เริ่มต้นจากจุดสบายแล้วจะง่าย

วันที่ 01 กย. พ.ศ.2563

เริ่มต้นจากจุดสบายแล้วจะง่าย

 

630901_b.jpg

 

ต้องมองจึ่งเห็นไซร้          ในใจ 
หมั่นหยุดมองเรื่อยไป สิ่งนั้น
มองพระเห็นพระใส ผุดผ่าน
เชื่อพ่ออย่าดื้อรั้น อย่างนี้เห็นใส

ตะวันธรรม

 

              เมื่อเราบูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่ว มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานกันทุกๆ คนนะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบายๆ หลับตาของเราเบาๆ ค่อนลูก พอสบายๆ คล้ายๆกับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา

 

              แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์  ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลดให้ปล่อย ให้วาง ทำใจให้ว่างๆ

 

              คราวนี้เราก็มาสมมติว่า ภายในร่างกายของเราปราศจากอวัยวะ ปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้น สมมติเป็นที่โล่งๆ ว่างๆ เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้ายๆ ท่อแก้ว ท่อเพชรใสๆ

 

สบายตรงไหน วางใจตรงนั้นไปก่อน      

 

             เราทำการบ้านกันมาทุกวัน ปฏิบัติธรรมก็สม่ำเสมอ เราเริ่มเข้าใจเรื่องการวางใจแล้ว บางคนพอนึกรวมใจไปที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ ซึ่งอยู่กลางท้องของเรา ในตำแหน่งที่เหนือจากสะดือ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ก็ลงไปได้เลย อย่างสบายๆ โดยไม่เกร็ง ไม่กดลูกนัยน์ตา

 

             แต่บางท่านยังทำไม่ได้ ก็ให้เริ่มวางใจ ณ จุดที่เรามีความรู้สึกว่าสบายไปก่อน ซึ่งจะเป็นตรงไหนก็ได้ โดยไม่คำนึงถึง ฐานที่ ๗    แล้วพอเริ่มรู้สึกว่า มันสบาย เริ่มรู้สึกว่าง่าย ค่อยๆ ได้สัมผัสความสุขจากสมาธิ คือ เริ่มรู้สึกว่า ตัวที่ทึบๆ หนาๆ มันเริ่มโปร่ง เริ่มโล่ง เริ่มว่างๆ เริ่มเคว้งคว้าง เหมือนอยู่กลางอวกาศ บางท่านตัวหายไปเลย เหมือนไม่มีตัว มีแต่ความรู้สึกของใจ

 

           บางคนก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อเจอภาวะโล่งๆ ว่างๆ ตัวหายไป สิ่งที่ควรจะต้องทำคือ ใจสบายตรงไหน ก็เอาตรงนั้นไปก่อน และ   พอถูกส่วนสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เราค่อยนึกน้อมกลับเข้ามา หรือจะมีเครื่องหมายที่ใสๆ เล็กขนาดปลายเข็มก็มีขนาดดวงดาวในอากาศก็มี จะปรากฏเกิดขึ้นตรงที่ใจเราหยุดนิ่ง เราก็จับภาพนั้น คือ ดูไปเฉยๆ ดูเผินๆ อย่าถึงกับจ้องนะคือ จะว่าดูก็ไม่เชิง จะว่าไม่ดูก็ไม่ใช่ มันอยู่ระหว่างกลางๆ ถ้าหากเราดูเป็น คืออยู่ระหว่างกลางจริงๆ จุดใสๆ นั้นจะนิ่ง แต่ถ้าเราตั้งใจมากเกินไป มันจะหาย แต่ถ้าเผลอก็หายอีกเหมือนกัน จ้องไม่ได้ จ้องก็หาย เผลอก็หาย

 

 ทำตัวเหมือนหุ่นยนต์

 

