได้ดังใจ แต่ว่ามันไม่เป็นอย่างนั้นเลย จะต้องคอยปัดกวาดเช็ดถู ซ่อมแซม แต่ถึงจะทำอย่างนี้มันก็ยังผุพัง บ้านเราแต่ไม่ใช่บ้านของเรา อย่างนี้เราควรจะห่วง ควรจะหวงไหม เสื้อผ้าก็เหมือนกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็เสื่อมสลาย
ลูกเราแต่จริงๆ ไม่ใช่ลูกของเรา เลี้ยงได้แค่กาย แต่ใจเป็นของเขา เลี้ยงให้โตได้ แต่จะให้ได้ดังใจเรามันยาก ขนาดอยู่ในครรภ์มารดา สมมติเราเป็นแม่ ตั้งครรภ์ ทะนุถนอมครรภ์จนกระทั่งให้เขาเกิดมา ให้ข้าว ให้น้ำ ให้นม ให้ขนมนมเนย อาบน้ำอาบท่าให้ ให้เสื้อผ้า สั่งสอนทุกอย่าง ส่งเสริมให้เล่าเรียน แต่บางทีก็ไม่ได้ดั่งใจเรา บางทีเขาก็ดื้อ เห็นไหมจ๊ะ ลูกเราแต่ไม่ใช่ลูกของเรา จะให้เป็นไปตามใจเราปรารถนา ยาก เพราะมันชีวิตของเขา เขาก็ต้องดูแลชีวิตของเขา มีความคิดคำพูดการกระทำของเขา เพราะฉะนั้นก็ต้องห่วงกันพอประมาณไม่ถึงกับยึดมั่น ถือมั่นว่าเป็นของเรา
ลูกในท้องยังดื้อกับเรา แล้วคนที่ไม่ได้เกิดในท้องเราที่เป็นพ่อของลูกจะยิ่งดื้อกว่านี้ สามีเราแต่ไม่ใช่สามีของเรานะคิดกันให้ดี อยู่ในบ้านก็เป็นของเรา ออกจากบ้านไม่รู้เป็นของใครที่พูดไม่ได้ให้ทะเลาะกัน แต่ให้ได้ศึกษาเอาไว้ว่า สามีเรา ภรรยาเรา
แต่เป็นสามีของเรา ภรรยาของเราหรือเปล่า ลูกอยู่ในท้องเลี้ยงมากับมือ ตั้งท้อง ดูแลอย่างดียังดื้อ แล้วที่เราได้เขามาตอนโต ตอนเขาอายุ ๒๐ กว่าบ้าง ๓๐ กว่า ๔๐ กว่า นั่นยิ่ง super ดื้อเลย ดื้อมาก ถ้าเราไปวิตกกังวล ไปห่วงมาก มันทุกข์ใจนะ
สมบัติ ทรัพย์สินเงินทอง ที่ดิน ทุกอย่างเป็นแค่เครื่องอาศัยชั่วคราว ผลัดกันชม เรามีบุญ มันก็เป็นของเรา เราก็ครอบครองได้ เราหมดบุญก็เป็นของคนอื่น จะมายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราหวงห่วงกันมากมาย
นี่คือสิ่งที่เราต้องพิจารณา คำพระท่านว่า เป็นอนิจจังเป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ทนอยู่ในสภาพเดิม บังคับบัญชาไม่ได้
เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรห่วง คือตัวของเราเอง คำว่า“ตัวของเรา” ไม่ใช่กายหยาบนะ เส้นผมเราก็ยังไม่ใช่ผมของเราเลย บอกไม่ให้หงอก มันก็ยังหงอก ไม่ให้ร่วงมันก็ร่วง ไม่ให้หยิกมันก็หยิก ไม่ให้เหยียดมันก็เหยียด สารพัดไปหมด เส้นผม ขนคิ้ว ขนตา ทุกอย่างในร่างกายก็ยังไม่ใช่ของเรา ตายก็เอาไปไม่ได้ตกไปเป็นสมบัติของหมู่หนอนของสัตว์ทั้งหลายตัวเล็กๆ นี่ความจริงเป็นอย่างนั้น ซึ่งเราจะต้องหมั่นพิจารณา ตัดให้ขาดจากใจว่า แม้แต่ร่างกายเราก็เป็นแค่เครื่องอาศัยชั่วคราว ไม่ช้าเราก็ต้องจากไป
เสื้อผ้า แว่นตา ปากกา รองเท้าก็ชั่วคราว ตึกรามบ้านช่องก็ชั่วคราว ที่ดินก็ชั่วคราว รถราชั่วคราว ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ชั่วคราวหมด ครอบครัวก็ชั่วคราว ถึงคราวก็แยกย้ายกันไปตามวิบากกรรม คนละทิศคนละทาง คิดอย่างนี้ได้แล้วใจจะสบาย พอใจสบายก็เข้าถึงพระธรรมกายได้ง่าย
นึกถึงบุญ แผ่เมตตา