           ตรงความพอดีตรงนี้แหละ เราต้องทำให้ได้ด้วยวิธีคือ นิ่งเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องตั้งคำถามในใจ ไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนตัวเราเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีมันสมอง คิดไม่เป็นหรือ ไม่มีความคิด ต้องทำอย่างนี้นะ

 

          คิดไม่เป็นนี่ ใช้ได้ตลอดเลย เพราะการศึกษาความรู้ภายในนั้น ไม่ต้องใช้ความคิดเลย เป็นความรู้ที่เกิดจากความไม่คิด คือจิตหยุดนิ่งๆ บริสุทธิ์ แล้วก็สว่าง สว่างแล้วก็เห็น เห็นแล้วก็รู้ ซึ่งแตกต่างจากที่เราเคยเรียนรู้มา ต้องฟัง ต้องอ่าน ต้องคิด ต้องขีดเขียน แต่นี่ไม่ใช่ มันเป็นความรู้ที่เกิดจากหยุดกับนิ่ง ไม่มีความคิดเลย ใจจะปลอดความคิด จิต จะหยุดนิ่งๆ

 

         ความรู้อย่างนี้เขาเรียกว่า “ภาวนามยปัญญา” ความรู้ที่เกิดจากหยุดกับนิ่ง แล้วก็สว่าง เห็นแล้วก็รู้ เราต้องเข้าใจ ขบวนการตรงนี้เสียก่อน ซึ่งมันกลับตาลปัตรกับความรู้ทางโลก ที่เราได้เคยเรียนรู้มา

 

         ถ้าทำอย่างนี้ได้ มันก็ง่าย เราก็จะศึกษาความรู้ภายในได้ แต่ถ้าไปใช้ระบบของความคิดแบบโลกๆ เราจะไม่มีวันเจอความรู้ภายในเลย ต้องจำคำนี้เอาไว้นะลูกนะ

 

         เพราะฉะนั้น ต้องหยุดกับนิ่งอย่างเดียว วางใจตรงไหนก่อนก็ได้ พอจิตนิ่งนุ่มนวลควรแก่การงานแล้วค่อยน้อมเข้ามาเพราะสภาวะใจตอนนั้นมันจะแจ่มใส มีชีวิตชีวา จะตื่นตัวภายในซึ่งแตกต่างจากที่เราเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน

 

         พอใจนิ่งนุ่มนวลควรแก่การงานแล้ว การน้อมเข้ามาตั้งที่ ฐานที่ ๗ มันง่าย นึกนิดเดียวแค่นั้นเอง นึกแผ่วๆ เหมือนเป็นสำนึกลึกๆ ของความนึกคิดเท่านั้น มันก็ลงมาที่ฐานที่ ๗ แล้วหลังจากนั้นใจของเราจะหยุดนิ่งๆ อยู่ที่กลางจุดใสๆ นิ่งเรื่อย ไปเลย นิ่งอย่างสบายๆ

 

“สบาย” ตลอดเส้นทาง        

 

         ต้องสบายนะลูกนะ อย่าทิ้งคำนี้ ถ้านิ่งอย่างลำบากๆ รู้สึกอึดอัด คับแคบ ไม่มีความสุข มันไม่สบายเลย ทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างนั้นไม่ใช่แล้ว อย่า ดันทุรังทำต่อ ให้ค่อยๆ ผ่อนมา คลี่คลายระบบประสาทกล้ามเนื้อ พอเรานึกคลาย จิตก็จะคลายตัว พอคลายก็สู่ภาวะโล่งๆ ว่างๆ ก็นิ่งใหม่ ต้องฝึกกันอย่างนี้แหละ ฝึกให้ได้

 

         แล้วเดี๋ยวเราเห็นดวงใสๆ มันจะสว่าง นั่งหลับตาแล้วไม่มืดเห็นดวงใสๆ เราก็ดูไปเรื่อยๆ นิ่งถูกส่วน มันจะขยาย แล้วก็จะถูกดึงดูดเข้าไปข้างใน ทั้งดึงทั้งดูดเลย เหมือนมีแม่เหล็กยักษ์ แม่เหล็กโลกดูดเข้าไป บางคนก็ตกใจ หวาดเสียว เพราะไม่รู้มันอะไร ไม่เคยเจอ ต้องตามใจนะลูกนะ อย่าไปฝืนใจ อย่าไปฝืนความรู้สึกอย่างนั้น ปล่อยไป ปล่อยคือทำเฉยๆ อย่างเดียว ไม่ใช่ดันนะ แล้วจะเป็นของมันไปเอง ต้องจำนะลูกนะ

 

ต้องมั่นใจ เราทำได้

 

          การศึกษาความรู้ภายในไม่ยาก ถ้าเรารู้จัก เข้าใจ แล้วก็วางใจเป็น รู้ขั้นตอนของประสบการณ์ภายใน เดี๋ยวเราจะทำได้ทำเป็นกันทุกคนนั่นแหละ     

 

         ก่อนอื่น ลูกจะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองว่า คนอย่างเราทำได้ ขอให้รู้วิธีการที่ถูกต้องเท่านั้น เดี๋ยวเราจะทำให้ถูกต้องแล้วเราก็ทำได้ ต้องมีความเชื่อมั่นตรงนี้ก่อน อย่าไปมัวลังเลสงสัยว่า เอ๊ะ คนอย่างเรากิเลสหนา ปัญญาหยาบ ผ่านชีวิตมาหมองเสียตั้งเยอะจะทำได้ไหมนะ เลิกคิดนะลูกนะ ความคิดชนิดนี้อย่าให้มี ถา้ เราไม่มั่นใจในตัวเราแล้ว เราจะไปทำอะไรได้หลับตาอ้าปากตักอาหารเรามั่นใจยังตักเข้าปากได้เลยนะหลับตาเอานิ้วจิ้มรูจมูกก็ยังจิ้มได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราต้องมั่นใจว่า เราต้องทำได้ เพราะเรารู้วิธีการแล้ว ซึ่งก็บอกไปหมดแล้ว ไม่ได้ปิดบังอะไรเลย เราก็ต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆ

 

ฝึกใจทุกที่ ทุกเวลา

 

            ต้องรักอย่างหลงใหล ฝึกไป นั่งฝึก ยืนฝึก เดินฝึก นอนฝึกมีเวลาว่างเป็นฝึก เพราะนี่คือวิชชาชีวิต วิชชาที่สำคัญที่สุดของชีวิต เราจะเรียนจบดอกเตอร์กี่แขนงก็แล้วแต่ มันก็เป็นไปเพื่อให้ได้ปัจจัย ๔ มา หรือให้ได้รับความยกย่องนับถือเป็นเครดิตทางสังคมเท่านั้น แต่เวลาใกล้ละโลกเอามาช่วยชีวิต ก่อนไปสู่ปรโลกไม่ได้

 

            สิ่งที่เรากำลังเรียนรู้เรื่องหยุดนิ่งนี่แหละ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็นวิชชาของชีวิตที่แท้จริง เพราะฉะนั้นต้องขยันฝึกฝน อยู่ในห้องนำ้ก็ฝึกได้ จะขับถ่ายก็ฝึกได้ ฝึกบนโถนั่นแหละ ไม่บาป จะล้างหน้า แปรงฟัน จะอาบน้ำ ก็ฝึกได้ ล้างจาน ปัด กวาดบ้าน ฝึกได้ นั่ง นอน ยืน เดิน ตรงไหนเราก็ฝึกได้ เพราะเรารู้หลักวิชชาอยู่แล้ว

 

หลักวิชชา 

 