ตอนนี้เราก็มานึกถึงบุญที่สั่งสมเอาไว้ตั้งเยอะแยะ มากมายก่ายกองนับภพนับชาติไม่ถ้วนจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ นึกถึงบุญที่เราจำได้ก่อน ที่ประทับใจ ปลื้มจนลืมไม่ลง นึกทีไรปีติเบิกบาน นึกถึงบุญนี้ก่อน เดี๋ยวมันจะไปดึงดูดบุญอื่นๆ ตามมารวมเป็นดวงบุญใสๆ กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ ใสประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีตำหนิเลย งามเหมือนเพชรต้องแสง มีประกายเจิดจ้า
เราก็เอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่กลางดวงบุญใสๆ อย่างสบายทำใจให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้ยิ้มออกมาจากภายใน แล้วก็แผ่เมตตา ให้ความรักความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นกายละเอียดทั้งหลาย แล้วก็ให้อภัยทาน ลืมในสิ่งที่เพื่อนมนุษย์พลาดพลั้งล่วงเกินเรา จะด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม ลืมให้หมดเลย แล้วก็ทำใจให้สบายๆเหมือนเราอยู่ตัวคนเดียวในโลก
หวงห่วงแบบอริยะ
สมบัติที่แท้จริงของเรามีเพียงดวงใสๆ เป็นดวงบุญของเรา มีใจซึ่งเป็นตัวเราหยุดนิ่งๆ สมมติว่าเป็นตัวเรานะ เป็นความรู้สึกของเรา อยู่กลางดวงบุญ หยุดนิ่งๆ ให้ใจใสๆ ให้เบิกบานแช่มชื่น จะภาวนา สัมมาอะระหัง ประกอบไปด้วยก็ได้ หรือจะไม่ภาวนาก็ไม่เป็นไร รักษาใจให้ใสๆ
เรามีสมบัติอยู่แค่นี้ ถ้าจะหวง ก็ให้หวง ดวงบุญใสๆ องค์พระใสๆ กายภายในใสๆถ้าห่วง ก็ต้องห่วงตัวเราเองไม่ให้ไปอบายภูมิให้ไปสุคติภูมิ ห่วงต้องห่วงตรงนี้
ถ้าจะหวง ต้องหวงให้เป็น ถ้าจะห่วง ก็ต้องห่วงให้เป็น ถ้าหวงห่วงอย่างนี้ เขาเรียกว่า หวงห่วงแบบอริยะ แบบผู้ประเสริฐ แบบบัณฑิตนักปราชญ์ มองเห็นการณ์ไกล ห่วงอย่างนี้ไม่มีพิษไม่มีภัย ไม่มีโทษ ปิดประตูอบาย เปิดประตูสวรรค์ เปิดหนทางพระนิพพาน จะทำให้เราเข้าถึง พระรัตนตรัยในตัว ถึงพุทธรัตนะธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ที่ใจหยุดยาก ก็จะหยุดง่าย มืดก็จะสว่างขุ่นก็จะใส ที่ตื้อตันก็จะเข้ากลางได้ มีความสุขสบาย
สิ่งที่ไม่ควรห่วง ก็อย่าไปห่วง สิ่งที่ไม่ควรหวง ก็อย่าไปหวงสิ่งที่ควรห่วง เราก็ต้องห่วง สิ่งที่ควรหวง ก็หวง ห่วงตัวเรา หวง ธรรมที่เกิดขึ้น หวงศูนย์กลางกายเอาไว้ คอยประคับประคองคอยชำเลือง คอยแอบดูเรื่อยๆ แอบดูดวงบุญ แล้วก็นั่งยิ้มๆให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ใจจะได้ใสๆ นี่แหละคือการเตรียมตัวที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง ที่สามารถประคองชีวิตให้ปลอดภัยมีชัยชนะไปสู่สุคติภพได้ จากโลกนี้ไปด้วยรอยยิ้มสุดท้ายอันสง่างาม
เพราะฉะนั้น เราปลดปล่อยวางคน สัตว์ สิ่งของ พิจารณาไปตามความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น ใจจะได้สบาย หมดห่วง หมดกังวล มีแต่ดวงใสๆ องค์พระใสๆ ฝึกไปเรื่อยๆ คืนนี้ก็เช่นเคย ใครเหนื่อย ใครง่วง ใครเพลีย ก็ปล่อยให้หลับไป ใครเมื่อยก็ขยับ คันก็เกา ฟุ้งก็ลืมตา แล้วก็ค่อยๆ เริ่มต้นว่ากันใหม่ ทำกันไปอย่างนี้นะ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึง พระรัตนตรัยในตัวคืนนี้นะ ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ
หลวงพ่อธัมมชโย
วันจันทร์ที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕
จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4
โดยคุณครูไม่ใหญ่