          สติ สบาย สม่ำเสมอ หยุดเป็นตัวสำเร็จ วางใจเบาๆ สบายๆ จะนึกเป็นภาพก็ได้ หรือจะไม่นึกเป็นภาพ ภาพเป็นดวงก็ได้ องค์พระก็ได้ หลวงปู่ คุณยายก็ได้ ผลหมากรากไม้เพชรนิลจินดา ได้ทั้งนั้น ยกเว้นภาพที่นึกแล้วใจตกต่ำ ถ้านึกแล้วใจสูงส่ง บริสุทธิ์ นึกได้   

       

          เรารู้หลักวิชชาแล้ว วิธีนึกก็สอนหมดแล้ว ให้เบาๆ สบายๆ

 

          หนักเราก็รู้ เบาเราก็รู้ เวลานึกหนักๆ ร่างกายจะบอกเรามันจะอุทธรณ์ร้องโวยวายเลยว่า ไม่ถูกวิธี ปวดลูกนัยน์ตา ตึงหน้าผาก ปวดหัว ท้องเกร็ง นิ้วกระดก ไหล่ยก เบื่อ ชักท้อ อยากเลิกนั่ง เมื่อไรจะหมดเวลาสักที กายและใจเขาอุทธรณ์บอกเราเราก็อย่าไปดันทุรังทำ ต้องปรับยุทธวิธีใหม่

 

         ถ้าทำถูกต้อง ถูกวิธี รู้สึกนั่งแล้วสบ๊าย สบาย ใจขยาย ร่างกายขยาย โล่ง โปร่ง เบา ใจนุ่มนวลควรแก่การงาน รู้สึกเวลาหมดเร็วจังเลย ไม่อยากให้หลวงพ่อหรือพระอาจารย์ สัพเพฯ เลย อยากนั่งนานๆ ก้นเราเหมือนมีกาวชั้นดีตรึงเราติดไว้กับพื้น หรือบางทีเรานั่งงอๆ ตัว พอถูกส่วนเข้า ตัวมันยืด ตรงขึ้นมาเอง เรามีความรู้สึก เอ๊ะ วันนี้เรานั่งสง่าจังเลย ชอบจังเลย รู้สึกสบ๊าย สบาย รู้สึกหน้ามันยิ้ม อยากยิ้ม อยากแย้ม
เป็นไปเองเลย อย่างนี้ถูกวิธี เพราะฉะนั้นกายและใจจะบอกเราเองว่า ถูกวิธี พอถูกวิธีเราก็ทำต่อไป ถ้ายิ่งนั่งหน้าบึ้ง คิ้วขมวด แก่ลงไปทุกทีเลย ก่อนนั่งอายุ ๒๐ ปี พอเลิกนั่งอายุ ๓๐, ๔๐ ปีนั่นไม่ถูกวิธีแล้ว

 

          เราได้เรียนรู้ ได้เข้าใจแล้วว่า อย่างไหนผิดวิธี อย่างไหนถูกวิธี เราก็ต้องเชื่อมั่นว่า เราต้องทำได้ เหลืออย่างเดียวฝึกไปเรื่อยๆ แล้วก็หมั่นสังเกต เราจะได้พบเหตุแห่งการบกพร่อง และช่องทางแห่งความสำเร็จ

 

          ถูกส่วน ดวงก็ใส ใจก็ใส แตะเบาๆ ดวงก็ขยาย เดี๋ยวก็เข้าถึงดวงใหม่ มันจะเหมือนตกศูนย์ วูบ เอ้า ถึงอีกดวงแล้ว พอนิ่งต่อไป เข้าถึงอีกดวงแล้ว สุกใสขึ้น สว่างขึ้นไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็เข้าถึงกายในกาย ถึงองค์พระ ถูกตามส่วนที่พระเดชพระคุณ หลวงปู่ท่านได้ค้นพบมา มีอยู่ในตัวของตัวท่านและในมนุษย์ทุกคน รวมทั้งตัวเราด้วย

 

วันไหนนั่งดี ให้นั่งต่อ

 

          ฝึกไปเรื่อยๆ อย่าเกียจคร้าน อย่าผัดวันประกันพรุ่ง แล้ววันไหนนั่งดี อย่ารีบเลิกเสียก่อนนะลูกนะ โดยคิดว่า เออ วันนี้เรานั่งดีจัง นอนเสียก่อนเถอะ ไว้พรุ่งนี้นั่งใหม่ เราจะนั่งให้ดีกว่า  วันนี้ อย่าประพฤติ อย่าทำนะลูกนะ เพราะโอกาสที่จะนั่งถูกส่วนอย่างนี้ มันหายาก เราลงทุนนั่งมาก็เพื่อการนี้ เมื่อมาถึงตรงนี้อย่าไปห่วงเรื่องการนอน เราหลับมาตั้งหลายสิบปีแล้ว จะอดนอนสักคืนหนึ่งจะเป็นไรไป นั่งต่อไปเรื่อยๆ นะลูกนะ อย่าเลิก 

 

         พอถึงเวลาร่างกายจะบอกเราเองว่า อยากพัก ถ้าร่างกายบอกเราอยากพักผ่อน เราก็อย่าไปฝืนธรรมชาติ เราก็นอนไปพักเพราะร่างกายอยากพัก ไม่ใช่ร่างกายยังไม่พร้อมที่จะพัก แต่ใจกังวล กลัวจะหลับน้อย ตื่นมาหน้าจะไม่นวล ไม่ใส กลัวไปงัวเงียที่ทำงาน ทำให้ขาดความมั่นใจ อย่าไปเลยเถิดคิดฟุ้งซ่านขนาดนั้น เพราะโอกาสที่จะถูกส่วนมันยากกว่าการถูกรางวัลที่ ๑ นะลูกนะ เพราะฉะนั้น ถึงตรงนั้นแล้ว อย่าเพิ่งรีบเลิก นั่งไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวจะดีมาก ถ้าได้สักครั้งหนึ่งอย่างถูกส่วนและถูกต้อง มันจะติดไปตลอดชาติเลย

 

         แต่ถ้าเราไปเลิกเสียก่อนตอนกำลังจะดี นั่งกี่ทีกี่ทีมันก็ไม่ได้อย่างนั้น หรือกว่าจะได้อีกก็เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี นานทีเดียว เพราะใจเราอาลัยอาวรณ์กับประสบการณ์นั้น พอเริ่มนั่งก็อยากจะได้แบบนั้นเลย ลืมไปว่า วันนั้นทำอย่างไร ลืมนึกถึงวิธีการ แต่ไพล่ไปนึกถึงประสบการณ์ที่ได้ในวันนั้น ความคิดอย่างนี้ก็เลยมาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงธรรม

 

         ทั้งหมดที่แนะนำมา จำนะลูกนะ จะทำให้ลูกทุกคนได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง มีความสุขตั้งแต่เราเข้าถึงจนตลอดชีวิต ทำให้เราไปสู่สุคติภพ ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวของชีวิต ทำให้เราเวลาทำบุญแล้ว ทำน้อยก็ได้มากทำมากก็มากเป็นทับทวี เพราะทำด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ผ่องใสถูกหลักวิชชา มีสิ่งที่ดีๆ อีกเยอะ นับไม่ถ้วนอย่าง เมื่อเราได้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว

 

        คืนนี้นั่งให้ดีนะลูกนะ ใครเหนื่อย ใครง่วง ใครเพลีย ใครนั่งแล้วตึง ก็ปล่อยให้หลับไปในกลาง พอสดชื่นแล้วก็ตื่นมาทำใหม่ ใครเมื่อยก็ขยับ ฟุ้งก็ลืมตาแล้วก็ว่ากันใหม่ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุกๆ คน ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบๆ

 

หลวงพ่อธัมมชโย

วันอังคารที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

 

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 4

          โดยคุณครูไม่ใหญ่

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.042192681630452 Mins